ลดปริมาณขยะ ทำเถอะมันเท่มาก
10 Sep 2018

บทความโดย : วีรพล สวรรค์พิทักษ์

ผมอยู่อเมริกาครับ พาลูกสาวมาเรียน Summer Courseของ iDtech camp และ Alexa Cafe ที่ Stanford University หัวข้อที่ลูกสาวอยากเรียนน่าสนใจมาก เขาเลือกเรียน 2 หัวข้อ คือ VDO Production (Start a YouTube Channel) และ Social Movement ผมได้ความรู้จากเขามากทีเดียวครับ นอกจากการทำ VDO และวิธีการเผยแพร่ทาง YouTube แล้วสิ่งสำคัญอีกประการคือ ‘เนื้อหา’ หลังจากการเรียนสองสัปดาห์ ผู้ปกครองจะไปฟังการนำเสนอผลงานของนักเรียน ลูกสาวผมสนใจเรื่องการใช้หลอดพลาสติกมาก เขาบอกในวิดีโอว่ามีการใช้หลอดพลาสติก 500 ล้านหลอดต่อวันถ้าคิดเป็นปีก็182,500 ล้านหลอดต่อวัน ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ แค่คนละไม่กี่หลอด วันละไม่กี่ครั้ง รวมๆ แล้วออกมาจำนวนมากเกินคาดวิธีการที่เขานำเสนอคือให้ลดการใช้หลอดหรือใช้หลอดที่นำมาใช้ใหม่ได้ หลอดแบบใช้ใหม่หรือ Reusable straws ผลิตมาจากวัสดุหลายชนิดเช่น สเตนเลส ซิลิโคนหรือพลาสติกแข็ง มีหลากหลายสีสวยงาม และแน่นอนสามารถทำความสะอาดแล้วนำมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง

 .

ในอเมริกากำลังตื่นตัวกับการใช้หลอดลักษณะนี้ถึงกับมีการจัด5อันดับหลอดรีไซเคิลสุดเจ๋ง (https://www.wisebread.com/the-5-best-reusable-straws) ที่ผมเห็น(และซื้อมาใช้แล้ว) เช่น SipWell, Bubba Big Straw, Rainbow Colored Replacement Acrylic Straws แต่ละยี่ห้อมีความสวยงามแตกต่างกันไปแต่ที่คิดว่าดีแน่ๆ คือผมได้ ‘ยืดอกพกหลอด’กับเขาด้วยคน ขณะเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ใช้แทนหลอดพลาสติกไปแล้ว 10 ครั้ง (นี่ผมช่วยกู้โลกไปได้10 หลอดแล้วนะครับ)

 

 

การลดปริมาณขยะในปัจจุบันไม่ใช่กระแส แต่เป็นสิ่งที่กำลังฝังอยู่ใน DNA ของบริษัทและของประชาชนทุกคนหากกล่าวถึง Corporate Social Responsibilityหรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หลายคนมักจะคิดถึงการสร้างภาพลักษณ์ ความคิดดังกล่าวไม่ผิดนักเนื่องจากประเภทของการทำ CSR แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

ประเภทที่หนึ่ง CSR after Process คือเมื่อดำเนินกิจการไปแล้วมีกำไร ก็นำผลกำไรนั้นมาทำประโยชน์เพื่อสังคม เช่น ไปบริจาคไปปลูกป่า ไปสร้างฝาย ไปเก็บขยะปล่อยปลา ปล่อยเต่า

ประเภทที่สอง CSR as Process คือตั้งมูลนิธิ ตั้งกองทุน ตั้งองค์กร ตั้งแผนกขึ้นมาเพื่อดูแลงานด้านสังคม สิ่งแวดล้อม แล้วก็มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท

ประเภทที่สาม CSR in Process คือมีการทำ CSR อยู่ในกระบวนการดำเนินการของบริษัทเลย

เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์แบบ recycle กับทุกผลิตภัณฑ์สตาร์บัคส์ (Starbucks) ร้านกาแฟชื่อดังแถลงว่าจะเลิกใช้หลอดพลาสติกสำหรับเมนูเครื่องดื่มเย็นภายในปี ค.ศ. 2020 โดยใช้ฝาสำหรับดื่มได้แทนและสำหรับเครื่องดื่มปั่น (Frappuccino) ทั้งหลายก็จะใช้หลอดกระดาษที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ คาดหมายกันว่าหากสตาร์บัคส์เลิกใช้หลอดในร้าน 28,000 สาขาจะช่วยลดปริมาณการใช้หลอดพลาสติกได้มากถึง 1 พันล้านหลอดต่อปี  ส่วนร้านแม็คโดนัลด์ ก็ได้เริ่มลดการใช้หลอดพลาสติกในร้านสาขากว่า 1,800 แห่งในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์แล้ว ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการทำ CSR ทั้งสามประเภทที่ได้กล่าวมามีข้อดีทั้งนั้น แต่แตกต่างกันตรงความยั่งยืน(Sustainable) ส่วนตัวของผมเชื่อว่าการทำ CSR แบบที่อยู่ในกระบวนการดำเนินการของบริษัทเลยจะมีความยั่งยืนมากกว่า

.

เพราะแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากทำอย่างต่อเนื่อง ทำโดยอัตโนมัติจะเกิดประโยชน์ได้มหาศาล สำหรับองค์กรต่างๆในประเทศไทยลองคิดถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยใช้แนวคิดแบบนี้ก็จะเห็นความยั่งยืน และเห็นประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆครับการอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนทำให้เห็นสิ่งดีๆ ที่น่าจะนำมาใช้กับประเทศไทยจึงขอนำมาแบ่งปันกับทุกท่าน ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นกรอบความคิด และการพัฒนาของประเทศเขาคือคำว่า ‘วินัย’ ผมชอบการคัดแยกขยะ และการทิ้งขยะของเขามากๆ ตัวอย่างเช่นอพาร์ทเมนต์ที่ผมอยู่ มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้าสวนสนุก ทุกที่มีถังขยะสำหรับแยกขยะ (แบบจริงจังมาก) ผมสังเกตคนที่มาทิ้งขยะจะคิดก่อนทิ้งเสมอ และมีการแยกกันอย่างจริงจังสมมติว่าถือมาทิ้งถุงใหญ่ๆ พอมาถึงถังขยะก็จะแยกออกมาเป็นชนิดๆ ก่อนทิ้ง และแน่นอนว่าพนักงานที่มาเก็บขยะก็มีการแยกเช่นกัน

การรับประทานอาหารที่ร้านก็เช่นกันคนอเมริกันมีวัฒนธรรมในการห่อกลับที่แตกต่างจากคนไทย เรียกว่าเหลือคือ ห่อ ไม่ใช่นิดหน่อยช่างมันเถอะ สมมติว่ากินข้าวปั้นซูชิเหลือแค่คำเดียวก็ต้องห่อกลับกินผัดไทยเหลือสองสามคำก็ห่อกลับ แม้แต่ดื่มน้ำอัดลมเหลือในแก้วก็ยังขอแพ็กกลับและผมไม่เห็นการใช้กล่องโฟมเลยไม่ว่าจะแบบกล่องเต็มใบหรือกล่องผ่าครึ่งแบบที่เราใช้กันเขาจะใช้กล่องกระดาษขนาดพอดีๆ เรียกว่าลดปริมาณขยะกันสุดๆ 

.

พูดถึงการลดปริมาณขยะคงต้องพูดถึงการลดใช้ขวดพลาสติกด้วยเมืองใหญ่ๆหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา มีการห้ามใช้ถุงพลาสติก และมีการเก็บภาษีจากขวดพลาสติกเพิ่มเติมเช่น เมื่อซื้อน้ำอัดลมขวดเพ็ท จำเป็นต้องเสียค่าขวดเพิ่มเติม ทำให้คนในประเทศหันมาบริโภคเครื่องดื่มจากแก้วกระดาษหรือถือขวดน้ำที่ล้างทำความสะอาดได้มากขึ้น  ในยิมหรือฟิตเนสที่ผมใช้บริการก็มีแต่เครื่องกดน้ำไม่มีแก้วหรือขวดให้ ต้องนำขวดไปเอง และทุกครั้งที่กดก็จะมีตัวเลขบอกว่าเรา ช่วยประหยัดขวดพลาสติกจากเครื่องกดน้ำนี้ไปกี่ขวดแล้วน่าสนใจมากๆ ครับ จากการหาข้อมูลพบว่าหลายๆ ประเทศมีนโยบายลดขยะอย่างจริงจัง อาทิ ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จใน

.

การรีไซเคิลขยะในประเทศ พวกเขาสามารถนำไป reuse ได้ถึง 96% อีก 4% นำไปถมที่ และมีโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในประเทศถึง 810,000 ครัวเรือนและยังมีขวดพลาสติกที่รีไซเคิลได้ถึง 90% ของขวดพลาสติกทั้งหมด เพราะประชาชนพร้อมใจกันนำขวดที่ใช้แล้วไปรีไซเคิล ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีนโยบายเกี่ยวกับถุงพลาสติกอย่างจริงจังทำให้กำจัดขยะพลาสติกได้ถึง 1 ใน 3 รวมถึงพี่ใหญ่อย่างประเทศจีนที่มีประชากรมากที่สุด และน่าจะใช้ถุงพลาสติกมากที่สุด ก็มีการออกคำสั่งห้ามแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้าทำให้ลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 40,000 ล้านใบ (ผมเห็นกับตาที่ร้านสะดวกซื้อของประเทศไทยมีลูกค้าซื้อนมเปรี้ยวขวดเล็กกว่าฝ่ามือ แล้วขอถุงพลาสติกกับหลอดและหลอดก็ยังอยู่ในซองพลาสติกอีกด้วย สุดยอดจริงๆ)

.

มีข้อมูลจาก Greenery ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าด้วยเรื่องการใช้หลอดพลาสติกนำมาเล่าให้ฟังครับ ประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก (แต่เรามักจะบอกว่าทะเลเราสวยที่สุดนะ)70% ของนกทะเล และ 30% ของเต่าทะเลมีพลาสติกอยู่ในท้อง (น่าเศร้าใจยิ่งนัก) ขยะพลาสติกสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกที่สัตว์ทะเลกินเข้าไป และมนุษย์กินสัตว์ทะเลเหล่านั้นเข้าไป ข้อสุดท้ายทะเลแถบเอเชียแปซิฟิกมีค่าความเข้มข้นของไมโครพลาสติกสูงที่สุด (https://www.greenery.org/articles/straw-free/) ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับว่าแค่หลอดพลาสติกจะมีผลกระทบมากมายขนาดนี้

.

เรื่องของการลดปริมาณขยะหรือ Zero Waste ไม่ใช่แค่กระแส แต่ต้องเป็นกลยุทธ์หลักขององค์กรที่จำเป็นต้องดำเนินการทั่วโลกเริ่มแล้ว ต่อไปประเทศไทยก็ต้องมีนโยบายต่างๆออกมาเช่นกัน ดังนั้นองค์กรใดที่สามารถวางแผนได้ก่อน ปรับตัวได้ก่อนและจริงจังกับการแก้ไขปัญหานี้ย่อมได้รับการยอมรับ เริ่มต้นที่บ้านเรา ‘คิด’ ว่าทำอะไรได้บ้าง ‘คิด’ ว่าลดอะไรได้บ้าง 1A3R ง่ายๆ Avoid หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่กำจัดยาก Reduce ลดการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะ Reuse นำวัสดุที่ใช้งานแล้วมาใช้ใหม่Recycle การนำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเพื่อมาใช้ใหม่ อย่ารอที่จะให้ใครมาบังคับ ทำเลยครับมันเท่มากจริงๆ นะ

[อ่าน 2,473]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หลุยส์คาเฟ่ ปลุกกระแสแบรนด์เนมตื่น เอนเกจพุ่ง 950 % หลังเปิดตัวเพียงครึ่งเดือน
สัญญาณดีๆ ของปี 2023 มีส่งต่อปี 2024 ไหม
TikTok ร่วมพัฒนาอนาคตแห่งความบันเทิงและการค้าในปี 2567
ถอดรหัสเทรนด์ การชำระเงิน ในเอเชียแปซิฟิกปี 2567
ข้อมูลอโกด้าชี้ นักท่องเที่ยวไทยตื่นเที่ยวจีนหลังการยกเลิกวีซ่าไทย-จีนถาวร
การรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร และ ข้อดีของโคเวิร์กกิ้งสเปซ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved