๙ ความทรงจำ “พ่อหลวง...ในดวงใจ”
27 Oct 2017

“๑ ปีแห่งการจากไป ไม่มีวันไหน ไม่คิดถึงพ่อ” 


          ๗๐ ปี แห่งการครองราชย์สมบัติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ คือ ๗๐ ปี แห่งภาพความทรงจำที่ติดอยู่ในหัวใจของพสกนิกรชาวไทยเสมอมา ภาพหยาดพระเทโสที่หลั่งไหลลงตามพระพักตร์ เมื่อครั้งทรงงานหนัก ภาพแย้มพระโอษฐ์และพระเนตรอันเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่สะท้อนเงาของพสกนิกรชาวไทยในทุกๆ ที่ที่ทรงเสด็จฯ 


          เราไม่ได้มองพระองค์เพียงแค่บทบาทในการเป็นกษัตริย์ แต่พระองค์เปรียบเสมือน ‘พ่อ’ ที่ใช้เวลาทั้งชีวิต ดูแลลูกๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขในแบบ ’พอเพียง’ 

 

          


          ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๙.๐๐ น. แม้จะเป็นช่วงเวลาที่บีบคั้นหัวใจคนไทยทั้งประเทศ แต่ในทางกลับกัน เรากลับได้เห็นพลังความรักอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนมีต่อพระองค์ ความเศร้าโศกเสียใจ ที่มาพร้อมกับการแบ่งปัน ช่วยเหลือ หยิบยื่นให้แก่กัน เพราะทุกคนต่างระลึกเสมอว่า เรามี ‘พ่อ’ คนเดียวกัน 


ทรงปกครองแผ่นดินด้วย ‘ทศพิศราชธรรม’ 

‘๙ มิถุนายน ๒๔๘๙’   

          นับเป็นวันเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะพระชนมายุได้เพียง ๑๘ พรรษา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี แม้ในช่วงแรกพระองค์ตั้งพระหฤทัยว่าจะครองราชย์สมบัติเพียงแค่ในช่วงงานพระบรมศพพระเชษฐา (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘) เท่านั้น ด้วยความที่ยังทรงพระเยาว์และยังไม่เคยเตรียมพระหฤทัยในการเป็นกษัตริย์มาก่อน

 

     


          แต่ในขณะที่พระองค์ประทับรถพระที่นั่งเสด็จฯ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เสียงเล็กๆ ของประชาชนที่ดังขึ้นว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” ทำให้พระองค์ทรงรับรู้ถึงหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในฐานะกษัตริย์ จึงตอบในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” 


          นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เป็นเวลากว่า ๗๐ ปีที่พระองค์ปกครองแผ่นดินด้วย ‘ทศพิศราชธรรม’ และทำหน้าที่กษัตริย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งพระองค์ถือเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประเทศไทยและในโลกอีกด้วย 


ต้นแบบแห่งการเรียนรู้
 
          เมื่อพระชนมายุ ๕ พรรษา พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น ได้เดินทางไปศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนเมียร์มองต์ ได้ทรงเข้าศึกษาต่อที่ CEDE NOUBELLE DE LA SUES ROMANCE CHILLY ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติและทรงได้รับประกาศนียบัตร บาเชอลิเย เอ แลทร์ จากการศึกษาดังกล่าว พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างแห่งความมุมานะอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียน ทรงรอบรู้หลายภาษา ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และ ละติน ต่อจากนั้น ทรงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์

 


          หลังจากที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แต่เปลี่ยนจากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ไปศึกษาในสาขาวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งแม้พระองค์จะต้องเบนเข็มมาศึกษาเพื่อให้เหมาะกับหน้าที่กษัตริย์ แต่พระองค์ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และค้นคว้าทดลอง เพื่อนำสิ่งที่พระองค์สนพระหฤทัยมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยเรื่อยมา


พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย 

‘๒ กุมภาพันธ์ วันนักประดิษฐ์’    

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงใช้พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือปัญหาและความทุกข์ยากของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ยังสามารถใช้ได้จริงและได้รับการถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร รวมทั้งสิ้น ๑๑ ฉบับ ดังนี้

 

 


          ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ (เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย) ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ นับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและครั้งแรกของโลก นอกจากนี้ ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปี ยังถูกกำหนดให้เป็น วันนักประดิษฐ์’ อีกด้วย ‘ฝนหลวง’ (การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน) ดำเนินการค้นคว้าวิจัยภายใต้ โครงการฝนหลวง (Artificial rain) ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒ และได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕  ‘เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ’ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๔ ‘การใช้น้ำมันกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล’ จดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ การใช้น้ำมันกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ จดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ 

 


          ถัดมาคือ ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย จดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ อุปกรณ์ควบคุมผลักดันของเหลว จดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๗ โครงการแกล้งดิน (กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก) ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ จดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ จดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และ โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ จดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓


กษัตริย์นักพัฒนา

‘แลนด์โรเวอร์ ร.ย.ล.244’   

          ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประทับพิงรถแลนด์โรเวอร์ สีเขียว บนสะพานไม้ ขณะเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ถือเป็นอีกหนึ่งภาพจำที่ทำให้เราได้เห็นถึงความห่วงใยต่อพสกนิกรในถิ่นทุรกันดานและความมุมานะอุตสาหะของพระองค์ ที่ถึงแม้หนทางจะลำบากเพียงใด แต่พระองค์ก็ยังคงเสด็จฯ เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรที่อยู่ห่างไกลให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง   

 

  
          สำหรับโครงการที่พระองค์ ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของพสกนิกร ปัจจุบัน มีกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ซึ่งโครงการพัฒนาชนบทตามพระราชดำริแห่งแรก เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้แก่ ‘ถนนสายห้วยมงคล’ ณ บ้านห้วยมงคล ต.หินเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถนนที่ทรงมีพระราชดำริให้ตัดออกสู่ตลาดหัวหิน ให้เกษตรกรได้มีถนนเพื่อนำผลิตผลเกษตรออกไปสู่ตลาด นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ อาทิ โครงการแก้มลิง โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาหน้าดิน โครงการพื้นที่ลุ่มปากพนัง โครงการฝ่ายชะลอน้ำหรือฝายแม้ว ฯลฯ 


อัครศิลปิน

          ดนตรีและศิลปะ เป็นอีกหนึ่งพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลือกเรียนการเป่าแซกโซโฟน การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลในแนวคลาสสิค ตั้งแต่พระชนมายุได้เพียง ๑๓ พรรษา กับครูเวย์เบรชท์ ชาวอัลซาส ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกับทรงศึกษาดนตรีแจ๊ส และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังทรงเครื่องดนตรีได้อีกหลายชนิด อาทิ คลาริเนต ทรัมเป็ต เปียโน และกีตาร์ ทั้งนี้ ในด้านดนตรีไทย พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ ‘โน้ตเพลงไทย เล่ม ๑’ เพื่อรวบรวมและรักษาศิลปะทางดนตรีไทยไว้ให้เป็นหลักฐานและมาตรฐานต่อไป

 

 
          ‘แสงเทียน’ คือ บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเมื่อพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ นิพนธ์คำร้องโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ต่อมาได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในปี ๒๔๙๐ ถัดมาคือ เพลง ‘ยามเย็น’ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ แต่ได้นำออกบรรเลงสู่ประชาชนเป็นเพลงแรก และกลายเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทย ทั้งยังพระราชทานเพลงนี้แก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล ปัจจุบัน มีบทเพลงพระราชนิพนธ์จำนวนกว่า ๕๒ เพลงที่ยังคงก้องกังวานอยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยเสมอมา 

 


          นอกจากด้านดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะทั้งจิตกรรม ปติมากรรม และภาพถ่าย ทรงโปรดการวาดภาพเหมือนโดยเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ซึ่งภาพเขียนส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และครอบครัวของพระองค์ นอกจากนี้ ยังทรงงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ที่เป็นประติมากรรมลอยตัว ซึ่งเป็นพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้ว และ รูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า ความสูง 9 นิ้ว

 

 
          ‘Coronet รุ่น Midget’ กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์กล้องแรกของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชชนนีพระราชทานให้ พระองค์ทรงโปรดการถ่ายภาพตั้งแต่อายุได้เพียง ๘ พรรษา ทรงคิดค้นเทคนิคการถ่ายภาพใหม่ๆ ด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ และยังเชี่ยวชาญกระบวนการล้างอัดภาพในห้องมืด จากพระปรีชาสามารถนี้เองสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเข็มทองศิลปะการถ่ายภาพแด่พระองค์ ในปี ๒๕๑๔ 


พระปรีชาสามารถด้านกีฬา 

‘๑๖ ธันวาคม วันกีฬาแห่งชาติ’

          ‘เรือใบ’ เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง โดยเรือใบลำแรกที่ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ คือ เรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานชื่อว่า ‘ราชปะแตน’ หลังจากนั้นพระองค์ยังทรงต่อเรือใบอีกหลายลำ ได้แก่ เรือใบประเภท โอ เค พระราชทานชื่อว่า ‘นวฤกษ์’ ถัดมาคือ ‘เรือใบแบบมด’ ‘แบบซูเปอร์มด’ และ ‘แบบไมโครมด’ โดยตรัสว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี" 

 


          ‘เวคา’ (VEGA) เรือใบอีกหนึ่งลำที่พระองค์ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ และใช้เรือลำนี้แล่นด้วยลำพังพระองค์เอง ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ พร้อมกับตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้นคือ ‘สโมสรเรือใบจิตรลดา’ พร้อมรับสโมสรเรือใบต่างๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พระองค์ทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเรือใบประเภท โอ เค ซึ่งเป็นเรือที่ทรงต่อเอง ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ทรงเก็บตัวฝึกซ้อมเช่นนักกีฬาทั่วไป และทรงชนะเลิศขึ้นรับเหรียญทองบนแท่นเหมือนนักกีฬาทั่วไป ในพิธีปิดเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ณ สนามศุภชลาศัย ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้ ‘วันที่ ๑๖ ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันกีฬาแห่งชาติ’

 


          นอกจาก กีฬาเรือใบแล้ว พระองค์ยังทรงโปรดปรานการเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อาทิ สกีน้ำแข็ง, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก, การแข่งขันรถเล็ก, เทนนิส, แบดมินตัน และเครื่องร่อน ซึ่งพระองค์ทรงศึกษาเทคนิคและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งยังทรงส่งเสริมด้านกีฬา ตามที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า "การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง"


กษัตริย์ผู้รักแม่สุดหัวใจ

“คนนี้แม่เรา เราประคองเอง”

          พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นกษัตริย์ที่ถือเป็นแบบอย่างของความกตัญญู ด้วยความรักที่ทรงมีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่เราเอ่ยพระนามว่า ‘สมเด็จย่า’ สุดดวงใจ สะท้อนออกมาให้พสกนิกรชาวไทยได้ตระหนักว่า แม้พระองค์จะเป็นกษัตริย์ แม้พระองค์จะทรงงานหนักมากเพียงใด แต่ก็ไม่ลืมสนพระหฤทัยผู้ให้กำเนิด พระองค์มักจะเสด็จฯ ไปยังวังสระปทุมทุกเย็น เพื่อเสวยพระกายาหารกับสมเด็จย่า สัปดาห์ละ 5 วัน ขณะที่สมเด็จย่าทรงพระประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช แม้ว่าพระองค์จะทรงงานหนักดึกดื่นเพียงใด แต่พระองค์ก็ยังคงเสด็จฯ เยี่ยมสมเด็จย่าเสมอ นอกจากนี้ ภาพที่เราเห็นกันจนชินตา เมื่อครั้งสมเด็จย่าเสด็จฯ ที่ใดก็ตาม ข้างกายจะมีพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คอยประคองไม่ห่าง ดังที่ทรงเคยตรัสไว้ว่า “คนนี้แม่เรา เราประคองเอง” 

 


          ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ในวันที่สมเด็จย่าสวรรคต เป็นวันที่พระองค์ทรงเศร้าโศกเสียพระหฤทัยเป็นอย่างมาก พระองค์ตรงเข้าไปคุกเข่า กราบลงที่หน้าอกพระราชชนนี ให้พระพักตร์แนบตรงกับหัวใจ ทรงมีรับสั่งแผ่วเบาว่า “ขอหอมหัวใจแม่เป็นครั้งสุดท้าย” พร้อมกุมมือของสมเด็จย่าไว้ มือที่คอยไกวเปล มือที่ปลุกปั้นลูกให้เป็นกษัตริย์ที่รักของพสกนิกรชาวไทย พระองค์ทรงหวีผมให้สมเด็จย่า “เพื่อให้แม่สวยที่สุดในวันสุดท้าย”

 

     


          พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสถึงสมเด็จย่าในตอนหนึ่งว่า “ที่ท่านสิ้นและได้เห็นความรัก ความนับถือ ที่คนทั้งชาติมีต่อท่านก็ปลื้มใจ ปลื้มใจว่ามีแม่ที่คนรัก ที่ถือว่าท่านเป็น สมเด็จย่า ซึ่งก็แปลกดีเหมือนกัน ถ้าใครต่อใครเรียกว่าสมเด็จย่า คนที่เรียกสมเด็จย่า ก็เป็นหลานของเรา เพราะท่านเป็นแม่ และท่านเป็นย่าของคนทั่วๆ ไป และเป็นสมเด็จย่าของลูกๆ ที่อยู่ข้างหลัง ฉะนั้น เราก็เป็นญาติกันทั้งหมดแล้ว”


๖๖ ปี แห่งการครองคู่ 
  
          ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต พระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่กษัตริย์ทรงจดทะเบียนสมรสเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

 

 
          นับเป็นเวลากว่า ๖๖ ปี ที่ทรงครองคู่ ร่วมทุกข์ร่วมสุข และในทุกๆ ครั้ง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกร ไม่ว่าหนทางจะลำบาก หนักหนา และกันดารเพียงใด แต่เราจะเห็นข้างกายของพระองค์มีพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อยู่เคียงข้างเสมอ ในทุกๆ ครั้งที่ทั้งสองพระองค์อยู่เคียงข้างกัน เราจะได้เห็นสายพระเนตรอันอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทอดพระเนตรไปยัง พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่เปลี่ยนแปลง 

 

     


          ทรงโปรดที่จะถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยพระองค์เอง ซึ่งพระองค์ทรงตรัสกับ Mr Reginald Davis ช่างภาพจากอังกฤษว่า "เราไม่ค่อยชอบเวลาใครมาถ่ายภาพภรรยาของเรา เราจะรู้สึกหวงและอิจฉาบรรดาช่างภาพทั้งหลาย เพราะเราชอบถ่ายภาพพระราชินีด้วยตัวเราเอง เราไม่เคยทิ้งรูปถ่ายของเธอแม้แต่สักภาพเดียว แม้ว่าจะมีบางภาพที่เราไม่ค่อยชอบก็ตาม"

 

     


‘พ่อ’ ผู้รักลูกสุดหัวใจ


          พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ บทบาทของความเป็นพ่อของพระองค์ทำให้เราเห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อพระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ การเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการศึกษา ขยันหมั่นเพียรเรียนรู้ การถ่ายทอดความรัก ความเมตตา และความโอบอ้อมอารีให้แก่พสกนิกรชาวไทย แม้ในวันที่ท่านจากไป แต่พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของท่าน ดั่งเช่นที่ท่านได้ทำเสมอมา  

 


          หนังสือ จงทำให้ได้ดั่งฝัน โดย หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ในตอนหนึ่งเล่าไว้ว่า ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระตำหนักภูพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนร่วมโต๊ะเสวยหม่อมได้รับการกำชับจากท่านผู้หญิงมณีรัตน์ว่า “ห้ามพูดถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯนะ” เนื่องจากพระองค์ ทรงมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระราชโอรสมาก และคงไม่โปรดให้ใครพูดถึงเพื่อจะได้ลืมและคลายความคิดถึง แต่เมื่อหม่อมดุษฎี เดินไปนั่งที่โต๊ะเสวย ก้นยังไม่ทันจะแตะที่เก้าอี้ พระองค์ก็มีพระราชกระแสรับสั่งถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยไม่มีช่องว่างให้หม่อมดุษฎี กราบทูลอะไรเลย ซึ่งทำให้ทราบว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงคิดถึงพระราชโอรส จนอดที่จะตรัสถึงไม่ได้ แม้จะไม่มีผู้ใดกล่าวถึงก่อน 

 

“พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” 

          ไม่เพียงแค่ความสนพระหฤทัยต่อพระโอรสและพระราชธิดาของพระองค์เท่านั้น แต่สำหรับพสกนิกรชาวไทยทุกคน พระองค์ยังคงห่วงใยเสมือนพ่อดูแลลูก ไม่ว่าจะต้องเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเพียงใดก็ตาม แต่พระองค์ยังคงไม่ย่อท้อ  เพียงเพื่อให้ลูกๆ ของพระองค์ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากความยากลำบาก พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้นี้ ทำให้พสกนิกรชาวไทย ยกย่องท่านเสมือน “พ่อของแผ่นดิน” ที่ทำหน้าที่ดูแลปกป้องลูกๆ ของท่านจนวันสุดท้าย...  

 

 

"I was born in the reign of King Rama IX of Thailand"

#Kingbhumibol

[อ่าน 1,823]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลับมาอีกครั้งกับเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทยของวงการเกมและอีสปอร์ต Thailand Social AIS Gaming Awards 2024
‘โชกุบุสซึ X หมอช้าง’ จับคู่ครีเอทครีมอาบน้ำสายมู ลิมิเต็ด อิดิชัน
เคทีซีจับมือคาเธ่ย์ ปลูกต้นไม้ในป่าชายเลน “บิน 1 เที่ยว ปลูก 1 ต้น”
เนสท์เล่ ประเทศไทย เร่งเครื่องกลยุทธ์ “ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค”
เคอรี่ฯ เปิดแคมเปญต้อนรับฤดูกาลผลไม้ “ส่งความสด พร้อมความสุข”
“กรุงไทย” แนะภาคธุรกิจเร่งปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างโอกาสเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ชู “การเงินยั่งยืน” ตัวช่วยธุรกิจปรับตัว
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved