บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเครือโคคา-โคล่า ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2568 โดยมียอดขายรวม 2,100.1 ล้านบาท ลดลง 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ที่อยู่ในภาวะทรงตัว โดยเฉพาะช่วงปลายไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ ฝนตกเร็ว และเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม
แม้รายได้ลดลง แต่บริษัทสามารถรักษาระดับความสามารถทำกำไรไว้ได้ ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่ 42.1% เพิ่มขึ้น 1.7 จุดเปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนหน้า ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8.7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1 จุดเปอร์เซ็นต์ โดยมีกำไรสุทธิ 181.9 ล้านบาท ลดลงเพียง 1.1 ล้านบาท หรือ 0.6%
ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก สะท้อนความสามารถของบริษัทในการปรับตัวผ่านกลยุทธ์บริหารต้นทุน ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง การปรับราคาขายบางรายการในปี 2567 และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในสายการผลิตบรรจุภัณฑ์ PET และขวดแก้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีต้นทุนด้านการตลาดและส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น 14.5% เพื่อกระตุ้นยอดขายในตลาดที่อ่อนตัว ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
หนึ่งในจุดสว่างของงบไตรมาสนี้ คือยอดขายกลุ่มเครื่องดื่ม “ไม่มีน้ำตาล” ที่เติบโตถึง 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้จะยังมีสัดส่วนเพียง 5.8% ของยอดขายทั้งหมด แต่บริษัทมองว่านี่คือโอกาสในการขยายตลาดในระยะยาว ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
พลตรี พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ HTC กล่าวว่า
“เศรษฐกิจภาคใต้ในไตรมาสแรกอ่อนแรงทั้งจากภาวะโลก สภาพอากาศ และพฤติกรรมผู้บริโภค แต่เรายังสามารถรักษาระดับกำไรไว้ได้อย่างน่าพอใจ พร้อมเร่งปรับแผนการตลาดให้ทันกับเทรนด์สุขภาพ และช่องทางการขายที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีน้ำตาลที่ยังมีศักยภาพเติบโตอีกมาก”
ข้อมูลจาก Nielsen Thailand ระบุว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 หาดทิพย์ยังคงครองตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ด้วยส่วนแบ่งตลาดรวม 24.2% และในกลุ่มน้ำอัดลมบริษัทมีส่วนแบ่งสูงถึง 78.4% ยืนยันความแข็งแกร่งในตลาดหลักแม้ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ
หาดทิพย์มองว่าไตรมาส 2 จะยังคงท้าทายจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแรง แต่บริษัทเตรียมรับมือด้วยการบริหารต้นทุนอย่างรัดกุม และมองหาโอกาสในกลุ่มสินค้าใหม่ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น เช่น สินค้าสุขภาพ เครื่องดื่มฟังก์ชันนอล และนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ประหยัดทรัพยากร