เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน และเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันพิพิธภัณฑ์สากล มูลนิธิวัฒนธรรมเรนวูด (Reignwood Culture Foundation) ได้จัดกิจกรรมวัฒนธรรมระดับนานาชาติในงาน “สานวัฒนธรรม สู่อนาคตร่วมไทย–จีน” งานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน–อาเซียน ครั้งที่ 3 ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยจัดขึ้นพร้อมกันทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน
งานในครั้งนี้จัดขึ้นโดยกำหนดเป้าหมายเพื่อผลักดันบทบาทของวัฒนธรรมในฐานะปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการใช้ “มรดกทางสถาปัตยกรรม” เป็นสะพานเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตร่วมกันอย่างกลมกลืน ภายใต้ธีม “การสนทนาทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์มรดกในภาวะภัยพิบัติ” ซึ่งสะท้อนความตื่นตัวต่อสถานการณ์โลกยุคใหม่และบทบาทของไทย–จีนในการร่วมกันอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกอารยธรรมโลกร่วมกัน
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย เวทีเสวนาทางวิชาการ การจัดนิทรรศการภาพถ่ายเชิงศิลป์ระหว่างไทย-จีน รวมถึงการปาฐกถาโดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากไทย จีน และยูเนสโก โดยเน้นย้ำแนวทางการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมท่ามกลางความท้าทายจากภัยธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือภาวะโลกร้อน
ในการกล่าวเปิดงาน หลู จ้าน เลขาธิการมูลนิธิวัฒนธรรมเรนวูด กล่าวย้ำว่า “มรดกทางวัฒนธรรมคือความทรงจำของอารยธรรม และเป็นทรัพยากรของอนาคต การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไม่ควรเป็นเพียงการถ่ายทอด หากต้องเป็นกระบวนการแห่งการร่วมสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อมรดกของมวลมนุษยชาติ”
ขณะที่ ชาง หยูเหมิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนคือรากฐานของความสัมพันธ์ไทย–จีน ในวาระสำคัญนี้ เราหวังอย่างยิ่งที่จะเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งในด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างประชาชนของทั้งสองชาติ”
ด้าน เหลียง อี้เสียง อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ช่วยตอกย้ำให้เราเห็นถึงรากฐานทางวัฒนธรรมและสายสัมพันธ์อันยาวนานของสองอารยธรรม ซึ่งจะนำพาเราสู่การสร้างอนาคตที่สันติ มั่งคั่ง และยั่งยืนร่วมกัน”
ขณะที่ พรพล วิพัฒน์ภูมิพิพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในพิธีเปิดว่า “อารยธรรมใดจะรุ่งเรืองได้นั้นย่อมต้องเปิดกว้างต่อการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และปรับตัว การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไม่ใช่เพียงการเก็บรักษาสิ่งเก่า แต่คือการสร้างคุณค่าร่วมให้ดำรงอยู่ได้สืบต่อไป”
ในช่วงพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.จิ่ง เฟิง หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวปาฐกถาโดยเน้นถึงความสำคัญของการเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบทบาทของมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ในการรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น ความยากจน การศึกษา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ลวี่ โจว แห่งมหาวิทยาลัยชิงหัว ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “แกนกลางกรุงปักกิ่งกับบทสนทนาอารยธรรม” โดยวิเคราะห์ถึงคุณค่าระดับโลกของพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ ในฐานะ “แกนกลางแห่งอารยธรรมตะวันออก” ร่วมด้วย หัตถยา ศิริพัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญมรดกวัฒนธรรมไทย ได้นำเสนอแนวปฏิบัติใหม่ด้านการบูรณะและพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ในโอกาสเดียวกันนี้ วรพนิต รวยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรนวูด กรุ๊ป (Reignwood Group) ได้กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนในมิติทางวัฒนธรรมว่า
“เรนวูดเชื่อในพลังของวัฒนธรรมในฐานะเสาหลักหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแค่การอนุรักษ์มรดกทางกายภาพ แต่รวมถึงการถักทอคุณค่าของวัฒนธรรมให้เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ผ่านกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้ โดยเราตั้งใจที่จะยกระดับบทบาทของไทยและจีนในฐานะผู้นำด้านวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียน และร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีรากฐานจากความเข้าใจและการเคารพในรากเหง้าแห่งอารยธรรม การที่ธุรกิจจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในวันนี้ ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันเพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องมีจิตวิญญาณของการอนุรักษ์และการแบ่งปัน เรนวูด กรุ๊ปพร้อมเป็นตัวกลางในการส่งเสริมทางวัฒนธรรมและขับเคลื่อนโครงการที่มีคุณค่าทางสังคมในระยะยาว”
งานนี้จัดขึ้นพร้อมกันทั้งที่เรนวูด พาร์ค ประเทศไทย และเรนวูด ไพน์วัลเลย์ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลองทางการทูตอย่างเป็นทางการในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย–จีน และจะมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นค่ายฝึกอบรมด้านมรดกวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเยาวชนไทย–จีน และเวิร์กช็อปสร้างสรรค์ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ในทั้งสองประเทศ โดยงานในครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ หากยังเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ลึกซึ้ง และจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21