เปิด 12 Trends E-Commerce 2020 ที่ธุรกิจ SMEs ต้องรับมือ
26 Feb 2020

 

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย มีมูลค่าเติบโตต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด ทั้งในรูปแบบ B2B (Business - to - Business), B2C (Business - to - Consumers) และ B2G (Business - to - Government) โดยรายงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) หรือ ETDA ระบุว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในปี 2561 เติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 14% คิดเป็นตัวเงินหมุนเวียนในตลาดอีคอมเมิร์ซสูงถึง 3,150,232.96 ล้านบาท

โดยตลาดการค้าแบบ B2B ขยายตัว 13.55% คิดเป็นมูลค่า 1,712,484.33 ล้านบาท และการตลาด B2C ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.04% คิดเป็นมูลค่า 865,456.99 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของช่องทาง การขายออนไลน์ ด้านการตลาดแบบ B2G ก็มีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 15.50% คิดเป็นมูลค่า 572,291.64 ล้านบาท

การตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจึงยังคงเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง จากพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น จนเป็นที่หมายตาจากทุนภายในประเทศและทุนข้ามชาติ ทั้งที่มีการแข่งขันในเมืองไทยอยู่ก่อนแล้ว และจะก้าวเข้ามาอีกในอนาคต  ซึ่งการแย่งพื้นที่ส่วนแบ่งทางการตลาดนี่เองที่ทำให้เทรนด์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2563 มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไป

 

 

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com วิทยากรในงานสัมมนา ‘E-Commerce Trends 2020’ ที่จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ณ สำนักงานใหญ่ สีลม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ให้ทัศนะสำหรับ 12 เทรนด์อีคอมเมิร์ซ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. JSL Marketplace เริ่มทำรายได้ในปีนี้

การเริ่มต้นทำตลาดของกลุ่ม JSL ที่เข้าไทยมาในอดีต มีการใช้งบประมาณทุ่มตลาด ยอมขาดทุนต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ฟรีค่าบริการ ค่าธรรมเนียม แจกโปรโมชัน มีส่วนลด ของแถมในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาสู่แพลตฟอร์ม หรือบริการของตัวเองให้ได้มากที่สุด เกิดการเสพติดอย่างคุ้นเคยโดยไม่รู้ตัว จนมีฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น แล้วจึงพลิกเกมเปลี่ยนมาเรียกเก็บค่าบริการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการงานโฆษณาในช่วงเวลาต่างๆ ปีนี้จึงเป็นปีทองของกลุ่ม JD CENTRAL, Shopee และ Lazada ที่จะกอบโกยเงินกลับมา หลังจากยอมทุบตลาดมานาน

 

2. แข่งกันดึงเงินลงกระเป๋าในสงคราม E-Wallet

กระเป๋าเงินแบบพกพา หรือ E-Wallet กลายเป็นที่หมายตาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์และธนาคาร เพราะเปรียบเสมือนช่องทางระดมเงินทุน ที่สามารถนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการ หรือการลงทุนต่างๆ ได้ จากตัวเลขรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในปี พ.ศ.2561 มีปริมาณการใช้งาน 1,510.84 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 209 พันล้านบาท และไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2562 มีการใช้งาน E-Money 473.27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า  67 พันล้านบาท จากกลยุทธ์การเดินเกมทางการตลาดที่เข้ามากระตุ้นให้เกิดการใช้ E-Wallet มากขึ้นของผู้ให้บริการ เหล่านี้

  • Pure Wallet ได้แก่ True Money, Rabbit Line Pay (mPay), XCash, Dolfin, Blue Pay
  • E-Commerce Wallet  ได้แก่ Lazada Wallet, Airpay (Shopee), Grab Pay, Get Pay
  • Bank Wallet  ได้แก่ ธนาคารทุกธนาคาร
  • Mobile Device Wallet  ได้แก่ Samsung Pay

ซึ่งกลยุทธ์ E-Wallet นั้น ไม่ได้มีแค่ระดมเงินทุนจากมือคนอื่นมาไว้ในกระเป๋าเงินตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเก็บเกี่ยวข้อมูลมหาศาล จากการใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ต่อยอดทางการตลาดของตัวเองได้อีกด้วย

 

3. แข่งกันส่งสินค้าในสงคราม E-Logistic

ปัจจุบันธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเติบโตควบคู่ไปกับการค้าขายออนไลน์ จนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 6.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จึงมีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดหลายราย เช่น Kerry Express ที่เริ่มขยายจุดให้บริการมากถึง 10,000 สาขาในปัจจุบัน เน้นส่งเร็ว ให้บริการดี จนตีขึ้นมาเป็นเบอร์สองของวงการขนส่งไทย และทำรายได้ต่ำกว่าไปรษณีย์ไทยเพียง 2% ในปี 2561

นอกจากนี้ยังมีเบอร์รองที่พร้อมเติบโตสยายปีกเทียบรุ่นเก๋าอีกมากมาย อาทิเช่น Nim Express, DHL, SCG Express, Lalamove, J&T Express การแข่งขันในธุรกิจการขนส่งจึงดุเดือดพอๆ กับการทำธุรกรรมการค้าออนไลน์ และยังคงมีคู่แข่งหน้าใหม่พร้อมรุกเดินเกมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดได้ตลอดเวลา

 

4. ปีแห่งการเติบโต ของบริการเก็บ-แพ็ค-ส่งสินค้า (Fulfillment)

การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตไปด้วย ทั้งด้าน E-logistics และ E-wallet ซึ่งเมื่อจำนวนออร์เดอร์เพิ่มสูงขึ้น การที่ผู้ขายต้องมาจัดการเรื่องการแพ็คสินค้า จัดส่งและทำสต๊อกสินค้าเอง อาจมีค่าบริหารจัดการ และเสียเวลามาก

การเรียกใช้บริการ Fulfillment ที่เกิดมาเพื่อเอื้อต่อความสะดวกและประหยัดต้นทุนให้แก่ผู้ขายในการดูแลสต๊อกสินค้า การแพ็คบรรจุและการจัดส่งทำให้ผู้ขายไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่มเติมมาจัดการส่วนนี้ ซึ่งมาร์เก็ตเพลสเอง ก็เริ่มเปิดให้บริการ Fulfillment รองรับร้านค้าบนแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวก และรองรับการเติบโตของตลาดที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

5. Brand กระโดดสู่ตลาดออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

การที่แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสต่างๆ เปิดพื้นที่ห้างออนไลน์บนแพลตฟอร์มตนเองขึ้นมา ก็เป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์เข้ามาทำตลาดออนไลน์แบบปลีกย่อยแข่งกับดีลเลอร์ของตัวเองมากขึ้น

เนื่องจากเป็นผู้ผลิตตั้งต้นจึงทำราคา และส่วนลดได้ง่าย ปรากฏการณ์นี้ เป็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้น และคาดว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะนอกจากผลกำไรที่แบรนด์ทำได้ดีจากการขายตรงแล้ว ยังมีข้อมูลผู้บริโภคที่แบรนด์จะได้รับเพื่อนำมาใช้ทำการตลาด หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่อไปอีกด้วย การเข้ามาถล่มตลาดขายตรงของแบรนด์ จึงทำให้ดีลเลอร์ทำตลาดได้ยาก

นี่จึงนับว่าเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับธุรกิจที่เคยเป็นตัวกลางต่างๆ​ เพราะอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งของช่องทางการค้าปลีกย่อย (Sub-Channel Conflict) เมื่อแบรนด์​ที่เคยเป็นลูกค้า เคยส่งสินค้าให้กลับกลายมาเป็นคนขายสินค้าแข่งกับตัวแทนเหล่านี้เสียเอง  ซึ่งอีกไม่นานพ่อค้าคนกลางหรือตัวแทนขายอาจค่อยๆ ถูกกลืนหายออกไปจากระบบโดยอัตโนมัติ

 

 

6. การค้าข้ามประเทศ Cross Border เติบโตแบบก้าวกระโดด

ด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนราคาสินค้าที่เข้ามาตีตลาดอีคอมเมิร์ซไทยของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าต่างชาติอย่างประเทศจีนจากสถิติตัวเลขอ้างอิงพบว่ามีสินค้าจากประเทศจีนอยู่ใน Marketplace  3 เจ้าดังของไทยมากกว่า  77% หรือประมาณ 135 ล้านชิ้น จากจำนวนคนขายเพียง 81,000 ราย เมื่อเทียบกับผู้ค้าออนไลน์ไทยพบว่า มีจำนวนผู้ขายสินค้าออนไลน์สูงถึง 1 ล้านราย จากจำนวนสินค้าทั้งหมด 23%  คิดเป็นสินค้าประมาณ 40 ล้านชิ้น

นั่นเป็นค่าตัวเลขที่บอกได้ว่า ตลาด E-Commerce ไทยกำลังโดนผู้ค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนกระหน่ำแบบถล่มทลายเป็นกองทัพสินค้า ไม่ใช่แค่การค้าปลีกธรรมดาทั่วไปแบบผู้ค้าออนไลน์ไทย และเนื่องจากสินค้าจีนมีต้นทุนการจัดการด้านแรงงานต่ำ จึงสามารถกระหน่ำรุกตีแย่งชิงพื้นที่ขายจากผู้ขายออนไลน์ไทยที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน เพราะมีราคาต่อชิ้นต่ำกว่าเป็นเท่าตัว

นอกจากนี้ ผู้ค้าข้ามประเทศอย่างจีน ยังมีการปรับตัวเรื่องการจัดส่งสินค้า โดยพัฒนาจากที่เคยใช้เวลารอสินค้าเกือบเดือน ก็เริ่มปรับจนสั้นลงเหลือ 7-14 วัน นี่จึงเป็นการแข่งขันที่น่ากลัวหากสินค้าจีนเข้ามาแทนที่สินค้าทุกหมวดที่ผู้ค้าออนไลน์ไทยขายอยู่

เป็นไปได้ว่าสินค้าในแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสของคนไทยจะหายไป เหลือแต่สินค้าจีนที่ครองตลาด เพราะราคาถูกกว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มก็จำต้องหากลยุทธ์ต่างๆ มาดึงลูกค้าไว้ในแพลตฟอร์มตัวเอง จากการสร้างความหลากหลายทั้งสินค้าจากไทยและต่างประเทศไว้ให้ลูกค้า จึงยากที่จะเบรกการกระหน่ำเทสินค้าจากจีนที่ถูกกว่าสินค้าไทยในหลายรายการได้

 

7. Social Commerce โตทะลุ พร้อมโฆษณาทาง Social Ads

จากความนิยมขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดมูลค่าทางการตลาดในส่วนของการค้าปลีกและส่งในประเทศสูงถึง 322,894.16 ล้านบาท มากกว่าอีมาร์เก็ตเพลสที่มีมูลค่าเพียง 102,408.49 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งมูลค่าตัวเลขเหล่านี้มาจากการ Live สด และโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ

สื่อโซเชียลกลายเป็นเทรนด์การตลาดที่ผู้ประกอบการทั้งใหม่และเก่าให้ความสนใจ เพราะเกิดการซื้อขายได้ง่าย โดยต้นทุนไม่สูงเกินไป ดังนั้น สื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้ จึงพัฒนาฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซขึ้นมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบบนแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น การเพิ่มช่องการจำหน่ายสินค้า การชำระค่าบริการ การยิงแอดโฆษณาเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการซื้อ-ขายให้มากขึ้น จนเกิด "นักยิงแอด" ขึ้นมาเป็นอาชีพใหม่บนโซเชียลมีเดีย

 

8. Live & Conversation Commerce การค้าแบบไลฟ์สด และแชท

หลังเปิดตัว Live Streaming ฟีเจอร์ไลฟ์สดบน Facebook ก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอย่างล้นหลาม และกลายเป็นช่องทางอันทรงประสิทธิภาพในการนำมาไลฟ์ขายของผ่าน Video streaming เพราะสามารถเข้าถึงผู้ติดตามได้ทันที และโต้ตอบสื่อสารกับผู้ซื้อได้ จนทำให้หลายแพลตฟอร์มบนมาร์เก็ตเพลสหันมาพัฒนาฟีเจอร์ไลฟ์สดเพื่อจับเทรนด์คนชอบไลฟ์ขายของ โดยการไลฟ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่ประสบความสำเร็จจนเรียกเงินเข้ากระเป๋าผู้ค้าออนไลน์เป็นหลักล้านมาแล้ว เทคนิคการไลฟ์มีดังนี้

  • มีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นชัดเจน
  • มีการวางแผนล่วงหน้า มีสคริป มีธีม
  • เวลาออกอากาศชัดเจน แจ้งล่วงหน้า
  • เนื้อหาการไลฟ์น่าสนใจ พูดจามีนํ้าหนัก
  • อธิบายสินค้าแบบลงลึก สร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้ชม (Over Acting)
  • ทักทายผู้ชม ตอบคำถาม หรือเปิดโอกาสซักถาม
  • ชวนคนแชร์ Live แล้วแจกของ
  • วางสินค้าโชว์ขณะไลฟ์สด ให้โดดเด่น น่าสนใจ
  • จัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขาย เช่น  โอนเงิน 3 คนแรกได้ของแถม
  • กระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกว่าไม่ใช้เองก็ซื้อให้คนอื่นได้

 

9. ข้อมูล E-Commerce นำไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นจัดเป็นช่องทางจัดเก็บข้อมูลลูกค้าได้อย่างง่ายดาย จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มของตัวเอง จนเกิดเป็นฐานข้อมูลแบบ Big data ที่นำไปต่อยอดธุรกิจได้อีกมากมายไม่จบสิ้น

 

10. ยุครุ่งโรจน์ของ E-Commerce เฉพาะทาง (Vertical E-Commerce)

การเลือกทำอีคอมเมิร์ซแบบเฉพาะทาง หรือ Verticle E-Commrece เพื่อขายสินค้าเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะด้านแบบลงลึกในแนวดิ่ง เปรียบเสมือนผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสินค้านั้นๆ กลายเป็นทางเลือกที่ให้ผลดีในการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่ไม่ต้องไปชนกับมาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ให้เจ็บตัว และเริ่มกลายเป็นเทรนด์การขายสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโมเดลรูปแบบใหม่จากจีนคือ การทำตลาดแบบใช้ดีแล้วบอกต่อ หรือแชร์ต่อๆ กันไป เมื่อมีการซื้อเกิดขึ้น ผู้แชร์จะได้รับคอมมิชชั่น ซึ่งเป็นช่องทางที่เริ่มนิยมมากขึ้น

11. Omni Channel ทุกช่องทางประสานด้วยกัน

การเชื่อมต่อประสาน Offline หรือหน้าร้าน กับ Online เข้าไว้ด้วยกันแบบไร้รอยต่อ กลายเป็นการตลาดที่ได้ผลดี เป็นเทรนด์ที่ลูกค้าให้การตอบรับจนเริ่มกลายเป็นกระแสนิยมทำให้หลายธุรกิจนำมาปรับใช้ เพราะเป็นวิธีการตลาดแบบครบวงจร ที่สร้างความประทับใจในการช้อปปิ้งให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการจนเกิดการซื้อซ้ำได้ดีกว่าการตลาดแบบ 1 way หรือ 2 way เพราะลูกค้าสามารถเข้าไปเลือกดูสินค้าบน Online เปรียบเทียบราคากับที่อื่นจากข้อมูลในระบบ ก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า ชำระเงิน และประสานกับทางร้านสาขาผ่านระบบแอดมินเพื่อเข้าไปรับสินค้าได้เลย

 

12. กฎหมายดิจิตอล จะมาแบบครบชุด

ปี 2020 นี้กฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซมาแน่นอนแบบยกชุด ทั้ง

  • พ.ร.บ. ภาษีอีเพย์เมนต์
  • พ.ร.บ. ภาษี E-Business (On Process)
  • พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  • พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
  • พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ซึ่งข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการออนไลน์ต้องเร่งเรียนรู้ และปรับตัวรับมือให้ทัน เพื่อให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ผิดข้อกฎหมาย

 

 

ทางด้านนายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกวันนี้ตลาด E-commerce มีมูลค่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้บริโภคมีความพร้อมในการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงเทคโนโลยีสื่อต่างๆ ก็มีการพัฒนา ยิ่งทำให้ตลาด E-Commerce ไทยมีช่องทางและโอกาสที่จะเติบโตได้มากขึ้น

การเติบโตดังกล่าว เกิดจากการเข้ามาขยายฐานการตลาดของกลุ่มผู้ให้บริการ E-commerce จากต่างประเทศในหลายๆ ค่าย ในรูปแบบ E-Marketplace ที่เข้ามาช่วยส่งให้การตลาดเติบโตขึ้น ตามมาด้วย การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ดังนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ ติดตามข้อมูลข่าวสาร และปรับตัวให้ทันอยู่เสมอ เพื่อรองรับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก เพิ่มโอกาสและความท้าทายในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวในการทำธุรกิจ รวมไปถึงการสัมมนาอัพเดทข้อมูลความรู้ดีๆ ได้ทาง https://www.bangkokbanksme.com/ ทั้งนี้ ทางธนาคารมีความตั้งใจที่จะจัดงานสัมมนาให้อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ประกอบการไทยให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน

 


ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาได้ที่นี่

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ >> E-commerce Trend 2020 << 


สัมมนา "E-Commerce Trends 2020" (1)

https://www.youtube.com/watch?v=5o_KFJOlvOA&feature=youtu.be

 

สัมมนา "E-Commerce Trends 2020" (2)

https://www.youtube.com/watch?v=eG5zt_lrwdY&feature=youtu.be

 

[อ่าน 5,318]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไอคอนสยาม ชวนเช็คอินฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ในไทย
เคทีซีเผยงบรวมไตรมาสแรก โฟกัสคุณภาพสินทรัพย์ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม
“สตีเบล เอลทรอน” ชวนคนไทยเพิ่มความสดชื่นรับซัมเมอร์ ยกขบวนเครื่องกรองน้ำดื่ม 5 รุ่นท็อป ชูเทคโนโลยีล้ำสมัยคุณภาพระดับเยอรมนี
ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ 5,334 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
เซ็นทรัลพัฒนา ส่งท้ายสงกรานต์ ‘FWD Music Live Fest 3’ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และวันไหลสงกรานต์เซ็นทรัลทั่วไทย
โครงการเพื่อสตรีของคาร์เทียร์ ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบ 33 คน ประจำปี 2024
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved