“บาตามัส” ความอร่อยแบบ “ไม่เร่ง” เน้นความยั่งยืน
05 May 2023

 

หากนึกถึงทุเรียน ทุเรียนชื่อดังก็มักจะพ่วงด้วยชื่อของแหล่งกำเนิดอย่าง ทุเรียนนนท์ ทุเรียนปราจีนฯ ทุเรียนจันท์ หรือในช่วงไม่กี่ปีมานี้  ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ หรือทุเรียนหลงลับแล ก็ได้กลายมาเป็นที่คุ้นหูและเป็นที่จดจำ ทว่าทุเรียนจากแหล่งแดนใต้ กลับไม่ค่อยมีชื่อเป็นจดจำนักในตลาดผู้บริโภค

 

“บาตามัส” ของดีแดนใต้ ส่งออกเกือบ 100%

“บาตามัส” เป็นภาษามลายู แปลว่า “ทุเรียนหมอนทอง” โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดอันได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถือเป็นแหล่งสำคัญในการเพาะปลูก โดยที่ผ่านมาอาจไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทยนัก เพราะเกือบ 100% ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน

 

 

เอกพล เพ็ชรพวง ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ กล่าวในงานมหกรรมเปิดบ้านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ ว่า

“ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเกษตรกรมีการยกระดับคุณภาพของทุเรียนบาตามัสอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ เน้นให้ผลผลิตมีลักษณะหนามเขียว ไม่มีหนอน จนกระทั่งทุเรียนได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

ในเครือข่ายทุเรียนบาตามัสคุณภาพ มีพื้นที่ปลูกรวมอยู่ราว 500 ไร่ ปลูกโดยเกษตรกร 253 ครัวเรือน ที่รวมตัวกันเป็น 20 วิสาหกิจชุมชน ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถทำรายได้เมื่อปี 2565 ได้มากกว่า 18 ล้านบาท โดยราคาขายส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 93 บาท”

 

สร้างแบรนด์ด้วยคุณค่า...กับความท้าทายด้านราคา

คุณภาพของทุเรียน นอกเหนือไปจากเรื่องของหนามเขียว ไร้หนอน ไร้สารตกค้าง ไม่เป็นทุเรียนอ่อน ความโดดเด่นของ “ทุเรียนหมอนทองบาตามัส” ที่แตกต่างจากทุเรียนหมอนทองทั่วไปก็คือ “เวลา” ทุเรียนที่ปลูกโดยทั่วไปสามารถเร่งการสุกของเนื้อได้โดยการหยุดให้น้ำเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่บาตามัสซึ่งเป็นทุเรียนภูเขา ปลูกตามแนวเทือกเขา ไม่สามารถเร่งกระบวนการเก็บเกี่ยวได้ จำเป็นต้องรอให้ผลผลิตค่อยๆ สุกเองตามธรรมชาติ ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ ไอหมอก และอุณหภูมิแบบเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร

ซึ่งข้อจำกัดนี้นำมาสู่ข้อดีที่สำคัญคือจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งที่สูงถึง 35-38% ทำให้รสชาติหอมหวาน และผลผลิตจะออกสู่ตลาดช้าเมื่อเทียบกับทุเรียนแหล่งอื่น คือ ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน โดยในปีนี้ทางเครือข่ายตั้งเป้าหมายขยับราคาขายขึ้นเป็นราคาหน้าสวนประมาณ 80 บาท ราคาขายปลีกประมาณ 120 บาท ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเหล่าเกษตรกรผู้ที่ผันตัวเองมาสู่การเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตร

 

 

จาก “ราก” ถึง “ลูก”

ทุเรียนบาตามัสปลูกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา อันเป็นพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์ “ทุเรียน” ดั้งเดิม และเป็นถิ่นกำเนิดทุเรียนแห่งแรกในประเทศไทย แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของป่าดิบชื้นแห่งเทือกเขาสันกาลาคีรี ป่าฮาลาบาลา ลุ่มแม่น้ำสายบุรีและปัตตานี

อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับอ่าวไทย ด้วยภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทำให้บริเวณแห่งนี้อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ทุเรียนบาตาบัสนั้นปลูกบนผืนดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุ บางแห่งปลูกบนผืนดินที่มีแหล่งแร่ทองคำและใช้น้ำที่มาจากธรรมชาติของเทือกเขา ซึ่งยังคงสะอาดและบริสุทธิ์ 

ทุเรียนบาตามัสใช้วิธีการบ่มจากธรรมชาติ โดย “ไม่เร่ง” ทำให้ทุเรียนสุกตามกลไกของธรรมชาติ จึงใช้เวลาเก็บเกี่ยวนานกว่าที่อื่น แต่ก็ได้ทุเรียนที่แก่จัดและรสชาติหวานอร่อยอย่างลึกล้ำ การันตีด้วยมาตรฐานการส่งออกที่เน้น “หนามเขียว ไม่มีหนอน” คือผลเขียวทั้งลูกและไม่มีหนอนเจาะ สะท้อนถึงการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรในเครือข่ายเป็นอย่างดี

แม้ว่าทุเรียนบางต้นจะมีความสูงถึง 20 เมตร ซึ่งยากต่อการดูแล การรวมตัวเป็นเครือข่าย มีการทำงานที่เคร่งครัด ตรวจสอบกัน ทำให้สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้เป็นผลสำเร็จ

นอกจากนี้ทุเรียนบาตามัสยัง “แก่จริง ไม่มีอ่อน” การันตีด้วยการวัดค่าเปอร์เซ็นต์แป้งขั้นต่ำ 32 เปอร์เซ็นต์แป้ง ก่อนจะตัดขาย ทำให้ทุเรียนบาตามัสแก่จัดและทำให้ผู้บริโภคได้กินทุเรียนหวานอร่อยอย่างประทับใจ

 

เปลี่ยนเกมขาย สู่ความยั่งยืน 

“การส่งออก มีข้อดีคือบริหารจัดการง่ายสำหรับเกษตรกร เพราะเป็นการขายเหมาให้กับล้งที่ส่งออกต่างประเทศ แต่ไม่ได้สร้างการจดจำ โดยเฉพาะสำหรับคนไทย ทางเครือข่ายจึงปรับสัดส่วนมาเป็นการส่งออก 85% และจำหน่ายในประเทศ 15% ซึ่งประกอบด้วยการขายผ่านล้งและขายปลีกไปยังลูกค้าโดยตรง

โดยมีความท้าท้ายทั้งสองรูปแบบ ในการขายผ่านล้ง ก็ต้องมีการสื่อสารพูดคุยทำความเข้าใจกับล้งต่างๆ เพื่อให้สามารถนำเรื่องราวของทุเรียนบาตามัส ส่งต่อไปพร้อมกับการขายปลีกของเขาได้ ในขณะที่การขายปลีกโดยเกษตรกร ก็จะเน้นการขายออนไลน์ ซึ่งก็จะมีรายละเอียดอย่างการคุยกับลูกค้า การบรรจุและขนส่ง การเคลม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นทักษะใหม่สำหรับพวกเรา” เอกพล กล่าว

การสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรทุเรียนบาตามัสผ่านการขายในทุกๆ รูปแบบ เป็นกลยุทธ์ต่อไปที่เครือข่ายจะใช้ดำเนินการสำหรับฤดูกาลของผลผลิตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ พร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือทั้งภายในเครือข่ายและภาคี เพื่อให้ได้การสนับสนุนและผลักดัน

การเป็นที่จดจำในฐานะของ “ความอร่อยที่ห้ามเร่ง” ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ราคาขายในท้องตลาดสูงขึ้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนความยั่งยืนในการเพาะปลูก เป็นความภูมิใจและเป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องใช้ความมานะอดทนในการดูแลเอาใจใส่ผลผลิต ที่สำคัญคือการส่งสัญญาณไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่อยู่ต่างถิ่น ให้มองเห็นโอกาสที่จะหวนคืนสู่ภูมิลำเนา

 

 

หมอนทองคุณภาพที่คนไทยห้ามพลาด

ในปี 2566 นี้ เครือข่ายวิสาหกิจทุเรียนบาตามัสคุณภาพ จะเปิดพรีออเดอร์ให้คนไทยได้ลิ้มลองความอร่อยแบบคุณภาพเน้นๆ จากมือเกษตรกรโดยตรง บ่มความหอมหวานด้วยกาลเวลากับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในแบบฉบับสวรรค์แดนใต้ ผ่านความตั้งใจของ 20 วิสาหกิจชุมชน ได้แก่

  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพเจาะไอร้อง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
  • วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพบ้านไอร์จาดา อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพป่าปริญยอ (กาหลง) อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
  • วิสาหกิจชุมชนพลวงชมพูทุเรียนคุณภาพ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพสายแร่ทองคำ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพมะแนดาแล อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพตำบลกระโด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพบาตามัส อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพลุ่มน้ำสายบุรี (ตำบลละหาร) อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพลุ่มน้ำสายบุรี (มะนังดาลำ) อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
  • วิสาหกิจชุมชนผลิตทุเรียนคุณภาพแปลงใหญ่บันนังสาเรง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพกรงปินัง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพสาโตะตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพบ้านเขาน้ำตก อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพบ้านนิคมกือลอง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพศรีบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนชีปะขาวตาชี้ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทุเรียนคุณภาพช้างเผือกกาลอรามัน อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเปิดพรีออเดอร์ทุเรียนบาตามัสได้ที่

เฟซบุ๊ก “โครงการทุเรียนคุณภาพ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” www.facebook.com/Monthong.rid

[อ่าน 3,083]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'RS' ยกทัพศิลปิน-ดารา ลุยสนามคอมเมิร์ซ ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ “ใบเตย อาร์สยาม”
เอไอเอส X กสทช. ดูแลผู้พิการรอบด้าน ตอกย้ำดิจิทัลเป็นหัวใจการสร้างความเท่าเทียมแก่ทุกกลุ่ม
เอสซีจี ขนกองทัพนวัตกรรมจาก 10 แบรนด์ชั้นนำ ร่วมงานสถาปนิก 67
“โยเกิร์ต - ณัฐฐชาช์ บุญประชม” อวดแฟชั่นจากแบรนด์ MISTY MYNX คอลเลกชั่นล่าสุด
เอไอเอ ประเทศไทย มอบรางวัลเกียรติยศแก่สุดยอดตัวแทน “ที่สุดแห่งปี” AIA Annual Agency Awards Presentation 2023
Coach เปิดตัว The Coach Tabby Shop ลาน PARC PARAGON
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved