นึกถึงคอนเสิร์ต เชื่อว่าชื่อหนึ่งที่ต้องนึกถึงคือ อิมแพ็ค อารีนา (IMPACT Arena) เมืองทองธานี ทำไมนะหรือ เดี๋ยวผมเล่าให้ฟังครับ
สถานที่จัดคอนเสิร์ตยอดนิยมอย่างเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย อิมแพ็ค อารีนา, ธันเดอร์โดม และ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ โดย อิมแพ็ค อารีนาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดย บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬามวยสากลสมัครเล่น
ปัจจุบันอาคารแห่งนี้เน้นรองรับการแสดงที่ต้องการใช้เวทีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะคอนเสิร์ต ภายในเป็นอัฒจันทร์ 2 ชั้น มี 3 ด้าน อีกด้านไว้สำหรับสร้างเวทีแสดงคอนเสิร์ต สามารถรองรับผู้เข้าชมได้จำนวน 12,000 คน
ในแต่ละปีมีการจัดคอนเสิร์ตในเมืองทองธานีมากเกือบ 100 คอนเสิร์ต ตั้งแต่ เบิร์ด ธงไชย, บิวกิ้น, พีพี, นนท์ ธนนท์, อิ๊งค์ วรันธร, BUS, บอยด์ป๊อด, แกรมมี่อาร์เอสยกค่ายก็มีมาแล้ว (FYI ปัจจุบันเริ่มมีผู้จัดมาจัดคอนเสิร์ตที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์มากขึ้น มีความจุระดับ 40,000-50,000 ที่นั่ง)
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องถึงปีนี้ จำนวนยอดการจัดงานของอิมแพ็คเพิ่มขึ้นในทุกประเภท ทั้งการจัดงานคอนเสิร์ต ประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้า กลุ่มอินเซนทีฟ รวมถึงยอดจองจัดงานจากต่างประเทศที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ที่เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ช่วยให้การเดินทางมายังอิมแพ็ค อารีนา สะดวกสบายขึ้นเหมือนสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตอื่นๆ ในระดับโลก โดยมีทางเชื่อมต่อ (Sky Entrance) สถานีรถไฟฟ้า MT-01 สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี บริเวณอาคารชาเลนเจอร์ 1 ที่เมื่อเดินออกจากสถานีสามารถใช้ทางเชื่อมเดินข้ามมายังอารีนาได้อย่างสะดวก และยังมีเวลาเปิด-ปิดเอื้อกับการจัดคอนเสิร์ตอีกด้วย
มูลค่าธุรกิจคอนเสิร์ตในประเทศไทย Statista ได้เก็บข้อมูลในกลุ่มของ Music Event พบว่า ในแต่ละปี มูลค่าเทศกาลดนตรีในประเทศไทยสูงขึ้นทุกปี ดังนี้
"การจัดงานคอนเสิร์ตระดับโลกเป็นเรื่องดี เพราะเป็นโอกาสด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย คือ มีสถานที่ท่องเที่ยว สถาปัตยกรรม มีอาหาร และวัฒนธรรมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ และนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ (MICE : Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ที่เข้ามาในประเทศไทย มีศักยภาพในการจับจ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปมากถึง 5 เท่า และหนึ่งในหมุดหมายที่พวกเขาอยากมามากที่สุดคือประเทศไทย"
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้กล่าวไว้
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการจัดงาน โดยเฉพาะการจัดคอนเสิร์ต เรียกว่าต้องเป็นการสื่อสารแบบครบวงจร เพราะต้องติดต่อกับทั้งผู้จัด สปอนเซอร์ ผู้ชม และกลุ่มบุคคลทั่วไป อิมแพ็คเพิ่งจะได้รับรางวัลกลุ่ม Best Brand Performance on social media สาขา Out of Home Entertainment จากเวที Thailand Social Awards ครั้งที่ 13
โดย จินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร ผู้ซึ่งดูแลการสื่อสารทั้งหมดของอิมแพ็คเล่าให้ฟังว่า กลยุทธ์การสื่อสารของแบรนด์ที่ครบวงจรทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี วางกลยุทธ์สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียด้วยภาพลักษณ์ ‘อิมแพ็ค = คน’ ใส่ความมีชีวิตชีวาลงไปในแบรนด์ดิ้ง แต่ยังให้ความน่าเชื่อถือมาเป็นอันดับแรก คงภาพการเป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอันดับ 1 ของไทย และนำคาแรกเตอร์ ‘น้องอิมแพ็ค’ เข้ามาเติมเต็ม เพื่อเสริมภาพลักษณ์ที่ดูสดใส ทันยุค และทำให้ผู้คนรู้สึกเข้าถึงง่าย
ภายใต้แกนคอนเทนต์ที่เรายก Pain Point ของผู้ติดตาม ทั้งสายคอนเสิร์ต สายอีเวนต์ ที่เป็นแฟนอิมแพ็ค อารีนา และธันเดอร์โดม ออกมาสื่อสารไปพร้อมกัน ให้พวกเขาได้เปิดเข้ามาหาอิมแพ็คแล้วรู้สึกว่า แบรนด์ให้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ได้ด้วย ไม่ใช่แค่เจอแต่สิ่งที่แบรนด์อยากบอก นั่นทำให้แฟนๆ ได้เจอกับข้อมูลการเดินทางมาอิมแพ็คใช้รถไฟฟ้า รถสาธารณะประเภทต่างๆ มีรายละเอียดอย่างไร อัปเดตอีเวนต์ในพื้นที่แบบไม่พลาดเลยสักอีเวนต์ หรือแม้แต่การอัปเดตสิ่งอำนวยความสะดวกที่อิมแพ็คจัดเตรียมไว้ เพื่อต้อนรับผู้มาเยือน
“เราไม่ได้สื่อสารแบบตามใจฉัน (ตามใจแบรนด์) แต่เราคำนึงถึงผู้ติดตามเป็นหลัก แฟนๆ จะเดินทางเข้าสู่พื้นที่ของเราในแต่ละอีเวนต์ แต่ละคอนฯ อะไรที่จำเป็นกับพวกเขานั่นคือสิ่งที่อิมแพ็คจะสื่อสาร และแต่ละแพลตฟอร์มก็ยังมีซิกเนเจอร์คอนเทนต์อีกด้วย เพื่อสร้างความหลากหลายให้แฟนๆ ได้เลือกติดตามในสไตล์ที่ชื่นชอบ” จินตนากล่าว
ที่เล่ามาทั้งหมดโดยยกตัวอย่างของ Venue อันดับต้นอย่าง อิมแพ็ค อารีนา อยากสรุปให้ทุกท่านเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Customer Experience (CX)
จากรายงาน CX Imperatives ล่าสุด ของ Merkle (เมอร์เคิล) ในเครือกลุ่มบริษัทเดนท์สุ (dentsu) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการประสบการณ์ของลูกค้า ได้สำรวจปัจจัยและแนวโน้ม ที่มีผลต่อประสบการณ์ลูกค้าไว้ว่า สิ่งที่ลูกค้าต้องการในทุกอุตสาหกรรมมีเหมือนๆ กันคือ ความคุ้มค่า จ่ายแล้วสมเหตุสมผล (สำคัญ 55%) ความสะดวกสบาย ไม่ยุ่งยาก ประหยัดเวลา (สำคัญ 46%) และความสม่ำเสมอ ประสบการณ์ได้มาตรฐานทุกครั้ง (สำคัญ 40%)
และหากมองจาก CX ผู้บริหารควรใส่ใจประสบการณ์ 3 ช่วงคือ ก่อนการใช้บริการ ระหว่างการใช้บริการ ไปจนถึงหลังการใช้บริการ
ในยุคที่ Venue ในการจัดคอนเสิร์ตมีให้เลือกหลายแห่ง เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอย่างแน่นอน ทั้งต่อผู้จัดที่มีทางเลือกมากขึ้น และผู้ชมที่ได้มีฮอลล์คอนเสิร์ตดีๆ ไว้ชม ส่งผลให้ศิลปินจากทั่วโลกก็อยากมาจัดแสดงที่ประเทศไทย
ว่าแต่ว่า...เก็บตังค์ซื้อบัตรกันทันไหมครับ อิอิ แล้วพบกันในงานคอนเสิร์ตนะครับ
บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 178 June 2025