ttb analytics คาดธุรกิจบริการดิจิทัลปี 2566 โตแตะ 5.6 แสนล้าน แรงหนุนจากกระแสบริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
27 Jan 2023

ttb analytics คาดธุรกิจบริการดิจิทัลปี 2566 โตแตะ 5.6 แสนล้าน แรงหนุนจากกระแสบริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล แนะธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้ตรงตามความต้องการส่วนบุคคล

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจบริการดิจิทัลในปี 2566 มีมูลค่าถึง 5.6 แสนล้านบาทเติบโตกว่า 20% จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เร่งให้เกิดการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วมากขึ้นและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แนะธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI มาประยุกต์ใช้ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจการบริการให้ครบวงจร

 

ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Services) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนและเป็นขั้นตอนกระบวนการสำคัญของภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านการสื่อสาร แต่ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจบริการดิจิทัลในประเทศมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง ผลจากการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลของไทยในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ตั้งแต่การทำธุรกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันผ่านระบบออนไลน์ โดยในปี 2564 มีธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่  1) บริการสื่อบันเทิงออนไลน์ (Online Media) มูลค่าตลาด 1.3 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 38% 2) บริการขนส่ง E-Logistics มูลค่าตลาด 9 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 26% 3) บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-Retail หรือที่รู้จักคือ E-Commerce) มีมูลค่าตลาด 5.9 หมื่นล้านบาท สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 17%  และ 4) บริการอื่นๆ มีมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 19% เช่น บริการด้านการศึกษาออนไลน์ และบริการด้านสาธารณสุข/สุขภาพออนไลน์ (E-Health)

 

โดยสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ถือเป็นช่วงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ช่วยผลักดันบริการดิจิทัลในภาพรวมเติบโตกว่า 36% จากการที่ผู้ประกอบการนำกลยุทธ์ Digital Transformation มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเต็มตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาการทำธุรกรรมต่างๆ ทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับตัวและมีความคุ้นเคยกับการใช้บริการธุรกิจบริการดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2565 คนไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 3.4% ทำให้ปัจจุบันระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 78% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันถึงกว่า 9 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 7 ของโลกที่มีค่าเฉลี่ยราว 7 ชั่วโมงต่อวัน

 

ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าเป็นหลัก มีอัตราการเติบโตของรายได้มากกว่ากลุ่มที่ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่นๆ กว่า 2 เท่า  โดยพบว่าธุรกิจบริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายมีการเติบโตต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจ E-Logistics และ E-Retail ที่เติบโตได้ 58% และ 44% ในปี 2564 ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานมีการซื้อสินค้าและการใช้บริการออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ส่วนธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้มาจากแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่นๆ  พบว่ามีอัตราการเติบโตที่แผ่วลง เช่น ธุรกิจ Online Media มีการเติบโตในปี 2564 ราว 28% มีรายได้หลักมาจากสื่อโฆษณาออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เช่น Facebook และ YouTube  โดยในปี 2565 สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยได้สูงถึง 92% และ 79% ตามลำดับ ถือเป็นอัตราการเข้าถึงที่สูง 

 

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นทิศทางการเติบโตอย่างรวดเร็วในบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (E-Health) ถึงแม้ปัจจุบัน E-Health จะยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่น้อย แต่มีการเติบโตของรายได้ในปี 2564 ก้าวกระโดดกว่า 50% จากการที่ผู้ให้บริการเริ่มหันมาสนใจให้บริการด้านสุขภาพกันมากขึ้น อาทิ ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กอปรกับ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) คือการมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนมากกว่า 20% ในอีก 8 ปีข้างหน้า 

 

จากมูลค่าตลาดธุรกิจดิจิทัลในภาพรวมราว 4.5 แสนล้านบาทในปี 2565  ttb analytics คาดว่าในปี 2566 นี้ ธุรกิจบริการดิจิทัลยังมีแนวโน้มเติบโต 24% มูลค่าอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีด้านดิจิทัลส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาคธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดบริการดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เป็นลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลมากขึ้น  สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจบริการดิจิทัลทั่วโลกที่มีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ E-Logistics และ E-Retail แม้ว่าจะมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 43% แต่ธุรกิจมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และยังมีการทุ่มงบประมาณด้านการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้า ในขณะที่กลุ่มแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่นๆเป็นกลุ่มที่ยังคงมีการเติบโตในระดับสูง

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจบริการดิจิทัลควรมีการปรับตัว เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของธุรกิจบริการดิจิทัลและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ภายใต้แรงกดดันด้านกำไรที่ลดน้อยลงตามกระแสธุรกิจโลก โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น นำระบบ AI มาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจากคำถามและพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อผู้ใช้บริการได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้บริการ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เชื่อมการบริการของธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้ครบวงจร เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค

 

[อ่าน 2,379]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัว “เจดับบลิว การ์เด้น” เขาหลัก พร้อมเดินหน้าหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืนภายในปี 2593
ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 กว่า 9,400 ล้าน
เครือซีพี ชู 3 Big Goals สู่ความยั่งยืน ความเป็นกลางทางคาร์บอน, ลดขยะให้เป็นศูนย์
ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหกรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
'TMAN' เปิดยุทธศาสตร์มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเวชภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตขให้ดียิ่งขึ้น
จิม ทอมป์สัน ส่งแคมเปญ 'Carry Everywhere' พากระเป๋ายักษ์สุดไอคอนิกบุกแลนด์มาร์กดังทั่วไทย
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved