SCG ปี 63 ยังแกร่ง กำไรเพิ่ม 7% ผลจาก 'ร่วมใจ - รับ/รุก - รวดเร็ว'
28 Jan 2021

 

เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2563 ยังแน่นปั๋งทำกำไรสำหรับปี 34,144 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ สวนกระแสวิกฤติโควิด-19 จากกลยุทธ์ 'ร่วมใจ - รับ/รุก - รวดเร็ว' สำทับด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการส่งมอบนวัตกรรมสินค้า-บริการ โซลูชันครบวงจร ชี้เมื่อเผชิญวิกฤติ ยิ่งทำให้ต้องเข้มแข็งกว่าปกติ เผยกำหนดจ่ายปันผลหุ้นละ 14 บาทวันที่ 23 เมษายน 2564

 

 

ภาพรวมรายได้ลด แต่กำไร +7%

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดนำถึงการแถลงผลการดำเนินงานของบริษัทฯว่า งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจีประจำปี 2563 รายได้จากการขาย 399,939 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน จากราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง กำไรสำหรับปี 34,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  7% จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ ยอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA)
 

"สำหรับผลกระทบของโควิด-19 ถือว่ายังไม่มากนัก เพราะเรายังสามารถส่งมอบสินค้าได้ และผลจากภาวะวิกฤตินี้ทำให้เราเกิดฮึกเหิมขึ้นด้วยว่า เราทำได้ เราสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤติตรงนี้ได้ เนื่องจากเมื่อมีวิกฤติก็ทำให้เราต้องต่อสู้ ทำงานหนักกว่าปกติ คนเอสซีจีมีความคิดร่วมกันว่า ทำอย่างไรให้รอดและทำอย่างไรให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง แล้วเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป เราก็จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการใดๆ เอสซีจีทำเลย โดยไม่ได้รอให้วิกฤติผ่านไปก่อน มิฉะนั้น ก็ยากที่จะทำให้องค์กรเข้มแข็งได้

 

ทั้งนี้ สิ่งต่างๆ ที่เราทำกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ การเปลี่ยนผ่านของธุรกิจ (Business Transformation) การสร้างนวัตกรรม หรือแม้แต่การทำเรื่องความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Sustainability & Circular Economy) ก็เป็นภารกิจที่เราต้องทำ ควบคู่กันไปกับการใช้เรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อเอามาใช้ในธุรกิจคอมเมิร์ซ การทำ Service Solution เป็นต้น"

 

Q4/2563

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/2563 ของเอสซีจี ประกอบด้วย

  • รายได้จากการขาย 97,250 ล้านบาท ลดลง  4% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากจากความต้องการในสินค้าซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างลดลงผลจากปัจจัยตามฤดูกาล และผลกระทบจากวิกฤติโควิด -19 อีกทั้งธุรกิจเคมิคอลส์มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) ในไตรมาสนี้ แม้ว่าการหยุดซ่อมบำรุงจะเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ทำให้สามารถชดเชยปริมาณขายที่จะลดลงไปได้บางส่วน แต่ก็ยังส่งผลให้ปริมาณขายของธุรกิจเคมิคอลส์ลดลงในไตรมาสนี้ และลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นอกจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน MOC แล้วยังมาจากรายได้จากการขายของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ลดลงจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19

 

  • กำไรสำหรับงวด 8,048 ล้านบาท ลดลง 17% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19  รวมถึงปัญหาฝนตกและน้ำท่วมในภูมิภาค ประกอบกับขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจซีเมนต์ในประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย แต่เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง

 

  • รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากไทยในปี 2563 ทั้งสิ้น 168,719 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจาก 41% ในปีก่อน
  • สินทรัพย์รวม  ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีมูลค่า 749,381 ล้านบาท โดย 38% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

 

 

ผลการดำเนินงานปี 63 แยกรายธุรกิจ

ธุรกิจเคมิคอลส์  

  • ปี 2563 : มีรายได้จากการขาย 146,870 ล้านบาท ลดลง  17% จากปีก่อน จากราคาและปริมาณขายสินค้าที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับปี 17,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน ผลจากส่วนต่างราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

 

  • ไตรมาส 4/2563 :  มีรายได้จากการขาย 36,035 ล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ของโรงงาน MOC ที่เลื่อนมาจากแผนเดิมในไตรมาส 2 โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น 108% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบที่ลดลงและมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ

 

 

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

  • ปี 2563 : มีรายได้จากการขาย 171,720 ล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีความท้าทาย โดยมีกำไรสำหรับปี 6,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องและต้นทุนการผลิตที่ลดลง

 

  • ไตรมาส 4/2563 :  มีรายได้จากการขาย 40,284 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ปัญหาฝนตกและน้ำท่วมหนักในไทยช่วงเดือนตุลาคม ทำให้ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ ประกอบกับเวียดนามและกัมพูชาก็เผชิญกับฝนตกหนักจากพายุฝนที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 194 ล้านบาท สาเหตุหลักจากรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย เป็นจำนวน 1,316 ล้านบาท และหากไม่รวมรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ดังกล่าว จะมีกำไรสำหรับงวดเป็นจำนวนเงิน 1,122 ล้านบาท

 

 

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง

  • ปี 2563 : มีรายได้จากการขาย 92,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนมีกำไรสำหรับปี6,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน เนื่องจากการที่บริษัทมีลูกค้าอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัย การซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ รวมถึงปริมาณการขายสินค้าของบริษัทในกลุ่มดังกล่าวเติบโตขึ้นเช่นกัน จากกลยุทธ์การมอบโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงาม และมีนวัตกรรม และการสร้างประโยชน์จากการผนึกพลัง (Synergy) ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย
  • ไตรมาส 4/2563 :  ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 23,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

คาถา DADA

ปัจจัยขับเคลื่อนที่ทำให้เอสซีจีสามารถโต้คลื่นวิกฤติโควิด-19 ได้นั้น กล่าวได้ว่ามาจากกลยุทธ์ DADA ที่เอสซีจึและทีมงานทั้งหมดร่วมกันฝ่าฟัน อันประกอบด้วย

  • Dedication : ความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานเอสซีจีทุกคนที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
  • Active Approach : ส่งมอบนวัตกรรมสินค้า บริการ พร้อมโซลูชันต่าง ๆ ได้ครบวงจร ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยที่พนักงานยังคงปฏิบัติงานตามแนวทาง Hybrid Workplace ที่ส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติงานที่บ้านและสามารถติดต่อกับลูกค้า ตลอดจนพันธมิตรธุรกิจของเอสซีจีได้
  • Digital Technology : การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อติดต่อกับคู่ธุรกิจ และให้บริการแก่ลูกค้า สร้างสรรค์นวัตกรรม สินค้าและบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคด้วยโซลูชั่นทางด้านบริการและการสื่อสารระหว่างพนักงานในภูมิภาค ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไม่สะดุด 
  • Agility : ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ แผนการดำเนินธุรกิจ ปรับสัดส่วนการขาย และรูปแบบการทำงานได้รวดเร็ว ตลอดจนการพัฒนาช่องทาง Omni-Channel เพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมของลูกค้าและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป

 

 

รุ่งเรืองกล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต-ซ่อมบำรุงก็ปฏิบัติตามมาตรการ 'ไข่แดง ไข่ขาว' เพื่อไม่ให้สัมผัสกับกลุ่มพนักงานทั่วไป รวมถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศก็ยังคงปฏิบัติงานเพื่อดูแลการผลิตให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้านพนักงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าได้ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในความปลอดภัย ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยแนวปฏิบัตินี้และความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน จะทำให้เอสซีจีก้าวผ่านความไม่แน่นอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ไปได้อีกครั้ง"

 

ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจเคมิคอลส์ทั้งในไทยและต่างประเทศ

  • การบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง
  1. การปรับสัดส่วนการขายโดยเพิ่มการขายเม็ดพลาสติกสำหรับกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคซึ่งยังคงมีความต้องการสูง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่ม และการขนส่งอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ตลอดจนเพิ่มการขายไปยังตลาดในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยจากมาตรการปิดประเทศ โดยธุรกิจได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนา Digital Commerce Platform เชื่อมต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าเข้ากับการบริหารจัดการสินค้า เพิ่มความคล่องตัวและลดเวลาการทำงาน โดยลูกค้าสามารถติดตามสถานะคำสั่งซื้อได้ตลอดเวลา

 

  1. การขยายผล-ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำและกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ และความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ เช่น เร่งพัฒนาโซลูชันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะชุมชน (Post-consumer Recycled Resin) และการก่อสร้างโรงงานสาธิตกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และร่วมมือกับคู่ธุรกิจระดับโลก เพื่อขยายผลการทำ Digital Manufacturing ให้เป็นธุรกิจที่ให้บริการโซลูชันด้านอุตสาหกรรม (Industrial Solutions)

           

ในส่วนของโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผน 66% และโครงการ MOC Debottleneck มีความคืบหน้าตามแผนโดยดำเนินโครงการไปแล้วกว่า 99%ซึ่งจะมีกำลังผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 3.5 แสนตัน/ปี

 

ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

  • การปรับแผนการดำเนินธุรกิจและโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยและเน้นการซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเร่งลงทุนใน Active Omni-Channel ได้แก่ SCG HOME Online, NocNoc และ Q-Chang พร้อมนำเสนอสินค้า/บริการ/โซลูชันครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำตลาดวัสดุก่อสร้างในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยให้บริการครอบคลุมทั้งโซลูชันเพื่อการก่อสร้างและการอยู่อาศัย รวมถึงโซลูชันเพื่อช่วยป้องกัน โควิด-19 เช่น Medical Solution by CPAC BIM ที่นำเทคโนโลยี Building Information Modeling มาช่วยวางแผน ออกแบบ และสร้างห้องแยกและควบคุมเชื้อสำหรับใช้ทางการแพทย์ ผสานเทคโนโลยีระบายอากาศความดันลบและความดันบวกมาใช้ ช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย สร้างได้รวดเร็ว และควบคุมงบประมาณได้ โดยดำเนินการแล้วที่โรงพยาบาลสระบุรี และวชิรพยาบาล

 

  • การนำเสนอนวัตกรรมสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นสุขอนามัยเป็นพิเศษ เช่น สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำอัตโนมัติ Smart Touchless ลดการสัมผัส, นวัตกรรมกระเบื้อง Hygienic Tile จาก COTTO ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียภายในบ้าน เช่นเดียวกับ สมาร์ทบอร์ด เอสซีจี รุ่นอัลตรา คลีน ที่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย เช็ดฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยแอลกอฮอล์ได้บ่อยโดยที่ไม่เสื่อมสภาพ ทนเชื้อราและรังสี UV เหมาะสำหรับทำเป็นผนังในโรงพยาบาล เฮลธ์แคร์ เนอร์สซิ่งโฮม หรือคลินิกทันตกรรม ขณะที่ระบบหลังคาโซลาร์จากเอสซีจี ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับเจ้าของบ้าน มียอดขายเติบโตขึ้น 182% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น

 

 

ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจแพคเกจจิ้ง

  • การออกแบบโมเดลธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน

 

  • การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างประเทศเพื่อขยายธุรกิจ โดยมุ่งขยายฐานลูกค้า ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีศักยภาพเติบโตสูง ล่าสุดได้เข้าถือหุ้นใน BienHoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำในประเทศเวียดนามและการเข้า ถือหุ้นใน Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราช อาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือที่มีฐานผลิตอยู่วียดนามตอนใต้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการขยาย ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหาร

 

  • การให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อมาตรการการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของสินค้าพนักงาน ตลอดจนลูกค้าและคู่ธุรกิจการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ โดยได้เปิด SCGP-Inspired Solutions Studio เพื่อเพิ่ม ประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าได้สัมผัสกับโซลูชันการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่างๆ พร้อมกับพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ R-1 ซึ่งเป็นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ผลิตจากฟิล์มประกบหลายชั้นช่วยปกป้องสินค้าและทนทานแรงกระแทกได้ดี สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและวัสดุอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพ โดยได้ร่วมกับ กลุ่มบริษัท  ดาว (ประเทศไทย) และข้าวตราฉัตร พัฒนานวัตกรรมถุงข้าวรักษ์โลกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 10

 

ปันผลหุ้นละ 14 บาท

คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 14 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 16,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49% ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 5.50 บาท เป็นเงิน 6,600 ล้านบาท เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 8.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 10,200 ล้านบาท

การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2564 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี”

 


การลงทุนปี 2564

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า "สำหรับปีนี้ เอสซีจีตั้งงบการลงทุนที่ 6.5-7.5 หมื่นล้านบาท จากปี 2563 ที่ตั้งงบไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาทและใช้ไปประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ทางเอสซีจีกำลังทบทวนโครงการ โดยคาดว่าแผนการลงทุนจะเป็นโครงการปิโตรเคมี  Long Son Petrochemicals (LSP) ที่เวียดนามมากกว่า50% ของวงเงิน นอกจากนี้ จะเป็นการลงทุนที่เกี่ยวกับแพคเกจจิ้ง, เคมีคัล, ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง"


 

[อ่าน 1,834]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เซ็นทรัล รีเทล Q1/68 รายได้ 69,280 ล้าน กำไร 2,337 ล้าน เดินหน้าขยายธุรกิจในไทย-ต่างประเทศ
ทรู คอร์ปอเรชั่น เสร็จ 100% Network Modernization ภูเก็ต ยกระดับประสบการณ์ 5G พร้อมขยายทั่วไทย
“realme GT 7 Series” เตรียมยึดบัลลังก์นักฆ่าเรือธงแห่งปี มือถือตัวท็อปที่แรงเกินต้าน ชิปเซ็ตแรงจัด แบตใหญ่ ชาร์จไวสุด
ASW จับมือ “บีจี ปทุม ยูไนเต็ด” และ “รอยัล คลิฟ” ปลุกพลังเด็กไทยโชว์ศักยภาพฟุตบอล-เทนนิส
"พฤกษา” เปิดไตรมาสแรก ปี 2568 แข็งแกร่ง เดินหน้ารุกอสังหาฯ – เฮลท์แคร์เต็มสปีด
ออริจิ้น เวอร์ติเคิล ปลุกกำลังซื้อ รับมาตรการรัฐกระตุ้นอสังหาฯ

MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved