การรุกภายใต้กลยุทธ์ “Retail-Led Mixed-Use Development” กลายเป็นแก่นแกนสำคัญของกลยุทธ์การรุกตลาดของเซ็นทรัลพัฒนา บริษัทพัฒนาที่ดินเพื่อการค้าปลีกที่อยู่ในเครือของเซ็นทรัล กรุ๊ป ที่ถูกใช้ในการทำตลาดในช่วง 5 ปีถัดจากนี้ไป
ทำให้ทุกโครงการของผู้พัฒนาที่ดินเพื่อการค้าปลีกรายนี้เข้าไปลงทุน จะเป็นการลงทุนทำ โครงการในลักษณะของ “มิกซ์ยูส” ซึ่งนอกจากศูนย์การค้าแล้ว ยังมีในส่วนของสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และธุรกิจโรงแรม ซึ่งในส่วนหลังนี้กลายเป็นการรุกตลาดที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะเป็นการเข้าไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้เล่นรายนี้
วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เคยพูดไว้ในงานแถลงข่าวของเซ็นทรัลพัฒนาว่า ตามแผน 5 ปี เซ็นทรัลพัฒนาจะขยายโรงแรมรวม 37 โครงการ ใน 27 จังหวัด รวมกว่า 4,000 ห้อง มูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 เราจะสร้างมาตรฐานแห่งการพักอาศัยในโรงแรมทุกแห่ง เพื่อให้โครงการโรงแรมของเราเป็นเดสติเนชั่นอันดับ 1 ในด้านการเดินทางภายในประเทศ บุกเบิก ‘เศรษฐกิจการเดินทาง’ (Travel Ecosystem)
ภายใต้แผนด้งกล่าว จะตามมาด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
ตัวอย่างของเรื่องนี้ ก็คือการเปิดตัวโรงแรม Centara Ubon ซึ่งเป็นการเติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้กับเซ็นทรัล อุบลราชธานี ที่ก่อนหน้านี้มีศูนย์การค้า และโครงการที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียม เป็นมิกซ์สำคัญของโครงการ
สุรางค์ จิรัฐิติกาลโชติ Head of Hotel Development บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา บอกว่า การพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสเซ็นทรัล อุบล เป็นความตั้งใจในการทำตาม Commitment ของเซ็นทรัลพัฒนา เพื่อมอบความเป็นที่สุดให้กับจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการเข้ามาพัฒนาธุรกิจของเราจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของจังหวัดในทุกๆ ด้าน ยกระดับทั้งเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวของภูมิภาคอีสานตอนใต้ โดยเซ็นทรัลพัฒนานับเป็นรายแรกและรายเดียวที่พัฒนาโครงการต่างๆ ได้ครบถ้วนด้วยกลยุทธ์ Fully-Integrated Retail-Led ที่มีศูนย์การค้าเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยง และทุกองค์ประกอบมีความแข็งแกร่งประสบความสำเร็จ
ที่สำคัญ ยังเป็นการเปิดตัวเชนโรงแรมระดับโลกครั้งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นการเข้ามายกระดับธุรกิจโรงแรมที่จะช่วยขับเคลื่อนทั้งเรื่องของการท่องเที่ยว และการประชุมสัมมนาของจังหวัดนี้
สุรางค์ บอกว่า การรุกตลาดโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนา จะอยู่ภายใต้กลยุทธ์เดียวกันที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ประกอบไปด้วย
1. Develop New District ซึ่งเป็นการ พัฒนาคน พัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ บุกเบิกเมืองศักยภาพ ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ, ท่องเที่ยว และการใช้ชีวิต โดยอุบลราชธานี เป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 1 ของภาคอีสานตอนใต้ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต (Emerald Triangle) หนึ่งความร่วมมือระหว่างไทย ลาว กัมพูชา
ดังนั้น เราเล็งเห็นศักยภาพและตั้งใจมาพัฒนามากกว่าศูนย์การค้าตั้งแต่แรก ให้โครงการมิกซ์ยูส “เซ็นทรัล อุบล” เป็นการสร้างเมือง สร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ให้กับเมือง (New CBD) ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมรองรับเครือข่ายคมนาคม: รองรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6, ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี อีกทั้ง รองรับ Ubon MICE City: ด้วยความพร้อมของ Convention Hall Iconic Landmark และกระตุ้นการท่องเที่ยว: ด้วยโรงแรม Centara Ubon ที่ตอบรับทุกจุดประสงค์ของการเดินทาง ทำให้อุบลเป็นเมืองท่องเที่ยวที่อยู่แบบ Long Stay ได้นานขึ้น
2. Strong Synergy & Ecosystem เชื่อมโยงธุรกิจภายในมิกซ์ยูส ทั้งศูนย์การค้า-คอนโดมิเนียม-โรงแรม-คอนเวนชั่นฮอลล์ กลยุทธ์สำคัญคือ การทำให้ทุกองค์ประกอบเชื่อมโยงกัน Fully-Integrated โดยมี Shopping Center เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้โครงการคอนโดมิเนียม ESCENT Ubon ได้รับการตอบรับดีมาก
และล่าสุดกับโรงแรม Centara Ubon ที่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว โดย Privilege ของการมีที่อยู่อาศัย หรือมาพักในโรงแรมที่ “อยู่ติดศูนย์การค้า” คือความสะดวกสบาย ที่เราออกแบบ Lifestyle Journey ของลูกค้าให้เชื่อมโยงกันหมด โดยจุดแข็งของเราคือการมี Big Data ของกลุ่มเซ็นทรัลอย่าง The 1
3. Community at Heart กลยุทธ์ที่เข้ามาช่วยสร้างความภูมิใจของชาวอุบล เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตและดูแลชุมชน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของจังหวัด รวมถึงงาน MICE, งานสาธารณประโยชน์ร่วมกับเมือง
เช่น ประเพณีแห่เทียนพรรษา, Ubon Auto Expo 2023, สนับสนุนพื้นที่จัดกิจกรรมมหาวิทยาลัย และการประชุมสังสรรค์ของหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงการเป็นแลนด์มาร์คของงานเทศกาลทั้งตรุษจีน, สงกรานต์, UBON Pride, Countdown
โดยทั้งหมดเป็นงานประจำจังหวัด และอยู่ในลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวของ ททท. รวมถึงการเป็น Food Destination ของอีสานใต้ เช่น งาน E-San Fruit Fest, IT TASTES GOOD อร่อยปักหมุดสตรีทฟู้ดไทย และล่าสุดกับงาน ครัวคุณต๋อยยกทัพ บุกเซ็นทรัล อุบล เป็นต้น ในด้านสิ่งแวดล้อม เราได้รับรางวัลโล่เชิดชูเกียรติ แหล่งกำเนิดมลพิษที่ผ่านเกณฑ์ประเมินการบริหารจัดการน้ำเสียระดับทอง ประจำปี 2563 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 อีกด้วย
“โรงแรม Centara Ubonในฐานะจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญภายใต้โครงการมิกซ์ยูสแห่งนี้ ด้วยมาตรฐานการบริการระดับ International และเป็น Hub of Lifestyle ที่ดีที่สุดให้กับอุบลราชธานี พร้อมชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านงานดีไซน์ และศิลปะที่เติมเต็มศักยภาพของจังหวัด
พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายปลายทางแบบ All-in-One มีห้องพักทั้งหมด 160 ห้อง รวมถึงร้านอาหาร และ Meeting Facilities ที่ครบครัน ตอบโจทย์การทำงาน งานจัดเลี้ยง และงานสัมมนา
มีพื้นที่จัดงานในส่วนกลางของโรงแรม รวมถึงห้องประชุมและอบรมสัมนา จำนวน 3 ห้อง และห้องแกรนด์บอลรูม ขนาดกว่า 300 ตร.ม. พร้อมรองรับในทุกโอกาสพิเศษ ด้วยสถานที่ที่ได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย”
การรุกธุรกิจโรงแรมนั้น จะมี 3 แบรนด์หลัก จับ 3 ตลาดสำคัญ ไล่ตั้งแต่ Centara แบรนด์ระดับ Upscale, “Centara One” แบรนด์ระดับ Lifestyle Midscale
โดยทั้ง 2 แบรนด์นี้ ยังเป็นครั้งแรกที่นำคอนเซ็ปต์ Bleisure คือ Business + Leisure เพื่อตอบโจทย์ทั้งการพักผ่อนและการทำงานอีกด้วย
ส่วนอีกแบรนด์หนึ่งคือ “GO! Hotel” แบรนด์ระดับ Premium Budget โดยวางแผนปักหมุดโลเคชั่น ในหัวเมืองรอง รวมถึงการเข้าสู่ชุมชนต่างๆ ซึ่ง Go! Hotel คือแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเข้าหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะกับการเข้ามารองรับกับเทรนด์การเติบโตที่ดีของ Budget Hotel โดยมีจุดเด่นของการเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่ไม่แพงนัก เฉลี่ยประมาณกว่า 800 – 1,000 กว่าบาท
ก่อนหน้านั้น เซ็นทรัลพัฒนา มีการเปิดตัวโรงแรมภายใต้แบรนด์ Centara ไปแล้วที่อุดรธานี นครราชสีมา และอุบล ถือเป็นแห่งที่ 3 หลังจากนี้ ในช่วงสิ้นปีจะมีการเปิดอีกแห่งที่เซ็นทรัล อยุธยา
ส่วนภายใต้แบรนด์ GO! Hotel เปิดให้บริการไปแล้วที่บ่อวิน ชลบุรี บ้านฉาง ระยอง ศรีราชา เซ็นทรัลชลบุรี และลาดกระบัง โดยในปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง รวมเป็น 10 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ โดย Centara Ubon ถือเป็นตัวที่เข้ามาช่วยเติมเต็มความเป็นมิกซ์ยูสที่สมบูรณ์แบบของเซ็นทรัล อุบลราชธานี ที่เป็นศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลพัฒนาที่เปิดตัวไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และตามมาด้วยการเปิดคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์เอสเซ็นท์ อุบล โดยเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท
เซ็นทรัลพัฒนา นำแบรนด์ GO! มาต่อยอดจากการที่เป็นแบรนด์ค้าปลีกของเซ็นทรัล รีเทล ที่เปิดตัวครั้งแรกในเวียดนาม ก่อนที่จะขยายเข้ามาในไทย โดยถูกวางให้เป็นแบรนด์ที่เข้าถึงและจับต้องได้ง่ายในเรื่องของราคา ซึ่งถือเป็นการทลายข้อจำกัดของกลุ่มเซ็นทรัล หลังจากที่แบรนด์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่วางตำแหน่งเพื่อเจาะเรื่องราคาที่เข้าถึงง่ายอย่างจริงจัง
การนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรุกตลาดโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนา จึงน่าจับตามองไม่น้อย เพราะไม่เพียงจะเข้ามาเป็นส่วนเสริมให้การพัฒนาโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเข้ามาเป็นตัวช่วยเติมเต็มให้กับการทำโครงการพัฒนาศูนย์การค้าของเซ็นทรัลรีเทล ที่มีแบรนด์โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ในรูปแบบมิกซ์ยูสอีกด้วย ซึ่งโรงแรมแบรนด์นี้ สามารถขยายสาขาเข้าไปกับโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ได้อย่างลงตัว
ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มแวลูในโครงการมิกซ์ยูสที่ลงทุนเท่านั้น แต่โรงแรม ยังเข้ามาช่วยเพิ่มทราฟิกทั้ง Weekday และ Weekend เพราะองค์ประกอบของโรงแรม นอกจากห้องพักแล้ว ยังมีส่วนเสริม อื่นๆ ทั้งห้องประชุม สัมมนา และห้องจัดงานต่างๆโดยเฉพาะกับการรองรับตลาด MICE ที่จะมีลูกค้าจำนวนมากเข้ามาใช้บริการ โดยจะมีแพล็ตฟอร์มลอยัลตี้ โปรแกรมของเดอะวัน ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ด้วยกัน เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงการทำตลาดโรงแรมกับธุรกิจค้าปลีกและที่อยู่อาศัยให้มีความกลมกลืนมากขึ้น
สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ เซ็นทรัลพัฒนามีการจัดพอร์ตโรงแรม ที่จะทำอย่างชัดเจน เพื่อใช้รุกเข้าไปในทุกจังหวัดที่มีศูนย์การค้าในเครือเข้าไปเปิด โดยมุ่งตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในแต่ละพื้นที่ธุรกิจโรงแรม นอกจากจะเป็นตัวช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์แบบของโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสแล้ว ยังเป็นตัวช่วยในการเข้าสู่โอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยเทรนด์ที่น่าสนใจของธุรกิจโรงแรมก็คือก่อนหน้าที่จะ เกิดการระบาดของโควิด – 19 คนไทยจะพักโรงแรมเฉลี่ยประมาณ 2 คืน
แต่หลังจากการระบาดพบว่า เทรนด์การพักจะเพิ่มเป็น 4 วัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานจาก Work from Home หรือการทำงานที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว มาสู่การทำงานในรูปแบบของ Work from Anywhere มากขึ้น การดีไซน์ของโรงแรมจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จึงถูกออกแบบมา โดยให้ความสำคัญกับ Sleep Work Eat และ Play อย่างเท่าๆ กัน เพื่อตอบสนองความต้องการ อย่างตรงจุดของคนในยุคปัจจุบัน ให้ทุกคนรู้สึกได้ในทุกครั้งที่มาว่าพักผ่อนก็ได้ ทำงานก็สบาย
เป็นอีกการขยับตัวที่จะเข้ามาเป็น 1 ในจิ๊กซอว์สำคัญของการรถกภายใต้กลยุทธ์ “Retail-Led Mixed-Use Development” ซึ่งเป็นแผนที่จะถูกขับเคลื่อนในช่วง 5 ปีนับจากนี้ไป...