ในวันที่โลกกำลังแสวงหา ‘ต้นแบบใหม่’ ของการพัฒนาเมืองและวัฒนธรรม อีสานกำลังยืนหยัดขึ้นอีกครั้งอย่างสง่างาม ผ่านงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 หรือ Isan Creative Festival 2025 (ISANCF2025) ภายใต้แนวคิด “อีสานโชว์พ(ร)าว – ISAN SOUL PROUD” เวทีสร้างสรรค์ระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2568 ณ จังหวัดขอนแก่นและพื้นที่เครือข่ายสร้างสรรค์
สำหรับเทศกาลฯ ในปีนี้พิเศษกว่าที่เคย เพราะได้ผนึกพลังของพันธมิตรกว่า 20 องค์กรทั้งระดับประเทศและระดับโลก ได้แก่
เพราะการพัฒนาเมือง ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงคนเดียว แต่เกิดจากพลังร่วมของทุกคน
ไชยยง รัตนอังกูร ประธานกรรมการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา CEA มองเห็นศักยภาพของอีสานชัดเจนขึ้นทุกวัน ว่านี่คือภูมิภาคที่เปี่ยมด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ และรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง พร้อมก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลกอย่างมั่นคง เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ จึงไม่ใช่เพียงเวทีแสดงศักยภาพด้านสร้างสรรค์ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของทางเลือกใหม่ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และคุณภาพชีวิต เราเชื่อว่าอีสานกำลังตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ที่ต้องการความยั่งยืน และภูมิปัญญาแบบ Authentic Minimalism ที่อยู่กับสิ่งที่มีอย่างพอดี แต่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์
นี่คือเหตุผลที่องค์กรระดับแนวหน้าต่างพร้อมใจกันมาเป็นพันธมิตรและสนับสนุนเทศกาลฯ เพื่อไม่เพียงแค่โชว์ศักยภาพของอีสาน แต่ยังร่วมกันสร้างอีสานในมิติใหม่ ด้วยพลังจากฐานรากที่มั่นคง ประกอบกับ TCDC ที่กำลังจะครบรอบ 20 ปีในปีนี้ CEA ในฐานะหน่วยงานที่ดูแล มีความเชื่อมั่นว่าการทำนโยบายคู่ขนานของรัฐบาลในการเร่งแก้ปัญหาภาคการเงิน ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นความสามารถแข่งขันของ SMEs และ Young Creative Entrepreneur จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่ยืนอยู่บนฐานวัฒนธรรม เดินทางจาก ‘ท้องถิ่น’ สู่ ‘สากล’ อย่างมีจุดยืนและมีอนาคต”
ต่อยอดภูมิปัญญาอีสานสู่ผลิตภัณฑ์ระดับโลกด้วยแนวคิด ‘Sustainability’ โดย AIS 3BB Fibre3
ธยานนท์ วิเศษจิตเลิศ Head of BB Area Management 3 เอไอเอส สามบีบี ไฟเบอร์ทรี กล่าวว่า‘โครงการ Sawathi Goods X AIS 3BB Fibre3’ สะท้อนพลังซอฟต์พาวเวอร์ของอีสาน ทั้งการเปิดมุมมองให้คนภายนอกเห็นวัฒนธรรมและหัตถกรรมที่แข็งแรง และการจุดประกายให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของตัวเอง เพื่อนำไปต่อยอดสู่ตลาดสากล โดย AIS 3BB Fibre3 ตั้งใจสร้างนิยามใหม่ของ “การเชื่อมต่อ” ที่ไม่ได้หยุดเพียงอินเทอร์เน็ต แต่เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า
สำหรับโครงการนี้ AIS 3BB Fibre3 ร่วมมือกับ CEA และ ผศ.ดร.ขาม จาตุรงคกุล มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำสายไฟเบอร์ออปติกและโรลเก็บสายเหลือใช้ มา Upcycling เป็นป้ายรถเมล์รูปทรงกระติบข้าว และเก้าอี้สตูดิโอลวดลายฮูปแต้มสินไซ ผลิตโดยช่างฝีมือจาก 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสาวะถี, โนนหนองวัด 4 และโคกแปะ ถือเป็นตัวอย่างโมเดล Sustainable Creative Economy ที่เชื่อมท้องถิ่นกับสากลอย่างลงตัว พร้อมผลักดันให้ชุมชนอีสาน ‘โกอินเตอร์’ อย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Epson ติดปีกไอเดีย ‘งานศิลป์อีสาน’ ให้มีชีวิต ด้วยเทคโนโลยี Projection Mapping
ด้วย ณัฐพงศ์ นิกูลวงศ์ Senior Specialist Epson ได้เล็งเห็นศักยภาพของภูมิภาคอีสาน จึงตั้งใจผลักดันให้ศิลปะอีสานกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จนนำมาสู่โปรเจ็กต์ ‘Projection Mapping Workshop X TIMAC X Epson’ เวิร์กช็อปสุดเข้มข้นที่เปิดพื้นที่ให้นักศึกษา เยาวชน และนักสร้างสรรค์ในท้องถิ่น ได้เข้ามาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี Projection Mapping และ Immersive Media
“การผสาน “งานศิลป์ท้องถิ่น” กับ “เทคโนโลยีระดับโลก” เป็นการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้ากับความร่วมสมัยที่เข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้อย่างลงตัว และดึงดูดเม็ดเงินสู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการใช้ทุนวัฒนธรรมอีสานในรูปแบบที่สดใหม่ สามารถเชื่อมอดีตกับอนาคต เชื่อมชุมชนกับโลก และเชื่อมศิลปะเข้ากับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
หัวใจของโปรเจ็กต์นี้คือการใช้ เทคโนโลยีภาพของ Epson ที่ให้สีสันสมจริงและคมชัด “ปลุกให้งานศิลป์ท้องถิ่นอีสานมีชีวิต” ในรูปแบบ Immersive ผ่านแสง สี และการเคลื่อนไหว เวิร์กช็อปนี้ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นว่าศิลปะท้องถิ่นสามารถ “พูดคุยกับโลก” ได้ด้วยเทคโนโลยีระดับสากล โดยในอนาคต เรามีแผนต่อยอดนำ Projection Mapping ไปใช้ตามแลนด์มาร์กทั่วขอนแก่นและอีสาน เพื่อเนรมิตเมืองให้เป็นแกลเลอรีศิลปะกลางแจ้ง และเป็นหมุดหมายใหม่ทางการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของอัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน”
Copilot by Microsoft: หนุนพลังครีเอเตอร์อีสาน ดัน AI สู่เศรษฐกิจชุมชนและตลาดโลก
ศุภลักษณ์ สุภาพกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด Microsoft เผยว่า “Copilot by Microsoft เล็งเห็นศักยภาพแข็งแกร่งของนักสร้างสรรค์ ครีเอเตอร์ และผู้ประกอบการ SMEs ในขอนแก่น จึงมุ่งสนับสนุนการเริ่มต้นและต่อยอดธุรกิจ ด้วยการจัดนิทรรศการ ‘Digital Skills for Local Future ฟ้าวฟิวเจอร์ ปล่อยพลังฝัน แบบฟ้าวๆ’ โดยแนะนำ Copilot ผู้ช่วย AI อัจฉริยะที่จะช่วยให้การทำงานบน Microsoft 365 สะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมทั้งงานเอกสาร การต่อยอดไอเดีย การวางแผนธุรกิจ และการยกระดับผลงานสู่ระดับสากล เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทลายข้อจำกัดต่างๆ และทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้จริง ทั้งในแง่การใช้งาน ความเข้าใจ และการปลดล็อกศักยภาพใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะอีสานไม่ใช่แค่ศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชนหรือประเทศ แต่มีศักยภาพพอในการเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจมหภาค ที่พร้อมรองรับการพัฒนาในทุกมิติได้ในอนาคต”
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชูนวัตกรรมและงานออกแบบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสาน
ด้วยความมุ่งมั่นในการพลิกภาพลักษณ์อีสานสู่ “ระบบนิเวศสร้างสรรค์” (Creative Ecosystem) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงผนึกกำลังกับ 8 พันธมิตรสำคัญ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB, สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอนแก่น, Khon Kaen Innovation Centre, The Standard และเครือข่ายนักสร้างสรรค์ จัดงาน ‘Isan Creativity and Innovation Summit 2025 (ICIS 2025)’ เวทีวิชาการด้านการออกแบบและนวัตกรรมระดับนานาชาติครั้งแรกในภูมิภาคอีสาน
รองศาสตราจารย์ ดร. กฤตภัทร ถาปาลบุตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า
“การประชุมวิชาการ ‘ICIS 2025’ มีความแตกต่างจากเวทีวิชาการทั่วไป เพราะไม่เพียงนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานจริงและสามารถต่อยอดสู่ภาคธุรกิจได้ทันที แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้พบกับเจ้าของผลงานโดยตรง เพิ่มโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงขยายเครือข่ายกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักออกแบบ ภาคเอกชน สถานทูต และผู้เข้าร่วมจากนานาประเทศ
งานนี้มุ่งยกระดับขอนแก่นสู่ “เมืองแห่งนวัตกรรม” ที่พร้อมรองรับการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเครือข่ายนักลงทุน ตามแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาค โดยใช้ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ของชาวอีสาน มาต่อยอดธุรกิจ สินค้า และบริการ ให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับโลกอย่างยั่งยืน”
เมื่อ ‘ผ้าอีสาน’ กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ร่วมสมัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดย Homework Fabric
ทวีชัย สิริกุลธาดา Director แบรนด์ Homework Fabric เล่าถึงแนวคิดนิทรรศการ ‘วันเด้อ ออฟ แฟ-บริก HOMEWORK FABRIC’ ว่า “นิทรรศการเกิดจากความตั้งใจนำเสนอ “ลวดลายผ้า วิถีชีวิต และวัฒนธรรมอีสาน” ผ่านมุมมองใหม่ โดยหยิบลายผ้าทอประจำจังหวัดขอนแก่นอย่างแคนแก่นคูณ มาดีไซน์ต่อยอดเป็นสินค้าที่ใช้ได้จริง และสะท้อนเสน่ห์ความเป็นอีสานในรูปแบบร่วมสมัย การร่วมงานในเทศกาลฯ
ครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของอีสานที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ให้กลายเป็น ‘Creative Hub’ ของประเทศ ทั้งด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานทอผ้าที่เป็นหัวใจของชุมชนท้องถิ่น การให้คนรุ่นใหม่ได้ลอง ‘ทำงานจริง’ จึงไม่เพียงเป็นการฝึกฝนฝีมือ แต่ยังเป็นการจุดประกายซอฟต์พาวเวอร์เพื่อยกระดับ อัตลักษณ์สู่เศรษฐกิจระดับสากล ซึ่ง Homework Fabric มุ่งมั่นผลักดันผ้าไทยให้พัฒนาไปพร้อมกับการสร้างเครือข่ายตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืน”
MQDC จุดประกายสิ่งแวดล้อมผ่านพรมศิลปะร่วมสมัย สู่ความหลากหลายทางชีวภาพ
รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนแห่งศูนย์ RISC by MQDC ศิลปินศิลปาธรปี 2562 ผู้ออกแบบนิทรรศการ กล่าวว่า “MQDC ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดแนวคิดความยั่งยืน ได้เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมเข้ากับงานศิลปะผ่านนิทรรศการ ‘Contemporary Art for Biodiversity’ โดยนิทรรศการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดแสดงพรม 10 ผืนจากศิลปินไทย ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์สงวนและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วยลวดลายผ้าที่มีอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค
โดยนำเส้นใย MONSILK ที่ผลิตจากขยะพลาสติก ขยะทะเล และเศษเส้นใยเหลือใช้ มาถักทอและปักอย่างประณีตโดยช่างฝีมือในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น นิทรรศการนี้ไม่เพียงสะท้อนให้คนภายนอกเห็นศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ของคนอีสาน แต่ยังทำให้คนในท้องถิ่นกลับมาตระหนักถึงคุณค่าภูมิปัญญาที่มีอยู่ และนำไปต่อยอดสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม MQDC เชื่อมั่นว่าทุกชีวิตบนโลกควรอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน (For All Well-being) จึงเดินหน้า RISC by MQDC เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมสีเขียวทั้งในไทยและระดับโลก”
MUJI จุดประกายความยั่งยืน ด้วยศิลปะจากศิลปินท้องถิ่นอีสาน
อริญา พันธุมโกมล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เพราะหัวใจสำคัญของแบรนด์มูจิ (MUJI) คือความเรียบง่าย งดงาม และจริงใจ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสานอย่างลงตัว เราจึงร่วมมือกับศิลปินท้องถิ่นผ่านกิจกรรม ‘ตลาดนัดมูจิ’ ในเทศกาลฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ศิลปินและนักสร้างสรรค์อีสานนำเสนอผลงานแฮนด์เมด งานคราฟต์ และผลิตภัณฑ์จากชุมชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ เรายังจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปกับศิลปินท้องถิ่น เช่น ‘สีน้ำกินได้’ โดย Craft Colour, ‘เฮ็ดลายผ้าพิมพ์’ โดย จุ้ม•บ้านเชียง และ ‘ดอกไม้บานใจ Mandala Bloom’ โดย Tharee.Art เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสงานศิลปะจากธรรมชาติอย่างใกล้ชิด กิจกรรมของเรามีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงแบรนด์ระดับโลกเข้ากับชุมชนท้องถิ่น ให้คนอีสานได้ภูมิใจ สร้างรายได้จากฝีมือของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนทั่วไปได้รู้จักงานฝีมือและศิลปะร่วมสมัยของอีสานมากขึ้น เราเชื่อมั่นว่าศิลปะและวัฒนธรรมอีสานมีศักยภาพในการต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของแนวคิด Glocal อย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งวัฒนธรรม แต่พร้อมต่อยอดด้วยแนวคิดและเครื่องมือระดับโลก เพื่อให้ศักยภาพท้องถิ่นเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นงานที่เกิดขึ้นในเทศกาลฯ จึงไม่ใช่เพียงอีเวนต์ระยะสั้น แต่คือจุดเริ่มต้นของภูมิภาคที่พร้อมจะยืนหยัดด้วยความเข้มแข็ง และประกาศอย่างชัดเจนว่า The Next Isan จะก้าวเดินต่อไปอย่างแข็งแรง บนฐานของวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และพลังของคนอีสานเอง ที่พร้อมใช้ความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และเมืองให้ยั่งยืนไปสู่สากล “ISAN SOUL PROUD” จะไม่ใช่แค่ธีมของปีนี้ แต่จะกลายเป็นทัศนคติใหม่ของคนอีสาน ที่ภูมิใจและพร้อมก้าวไปกับโลกอย่างสง่างาม
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่
Website: www.isancreativefestival.com, Facebook/Instagram: @IsanCreativeFestival