สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดงาน "GIT Research Day 2023: งานสัมมนาเผยแพร่ความสำเร็จของงานวิจัยของสถาบันเพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย" โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
โดยการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดไปสู่ผู้ประกอบการและนักวิชาการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถและตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีศักยภาพอย่างยั่งยืน
นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) กล่าวว่า
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศโดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับต้นๆ และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้ความสำคัญทั้งในด้านการวิจัยพัฒนาและการส่งเสริมการส่งออก โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในทุกมิติ
สถาบันในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับ
จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการดำเนินโครงการวิจัยหลากหลายด้านที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ โลหะมีค่า การพัฒนามาตรฐานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 สถาบันได้จัดงาน GIT Research Day 2023: งานสัมมนาเผยแพร่ความสำเร็จของงานวิจัยสถาบัน เพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันสู่ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดในทุกมิติ
ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายท่าน ทั้งนักวิจัยภายในสถาบันเอง และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานพันธมิตรหลายแห่งในหัวข้อต่างๆ ได้แก่
(1) ‘แหล่งกำเนิดอัญมณี วิเคราะห์ได้ด้วย AI’
(2) กระบวนการพัฒนาสีพลอยทัวร์มาลีน โดยเทคนิคทางนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าอัญมณีในอุตสาหกรรม
(3) ‘โนวา-วี-โคต’ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับไทย
“GIT จะผลักดัน พัฒนา และยกระดับงานวิจัยด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ สถาบันการศึกษา เพื่อดำเนินงานวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก”