แม้คนไทยจะตระหนักถึงภัยร้ายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เห็นได้ชัดว่าการลงมือทำจริงยังน้อย โจทย์ท้าทายในวันนี้คือ การกระตุ้นผู้คนให้เปลี่ยนพฤติกรรม บนเส้นทางปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) “เอสซีจี” ไม่เพียงขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย แต่ยังมุ่งมั่นเปลี่ยนความนิ่งเฉยในสังคมให้เป็น “ลงมือทำ” สนับสนุนให้ทุกคนเริ่มทำจากสิ่งใกล้ตัว เรื่องง่ายๆ ที่ทำเป็นประจำ พร้อมสร้างทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมง่ายขึ้น เพื่อเปลี่ยน Passion สู่การสร้างผลกระทบได้จริง
เมื่อโลกกำลังเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อม และ "Net Zero" ไม่ใช่แค่คำไกลตัวอีกต่อไป เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สร้างปรากฎการณ์ “เด็กฮีโร่” ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ สะท้อนจากเรื่องราวของ “น้องแบงค์-ธนกร นันติ” เยาวชนจากโครงการ “ต้นกล้าชุมชน” โดยมูลนิธิเอสซีจี เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดมลพิษ PM2.5 โดยพัฒนาโครงการ “ลดคาร์บอนจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ด้วยเตาเผาถ่านชีวภาพ” และเป็นต้นแบบของ Circular Economy ระดับชุมชน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่
น้องแบงก์เล่าถึงเหตุผลที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมและเน้นลดการเผาว่า ชาวบ้านและเด็กๆ ในภาคเหนือ เติบโตมากับการเผาที่สร้างมลพิษ ทำให้ทุกคนรวมถึงตัวเองมีปัญหาเรื่องการหายใจ มองว่าถ้าไม่มีใครจัดการปัญหาจะหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มลงมือทำจากสิ่งใกล้ตัว นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์สร้างเตาเผาถ่านชีวภาพ (Biochar) แบบดัดแปลงเอง เนื่องจากครอบครัวและชาวบ้านในชุมชนเป็นเกษตรกร ทุกปีจะเผาวัสดุเหลือทิ้งจากการตัดแต่งต้นไม้สร้างฝุ่นควัน ซึ่งเตาเผาถ่านชีวภาพมีต้นทุนต่ำ ทุกคนเข้าถึงได้ และการเผาจะได้ถ่านไบโอชาร์ที่ช่วยลดคาร์บอน รวมทั้งยังนำไปต่อยอดเป็นสารปรับปรุงดินหรือสบู่จากถ่านไบโอชาร์ได้ด้วย กลายเป็นทางออกเรื่องสิ่งแวดล้อม และเพิ่มรายได้ให้ชุมชน
ในขณะที่สองพี่น้องรักษ์โลกตัวแทนคนรุ่นใหม่ “น้องอิน-อริณชย์ ทองแตง” และ “น้องเอม-อริสา ทองแตง” ผู้ก่อตั้ง Below the Tides ฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำในหลายรูปแบบอย่างจริงจัง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใหญ่ และเพื่อนรุ่นเดียวกันเห็นว่า “เราทำได้” มีจุดเริ่มต้นของการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมาจากความรักสัตว์
น้องอินและน้องเอม เล่าว่า ไม่ได้อยากช่วยโลก แค่อยากช่วยเต่า เพราะชอบสัตว์มาตั้งแต่เด็ก และรู้สึกสนิทกับธรรมชาติมานานแล้ว เมื่อรู้ว่าปัญหาโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเล อาจทำให้สัตว์บางชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ หากไม่ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม จึงรู้สึกว่าต้องลงมือทำบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา โดยตั้งกลุ่มเล็กๆ ที่โฟกัสเรื่องสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ทั้งแม่น้ำลำคลองและทะเล ก่อนที่จะขยายกลายเป็นประเด็น Climate Change
“อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นอันตรายกับสัตว์ทะเล เราเลยอยากสร้างผลกระทบที่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพราะดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย หากสุดท้ายสัตว์ทะเลต้องสูญพันธุ์ไป อย่างน้อยก็คิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว ซึ่งในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้เราทำอะไร” น้องอิน กล่าว
ตอกย้ำด้วยคำพูดของน้องเอมว่า “บางคนคิดว่าโลกจะรอให้เราค่อยๆ เปลี่ยน คิดว่ายังมีเวลาแก้ไข แต่ไม่มีใครรู้ว่าโลกรอได้ถึงเมื่อไหร่ ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่บางคนยังไม่ยอมรับว่ามี Climate Change ยังทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังมีคนที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา หากปล่อยให้เป็นแบบต่อไปโดยไม่ทำอะไร สิ่งที่น่ากลัวคือ ลูกหลานของเราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นโลกแบบที่เราเคยเห็นอีกแล้ว”
น้องแบงค์สรุปทิ้งท้ายว่า “ผมเป็นแค่เกษตรกรตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ไม่ได้คาดหวังจะว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ทำได้คือเริ่มจากตัวเอง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ส่งต่อไปเรื่อยๆ เราอาจจะเปลี่ยนโลกทั้งใบไม่ได้ แต่บางทีการเปลี่ยนโลกอาจเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราก็ได้”
เพราะการร่วมมือกันคือพลังที่ยิ่งใหญ่ “เอสซีจี” เชื่อว่าทุกคนคือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ชุมชน หรือองค์กรต่างๆ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เพียงลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งเอสซีจีได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงใช้การสื่อสารและเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง