TRUE X DTAC ถือเป็น 'ซูเปอร์ดีล' ครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างสีสันสวนทางเศรษฐกิจส่งท้ายปี 2021 อย่างแท้จริง
ที่สำคัญ นี่คือ ดีลพลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยในอนาคต เพื่อสร้าง 'ความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน' (Equal Partnership) ไม่ใช่ดีลของการผนวกกิจการ (Take-Over) แต่เป็นดีลของการสร้าง 'พลังผนึก' (Synergy) ที่จะเดินไปด้วยกัน ระหว่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ในนามของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ กลุ่มเทเลนอร์ ในนามของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค เนื่องจาก 'เกม' ของ 'ธุรกิจโทรคมนาคม' (Telco) เปลี่ยนอย่างพลิกโฉมและรวดเร็วทำให้ 'ผู้เล่นในสนาม' ต้องก้าวข้ามจากการทำหน้าที่เป็นท่อเชื่อมต่อสัญญาณแบบเดิมๆ และมองธุรกิจกันแค่ชั้นเดียว ด้วยการนิยามธุรกิจของตนเองเสียใหม่ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น 'บริษัทเทคโนโลยี' (Technology Company) หรือ Techo นั่นเอง
เมื่อ Telco ต้องเดินหน้าสู่ The Next Era
เทรนด์การมองหาน่านน้ำใหม่ๆ ของธุรกิจโทรคมนาคมเกิดขึ้นทั่วโลก จากเดิมเมื่อทศวรรษก่อนที่ดีลควบรวมกิจการ (M&A) มักจะเป็นการควบรวมใน 'ธุรกิจหลัก' เพื่อให้บริการในธุรกิจโทรคมนาคม และไลเซนส์, การควบรวมใน 'ธุรกิจใกล้เคียง' เพื่อสร้างพลังผนึกในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน, ไอซีที, มัลติมีเดีย และการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity Provider) และการควบรวมใน 'ธุรกิจอื่นๆ'
ทว่าในช่วงหลังเทรนด์ M&A ทั่วโลกเกิดขึ้น เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันแบบใหม่ๆ บนบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอัตราเร่ง และเพื่อทำให้ธุรกิจของตนเองวิวัฒนาการไปสู่ The Next Era ของอุตสาหกรรมอย่างไม่ตกขบวน
ทั้งนี้ Bain & Company ธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านการบริหารจัดการชั้นแนวหน้าของโลกชี้เทรนด์ M&A ของธุรกิจ Telco ที่ควบรวมแล้วสร้างอิมแพคอย่างมากๆ กับอุตสาหกรรมในช่วง ม.ค.- ก.ย. 2564 นั้นมีมูลค่าดีลรวมกันสูงถึง 3.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง17% โดยดีลส่วนมากก็จะเป็นธุรกิจ Telco ในแถบอเมริกาและยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา ขณะที่แถบเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคือ 13% แต่กระนั้นก็ยังเป็นการเติบโตแบบ Double-Digit
ในจำนวนนี้มีดีลยักษ์ที่น่าสนใจของปีนี้ อาทิ Rogers Communications - Shaw Communications ธุรกิจ Telco จากแคนาดาที่ควบรวมกิจการกันด้วยมูลค่าดีล 7.8 แสนล้านบาท (รวมหนี้มูลค่า 1.8 แสนล้านบาทของ Shaw ด้วย) เพื่อยกระดับการลงทุนในธุรกิจการสื่อสารบรอดแบนด์และโครงข่ายแบบมีสายและไร้สายของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน รวมทั้งการสร้างนวัตกรรม และการเติบโตในธุรกิจบริการทางด้านโทรคมนาคมใหม่ๆ เพื่อนำเสนอทางเลือกที่ดีกว่าให้กับธุรกิจและผู้บริโภคในแคนาดา
นอกจากนี้ ก็ยังมี KT Corporation (KT) ธุรกิจ Telco รายใหญ่ของเกาหลีใต้ที่เข้าซื้อกิจการของ Epsilon Telecommunications ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการเชื่อมต่อระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัล เพื่อต่อยอดให้ตนเองสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน และ Cloud Technology ได้ง่ายขึ้น และเสริมศักยภาพในการทำ Digital Transformation อีกทั้งยังเอื้อให้ KT สามารถขยายขีดความสามารถบริการภายในประเทศ, สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงขยายฐานลูกค้าไปยังทั่วโลกอีกด้วย ทำนองเดียวกัน ก็มี Vodafone ธุรกิจโทรคมนาคมสัญชาติอังกฤษ ที่ตั้งเป้าจะปรับตำแหน่งตนเองจาก ‘Classic Telco’ มาเป็นธุรกิจ Technology Communications (Tech Comms) และหันมาโฟกัสกับการใช้ Cloud, Data และ IoT มากขึ้น อันเป็นการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจในอนาคต
Synergy ของดีล 'ทรู X ดีแทค'
กรณีดีลครั้งประวัติศาสตร์อย่างทรูและดีแทคในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่ต่างก็หนีไม่พ้นวัฏจักรทางธุรกิจเช่นนี้
เนื่องจากธุรกิจ Telco ถูกคู่แข่งขันหน้าใหม่จากแอปพลิเคชั่นแชตอย่าง LINE เข้ามา Disrupt ทำให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการโทร หรือส่ง SMS มาเป็นการโทรจาก LINE ทำให้ธุรกิจ Telco ต้องไปเน้นที่การให้บริการทางด้านอินเทอร์เน็ตแทน นี่จึงทำให้ทั้ง ทรู และ ดีแทค ต่างต้องปรับยุทธศาสตร์ของตนเองไปสู่ The Next Era ของอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างพลังผนึกร่วมกัน แล้วขยับตนเองจากตำแหน่ง Classic Telco เป็น Techo หรือ Tech Comms ให้ได้ นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็วในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสาร และส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการก้าวสู่การเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค อีกทั้งเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้
เนื่องจากโทรคมนาคมยังคงต้องเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานและจะต้องพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ(Ecosystem) เพิ่มเติม อาทิ AI, Cloud, IoT, อุปกรณ์อัจฉริยะ, เมืองอัจฉริยะ, ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น หรือแม้แต่โลกดิจิทัลใบใหม่ที่กำลังจะมาและถือว่าพลิกโฉมทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม นั่นคือ เมตาเวิร์ส โลกเสมือนที่จะมาเชื่อมต่อกับโลกแห่งความเป็นจริง และทำลายข้อจำกัดของโลกความเป็นจริงได้อย่างเหลือเชื่อ
อย่างไรก็ตาม Synergy ครั้งนี้ทำให้มี Business Jargon ที่น่าสนใจ คือ การประกาศสร้าง 'ความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน' ทั้งจากฟากของ ทรู และ ดีแทค เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกัน พร้อมตั้งเป้าจะให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีและโทรคมนาคม ขณะเดียวกัน ก็ตั้งเป้าที่จะ Synergy เพื่อสนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างจิ๊กซอว์ต่างๆในระบบนิเวศให้สมบูรณ์ขึ้น โดยการจัดตั้ง Venture Capital มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,000 ล้านบาท) เพื่อติดปีกสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งในประเทศไทย
ทั้งนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า Tech Startup เหล่านี้แหละที่จะทำหน้าที่ต่อยอด และเติมเต็มระบบนิเวศของธุรกิจ Telco ของทั้งสองค่าย อีกทั้งจะสามารถนำพาให้ธุรกิจในฟากของ Telco ออกจาก Safe Zone ได้อย่างมั่นใจ และปรับนิยามทางธุรกิจแบบเดิมๆ เสียใหม่ โดยมีสตาร์ทอัพเหล่านี้มาคอยตีโจทย์จาก Pain Point ต่างๆ นานาและหาโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อนำเสนอเป็นโปรดักท์หรือบริการ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ Used Case ใหม่ๆ และสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ Used Case ที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจในโลกกายภาพและโลกเสมือน หรือแม้แต่การหาโซลูชั่นเพื่อนำไปสู่การยกระดับการบริหารจัดการ การปฏิบัติงานในองค์กรธุรกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน จนถึงการช่วยเหลือสังคม หรือแม้แต่การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา/ทางด้านสังคม การประกอบธุรกิจจากพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนการเตรียมพร้อมสำหรับ 'โลกแห่ง Metaverse' ซึ่งสังคมไทยยังต้องเร่งพัฒนาจิ๊กซอว์ที่เชื่อมโยงทั้งสองโลกและพัฒนาคอนเทนท์หรือเครื่องมือต่างๆ เพื่อแข่งขันกับ Tech Company จากต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย
อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ทั้งของ ดีแทค และ ทรู ตลอดเวลากว่า 30 ปีนั้นก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แข่งขันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร แต่ทั้งสองบริษัทต่างก็สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งการสร้างนวัตกรรมของโปรดักท์ การสนับสนุนสตาร์ทอัพ การสนับสนุนทางด้านการศึกษาและการสร้างสรรค์สังคมที่ดี ในฝากของทรูเอง ก็ขยับตัวไม่ใช่น้อย พัฒนาตัวเองทั้งทางด้านการให้บริการ และสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ ตอบสนองและรับใช้คนไทยมาตลอด พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อดูแลสังคมไทยให้เติบโตไปด้วยกัน TRUEtogether
การจับมือกันในเกมนี้ จึงเชื่อได้ว่า คนไทยจะได้ประโยชน์แน่ๆ
เพราะทั้งสองค่ายจะจับมือกันเอื้อประโยชน์ให้กับคนไทย-สังคมไทย และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ อันจะทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลากหลายมาผสมผสานกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมถึงการทำงาน การสร้างสังคมความบันเทิง และทำกิจกรรมต่างๆ แบบไร้รอยต่อ
ที่สำคัญ นี่คือการก้าวสู่การเปิดหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งของ TRUE
TRUE to TECH, THE FUTURE is TRUE