Back to Basic เล่าเรื่องแผนธุรกิจกันอีกสักที
09 Dec 2020

 

“Fast is better than slow.” เป็น 1 ใน 10 ปรัชญาหรือ Philosophy ของ Search engine ชื่อดัง Google ที่ผมใช้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจมาตลอด เพราะการแข่งขันในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของปลาที่ว่ายเร็วกินปลาที่ว่ายช้า ทำให้เราเห็น Startup มากมายที่ล้มยักษ์ใหญ่ในตลาดได้ แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ “ปลาใหญ่” สมัยนี้ก็เริ่มว่ายเร็วขึ้นจนกลายเป็นปลาใหญ่ติดสปีด ไล่กินปลาเล็กปลาน้อย และปลาที่ว่ายช้าไปอีก อาทิธุรกิจผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชื่อดังของไทยที่รวบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำไว้เรียบร้อยแล้วทั้งค้าส่ง ค้าปลีก                    

 

หลายคนคิดว่าการทำธุรกิจเป็นเรื่องของเงินทุนเป็นหลัก แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ “การวางแผน” (Planning) การวางแผนเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจที่สำคัญมาก เปรียบเสมือนแผนที่ในการเดินเรือ ไม่ว่าจะเป็นโจรสลัดหรือทหารเรือเอก ย่อมต้องอาศัยแผนที่ในการเดินทางทั้งสิ้น แต่ธุรกิจใหม่ๆ สมัยนี้โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กหรือแม้แต่ Startup บางรายไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการวางแผน แต่ไปดูที่ความสามารถในการระดมทุนเป็นหลัก ประมาณ 5-10 ปีที่แล้ว (ก่อนที่จะเห่อ Startup ครองเมือง) การเขียนแผนธุรกิจได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อาจารย์ กูรู (ที่สมัยนี้เรียกกันว่าโค้ช) เดินสายบรรยายเรื่องการเขียนแผนกันเป็นว่าเล่น หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงสมาคมต่างๆ มีการจัดประกวดแผนธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย เรียกว่ามีการประกวดกันทุกเดือน ตัดสินกันทุกสัปดาห์ หลายมหาวิทยาลัยมีวิชาแผนธุรกิจกันทั้งนั้น แต่ในยุคนี้อะไรก็ต้อง Shortcut สั้นๆ ง่ายๆ เร็วๆ จะได้ จะเอา จะมี ต้องได้เดี๋ยวนั้น แบบช้าไม่ได้ รอไม่เป็น การเขียนแผนที่อาจต้องใช้เวลาถึงได้เลือนๆ ไปกลายเป็นการทำแผนผ้าใบหรือ Business Model Canvas แทน แต่เชื่อเถอะว่า Business Plan ถ้าเขียนดีๆ คุณจะทำธุรกิจได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ๋วทีเดียวล่ะ ผมเล่าให้ฟังง่ายๆ ครับ

 

 

แผนธุรกิจเปิดมาปุ๊ป จะเจอส่วนแรกที่เรียกว่า “บทสรุปผู้บริหาร” จำได้ก่อนเลยนะครับว่ามันคือ

ส่วนแรก แต่ทำเสร็จเป็นส่วนสุดท้าย บทสรุปผู้บริหารคือการสรุปย่อแผนธุรกิจทั้งหมดเพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้บริหารอ่านแล้วเข้าใจภาพรวมได้ในเวลาอันสั้น ปกติแค่ 2-3 หน้าก็เพียงพอ แค่บอกว่าธุรกิจนี้คืออะไร ทำเพื่ออะไร ลูกค้าคือใคร และจะกำไรไหม อ่านแล้วเก็ท อ่านแล้วโดน ถือว่าสำเร็จ

 

ส่วนที่สองได้แก่ “สภาพอุตสาหกรรม” จะกล่าวถึงประวัติโดยย่อของธุรกิจ ที่มาของธุรกิจ รวมถึงสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมว่าเป็นอย่างไรบ้าง เติบโตไหม มีโอกาสอะไร รวมถึงข้อมูลคู่แข่งรายสำคัญๆ ทั้งคู่แข่งทางตรง ทางอ้อม เรียกว่าผู้อ่านเข้ามาอ่านส่วนนี้แล้วควรที่จะเข้าใจในธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี ทีนี้จะใส่ตัวแบบทางธุรกิจอะไร (Business model) อันนี้ก็แล้วแต่ถนัด แล้วแต่ความสามารถเลยครับ อาทิ SWOT analysis (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค), 5 Forces model (แรงกดดัน 5 ประการในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่), Diamond model (ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อจะลุยตลาดระหว่างประเทศ) เลือกให้เหมาะกับประเภท และลักษณะของธุรกิจครับ ไม่ใช่สักแต่ว่าใส่โมเดลเอาไว้โชว์

 

ส่วนที่สาม ได้แก่ การระบุวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ อย่าเพิ่งคิดว่าเชยนะครับ มันจำเป็นจริงๆ หลายครั้งที่คุยกับธุรกิจใหม่ๆ แล้วถามว่าอยากให้ธุรกิจเป็นอะไรในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า หลายคนตอบไม่ได้ เรื่องนี้สำคัญในการระดมทุน เพราะนักลงทุนก็ต้องการทราบว่าเค้าจะฝากความหวัง ฝากตังค์ไว้กับธุรกิจนี้ได้หรือไม่ วิสัยทัศน์คือการมองไปข้างหน้าไกลๆว่าอยากให้ธุรกิจเป็นอะไร อยู่ตรงไหน พันธกิจคือสิ่งที่ธุรกิจจะทำเพื่อให้ไปได้ถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าว นอกจากจะทำให้นักลงทุนมั่นใจแล้ว วิสัยทัศน์ และพันธกิจที่ชัดเจนจะทำให้ทุกคนในองค์กรมีข้อตกลง (Commitment) ร่วมกันเดินไปยังเป้าหมายเดียวกัน การดำเนินงานก็จะชัดเจนครับ ในส่วนนี้หากต้องการใส่กลยุทธ์ Porter’s Generic Strategy หรือกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจตามคำแนะนำของ Porter ที่สุดฮิตก็ย่อมได้ จะแข่งขันด้วยการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) การเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) หรือจะเน้นที่กลุ่มเป้าหมายขนาดเล็ก (Focus) ก็เลือกได้เลยครับ

 

ส่วนที่สี่ ได้แก่ แผนการตลาด ประกอบด้วยการระบุตลาดเป้าหมาย กลุ่มลูกค้าประเภทต่างๆ กลุ่มเป้าหมายหลัก กลุ่มเป้าหมายรอง และสิ่งสำคัญในส่วนนี้คือ “กลยุทธ์ทางการตลาด” วัดความเจ๋งของแผนธุรกิจกันที่ตรงนี้ด้วยครับ กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ราคา กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย และกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด ลงรายละเอียดให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่ใส่แต่โครง อย่าลืมว่าแผนธุรกิจคือแผนที่ และแผนที่ที่ดีต้องบอกรายละเอียดว่าไปที่ไหน ไปอย่างไร หากบริษัทใดจะมีกลยุทธ์ใหม่ๆ อาทิ Blue Ocean Strategy, Digital Marketing, Customer Relationship Management ก็ใส่ได้ไม่ผิดแต่อย่างใด แต่ที่ขาดไม่ได้ในส่วนนี้คือ ประมาณการยอดขาย เพราะจะมีผลต่อการทำงบประมาณล่วงหน้า ถ้าเราประเมินยอดขายได้ถูกต้องหรือใกล้เคียงความเป็นจริง การทำงบประมาณทางการเงินต่างๆ ก็จะสมเหตุสมผล

 

ส่วนที่ห้า ได้แก่ แผนการผลิต ต้องอ่านแล้วรู้ว่าจะผลิตสินค้าและบริการออกมาได้อย่างไร ระบุตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการผลิต (Process) และผลผลิตที่ได้ (Output) หรือถ้าซื้อมาขายไปก็ต้องระบุถึงผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิต (Supplier) ในแผนการผลิตสามารถระบุได้ถึงกำลังการผลิตที่สามารถทำได้ จะได้ทราบว่าถ้ามีกำลังการผลิตเหลือ ควรทำอะไรเพิ่มเติม เพื่อหารายได้เพิ่ม เช่นเดียวกัน หากบริษัทใดจะมีกลยุทธ์ใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น JIT (Just In Time), Lean หรือช่วงโควิดกำลังฮิตกับ JIC (Just In Case) ก็ใส่ไว้ในแผนได้ตามสะดวกครับ

 

ส่วนที่หก ได้แก่ แผนทรัพยากรบุคคล อย่างน้อยๆ ต้องมีแผนผังโครงสร้างองค์กร ตำแหน่งต่างๆ หน้าที่ของแต่ละตำแหน่ง จำนวนพนักงาน ผลตอบแทนที่ให้ เพื่อให้เห็นถึงลำดับขั้นในการบริหารงาน รวมถึงนำไปวางแผนค่าใช้จ่ายในการบริหารที่จะปรากฎในแผนการเงินในส่วนต่อไปได้

 

ส่วนที่เจ็ด ได้แก่ แผนการเงิน เริ่มตั้งแต่ความจำเป็นในการใช้เงินทุน แหล่งเงินทุนที่ต้องการ และประมาณการงบการเงินต่างๆ โดยเฉพาะประมาณการงบกำไรขาดทุน เพื่อให้เห็นอนาคตว่าธุรกิจนี้จะเป็นอย่างไร สำหรับแผนที่ทำขึ้นเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะจะมีส่วนที่เรียกว่าผลตอบแทนในการลงทุนอยู่ในส่วนนี้ด้วยซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

 

ส่วนที่แปด ได้แก่ การควบคุม จะทำเป็น Action plan  หรือ Gantt Chart  เครื่องมือที่ใช้วางแผนเพื่อแสดงตารางเวลาการดำเนินการ ที่เป็นตารางช่องๆ ระบุเป็นไตรมาส เป็นเดือน เป็นสัปดาห์หรือเป็นวันก็ได้

 

ส่วนที่เก้า (อันนี้แถมสำหรับช่วงโควิด) ได้แก่ แผนสำรองฉุกเฉิน (Contingency plan) ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้หลายๆ ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน เพราะไม่เคยวางแผนสำรองฉุกเฉินไว้ แผนสำรองนี้มักจะมองในแง่ของความเสี่ยง (Risk Management) แล้วพิจารณาถึงกรณีที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ผู้ปฏิบัติงานจะได้ปรับตัวได้ทันท่วงที

 

 

ส่วนที่เหลือจะมีภาคผนวกหรือ Appendix เป็นการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ ก็จะทำให้แผนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รูปภาพตัวอย่าง แผนที่บริษัท หนังสือจดทะเบียนต่างๆ ก็รวบรวมเอาไว้ ทีนี้เราก็จะมีคู่มือในการทำธุรกิจอย่างจริงจังละ ใครมาอ่านก็สามารถได้แนวทางในการดำเนินการได้ทันที

อย่าลืมว่าการวางแผน และการจัดทำแผนธุรกิจยังสำคัญเสมอ อย่าคิดแค่ว่าจะทำอะไรก็ทำ อยากได้อะไรก็จะเอา เพราะคิดการณ์ใหญ่เกินตัว แล้วไม่มีแผนที่นำทางที่ชัดเจน เวลาล้มแล้วมันเจ็บหนักนะครับ

 


BUSINESS IN ACTION_โดย คุณวีรพล สวรรค์พิทักษ์ 

MarketPlus Magazine Issue 129

 

[อ่าน 5,340]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เนสท์เล่ ขับเคลื่อนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารไทย ร่วมโครงการ SPACE-F
AIS พา Startup สาย ESG สัญชาติไทย โชว์ศักยภาพบนเวทีโลก
ebay ปลดล็อกศักยภาพตลาดออนไลน์ไทยสู่ตลาดโลก
88 Sandbox เปิดโครงการ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program บ่มเพาะสตาร์ทอัพการศึกษา
Elon Musk ตั้งสตาร์ทอัพชื่อ ‘xAI’ มีเป้าหมาย ‘เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของจักรวาล’
Makro ผนึก Infobip หนุนรายย่อยเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากรัฐ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved