​วิไล เคียงประดู่ ถอดรหัส ‘เอไอเอส’ บนเส้นทางแห่งความยั่งยืน
13 Dec 2016

          เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาหลายยุคหลายสมัย สำหรับการเดินหน้าธุรกิจไปสู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainable Development’ ที่ ณ ปัจจุบันได้กลายมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งดำเนินงานผสมผสานระหว่างการแสวงหากำไรเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัท ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม


          แม้การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักของ SD ไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพราะนอกจากที่องค์กรจะต้องดำเนินธุรกิจภายใต้หลักบรรษัทภิบาลแล้ว ยังต้องกำหนดกรอบการทำงานให้งานด้านความยั่งยืนสอดคล้องกระบวนการทางธุรกิจด้วยเช่นกัน ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนไม่น้อยมองว่า SD ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว และควรจะให้ความสำคัญกับการหาผลกำไรมากกว่า โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวเช่นนี้

 

‘ความยั่งยืน’ จากแนวคิดสู่การลงมือทำ


          ‘เอไอเอส’ เบอร์หนึ่งในธุรกิจโทรคมนาคม ที่มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 38.5 ล้านราย เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่หยิบยกเอา SD มาผ่านกระบวนการคิดจนตกผลึกสู่การลงมือทำจริง


          วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เอไอเอส’ กล่าวว่า “สำหรับเอไอเอสที่ผ่านมาเราเป็นโมบายโอเปอร์เรเตอร์ซึ่งมีแค่บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ในวันนี้เรามองว่าการทำเพียงธุรกิจเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องมองหาอนาคตใหม่ๆ ด้วยการขยับไปสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ พร้อมการเพิ่มบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต AIS Fibre และ Digital Content ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่บริษัทได้ทำมานานกว่า 5 ปีแล้ว”


          “ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ยั่งยืน’ ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจที่อยากยั่งยืนก็จะยั่งยืนได้เอง แต่จะต้องมีคนอยากให้เราอยู่ด้วย ถ้าคุณทำธุรกิจแบบน่ารังเกียจ หรือทำธุรกิจแอบแฝง ประชาชนก็ไม่อยากให้ธุรกิจของคุณอยู่ต่อ นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เริ่มต้นมาจากต่างประเทศ ก่อนได้รับความสนใจจากในเมืองไทย ซึ่งก็มีองค์กรที่ทำกันอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา


          หลักการและคอนเซปต์ SD ง่ายๆ เลยคือ ต้องทำเพื่อให้ได้รับการยอมรับ และมีการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งกระบวนการทำงานทั้งหมดจะต้องคำนึงถึงแนวคิด 3 ส่วนคือ 

          1. Economic ผลการดำเนินงานของบริษัทมีกำไรหรือไม่ จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่ เพราะถ้าคุณเป็นคนดีแต่ธุรกิจขาดทุนมันก็ไม่ใช่ความยั่งยืน และที่สำคัญคือทำงานภายใต้บรรษัทภิบาลหรือไม่ ธุรกิจจะต้องถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของภาครัฐและตลาดหลักทรัพย์

          2. Environment การดำเนินธุรกิจของคุณกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทำแล้วช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นหรือไม่

          3. Social ธุรกิจของคุณทำร้ายสังคมหรือไม่ หรือทำให้สังคมดีขึ้นไหม

          แต่อย่างไรก็ตามทุกสิ่งบนโลกนี้มีสองด้านเสมอ ซึ่งหลักการของ SD ไม่ได้บอกว่าห้ามมีด้านลบ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีสิ่งที่ธุรกิจของเราทำแล้วเป็นลบ ก็ต้องมาดูว่าเรามีแนวทางหรือมาตรการในการทำให้ส่วนที่เป็นลบหายไปหรือน้อยลงได้อย่างไร ซึ่งนี่ทำให้กรอบแนวคิดของ SD เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ และทำให้บริษัทที่ทำตามแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนกว่าบริษัทที่ไม่ทำ SD”  วิไลอธิบาย

 

 

‘ความยั่งยืน’ ใครพร้อมก่อนทำก่อน


          แม้ก่อนหน้านี้ SD จะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเพื่อให้องค์กรธุรกิจได้นำมาปรับใช้ แต่ในปัจจุบัน SD ได้กลายเป็นแนวทางบังคับกลายๆ จากสังคมทั่วโลกไปเสียแล้ว


          “ถามว่าทุกวันนี้องค์กรธุรกิจไม่ทำ SD ได้ไหม บอกเลยว่าไม่ได้ เพราะมันมีเครื่องมือที่บีบบังคับให้ทุกองค์กรต้องทำ โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากนักลงทุนจะถามหาว่าบริษัทที่เขาจะเข้าไปลงทุนมี SD หรือไม่ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ถ้ามีแนวโน้มของบริษัทนี้ก็มั่นคงยั่งยืน สมควรเขาไปลงทุน ถ้าบริษัทไหนไม่มี SD นักลงทุนก็จะไม่สนใจ”


          “ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่แค่นักลงทุนเท่านั้นที่ถามหา SD แต่ตลาดหลักทรัพย์ก็รู้ว่าโลกขับเคลื่อนไปอยู่ในทิศทางนี้ ก็เริ่มมีแนวคิดให้ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หันมาทำเรื่อง SD ซึ่งปัจจุบันบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ทำ SD มีเพียง 30% เท่านั้น ส่วนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ยังมีน้อยมาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบริษัทนั้น ไม่ใช่ข้อบังคับ ใครพร้อมก่อนทำก่อน ใครที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำ เช่นบางบริษัทที่ไม่ต้องการเงินทุนจากต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วตอนนี้ธนาคารไทยก็นำ SD มาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาด้วยเช่นกัน บริษัทไหนมี SD ก็กู้ได้เยอะ ดอกเบี้ยต่ำ บริษัทไหนไม่มี SD ก็อาจจะต้องคิดเยอะหน่อย ดอกเบี้ยแพงกว่า”

 

จากองค์กรสู่สังคม


          จากวิสัยทัศน์ของเอไอเอสที่มุ่งมั่นในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนและสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม แน่นอนว่า SD จะต้องถูกฝังเข้าไปอยู่ในพันธกิจของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทำให้ทุกภาคส่วนขององค์กรตั้งแต่ระดับบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ และพนักงานทุกคน จะต้องร่วมแรงร่วมใจและผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่คนรักและชื่นชม


          ดังนั้น เอไอเอสจึงสร้างกลยุทธ์ 5 ด้าน หรือ ‘5 Focus Areas’ ประกอบด้วย สังคมและชุมชน สิ่งแวดล้อม ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และพนักงาน เพื่อมาสนับสนุนการทำงานให้แต่ละหน่วยในองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดความยั่งยืน พร้อมการจัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 3 ท่าน ได้แก่ กานต์ ตระกูลฮุน, ทัศนีย์ มโนรถ และ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่อง SD โดยเฉพาะ

 


          “ยกตัวอย่างโครงการที่เรานำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนช่วยแก่ชุมชนและสังคม เช่น โครงการ แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น, โครงการระบบไอซีทีและพลังงานทดแทนแบบบูรณาการบ้านคีรีล้อม เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมให้เกิดการพัฒนาด้านการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และ โครงการต้นแบบ City to farm agriculture assisting (CFAA) ที่เราได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับการใช้ชีวิตและการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้คนเมืองได้ซื้อสินค้าได้โดยตรงจากเกษตรกร”

 

ก้าวสู่ความยั่งยืนระดับโลก


          “แต่การทำ SD ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะทำก็ทำ เพราะใครก็อ้างได้ว่าทำ แล้วอะไรเป็นหลักฐานว่าคุณทำ อะไรคือสิ่งที่บอกว่าคุณทำ SD อย่างจริงจัง ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบ สำหรับเอไอเอสได้เริ่มทำ SD มาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาหาแนวทาง ก่อนจะทำการจ้างที่ปรึกษาในปี 2555 เพื่อทำแนวทางการปฏิบัติ และจัดทำรายงานพัฒนาความยั่งยืน GRI (Global Reporting Initiative) ก่อนที่ในปี 2556 เอไอเอสได้นำ SD มาเป็นหนึ่งในพันธกิจขององค์กร แต่ทั้งหมดยังไม่ถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เราจึงได้จัดทำรายงานฉบับที่ 2 ขึ้น และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความยั่งยืนชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อน SD อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ในปี 2558 เราได้รับคำเชิญจาก ‘อันดับดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์’ (DJSI: Dow Jones Sustainability Indices) เพื่อเข้าไปตอบแบบสอบถามเพื่อทำการประเมินเป็นปีแรก ซึ่งผลปรากฏว่าเราส่งปีแรกก็ติดอันดับเลยและติดอันดับต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองในปี 2559 โดยเอไอเอสเป็นบริษัทเทเลคอมบริษัทเดียวของไทยที่ได้เข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI และที่สำคัญคือเอไอเอสยังติดอันดับ ‘หุ้นยั่งยืน’ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดต่อกันเป็นปีที่สองด้วยเช่นกัน” วิไลกล่าว

 

เป้าหมายยิ่งท้าทาย ยิ่งต้องไปให้ถึง


          วิไลฉายภาพให้เราเห็นชัดเจนขึ้นถึงหลักการจัดอันดับ DJSI ว่ามีหลักการถามคำถามที่ละเอียดเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่กระบวนการทำงาน ผลลัทธ์การทำงาน รวมไปถึงหลักฐานว่ามีการทำ SD จริงหรือไม่ ซึ่งการให้คะแนนของ DJSI จะเป็นการให้คะแนนแบบอิงเกรด ที่คัดเลือกเพียง 10% ของผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละอุตสาหกรรมเท่านั้น


          ทั้งนี้ ในปี 2559 มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้ติดกลุ่มดัชนีความยั่งยืน DJSI ทั้งสิ้น 15 บริษัท โดยมี 6 บริษัทที่จัดอยู่ในกลุ่ม DJSI Emerging Market และอีก 9 บริษัทที่สามารถเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของโลกได้ระดับ DJSI World โดยเอไอเอสถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม DJSI Emerging Market ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเกิดใหม่ โดยเอไอเอสตั้งเป้าที่จะขยับอันดับไปสู่ DJSI World ให้ได้ภายในปี 2563

 

ความยั่งยืนที่ส่งต่อสู่ผู้บริโภค


          “ในฝั่งบริษัทเราเห็นชัดเจนแล้วว่าได้อะไรจากการทำ SD แล้วฝั่งของผู้บริโภคจะได้อะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เราต้องคิดไปถึงผู้บริโภคด้วยว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกเชิงลบอย่างไรบ้าง แล้วก็ต้องกลับมาคิดว่าจะต้องป้องกันอย่างไร หรือเวลาที่ลูกค้าเล่นเกมแล้วค่าใช้จ่ายสูงมากเราจะช่วยป้องกันอย่างไร ซึ่งสมัยก่อนเราอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันเรามีแล้ว เรามีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่าย, มี SMS แจ้งเตือนลูกค้า เป็นต้น ซึ่งนี่คือผลประโยชน์ส่วนหนึ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากการที่เราทำ SD” วิไลกล่าวทิ้งท้าย

[อ่าน 1,804]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved