CEA ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย “Creative Business Connext”
18 Aug 2023

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดปฐมบทใหม่แห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ผ่านงาน “Creative Business Connext” งานสร้างสรรค์ใหญ่แห่งปี เปิดพื้นที่เชื่อมนักสร้างสรรค์เข้ากับภาคธุรกิจ พร้อมจุดประกายไอเดียใหม่ๆ

เพื่อใช้ต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ผ่าน 3 กิจกรรมที่ได้ทั้งความรู้ แรงบันดาลใจ และเทรนด์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA (Creative Economy Agency) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ อันหมายถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สินค้า และบริการในรูปแบบใหม่ ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ซึ่งมีทั้งหมด 15 อุตสาหกรรม ได้แก่

1. งานฝีมือและหัตถกรรม  2. ดนตรี  3. ศิลปะการแสดง 4. ทัศนศิลป์  5. ภาพยนตร์  6. การแพร่ภาพและกระจายเสียง 

7. การพิมพ์  8. ซอฟต์แวร์  9. การโฆษณา 10. การออกแบบ 11. การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12. แฟชั่น

13. อาหารไทย 14. การแพทย์แผนไทย  และ 15. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

 

โดยมีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านองค์ความรู้ต่างๆ ใช้ความสร้างสรรค์ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงสร้างนักสร้างสรรค์และนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรม

 


มีสถิติที่น่าสนใจระบุว่า ในปี 2564 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.81% ของ GDP ประเทศไทย โดยกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ ธุรกิจและแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนธุรกิจสร้างสรรค์รวมทั้งสิ้น 82, 072 ราย ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก แต่สามารถสร้างรายได้สูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานสร้างสรรค์กว่า 889,275 ราย

โดยในปี 2565 สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 963,549 ราย  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องขึ้นในทุกปี ทั้งในแง่การเพิ่มขึ้นของแรงงานสร้างสรรค์ และในแง่ของการเติบโตของธุรกิจสร้างสรรค์


 

โดย Top 3 ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีจำนวนนักสร้างสรรค์มากที่สุดประกอบด้วย

  1. งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) มีนักสร้างสรรค์ราวๆ 200,000 คน ตามมาด้วยอันดับ
  2. การโฆษณา 
  3. การออกแบบ

ส่วน Top 3 ในแง่ของรายได้ พบว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีรายได้มากที่สุด ได้แก่

  • อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ที่เป็นแอนนิเมชั่นและเกมต่างๆ
  • รองลงมาคืออุตสาหกรรมโฆษณา และ
  • ตามมาด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ซึ่งหมายถึงการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นหมุดหมายใหม่ในการท่องเที่ยว

สำหรับรายได้เฉลี่ยของแรงงานสร้างสรรค์ ปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งการผลักดันให้อัตรารายได้เฉลี่ยของแรงงานสร้างสรรค์ปรับสูงขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งในภารกิจของ CEA ด้วยเช่นกัน

 

 

ที่ผ่านมา CEA ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโดยตลอด ล่าสุด CEA ภายใต้การนำของ

“ดร. ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้เปิดปฐมบทใหม่แห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ด้วยการจัดงาน “Creative Business Connext” เพื่อจุดประกายให้นักสร้างสรรค์ไทยเกิดความตื่นตัวทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด และโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนยกระดับนักคิด นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และเยาวชนรุ่นใหม่ที่เป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ให้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลและสามารถปรับตัวให้เท่าทันความเป็นไปของโลกได้ 

 

ซึ่ง ดร.ชาคริต กล่าวถึงงานในครั้งนี้ว่า

“ Creative Business Connext คืองานที่เชื่อมต่อนักสร้างสรรค์เข้ากับนักธุรกิจเพื่อให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์ เป็นหมุดหมายใหม่ที่จะยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ให้เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อเวทีทางความคิดสร้างสรรค์ การสร้างเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ รวมไปถึงการส่งเสริมบุคลากรและหน่วยงานที่ริเริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ เสริมสร้าง Creative Community ให้เทียบเท่าระดับนานาชาติต่อไป ”


 

 

โดยงาน “Creative Business Connext” จะจัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 เป็นการจัดกิจกรรมประจำปี ที่ประกอบด้วยกิจกรรม 3 รูปแบบ

ได้แก่ Creativities Unfold, Creative Business Space และ Creative Excellence Awards ซึ่งแต่ละกิจกรรมล้วนน่าสนใจ และมีไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด

 

1. Creativities Unfold: งานชุมนุมทางความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ

 

ถือว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของงานชุมนุมทางความคิดสร้างสรรค์ที่เคยจัดต่อเนื่องมาหลายปี แต่หยุดไปในช่วงโควิด-19 ประมาณ 3 ปี ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ต้องบอกเลยว่าสมการรอคอย!!

เพราะ “Creativities Unfold” เป็นเวทีที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับองค์ความรู้ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ผ่านเหล่ากูรูชั้นนำที่ CEA เชิญมาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์

 

สำหรับในปีนี้มาในธีม “VISIONAIRE: Reminisce/The Way Forward - แปลงอดีต เปลี่ยนวิสัยทัศน์อนาคต”

โดยเชิญ 5 ผู้นำความคิดระดับนานาชาติแห่งโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่คัดสรรมาแล้ว 5 อุตสาหกรรม ที่จะมานำเสนอมุมมองสร้างสรรค์วิถีใหม่ๆ ได้แก่

  • Jaime Hayon (ไฮเม่ ฮายอน) จาก Jaime Hayon Studio ดีไซเนอร์ชาวสเปนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก กับหัวข้อ “Design Follows Function, and Then What?”
  • พีพี - พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab นักเทคโนโลยี นักวิจัย ที่ลุ่มหลงการผนึกกำลังของมนุษย์กับ AI อย่างสร้างสรรค์ ที่จะมาแบ่งปันความรู้ในหัวข้อ “Human + AI for the Future of Entertainment & Storytelling”
  • Kentaro Kimura (เคนทาโร คิมูระ) จาก Hakuhodo ผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์ชาวญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาแนวหน้าของโลก การันตีด้วยการเป็น speaker ในงาน Cannes Lions เทศกาลรางวัลของเหล่าคนโฆษณาที่ฝรั่งเศสมาหลายปีติดต่อกัน โดยครั้งนี้ Kentaro Kimura จะมาพูดในหัวข้อ “Unimagined Cultural Solutions: A Global Journey into the Future Creativity
  • Stephen Jenner (สตีเฟน เจนเนอร์) จาก Motion Picture Association นักสื่อสารมวลชนและที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมภาพยนต์คนสำคัญคนหนึ่งของโลก ในหัวข้อ “Mission Possible: The Rise & Rise of the Asia Pacific Screen Industry” พร้อมเผยถึงทิศทางในการทำคอนเทนต์ของเอเชียแปซิฟิกในอนาคต ว่าประเทศในแถบนี้จะขับเคลื่อนคอนเทนต์แบบไหนอย่างไร
  • Lyndon Neri (ลินดอน เนรี่) จาก Neri & Hu สถาปนิกแห่งเอเชียผู้สร้างวิสัยทัศน์ให้โลกผ่านผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รู้ถึงมุมมองด้านการออกแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

สำหรับกิจกรรม Creativities Unfold จะมีตลอดทั้งวัน แบ่งเป็น session ที่รวมการบรรยายและถามตอบ

โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถดูรายละเอียดได้ทาง Facebook : CU-Creativities Unfold

ซื้อบัตรได้ตั้งแต่วันนี้ - 24 สิงหาคม 2566 ทาง creativebusiness.cea.or.th/ ราคาบัตรบุคคลทั่วไป 1,200 บาท / สมาชิก TCDC 900 บาท 

 

 

2. Creative Business Space: พื้นที่ธุรกิจสร้างสรรค์ เชื่อมโยงโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

 

ครั้งแรกกับ Business Matching ที่ไม่ได้มาช้อปสินค้า แต่เป็นการช้อปไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ สร้างพื้นที่ให้ภาคธุรกิจและนักสร้างสรรค์ได้มีโอกาสมาเจอกัน โดยในครั้งแรกนี้ CEA เลือก “อุตสาหกรรมอาหารและบริการ” มาเป็นตัวนำร่อง เพราะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ

งานส่วนนี้จะเป็นแพลตฟอร์มพื้นที่ธุรกิจใหม่ที่จะเชื่อมโยงโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจสำหรับสตูดิโอนักสร้างสรรค์และกลุ่มธุรกิจบริการประเภทอาหารสร้างสรรค์ (Creative Gastronomy) กว่า 80 แห่ง เพื่อตอบสนองการเติบโตของธุรกิจบริการและอาหารเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม และร้านค้าปลีก ที่ต่างต้องมีจุดขายและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ

ภายในงานจะได้พบกับหลากหลายสตูดิโอนักสร้างสรรค์และกลุ่มธุรกิจบริการ ที่จะมานำเสนอบูธสินค้าและบริการ เช่น นักออกแบบโลโก้ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ คนทำแบรนดิ้ง หรือนักออกแบบประสบการณ์ (Experiential Design) ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด

โดยงาน Creative Business Space จะจัดขึ้นตลอดทั้งวัน เพียงลงทะเบียนเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นอย่าง Zipevent ที่ช่วยในการแมทชิ่งระหว่างผู้ประกอบการกับนักสร้างสรรค์ล่วงหน้าอีกด้วย

 


 

3. Creative Excellence Awards: เวทีประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์

 

ทั้ง 2 งานข้างต้นจะมีขึ้นตลอดทั้งวัน ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการมอบรางวัลสร้างสรรค์แห่งปี อย่าง “Creative Excellence Awards” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกกับการประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Excellence Awards หรือ CE Awards)

ที่จัดโดย CEA เพื่อเชิดชูและส่งเสริมบุคคล ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันต่างๆ ที่ริเริ่ม คิดค้น ผลักดัน หรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เครื่องมือ หรือกระบวนการ

โดยนำความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มาประยุกต์ใช้ในการสร้างให้เกิดคุณค่า (Value Creation) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบ (Impact) ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ

 


 

สำหรับรางวัล Creative Excellence Awards จะมีด้วยกันทั้งหมด 15 รางวัล แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

1.   Creative City Awards รางวัลการพัฒนาย่าน สถานที่ชุมชน หรือเมือง รวมทั้งกิจกรรมที่ดึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของย่าน ผู้คน หรือธุรกิจดั้งเดิม ผสานกับความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่และผู้มาเยือนในมิติต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และความยั่งยืน จำนวน 5 รางวัล ได้แก่

  • Creative City Festival Award รางวัลสำหรับกิจกรรมหรืองานเทศกาลที่นำเสนอความหลากหลายของงานศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อหวังผลต่อย่าน ชุมชน หรือพื้นที่นั้นๆ
  • Creative City Branding Award รางวัลสำหรับพื้นที่หรือเมืองที่มีการสร้างเอกลักษณ์และจุดยืน (Positioning) ให้แก่พื้นที่ ทำให้พื้นที่กลายเป็นที่รู้จักและสร้างภาพจำที่ชัดเจน
  • Creative City Cultural Asset Award รางวัลสำหรับพื้นที่หรือเมืองที่มีการนำอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมหรือจุดเด่นของพื้นที่ มาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างโดดเด่น
  • Creative City Transformation Award รางวัลสำหรับโปรเจ็กต์หรือกิจกรรมที่พลิกฟื้นย่านชุมชนหรือพื้นที่ให้กลับมามีชีวิตชีวา นำไปสู่การเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • Creative City Advocacy Award รางวัลสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เกิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

2.   Creative Business Awards แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • Sustainability Awards เป็นรางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ หรือโครงการที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ และกระบวนการผลิต ที่เน้นความยั่งยืนอีกทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน
  • Value Creation Awards รางวัลของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ หรือโครงการ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติความยั่งยืน

 

3.   Creative Social Impact Awards รางวัลสำหรับการนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขหรือคลี่คลายประเด็นต่างๆ ทางสังคม อีกทั้งช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นให้น้อยลง 

 


สำหรับงาน “Creative Business Connext” จะจัดขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ 


 

 

“ งานนี้เราให้ทั้งความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมฉายภาพ และทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จาก 5 สาขาที่คัดสรรมาว่า

อนาคตจะเป็นอย่างไร เพื่อรู้แนวทาง และเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

อีกทั้ง ยังสร้างพื้นที่เชื่อมนักสร้างสรรค์เข้ากับภาคธุรกิจ และจบด้วยการให้รางวัลสำหรับผู้ที่สร้างผลงานได้ดีเยี่ยมในปีที่ผ่านๆ มา”  ดร. ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย


 

 

[อ่าน 1,971]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
UNODC เปิดตัวแคมแปญ “เช็กก่อนแชร์ (Beware the Share)”
ฟูจิฟิล์ม เอาใจคนรักภาพฟิล์ม ครั้งแรก! ของกล้อง FUJIFILM X-T50
พฤกษาโชว์รายได้ไตรมาสแรก 4,171 ล้านบาท ธุรกิจเฮลท์แคร์ เติบโต 21%
ออริจิ้น เปิดบ้าน-คอนโดใหม่ อีก 11,180 ล้าน บุกตลาด Pet Family Condo-บ้านเดี่ยว
มูจิ ปรับลดราคาอีกครั้งกว่า 126 รายการ ตั้งเป้าเป็นแบรนด์สามัญประจำบ้านในใจคนไทย
อาร์เอส กรุ๊ป จับมือ บางจากฯ ขยายธุรกิจ เพ็ท รีเทล ร่วมลงทุน ‘PET ALL MY LOVE’
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved