ฝากไว้ให้คิด 9 กฎเหล็กของการสร้างสรรค์ ‘นวัตกรรม’ 

12 Oct 2023

1. นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นวูบวาบแล้วจบไป แต่ต้องมีการสานต่อ

Alexander Fleming ค้นพบเพนิซิลลิน ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ในปี 2471 แต่ต้องรอนานถึง 15 ปี ยามหัศจรรย์นี้ก็ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ปี 2486 เป็นต้น Alan Turing เกิดแนวคิดเรื่องคอมพิวเตอร์อเนกประสงค์ขึ้นในปี 2479 แต่จนกระทั่งปี 2489 ถึงได้มีการสร้างขึ้นจริง และจนกระทั่งถึงปี 2533 คอมพิวเตอร์เริ่มส่งผลกระทบต่อสถิติการผลิต

ดังนั้นการที่เรามักจะคิดว่านวัตกรรมเกิดขึ้นจากข้อมูลเชิงลึกอันยอดเยี่ยมเพียงแวบเดียวแล้วประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดมหันต์ เพราะความจริงก็คือนวัตกรรมเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบข้อมูลเชิงลึก วิศวกรรมของโซลูชั่น และจากนั้นถึงเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหรือสาขาต่าง ๆ  ซึ่งแทบจะไม่เคยสำเร็จได้ด้วยคน ๆ เดียว หรือแม้แต่ในองค์กรเดียวด้วยซ้ำ
 

 

2. นวัตกรรมเป็นความพยายามร่วมกัน

เหตุผลที่ Fleming ไม่สามารถนำเพนิซิลลินออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่คิดค้นสำเร็จก็เพราะในฐานะนักชีววิทยา เขาขาดทักษะที่จำเป็นหลายประการ จนกระทั่งหนึ่งทศวรรษต่อมา นักเคมีสองคนที่ชื่อว่า Howard Florey และ Ernst Boris Chain ได้หยิบปัญหาขึ้นมาและสามารถสังเคราะห์เพนิซิลลินได้ ถึงกระนั้น ก็ยังต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมด้านการหมักและการผลิตเพื่อเปลี่ยนมันให้กลายเป็นยามหัศจรรย์ที่เรารู้จักในปัจจุบัน

กฎเหล็กนี้นี่ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่เป็นบรรทัดฐาน ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของ Charles Darwin ยืมแนวคิดมาจาก Thomas Malthus นักเศรษฐศาสตร์ และ Charles Lyell นักธรณีวิทยา การค้นพบดีเอ็นเอของ James Watson และ Francis Crick ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ขุดค้นในห้องแล็บ แต่โดยการรวมการค้นพบทางชีววิทยา เคมี และการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์เข้าด้วยกันเพื่อแจ้งการสร้างแบบจำลองของพวกเขา

ดังนั้นนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมแทบไม่เคยเกิดขึ้นภายในสาขาความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่เกือบทั้งหมดเป็นผลผลิตจากการสังเคราะห์ข้ามสาขาทั้งนั้น

 

 

3. ขั้นแรก ต้องถามคำถามที่ถูกต้อง

เราควรดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับนวัตกรรม? เราควรมอบมันให้กับนักวิจัยเสื้อกาวน์สีขาวดีไหม? หรือให้เป็นความรับผิดชอบของพันธมิตรภายนอก? ผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้? ระดมมวลชนใช่ไหม? สิ่งที่เราต้องการคือกรอบการตัดสินใจที่ชัดเจน

วิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นนวัตกรรมคือ การถามคำถามที่ถูกต้อง เมื่อตั้งถามคำถามในการวางกรอบแล้ว จากนั้นจะสามารถเริ่มกำหนดวิธีที่สมเหตุสมผลในการแก้ไขปัญหาโดยใช้ Innovation Matrix (เครื่องมือช่วยเลือกกลไกนวัตกรรมให้เหมาะกับองค์กรแต่ละแห่ง เป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น)

ลองสังเกตดูว่าบรรดาผู้สร้างนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น Apple, Tesla หรือ Google แล้วจะพบกับพอร์ตโฟลิโอของกลยุทธ์ต่างๆ ที่ชัดเจน ดังนั้นขั้นตอนแรกในการแก้ปัญหายากๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมคือการถามคำถามที่จำเป็นเพื่อกำหนดแนวทางขององค์กร

 

 

4. จะเล็ก จะใหญ่ ใครก็สร้างนวัตกรรมได้

เมื่อคนส่วนใหญ่คิดถึงนวัตกรรม มักจะนึกถึงสตาร์ทอัพ และแน่นอนว่าบริษัทใหม่ๆ เช่น Uber, Airbnb และ Space X สามารถเปลี่ยนตลาดได้อย่างสิ้นเชิง แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ เช่น IBM, P&G และ 3M ก็สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ต่อให้คู่แข่งหน้าใหม่จะลุกขึ้นมาท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่มีไม่น้อยที่อันตรธานหายไปอย่างรวดเร็ว จนผู้คนลืมเลือนในที่สุด

ดังนั้น แม้ว่าบริษัทขนาดเล็กที่คล่องตัวสามารถเดินเกมรบได้อย่างรวดเร็ว แต่องค์กรขนาดใหญ่ก็มีขุมกำลังเหลือเฟือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรม บริษัทเหล่านี้มีลูกค้าประจำและมีทรัพยากรมากมาย สามารถมองข้ามเทรนด์ที่กำลังมาแรง ไปยังเทรนด์ถัดไปและเดินหน้าลงทุนในระยะยาวได้ จึงเป็นจุดแข็งที่สตาร์ทอัพยากจะต่อกร

 

 

5. ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมแบบเปิด เพื่อขยายขีดความสามารถ

เมื่อ Microsoft เปิดตัว Kinect สำหรับ Xbox ในปี 2553 ได้กลายเป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยสร้างความคึกคักในการเล่นเกมที่ร้อนแรงที่สุด โดยขายได้ 8 ล้านเครื่องในเวลาเพียงสองเดือนแรก และเกือบจะในทันทีที่บรรดดาแฮ็กเกอร์เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการใช้งานของมันในรูปแบบใหม่ๆ ที่เร้าใจยิ่งขึ้น แต่แทนที่จะขอให้พวกเขาหยุด Microsoft กลับเปิดรับแฮ็กเกอร์ และปล่อยชุดพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติการพวกเขา

เช่นเดียวกับ Microsoft หลายบริษัทในปัจจุบันน้อมรับนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อขยายขีดความสามารถ อาทิ Cisco แซงหน้า Lucent ได้ ไม่ใช่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเอง แต่โดยการเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพอย่างชาญฉลาด ส่วน P&G ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามด้วยโปรแกรม Connect and Develop ด้วยการสร้างศูนย์วิจัยระดับโลกและว่าจ้างผู้ที่มีความสามารถที่ดีที่สุดในโลกจากภายนอก มาร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ไม่ต่างจากกรณีของ Alexander Fleming และเพนิซิลลิน บริษัทส่วนใหญ่มักพบว่าการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดจะต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญที่พวกเขาไม่มี นั่นหมายความว่า ณ จุดหนึ่ง พวกเขาจะต้องใช้ประโยชน์จากพันธมิตรและแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและความสามารถอื่น ๆ ของตนเอง

 

 

6. นวัตกรรมที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จำเป็นต้องมีโมเดลธุรกิจใหม่

เมื่อ Chester Carlson ประดิษฐ์เครื่องถ่ายเอกสารของเขาจนสมบูรณ์แบบในปี 2481 เขาพยายามนำเสนอให้กับบริษัทมากกว่า 20 แห่ง แต่ไม่มีผู้ตอบรับแม้แต่รายเดียว เพราะมันแพงเกินไป แต่ในที่สุด ในปี 2489 Joe Wilson ประธานบริษัท Haloid ก็เกิดแนวคิดที่จะปล่อยเช่าเครื่องนี้แทนการขายเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และในปี 2491 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Xerox ที่ทุกคนรู้จักกันดี

สิ่งที่ยุ่งยากเกี่ยวกับ Disruptive Innovation (นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วตอกฝาโลง ทำลายผลิตภัณฑ์เดิมให้ตายไป ไม่มีสิทธิ์ได้เกิดอีกต่อไป) คือ นวัตกรรมเหล่านี้ไม่ค่อยเข้ากับโมเดลธุรกิจที่มีอยู่ดั้งเดิม ทำให้ผู้เล่นรายเดิมซึ่งเป็นรายใหญ่ในตลาดเกิดความลังเลและรีรอดูท่าทีว่าจะเดินเกมต่อไปในทิศทางใดกันแน่ การนำนวัตกรรมมาใช้จึงไม่เกิดขึ้นในทันที เช่น Kodak สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายฟิล์ม ดังนั้นจึงใช้เวลานานและล่าช้าเป็นอย่างมากกว่าที่จะนำกล้องดิจิทัลที่บริษัทเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเองออกสู่ตลาด

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทต่างๆ จะต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังมีการออกแบบหรือคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับนวัตกรรมนั้นด้วย

 

7. สร้างสรรค์แกนหลัก ด้วยกฎ 70/20/10

หลายคนมักคิดว่านวัตกรรมเป็นการละทิ้งสิ่งเก่าเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับสิ่งใหม่ แต่ดังที่ Chris Zook หุ้นส่วน Bain & Co. บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกชี้ให้เห็นใน Profit From The Core หนังสือที่เขาเขียนว่า บริษัทที่ชาญฉลาดตระหนักดีว่ากำไรส่วนใหญ่ของพวกเขาจะมาจากธุรกิจในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง Google  ที่จริงอยู่ บริษัทฯ แสวงหานวัตกรรมที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เช่น รถยนต์ไร้คนขับ  แต่การปรับปรุงธุรกิจการค้นหา (Search Engine) อย่างต่อเนื่อง คือสิ่งที่ทำให้บริษัทฯ กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก นั่นเป็นสาเหตุที่ Google และบริษัทนวัตกรรมอื่น ๆ จำนวนมากปฏิบัติตามกฎ 70/20/10

หลักการของกฎนี้นั้นเรียบง่าย ในกรณีของ Google คือ มุ่งเน้นทรัพยากร 70% ในการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (เช่น การค้นหา 20% ทุ่มไปยังตลาดที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมกัน (เช่น Gmail, Google Drive เป็นต้น) และ 10% สำหรับตลาดใหม่ทั้งหมด (เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง)

 

 

8. จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้าถึงระบบนิเวศที่เอื้อต่อนวัตกรรม

ในอดีตเป็นเรื่องยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำงานร่วมกันข้ามเวลาและสถานที่ แต่ในปัจจุบัน เราสามารถใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้าถึงระบบนิเวศของเทคโนโลยีและข้อมูลได้ เช่น ใน App Store ของ Apple แน่นอนว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับลูกค้าของ Apple ในการเข้าถึงฟังก์ชันการทำงานบนโทรศัพท์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงความสามารถของนักพัฒนาทั่วโลกที่มีอยู่นับล้านคนได้

พึงตระหนักว่าในโลกที่มีเครือข่ายโยงใยและเส้นสู่ความสำเร็จมากมายนั้น ไม่ใช่แค่การได้มาและการควบคุมทรัพย์สินไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นการขยายความสัมพันธ์ให้กว้างขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่างหาก

 

9. การทำงานร่วมกันเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันแบบใหม่

เมื่อเรามองย้อนกลับไปถึงนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ในอดีต ก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่สิ่งต่าง ๆ จะแตกต่างออกไปได้อย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นถ้านักเคมีสนใจการค้นพบเพนนิซิลินของเฟลมมิงในเวลาไม่กี่สัปดาห์แทนที่จะเป็นหลายปี? สามารถช่วยชีวิตได้กี่ชีวิต? นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการทำงานร่วมกันจึงกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

ปัจจุบัน มีความพยายามสำคัญ ๆ มากมาย เช่น  JCESR  ที่ Argonne National Labs ที่มุ่งพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นต่อไป  หรือเครือข่ายแห่งชาติเพื่อนวัตกรรมการผลิตและ ศูนย์วิทยาศาสตร์มะเร็งประยุกต์  ที่ MD Anderson ที่กำลังคิดค้นแนวทางการทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อพิชิตมะเร็ง

นั่นแสดงให้เห็นว่า ในการแก้ปัญหาที่ยากจริงๆ เราต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรวมผู้คนที่มีความสามารถหลากหลายเข้าด้วยกัน

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในทุกอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่แค่การคิดไอเดียที่ยอดเยี่ยมเท่านั้นเพราะมันเกี่ยวกับการนำความคิดนั้นมาเปลี่ยนให้กลายเป็นความจริง ซึ่งนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีทั้งแรงบันดาลใจ ความคิด การนำไปปฏิบัติ และการทำซ้ำ

นวัตกรรมเต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะมีความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความซับซ้อน สิ่งนี้ทำให้การพัฒนาโครงสร้าง ระบบ และวิธีการในการพัฒนา ตลอดจนการนำผลิตภัณฑ์ที่ก่อเกิดจากนวัตกรรมไปใช้มีความสำคัญมากขึ้น

 

ทุกวันนี้ ผู้บริหารมักได้รับแจ้งว่าพวกเขาจะต้อง ‘สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือไม่ก็ตายจากไป’ แต่ทว่ากลับได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการดังกล่าว แน่นอนว่ามีหนังสือและบทความมากมายที่สนับสนุนแนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่เป็นสูตรสำเร็จ ในการช่วยให้ผู้บริหารค้นพบหนทางของพวกเขาเพื่อข้ามผ่านป่าที่รกชัฏและเถ้าวัลย์ที่พันเกี่ยวกันของสารพันความคิดที่พวยพุ่งขึ้นมาก    

 

เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ล้วนคือแนวทางเบื้องต้น เพราะต้องยอมรับว่า ไม่มี  ‘เส้นทางที่ราบรื่น’ สู่นวัตกรรม และ  ‘No Silver Bullet’ (ไม่มีผลิตภัณฑ์หรือวิธีการหรือเคล็ดลับที่สามารถรับประกันผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จได้ ในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่)

ที่สำคัญ คำว่า ‘นวัตกรรม’ ไม่มีทางลัด

 

ที่มา Greg Satell อาจารย์ที่โรงเรียนธุรกิจวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง เช่น  Cascades: How to Create a Movement that Drives Transformational Change และ Mapping Innovation ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือธุรกิจที่ดีที่สุดประจำปี 2560 

 


บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 160

[อ่าน 2,982]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มือใหม่เริ่มลงทุน แอปทำการซื้อขายหุ้น กองทุน แบบไหนที่ใช่ ?
ยูนิโคล่ เผยผลสำรวจ AIRism ชี้ความร้อนและสภาพแวดล้อม ส่งผลกระทบต่ออารมณ์-ประสิทธิภาพในการทำงาน
แกร็บฟู้ด เผย 5 เทรนด์อาหารมาแรงแห่งปี 2025
The 1 Insight x Wisesight Research เผย 4 เมกะเทรนด์ไลฟ์สไตล์ใหม่ สะท้อนการใช้ชีวิตผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ร่วมกับกลุ่มแอกซ่า จัดทำวิจัยสำรวจสุขภาพจิตของคนไทยและทั่วโลก
ผลสำรวจ 75% นักการตลาดสาย Performance ผลตอบแทนลดจากโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย และกว่า 50% หันไปสู่ช่องทางใหม่
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved