จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า สถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 - 30 เมษายน 2568 มียอดคดีออนไลน์ทั้งสิ้น 887,315 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยความเสียหาย 77 ล้านบาทต่อวัน แม้ว่าที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามติดตามป้องกันปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิด รวมทั้งสร้างเครื่องมือมาป้องกันประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่มิจฉาชีพก็ยังพัฒนาวิธีการใหม่ๆ มาหลอกลวง สร้างความเสียหายอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
นั่นทำให้ AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ใช้งานสู่โลกออนไลน์ ซึ่งได้ใช้ศักยภาพทางธุรกิจมาสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย และสามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างมีประโยชน์มาโดยตลอด ตัดสินใจเพิ่มระดับความเข้มข้นในการสร้างสังคมดิจิทัลปลอดภัยไปอีกขั้น
ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตร ทั้ง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. ร่วมกันขับเคลื่อนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม พร้อมปักหมุดประเทศไทย สู่ "ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์”
อีกทั้งยังเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กร ผสานพลังตัดวงจรมิจฉาชีพตั้งแต่ต้นทาง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยทางเทคโนโลยี ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ และตอกย้ำการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัลทุกมิติ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้แทนจากภาครัฐ กล่าวว่า “รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชน ที่ผ่านมาสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินหน้าทำงานเชิงรุกผ่าน 3 แกนหลัก ทั้งการกำหนดและพัฒนากฎหมาย สร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการยกระดับความมั่นคงระดับประเทศ
โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และขจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านการดำเนินการทั้งในเชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ปฏิบัติการ “Seal Stop Safe” ตลอดจนมาตรการซีลชายแดน ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์, การแก้ไขกฎหมายควบคุมบัญชีม้า-ซิมม้า รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐอย่าง กสทช., ธนาคารแห่งประเทศไทย, ปปง. และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงภาคเอกชน ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มดิจิทัล”
ทั้งนี้รัฐบาลได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง พร้อมยกระดับ “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ให้เป็นหนึ่งใน "นโยบายระดับชาติ" เพื่อช่วยปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้แทนจากภาครัฐ
โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการทั้งในเชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
การตั้งศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และปฏิบัติการเชิงรุก
แก้ไขกฎหมายสำคัญเพื่อปิดช่องโหว่ เช่น กฎหมายควบคุมบัญชีม้าและซิมม้า พร้อมผลักดันให้แพลตฟอร์มออนไลน์และธนาคารช่วยยับยั้งธุรกรรมที่น่าสงสัยแบบเรียลไทม์
ดำเนินปฏิบัติการ "ทลายเครือข่าย" ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่แถบชายแดนภาคตะวันออกและภาคเหนือ รวมถึง ตัดไฟ ตัดเน็ต ตัดน้ำมัน เพื่อตัดวงจรสนันสนุนการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามแดนในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้มีการจับกุมผู้กระทำผิดและโครงข่ายผู้ร่วมขบวนการได้เป็นจำนวนมาก
บูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ อย่าง กสทช., ธนาคารแห่งประเทศไทย, ปปง., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาคเอกชน ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมทั้งมีการหารือกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงนโยบาย
“ภารกิจนี้ไม่ได้เป็นเพียงของหน่วยงานด้านความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในมิติเชิงนโยบายที่ต้องมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การบูรณาการความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การเสริมสร้างองค์กรและหน่วยงานภาครัฐ ให้มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง” ภูมิธรรม เวชยชัย กล่าว
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ด้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อีกหนึ่งพันธมิตรที่สำคัญ กล่าวว่า “วันนี้เราอยู่ในยุคที่ ‘ภัยไซเบอร์’ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโลกออนไลน์อีกต่อไป แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตคนไทยทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกพื้นที่ จากสถิติในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์วันละหลายพันราย ยอดความเสียหายสะสมกว่า 7 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันปลอม ถูกดูดเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ภัยที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือ ‘ภัยความมั่นคง’ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”
ในฐานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้วางแนวทางการทำงานในเชิงรุก โดยเน้นทั้งการป้องกัน ปราบปราม และพัฒนาโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกับพฤติกรรมอาชญากรรมยุคใหม่ โดยได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเปิดปฏิบัติการเชิงรุก พร้อมใช้เทคโนโลยี AI และระบบวิเคราะห์ธุรกรรม เพื่อติดตามเส้นทางการเงินของขบวนการอาชญากรเหล่านี้ อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง AIS เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันและขยายผลสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญ เพราะผู้ให้บริการโครงข่ายจะมีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถช่วยตรวจจับและแจ้งเตือนพฤติกรรมต้องสงสัยได้แบบเรียลไทม์ และสามารถสนับสนุนเทคโนโลยีในการคัดกรองภัยก่อนที่จะถึงมือประชาชน นี่คือ “การผสานพลัง” ที่ทรงพลังที่สุดระหว่าง ตำรวจ รัฐบาล และ เอกชน เพื่อปกป้องประชาชน”
Kick Off “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” สู้เป้าหมายใหญ่ Zero Scam Thailand
สำหรับ AIS เอง ได้เริ่มแคมเปญในการรณรงค์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งตอนนั้นภัยจากไซเบอร์ยังไม่ได้รุนแรงอย่างในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของไซเบอร์บูลลี่ และการสแปม โดยยุทธศาสตร์ของ AIS คือ การเน้นไปที่ “การป้องกัน” ให้มากกว่าการเกิดเหตุแล้วแก้ไข โดยอยู่ในรูปของการให้ความรู้เพื่อป้องกันเป็นหลัก
แต่เมื่อภัยไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น AIS เองก็ต้องยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ เพื่อปักหมุดประเทศไทยให้เป็น “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลปลอดภัยอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายใหญ่สู่การเป็น “Zero Scam Thailand” หรือการทำให้สังคมไทยปลอดจากภัยไซเบอร์ในที่สุด
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “อาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้กลายเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและความเชื่อมั่นในระบบดิจิทัลของประเทศ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีรูปแบบการหลอกลวงซับซ้อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การป้องกันและปราบปรามต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” พร้อมเสริมว่า
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส
ที่ผ่านมา AIS มุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตดิจิทัลของคนไทย ภายใต้ภารกิจ "Cyber Wellness for THAIs" ไม่ว่าจะเป็น การปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ อย่างการควบคุมระดับเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันการใช้งานผิดกฎหมายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามแดน ปฏิบัติการปราบปรามมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้วยการสนับสนุนด้านข้อมูลและระบบเครือข่ายจากทีมวิศวกรของ AIS ทั่วประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมความปลอดภัยไซเบอร์ เช่น
บริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และ บริการ *1185 #แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร เสริมเกราะภูมิคุ้มกันดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ความรู้ ป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชนผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ และการสร้างตัวชี้วัดสุขภาวะด้านดิจิทัล
สำหรับภารกิจ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” AIS ได้วางกลยุทธ์เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมปลอดภัยไซเบอร์ ผ่านกลยุทธ์ 3 ประสาน ได้แก่
1. เรียนรู้ (Educate) – สร้างความเข้าใจและทักษะในการป้องกันภัยไซเบอร์ในทุกระดับเพื่อยับยั้งปัญหาจากต้นทาง ผ่านการจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาให้เข้าใจง่ายและสามารถใช้งานได้จริง เช่น หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” โดยมีการสร้างหลักสูตรเพื่อให้ความรู้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.4 ขึ้นไป รวมถึงชุมชน และองค์กรต่างๆ ปัจจุบัน AIS เดินหน้ามอบความรู้ไปแล้วกว่า 500,000 คน พร้อมตั้งเป้าให้ถึง 3,000,000 ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการวัดดัชนี Thailand Cyber Wellness Index ตัวชี้วัดระดับความเข้าใจเรื่องภัยไซเบอร์ของคนไทย ช่วยให้ภาครัฐและเอกชนวางแผนพัฒนาได้แม่นยำขึ้น โดยมีแบบสอบถามที่สามารถเช็คความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ได้ผ่านเว็ปไซต์ เพื่อความรู้เท่าทันมิจฉาชีพ
2. ร่วมแรง (Collaborate) – ผนึกกำลังกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสื่อสารให้ทุกฝ่ายร่วมเป็นหูเป็นตาในการสังเกตความผิดปกติต่างๆ และสร้างแรงขับเคลื่อนสังคม โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับภาครัฐแบบเรียลไทม์ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, แบงก์ชาติ, กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อให้การสืบสวนดำเนินการได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
มีการร่วมมือกับแบรนด์โทรศัพท์มือถือและ กสทช.ให้มีการใส่ฟังก์ชันปิดสัญญาณ 2G เข้ามาในโทรศัพท์มือถือ เพื่อตัดช่องโหว่ในการที่มิจฉาชีพจะใช้ส่ง SMS หลอกลวง จากสถานีฐานปลอม รวมถึงการเพิ่มข้อกำหนดในระบบซิมการ์ดเพื่อป้องกันซิมม้า โดยให้ลงทะเบียนได้ไม่เกิน 5 ซิมต่อคน หากเกินจากนี้ต้องดำเนินการผ่านศูนย์บริการ
3. เร่งมือ (Motivate) – รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกฎ หรือกติกา แก้ไขปัญหาย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและยั่งยืน
ทั้งนี้เป้าหมายใหญ่ที่ AIS วางไว้คือการทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “Zero Scam Thailand” หรือการทำให้สังคมไทยปลอดจากภัยไซเบอร์ในที่สุด ซึ่งคงจะดีไม่น้อยถ้าไม่ต้องระแวงเวลามีเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทรเข้ามา หรือถ้ามี SMS ส่งมาก็สบายใจได้ว่าไม่ใช่แก๊งมิจฉาชีพ
ภัยไซเบอร์อาจเข้ามาในรูปแบบที่มองไม่เห็น แต่ผลกระทบชัดเจนและเป็นรูปธรรม ดังนั้นหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มสร้างความความรู้ ความเข้าใจ และ ความเชื่อมั่น
ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว สู่ระดับ หน่วยงาน และสังคม นำไปสู่การสร้างระบบนิเวศทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพราะสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย ไม่อาจสร้างได้ด้วยพลังขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องเป็นพลังร่วมของเราทุกคน