ผู้บริโภค จ.พะเยา จับตา “ควบรวมทรู - ดีแทค” หวั่น กสทช. ตัดสินใจเอื้อประโยชน์ทุน
26 Sep 2022

นักวิชาการด้านกฎหมาย ม.พะเยา เปิดตัวบทกฎหมาย แสดงความแปลกใจการพิจารณาดีลควบรวม ทรู - ดีแทค เหตุใด กสทช. กลับสงสัยในอำนาจของตนเองส่งกฤษฎีกาตีความ ชี้ทำสังคมไทยสับสน เชื่อองค์กรอิสระอื่นๆ กำลังเฝ้ามองการทำงานอยู่

 

วันที่ 22 กันยายน ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และพะเยาทีวี จัดเวทีสาธารณะ “ควบรวมทรู - ดีแทค” เพิ่มทางเลือกหรือสร้างภาระให้ (ผู้บริโภค) พะเยา ที่ห้องศาลจำลอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเปิดเวทีถึงสาเหตุที่องค์กรของผู้บริโภคออกมาคัดค้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคม

 

อาจารย์ปิยอร เปลี่ยนผดุง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงการตีความกฎหมาย การใช้กฎหมาย และสถานะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในกรณีการควบรวมกิจการทรู - ดีแทค ว่า กระบวนการที่ผ่านมามีความพยายามส่งเรื่องไปให้สำนักง่านคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ มองว่า เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่กสทช.กลับสงสัยในอำนาจของตนเอง

 

“กระบวนการที่เราเห็นส่งผลกระทบต่อความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. ค่อนข้างมาก กสทช. ไม่เข้าใจอำนาจของตนเองตามกฎหมาย ทั้งที่มีอำนาจพิจารณาการควบรวมกิจการ มีอำนาจออกประกาศต่างๆ และมีอำนาจหน้าที่ปกป้องและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น การที่ กสทช. โยนเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ทำให้สังคมไทยยิ่งจะสับสน หากอนาคตเกิดดีลลักษณะนี้ขึ้นอีก เราจะต้องทำอย่างไรกัน จะปล่อยให้ผู้ประกอบการตกลงกันไปก่อน แล้ว กสทช. แค่เป็นนายทะเบียน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” อาจารย์ปิยอร ระบุ

 

อาจารย์ปิยอร ชี้ว่า ในอนาคตหากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเกิดขึ้น การมีคู่แข่งน้อยรายในตลาด ไม่เพียงแต่กระทบราคาค่าบริการเท่านั้น แต่ตั้งคำถามว่าจะมีหน่วยงานใดสามารถกำกับดูแลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี สัญญาณโทรศัพท์ และการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้น ราคาที่สังคมต้องจ่ายกับกรณีการควบรวมทรู - ดีแทค ไม่ได้มีเพียงค่าโทรศัพท์ที่แพงขึ้น แต่มีเรื่องอื่นๆ แฝงอยู่อีกมากมาย

 

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา ใจแก้วทิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีธุรกิจอื่นที่มีองค์กรอิสระกำกับดูแล ทั้งการประกันภัย พลังงาน การเงินการธนาคาร ฉะนั้น องค์กรอิสระอื่นๆ กำลังเฝ้ามองการทำงาน กสทช. จากกรณีควบรวมดังกล่าวว่า การตัดสินใจเป็นไปในทิศทางใด จะเอื้อกับทุนหรือไม่

 

“การที่เรามองว่าการมีคู่แข่งที่สูสีกันน่าจะแข่งขันกันในตลาดเกิดขึ้น แต่สังคมไทยอาจเจอตลกร้ายก็เป็นได้ถ้าหากผู้ประกอบการที่เหลือสมรู้ร่วมคิดกัน (Cartel) ขณะที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ก็เข้ามากำกับดูแลไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจโดยตรงของ กสทช.” ผศ.กฤษฎา ระบุ

 

สำหรับการฟ้อง กสทช.ในข้อหาผิดตามมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผศ.กฤษฎา มองว่า เป็นเรื่องการพิสูจน์ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมใช้ระยะเวลานานกว่าจะมีคำพิพากษา ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และเฝ้าติดตามมาตรการป้องกันการผูกขาดที่จะออกมาหลังจากนี้

 

ผศ.กฤษฎา ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การควบรวมกิจการทรู - ดีแทค ไม่อยากให้ผู้บริโภคมองแค่เรื่องค่าบริการ หรือการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล การถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจากการควบรวมกิจการระหว่าง 2 บริษัทด้วย

 

ส่วน พันธวัช ภูผาพันธกานต์ นักวิชาการอิสระ มองว่า ในอดีตกิจการโทรคมนาคมเป็นระบบผูกขาด เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อโทรศัพท์มือถือและเสียค่าบริการสูงมาก ต่อมาเมื่อมีคู่แข่งเข้ามาในตลาด จึงเกิดการแข่งขัน ราคาค่าบริการถูกลง ธุรกิจโทรคมนาคมกลายเป็นการค้าเสรี แต่หาก กสทช. อนุญาตให้ทรู - ดีแทคควบรวมกิจการเกิดขึ้น เหลือผู้ประกอบการน้อยราย หมายความว่า สังคมไทยเรากำลังย้อนกลับไปยุคเดิม สู่ยุคผูกขาดอีกครั้ง

 

นักวิชาการอิสระ ชี้ว่า การที่ กสทช. ไม่เข้าใจในอำนาจของตนเอง ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความนั้น กสทช. รู้หรือกังวลกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย การพิจารณาก็ต้องไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ อีกทั้งการควบรวมกิจการนี้ไม่เพียงเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคม 2 ค่ายมารวมกันเท่านั้น  แต่คือความพยายามผูกขาดเชิงโครงสร้าง

 

“ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้รัฐที่อุปถัมภ์ทุน หันมาอุปถัมภ์ภาคประชาชน กสทช. ควรทบทวนตัวเอง วันนี้คุณอุปถัมภ์ใคร กิจการโทรคมนาคมไม่ใช่ร้านโชวห่วย มีผลกระทบคนเป็นสิบๆ ล้านคน คุณเด็ดดอกไม้ดอกเดียวก็สะเทือนถึงดวงดาว สุดท้ายผมเชื่อว่าอย่างไรเสีย กสทช. ก็อนุญาตให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไข รัฐเลือกจะอยู่ข้างทุน ฉะนั้นหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค คือการจัดเวทีเพื่อให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรอง สร้างดุลยภาพทางอำนาจให้เกิดขึ้น” นักวิชาการอิสระ กล่าว

 

นักวิชาการอิสระ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอในเรื่องนี้ ได้แก่ 1. ถ้าอนุญาตให้ควบรวมกิจการ อยากเห็นรัฐยึดโยงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก โดยสร้างเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดในระยะยาว ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด 2. กสทช. ต้องแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัย และ 3. รัฐต้องจัดการเรื่องนี้ตามหลักนิติธรรม และยังมีข้อเสนอให้ภาคประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไข และให้ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอให้ กสทช. หากท้ายสุดมีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการเกิดขึ้น   

 

ด้าน ต่วนกฤษ จันทนะ ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคจังหวัดพะเยา และกลุ่มผู้เสียหายเสาสัญญาโทรศัพท์ ตำบลน้ำแวน แสดงความเป็นห่วงการควบรวมกิจการด้านโทรคมนาคม ระหว่างทรู - ดีแทค โดยเฉพาะการแข่งขันทางการตลาดที่จะเหลือผู้เล่นในตลาดน้อยราย เหลือ 2 เจ้าใหญ่ ในอนาคตค่าบริการอาจจะแพงขึ้น ส่วนการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ แล้วกสทช.มากำหนดเงื่อนไขตามหลังนั้น ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค จังหวัดพะเยา แสดงความไม่มั่นใจว่า กสทช. จะรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคได้จริง ทั้งการกำกับดูแล และการควบคุมผู้ประกอบการที่เหลือเพียง 2 รายในประเทศไทย

 

สุดท้าย ว่าที่ร้อยตรีอภิสิทธิ์ ชำนาญยา หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา กล่าวถึงการควบรวมกิจการ ทรู -ดีแทคครั้งนี้จะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดมีผู้เล่นน้อยราย หวั่นเรื่องของค่าบริการที่จะสูงขึ้น และการพัฒนาเสาสัญญาณ ซึ่งการขับเคลื่อนขององค์กรผู้บริโภคหลังจากนี้ คือ การสร้างความตื่นรู้ให้กับผู้บริโภคในจังหวัดพะเยาที่มีกว่า 4 แสนคน ได้เข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะทำให้ผู้บริโภคตื่นรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการควบรวมทรู - ดีแทค และหาก กสทช. อนุญาตให้ควบรวมเกิดขึ้นจริงๆ เครือข่ายฯ จะมีข้อเสนอและมาตรการที่เสนอต่อ กสทช. เพื่อให้ 2 บริษัทนี้คำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภคมากที่สุด

[อ่าน 1,185]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
UNODC เปิดตัวแคมแปญ “เช็กก่อนแชร์ (Beware the Share)”
ฟูจิฟิล์ม เอาใจคนรักภาพฟิล์ม ครั้งแรก! ของกล้อง FUJIFILM X-T50
พฤกษาโชว์รายได้ไตรมาสแรก 4,171 ล้านบาท ธุรกิจเฮลท์แคร์ เติบโต 21%
ออริจิ้น เปิดบ้าน-คอนโดใหม่ อีก 11,180 ล้าน บุกตลาด Pet Family Condo-บ้านเดี่ยว
มูจิ ปรับลดราคาอีกครั้งกว่า 126 รายการ ตั้งเป้าเป็นแบรนด์สามัญประจำบ้านในใจคนไทย
อาร์เอส กรุ๊ป จับมือ บางจากฯ ขยายธุรกิจ เพ็ท รีเทล ร่วมลงทุน ‘PET ALL MY LOVE’
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved