อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาก ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวและกำลังซื้อของผู้บริโภค
• มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยในปี 2022 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัว 9.0%YOY สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลกและประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีนี้ มีแนวโน้มกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง Pre-COVID (2015-2019) ขณะที่ราคาวัตถุดิบทูน่านำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลกที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งต้นทุนในการออกจับปลาที่เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะต้นทุนหลักอย่างน้ำมันดีเซล
• มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวในปีนี้จะอยู่ที่ 14.6%YOY เร่งขึ้นจาก 6.7%YOY ในปีที่แล้ว สอดคล้องกับความต้องการในประเทศคู่ค้าสำคัญที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่ากุ้งแปรรูป โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกไปยังตลาดจีนและญี่ปุ่นที่เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งมีการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงและมีความต้องการสินค้าอาหารประเภท luxury และอาหารทะเล เช่น กุ้ง เพิ่มสูงขึ้น
ความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยปี 2022 คือ ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจโลก และ recession
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความเสี่ยงในเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) ในประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงประเด็นความท้าทายในด้านอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคอาหารทะเลในระยะต่อไป ได้แก่
• มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน (sustainable fishing) และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม (fair labor practices) รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
• การแข่งขันจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น สินค้าโปรตีนทางเลือกจากพืช และผลิตภัณฑ์ประเภท Plant-based seafood เป็นต้น
• นโยบายการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ของทางการจีน ที่จะส่งผลให้จีนมีแนวโน้มทยอยลดการนำเข้าอาหารและพึ่งพาการผลิตจากภายในประเทศตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต