บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของผู้นำตลาดนั้น ไม่เพียงแค่ การสร้างการเติบโตของธุรกิจตัวเองให้มีออกมาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังต้องรับบทบาทในการเป็นผู้เล่นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมอีกด้วย
เหมือนกับที่โออิชิ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม และตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น กำลังทำอยู่ โดยนอกจากจะสามารถผลักดันการเติบโตของธุรกิจทั้ง 2 มีการเติบโตในตัวเลขที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นอีกคีย์ เพลย์เยอร์ ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กับตลาดอีกด้วย โดยเฉพาะตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่วันนี้ มูลค่าตลาดขยับขึ้นไปแตะอยู่ที่ 13,229 ล้านบาท และมีตัวเลขการเติบโตสูงถึง 22% เป็นการเติบโตที่มากสุดในบรรดาเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มูลค่ากว่าแสนล้านบาท
โออิชิ ทำอย่างไร
คำตอบก็คือ การเลือกใช้นวัตกรรมทั้งด้านการตลาดและตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายฐานการดื่มไปยังกลุ่มใหม่ๆ รวมถึงการกระตุ้นให้กลุ่มเดิมในตลาดมีการดื่มชาเขียวพร้อมดื่มอย่างต่อเนื่อง
โออิชิ กรีนที ยังคงครองแชมป์เจ้าตลาดชาพร้อมดื่มหลังกวาดส่วนแบ่งตลาด 48% (ที่มา : NielsenIQ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนตุลาคม – กันยายน 2565) ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อนโออิชิ กรีนที คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ โดยเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และขยายฐานผู้ดื่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ
ล่าสุดได้สร้างเซ็กเมนต์ใหม่ ชาเขียวน้ำตาล 0% ตอบรับเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเล็งเห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ เตรียมแผนลุยตลาดผ่านการสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดใหม่ๆ ปลุกกระแสการดูแลสุขภาพ พร้อมตอกย้ำคุณค่าชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินตัวอย่างที่ลงมือทำไปจนประสบความสำเร็จก็คือ การเปิดตัว โออิชิ ฮันนี่ เลม่อน น้ำตาล 0% ที่โออิชิ ถือเป็นแบรนด์แรกในการบุกเบิกเข้ามาเปิดตลาดชาที่มีความหวาน แต่น้ำตาล 0% ในบ้านเรา จนประสบความสำเร็จ และสามารถผลักดันให้เซ็กเมนต์น้ำตาล 0% มีสัดส่วนถึง 3% เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึงขวบปีดีนัก
สินค้าตัวนี้ สามารถเข้าไปดึงคนดื่มที่เป็นผู้หญิงวัยทำงาน ที่เคยดื่มชาเขียว แต่ออกไปจากตลาด เนื่องจากมองว่า แม้ชาเขียวจะมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็ติดตรงที่มีน้ำตาล จึงเลิกดื่ม
จากอินไซต์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสินค้าที่สามารถตอบโจทย์และแก้ Pain point ให้กับพวกเขาได้ โดยโออิชิ ฮันนี่ เลม่อน น้ำตาล 0% ถูกพัฒนาออกมาในรสชาติที่มีความอร่อยใกล้เคียงกับชาแบบมีน้ำตาล จึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
และโออิชิ ก็ต่อเนื่องความสำเร็จนี้ด้วยการเปิดตัว โออิชิ รสต้นตำหรับ น้ำตาล 0% เข้ามาช่วยเพิ่มความแรงให้กับเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% โดยเริ่มจากการวางในโลตัส ก่อนที่จะขยายออกไปยังช่องทางขายอื่นๆ
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
“โออิชิ มีความมุ่งมั่นตั้งใจส่งต่อผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าเสมอมา โดยให้ความสำคัญด้าน ‘คุณภาพ’ มาเป็นอันดับหนึ่ง พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบที่ถูกคัดสรรทุกองค์ประกอบตั้งแต่แหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานสู่โรงงานที่ทันสมัย เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มชั้นเลิศที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ และความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพ”
ในปี 2566 โออิชิ จะเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มด้วย 4 กลยุทธ์หลักดังที่ประกอบไปด้วย
1. สื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวด เนื่องด้วยใบชานั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง มีสารคาเทชิน โดยเฉพาะยอดอ่อนใบชา 3 ใบ จากข้อมูลในหลายๆ งานวิจัยพบว่า คาเทชินทำหน้าที่ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระนี้เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียต่างๆ และเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่น
2. ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น
3. ขยายเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% สร้างการเติบโตให้กับสินค้ากลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออชิ ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภคหลังจากเปิดตัวไปในปีก่อน
รวมถึงโออิชิ โกลด์ ก็ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และรางวัล ต่างๆ มากมาย ไร่มัตสึดะตั้งอยู่ที่เมืองโอมาเอซากิ เป็นเมืองที่เหมาะแก่การเพาะปลูกชา ภูมิประเทศชุ่มชื้นจากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์มาก ประกอบกับน้ำที่ได้จากเทือกเขาเจแปนแอลป์เป็นน้ำบริสุทธิ์ อุดมด้วยแร่ธาตุมากมายมาหล่อเลี้ยงต้นชา
เจ้าของไร่ชา คุณสึโยมิ มัตสึดะ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาจากประสบการณ์ที่ตกทอดมา 5 ชั่วอายุคน จึงมีกรรมวิธีการผลิตชาที่พิถีพิถัน ใบชาทั้งหมดถูกเลือกเก็บจากยอดอ่อนใบชา หลังจากนั้นนำใบชาไปนึ่งด้วยไอน้ำ เพื่อหยุดการเปลี่ยนสีของใบชาและ คงคุณภาพชาไม่ให้เสียไป แล้วนำมานวดในทันที เพื่อให้ชาเกิดกระบวนการทางเคมี ใบชาจะมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เพื่อคงความสดของชาให้มากที่สุด หลังจากนั้นโออิชิจึงนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยนวัตบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ Cold Aseptic Filling หรือ CAF เป็นเทคโนยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในการผลิตเครื่องดื่มในปัจจุบัน ได้มาตรฐานระดับโลก สามารถควบคุมความสะอาด อีกทั้งยังคงรสชาติ และคุณประโยชน์ของชาเขียวต่อร่างกายไว้ให้ดีที่สุด
4. ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยตลาดส่งออกนี้ เป็นอีกตลาดที่มีโอกาสในการเติบโตได้อีก จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 20 – 30% ส่งออกไปยัง 33 ประเทศทั่วโลก
ขยายพอร์ตร้านอาหาร สู่ Non Buffet
ส่วนการสร้างการเติบโตในธุรกิจอาหารนั้น โออิชิ ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยการขยายสาขาและช่องทางการขายในรูปแบบ Multi Format และธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมเพิ่มความหลากหลายของช่องทางจำหน่ายแบบไร้รอยต่อ (Omni Channel) และการบริหารจัดการร้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
การขยับแผนรุกในรูปแบบดังกล่าว ถือเป็นการการปรับเกม เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ที่วันนี้ อาหารญี่ปุ่น กลายเป็น Every day Occasion ที่สามารถบริโภคได้ทุกวัน ซึ่งจะแตกต่างจากในอดีต ที่การบริโภคอาหารญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวาระพิเศษ การปรับเปลี่ยนของตลาด ทำให้ต้องมีโมเดลของธุรกิจที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่ผู้บริโภคพร้อมจะควักเงินออกจากระเป๋าได้แบบไม่ลังเล
ทำให้ โออิชิ มีการขยายพอร์ตร้านอาหาร ออกจากการเป็นร้าน ‘บุฟเฟต์’ มาสู่ร้านที่ไม่ใช่บุฟเฟต์มากขึ้น โดยเลือกใช้โมเดลของร้านที่หลากหลายทั้งการเปิดในห้างและนอกห้าง โดยเฉพาะโมเดลแบบ ‘ช้อปเฮ้าส์’ หรือร้านห้องแถวที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ด้วยการแตกแบรนด์ใหม่ๆ ออกมา
อย่างกรณีของ โออิชิ บิซโทโระ ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา และปัจจุบัน มีสาขารวมกัน 10 สาขา โดยบิซโทโระ จะเป็นร้านอาหารในสไตล์ QSR มีเมนูผสมผสานระหว่างเมนูข้าวหน้า เมนูเส้น และขนมหวาน ในราคาไม่เกิน 200 บาท แบรนด์นี้ จะถูกใช้เป็นเรือธงในการขยายสาขาที่จะช่วยสลัดภาพของการเป็นร้านบุฟเฟต์ ที่ติดตัวมาตลอด โดยโออิชิ มีแผนที่จะขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจ ซึ่งจะส่งผลให้โออิชิ สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะบรรลุเป้าหมายการมีสาขากว่า 400 สาขาในปี 2025 ตามแผน Passion 2025 จากปัจจุบันที่มีสาขารวมกันประมาณ 266 สาขา
นอกจาก บิซโทโระ แล้ว โออิชิ ยังมีแบรนด์อย่าง ‘โฮว ยู’ (HOU YUU) ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์แคชช่วล ไดนิ่ง ที่ปัจจุบันมี 5 สาขา จากเดิมที่มีเพียง 1 สาขาที่ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งจะเป็นการเข้ามาช่วยเติมเต็มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในระดับพรีเมียมให้โออิชิมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
การขยับออกจากแค่การเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์นั้น ยังรวมถึงการปรับกลยุทธ์ร้านบุฟเฟต์ที่มีอยู่เดิมให้ออกมาเป็น ‘บุฟเฟต์ + อะลาคาร์ท’ เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น อย่างตัวโออิชิ แกรนด์ ที่เพิ่งปรับโฉมไปเมื่อเร็วๆ นี้ หรือร้านชาบูชิ ที่เริ่มมีการทำกลยุทธ์ดังกล่าว โดยเพิ่มทางเลือกแบบอะลาคาร์ท ในราคา 599 บาท สำหรับคนที่ต้องการเมนูแบบพรีเมียมมากขึ้น จากราคาเดิมที่ขายอยู่ 399 บาทต่อหัว เป็นต้น
ขณะที่ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารสำเร็จรูปฯ โดยชูจุดแข็งด้านรสชาติ คุณค่าโภชนาการ และคุณภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ประกอบกับการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส (รวมทั้งน้ำซุปสุกี้ยากี้เข้มข้น), กลุ่มอาหารพร้อมทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส - แช่แข็ง)
โดยวางจุดขายให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานสไตล์ญี่ปุ่นที่มอบความสะดวก อร่อย ได้มาตรฐาน ตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นและรักการทำอาหารกินเองที่บ้าน นอกจากนั้นยังเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดจากเทรนด์สุขภาพมาแรง จึงพัฒนาสินค้า/อาหารสำเร็จรูป ที่มีคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพให้มากขึ้นอีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากการวางแผนงานและปรับกลยุทธ์ต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้เราสามารถรับมือและเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบต่างๆ ได้
โดยโออิชิ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้นจำนวน 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,878 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตสูงถึงร้อยละ 29.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,836 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 51.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในส่วนของกำไรสุทธิรวมของบริษัทฯ คิดเป็นจำนวน 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 654 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตที่ระดับร้อยละ 120 จากปีที่ผ่านมา
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นมากเป็นหลัก และจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารที่ทำให้มีผู้บริโภคกลับมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น ประกอบกับมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
“โออิชิ กรุ๊ป มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมาย PASSION 2025 โดยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาอาหาร และเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการออกสินค้าใหม่ๆ ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่อง Health & Wellness ที่เป็นเทรนด์สำคัญในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันการเข้าถึงลูกค้าด้วยการขยายสาขา
และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของโออิชิ คือ ยึดมั่น ‘คุณภาพ’ พร้อมมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นงนุช กล่าวสรุปทิ้งท้าย