มทร.ธัญบุรี พัฒนาพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งคิด สร้างสรรค์ และแสดงผลงาน โดยเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ชุมชนและสังคม ด้วยนวัตกรรมบนฐานบีซีจีโมเดล พร้อมร่วมเปิดศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ และศูนย์ BCG Innopolitan by RMUTT
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า
มทร.ธัญบุรี มีนโยบายยกระดับและมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ด้วยนวัตกรรมบนฐาน Bio-Circular-Green Economy หรือบีซีจีโมเดลจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่แหล่งคิด แหล่งสร้างสรรค์และแสดงผลงานที่เป็นรูปธรรม และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิที่ผ่านมานั้น เพื่อขยายผลการดำเนินงาน และประชาสัมพันธ์ ผลงานนวัตกรรมบนฐานซีจีโมเดล ผลงานผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนภายใต้กิจกรรมมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T for BCG) และการรังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิสู่สังคมไทย
จากพลังผนึกที่มีร่วมกันระหว่างมทร.ธัญบุรี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การ มหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และธาราบางคล้ารีสอร์ท จนนำไปสู่ความสำเร็จของการเปิดศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ และศูนย์ BCG Innopolitan by RMUTT (ศูนย์นวัตกรรมสถาน มทร.ธัญบุรี) ณ ธาราบางคล้ารีสอร์ท อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมกับกล่าวว่า
“จากการเยี่ยมชม ศึกษา และแลกเปลี่ยนที่ธาราบางคล้ารีสอร์ท จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญและเป็นตัวอย่างที่ดีในการผูกโยงแนวคิดนวัตกรรมบนฐาน Bio-Circular-Green Economy หรือบีซีจีโมเดล ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และในระยะหลังมาได้นำเชื่อมโยงกับสุวรรณภูมิศึกษา นับว่า ทุกพื้นที่ของธาราบางคล้ารีสอร์ทได้สร้างบรรยากาศและภูมิทัศน์ด้วยบีซีจีโมเดลเกือบทั้งหมด ขณะเดียวกัน ยังให้ 2 มหาวิทยาลัยได้มาใช้พื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการเชื่อมโยงเรื่องราวด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคมเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ผ่านการร้อยเรียงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อเครือข่ายชุมชน สังคม ธุรกิจ รวมถึงสินค้าและบริการใหม่ ๆ ในอนาคตได้
“ศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ และศูนย์ BCG Innopolitan by RMUTT หรือที่เรียกว่า ศูนย์นวัตกรรมสถาน มทร.ธัญบุรี ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้นจากแนวคิดการพัฒนาผืนแผ่นกินสุวรรณภูมิให้มีความสมดุลของธรรมชาติตามหลักบีซีจีโมเดล สำหรับศูนย์นวัตกรรมสถาน มทร.ธัญบุรี เป็นศูนย์ที่แสดงผลงานในพื้นที่ดำเนินการจริง (Social Lab) ของนักศึกษา คณาจารย์ เพื่อการยกระดับวัฒนธรรม สู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีการจัดนิทรรศการผลงานวิชาการ การเปิดร้านค้าแสดงสินค้าที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้มีส่วนร่วมกับท้องถิ่น และเครือข่าย รวมถึงการบูรณาการกับท้องถิ่นและการบูรณาการเชื่อมโยงระดับชาติ ซึ่งร่วมมือกันหลายคณะ คือคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะการแพทย์บูรณาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คาดว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นแล้วนั้น จะสามารถเป็นต้นแบบของการสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้และการมีส่วนร่วม ตามหลักการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อความเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืน” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวสรุป