NFT จากงานศิลป์สู่อัญมณีและเครื่องประดับ
05 Apr 2022

จากภาวะเศรษฐกิจผันผวนที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง 'คริปโทเคอร์เรนซี' (Cryptocurrency: สกุลเงินดิจิทัล) สกุลเงินหลักๆ อย่างบิตคอยน์ (BTC), อีเทอเรียม (ETH) หรือไบแนนซ์ (BNB) และ NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งคนทั่วโลกให้ความสนใจ และเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  

 

ทำความรู้จักกับ NFT  

NFT คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ไม่สามารถทดแทนหรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นได้ และสร้างขึ้นบนระบบบล็อกเชน ต่างจากสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็น Fungible ที่สามารถทดแทนแลกเปลี่ยนกับเงินดิจิทัลสกุลอื่นหรือสิ่งอื่นๆ ได้ แต่ NFT แต่ละชิ้นจะมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของ NFT เริ่มในปี 2014 จากงานศิลปะที่ชื่อ Quantum ของ Kevin McCoy ที่สามารถทำเงินได้ถึง 1.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นงาน NFT ไม่เพียงได้รับความนิยมในงานศิลปะ แต่ยังขยายไปสู่การสร้างผลงานดิจิทัลทั้งภาพถ่าย เพลง คลิปวีดิโอสั้นๆ เกม  ของสะสม หรือมีม (Meme) ต่างๆ กระทั่งปัจจุบันบริษัทชั้นนำและแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงต่างก็เริ่มเข้าสู่ NFT อย่างจริงจังแล้ว

ข้อมูลจาก DappRadar ะบุว่า ในปี 2021 ตลาด NFT มีมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 โดยตลาด NFT ที่มีการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรกอย่าง OpenSea, LooksRare และ Axie Infinity มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันกว่า 42,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามภาพ)

 

             

NFT ปลดล็อกช่องทางขายงานให้ศิลปิน

แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ถือเป็นช่องทางหลักที่ศิลปิน ทั้งมืออาชีพ และสมัครเล่น สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้า เพื่อแสดงงานและขาย โดยไม่จัดแสดงงานในสถานที่จริง และตอบโจทย์ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ ทั้งนี้ การสร้างผลงานส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นบนระบบบล็อกเชนของอีเธอเรียม (ETH) ทำให้สกุลเงิน ETH กลายเป็นสกุลหลักในการซื้อขาย ทว่า ในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ซึ่งผู้สร้างผลงานจะต้องศึกษาด้วย อาทิ เงื่อนไขต่างๆ  ค่าธรรมเนียม (Gas Fee) รวมทั้งวิธีการการสร้างผลงาน (Mint) วิธีรับค่าตอบแทน กระเป๋าเงินดิจิทัลที่รองรับ หรือวิธีการแลกเปลี่ยนโอนเงินจากสกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน

ในการขายงาน NFT นั้นก็เหมือนกับงานศิลปะทั่วไป นั่นคือ การขายโดยการตั้งราคา หรือผ่านการประมูล แต่มีความแตกต่างในแง่ของกรรมสิทธิ์เพราะงานทุกชิ้นจะถูกบันทึกบนระบบบล็อกเชนถึงสิทธิผู้ครอบครองเอาไว้เป็นทอดๆ ไม่ว่างานนั้นจะถูกขายมากี่ครั้งก็สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ถือครองได้ในระบบ และเมื่องานถูกนำมาขายต่อเป็นทอดๆ เจ้าของดั้งเดิมคนแรกยังได้รับส่วนแบ่ง (Royalty Fee) ราว 5-10% ของทุกการขายด้วย

 

5 อันดับผลงาน NFT ที่ทำเงินสูงสุด

ที่มา : www.dexerto.com // หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

NFT X ตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ          

จากกระแสความนิยม NFT ในปัจจุบันทำให้สินค้าหรูและแบรนด์ชั้นนำของโลกต่างก็ก้าวเข้าสู่ตลาดนี้อย่างคึกคัก อาทิ Burberry ที่เปิดขาย NFT เป็นไอเท็มชุดสะสมในเกม Blankos Block Party ที่มีทั้งแจ็กเก็ต กำไลข้อมือ รองเท้าว่ายน้ำ รวมทั้งตัวละคร Sharky B และกวาดรายได้เกือบ 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ Dolce & Gabbana ขายคอลเลกชัน Collezione Genesi ที่มีอยู่ 9 ชิ้นในรูปแบบ NFT ได้ในราคา 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

คอลเลกชัน NFT ของ Dolce & Gabbana จาก runwaymagazines.com

             

ทั้งนี้ Morgan Stanley ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลกคาดการณ์เทรนด์ของการเติบโตของ NFT ว่า ในปี 2021 ของ NFT สินค้าหรูมีมูลค่ารวมประมาณ 1% ของตลาด NFT ทั้งหมด แต่ด้วยอุปสงค์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้ NFT ของสินค้าหรูในปี 2030 ขยับเป็น 8% ของตลาด หรือราว 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่มีแบรนด์ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่เริ่มเข้าสู่วงการ NFT อาทิ แบรน​ด์ Icecap ธุรกิจ​สตาร์​ทอัพที่ต้องการ​สร้างเพชรที่อยู่​ในระดับน่าลงทุน​(Investment​ Grade)ให้เกิดการซื้อขาย​แลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง​เช่นเดียวกับ​โลหะมีค่า อย่างทองคำหรือเงิน​ โดยมีราคา​ 5,000-15,000 ดอลลาร์​สหรัฐ​ อีกทั้งยังมีเพชรที่เป็นของหายากด้วย อาทิ แหวนเพชรสีแดงชมพูที่มีราคาราว 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เพชรที่เป็นของจริงทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในตู้เซฟที่มีการรับประกันและตรวจสอบเป็นระยะๆ โดยผู้ซื้อสามารถเลือกได้ว่า จะซื้อขายในรูปแบบงาน NFT หรือต้องการแลกเปลี่ยนเป็นของจริง ด้วยการส่งงาน NFT ชิ้นนั้นกลับมาที่ Icecap จากนั้นทางบริษัทจะจัดส่งสินค้าตัวจริงไปให้ลูกค้า ส่วนงานที่ถูกแลกเปลี่ยนแล้วก็สามารถนำกลับมาขายในรูปแบบ NFT อีกครั้ง

 

แหวนเพชร NFT ของ Icecap จาก icecap.diamonds

 

NFT ในไทย

ตลาดซื้อขาย NFT สัญชาติไทยมี 4 ราย ประกอบด้วย NFT1, Bitkub NFT, Coral และ JNFT แม้ว่าจะยังมีปริมาณซื้อขายไม่มากนัก แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการรับรู้ เพื่อรองรับผู้สร้างสรรค์งานชาวไทยให้ได้รับความสะดวกมากขึ้นในการซื้อขายผลงาน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจรวมทั้งวงการแฟชั่น สินค้าหรู อัญมณีและเครื่องประดับต่างต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการเลือก NFT เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการขายผลงานของบรรดาศิลปิน นักออกแบบ ช่างเจียระไน หรือผู้ผลิตเครื่องประดับให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศและผู้คนจากทั่วโลกมากขึ้น

 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน

https://infocenter.git.or.th 


บทความจาก MarketPlus Magazine On April 2022 Issue 144

[อ่าน 3,254]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Brother โชว์ศักยภาพ Domino N730i ดันไทยสู่มาตรฐานใหม่อุตสาหกรรมพิมพ์ ในงาน Labelexpo Southeast Asia 2025
AWC รายงานผลกำไรไตรมาส 1/2568 เติบโต 23% มูลค่าทรัพย์สินพุ่งกว่า 2 เท่า
ไอคอนคราฟต์ ชวนช็อปงานคราฟต์จากกลุ่มคนพิเศษ ในแคมเปญ "The Craft of Sharing" ตั้งแต่วันนี้ - 3 มิ.ย. 68
CKPower เผยกำไรสุทธิ Q1/2568 พลิกเป็นบวกแม้เป็นฤดูแล้ง
เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท โชว์ผลงาน กำไรไตรมาส1 พุ่ง 57% ทะยานสู่โหมดการเติบโตอย่างเต็มกำลัง
ออร์บิกซ์ ร่วมมือกับ Bitstamp ยกระดับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved