บะหมี่สำเร็จรูป เต็มเหนี่ยวแล้ว!! แบกต้นทุนไม่ไหว ขอขึ้นเป็น 8 บ.
16 Aug 2022

‘บะหมี่สำเร็จรูป’ ทุกยี่ห้อจับมือขึ้นเวทีเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีแถลงข่าวขอปรับราคาเป็นซองละ 8 บาท เผยแบกต้นทุนไม่ไหว เต็มเหนี่ยวจริงๆ เจอหนักๆ สุดกลั้นมา 9 เดือน ทั้งต้นทุนแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ต้นทุนราคาน้ำมันและค่าขนส่ง รวมๆ กันกว่า 2 บาทแล้ว ยังไม่นับรวมต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐเตรียมปรับอัตราจ้างใหม่ เผยทุกค่ายต้องปรับยุทธวิธีขายตลาดต่างประเทศหนีตาย เพราะสามารถขายตามราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ กับลดทำโปรโมชั่น พร้อมวิงวอนกรมการค้าภายในให้เห็นความจำเป็นของผู้ประกอบการ

 


ประวัติศาสตร์สินค้า FMCG ต้องจารึก เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่บะหมี่สำเร็จรูปรายหลักๆ ของประเทศไทยจับมือกันขึ้นเวทีเพื่อแถลงถึงความจำเป็นเพื่อขอปรับราคาเป็นซองละ 8 บาท ประกอบด้วย

คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) แบรนด์ "มาม่า",

คุณปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด  แบรนด์ “ซื่อสัตย์”, “จายา” และ “โคคา”,  

คุณวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด  แบรนด์ "ไวไว"

คุณกิตติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด แบรนด์ "ยำยำ" 

คุณฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด  แบรนด์ "นิชชิน"


 

ต้นทุนเป็นกราฟพุ่งชัน

สถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่ คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ บอกว่า “กราฟต้นทุนสินค้านั้นพุ่งขันเป็นด้านข้างตัว A แต่ไม่ปักหัวลงสักที” ทั้งนี้ วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป คือ แป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม ซึ่งกลายเป็นต้นทุนหนักหนาที่แบกรับไม่ไหว อาทิ

  • แป้งสาลี ขนาดบรรจุถุงละ 22.5 กิโลกรัม ปรับราคาจาก 250 บาทเป็นกว่า 500 บาท หรือ 100%  เนื่องจากประเทศไทยปลูกข้าวสาลีในระดับอุตสาหกรรมไม่ได้ จึงต้องนำเข้า และเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ต้นทุนในส่วนนี้จึงต้องขยับตามไปด้วย 
  • น้ำมันปาล์ม ราคาต่อลิตร ปรับตัวจาก 18 บาทเป็นกว่า 50 บาท หรือเกือบ 300%
  • บรรจุภัณฑ์ทั้งซอง ฟิล์มพลาสติก กล่องกระดาษ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 20-30% 
  • ต้นทุนพลังงานทั้งในส่วนการผลิต และ ต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อกระจายสินค้าลงตลาดที่ขยับตัวตามราคาน้ำมัน และเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเช่นกัน

ทั้งนี้ กล่าวให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ต้นทุนที่ขยับเหล่านี้ เมื่อคิดเป็นต้นทุนต่อซองก็มากกว่า 2 บาทแล้ว ไม่นับต้นทุนจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ภาครัฐเตรียมจะปรับฐานในเร็วๆ นี้

 

วอนขอความเห็นใจกรมการค้าภายใน

เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมราคา การจะปรับราคาขายปลีกมิอาจทำได้ด้วยตนเอง หากแต่ต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน ที่สำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือ การชี้วัด ‘ดัชนีความสุข’ ของคนไทยและการชี้วัด GDP เศรษฐกิจไทยอย่างง่ายๆ ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากช่วงที่ข้าวยากหมากแพง ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะพุ่งทะยาน เนื่องจากอิ่มอร่อยได้ในราคาประหยัด

แต่จากภาวะต้นทุนที่สุดฝืน ทำให้บรรดาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างทยอยยื่นปรับราคาสินค้าชนิดซอง 6 บาท ต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ไปตั้งแต่ต้นปี 2565 พร้อมทั้งทำรายงานแจกแจงต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2551 หรือเป็นระยะเวลา 14 ปี โดยมีไทม์ไลน์  ดังนี้คือ

  • มีนาคม 2565 ขอปรับขึ้น 1 บาทเป็นซองละ 7 บาท 
  • กรกฎาคม 2565 ยื่นขอปรับราคาเป็นซองละ 8 บาท เนื่องจากต้นทุนสินค้ายังปรับราคาต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นต้นทุนจากการซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าที่มีช่วงราคาที่แพงที่สุด แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุมัติ ดังนั้น ภาวะกลืนเลือดของผู้ประกอบการจึงต้องดำเนินต่อไป หลังจากแบกต้นทุนมา 9 เดือนแล้ว

เนื่องจากธรรมชาติของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ้มเปราะบางโดยตรง ดังนั้น ตัวแปรในการอนุมัติการขึ้นราคาจึงมิได้อยู่ที่ตัวเลขแจกแจงต้นทุนเพียงอย่างเดียว หากแต่มีตัวแปรทางด้านสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เหตุผลแบบ “ช่วยๆ กันไปก่อน” จึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ในครั้งนี้ หากยังมีเหตุผลทางสังคมแบบ “ช่วยๆ กันไปก่อน”

เชื่อว่า ผู้ประกอบการหลายรายอาจเดินต่อไม่ได้ เพราะเกิดภาวะขาดทุนกันแล้ว  

 

ปรับตัวส่งออกเพราะขายราคาจริงได้

ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาขายได้ ทำให้แต่ละรายล้วนต้องปรับตัว นับแต่การลดโปรโมชั่น เพราะแน่นอนว่า ด้วยต้นทุนเช่นนี้ยิ่งลดยิ่งเจ็บตัว จากเดิมในยุคที่ไม่มีปัญหาราคาวัตถุดิบ ผู้บริโภคก็ได้ซื้อบะหมี่สำเร็จรูปขนาดบรรจุ 10 ซอง ราคา 38-42 บาทมาแล้ว แต่การปรับตัวที่เป็นเนื้อเป็นหนัง แล้วก็ไม่บาดเจ็บ คือ การโฟกัสกับตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่ไม่ได้ควบคุมราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเหมือนประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายและปรับราคาขายตามต้นทุนที่แท้จริงได้ โดยในตลาดต่างประเทศก็มีการปรับราคาไปแล้ว 2-3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการเน้นย้ำ คือ มิได้จะหมายความว่า จะไม่ป้อนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของตนเองเข้าตลาดภายในประเทศ หากแต่ต้องลดปริมาณการผลิตและจำหน่ายลง และขณะนี้ได้ลดการทำงานล่วงเวลาสำหรับสินค้าตัวที่มีต้นทุนสูงเกินไปแล้ว

           

[อ่าน 1,969]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
AWC เปิดตัว 'หงส์ ไชนีส เรสเตอรองท์ แอนด์ สกาย บาร์’ @อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล
AIS ยืนยันตัวจริงมีหนึ่งเดียว เที่ยวสงกรานต์ทั่วไทย “รวมกันที่ไหน อุ่นใจยกแก๊ง”
เจาะลึกไลฟ์สไตล์ใหม่“มิลเลนเนียลแฟมิลี่” ทุ่มไม่อั้นพาลูกท่องเที่ยวเรียนรู้สู่ความยั่งยืน
พาส่องดีไซน์สวยทุกมุมมอง “เซ็นทรัล นครปฐม” เช็คอินพร้อมกัน 30 มีนาคม 67
The 1 Exclusive อัปเกรดประสบการณ์สมาชิกสู่ The Best Central Group Privileges คัดสรรเอกสิทธิ์ที่ดีที่สุด ผ่าน Digitized Experience บน The 1 APP เท่านั้น
เอสซีจี คว้ารางวัล 2023-2024 Thailand’s Most Admired Company กลุ่มวัสดุก่อสร้าง
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved