เมื่อพูดถึง “ภัยไซเบอร์” ภาพจำของหลายคนอาจยังติดอยู่กับไวรัสคอมพิวเตอร์หรือการแฮกเพื่อขโมยข้อมูล แต่ความเป็นจริงในวันนี้ โลกไซเบอร์ได้พัฒนาไปไกลกว่านั้นมาก อาชญากรไซเบอร์สมัยใหม่ใช้เครื่องมือทันสมัยอย่าง AI และ Machine Learning ในการพุ่งเป้าเจาะระบบขององค์กรที่ถือข้อมูลสำคัญ หรือมีศักยภาพในการเรียกค่าไถ่ ไม่เพียงแค่เพื่อเจาะระบบให้สำเร็จ แต่ยังเพื่อลดโอกาสในการถูกตรวจจับอีกด้วย
ผลลัพธ์ของการโจมตีไซเบอร์ไม่ได้จบแค่ความเสียหายทางเทคนิค หากแต่กระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ของลูกค้า “ความต่อเนื่อง” ของธุรกิจ และ “ชื่อเสียง” ขององค์กรโดยตรง และนี่คือเหตุผลที่ OPEN-TEC แพลตฟอร์มแชร์องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ภายใต้ TCC TECHNOLOGY GROUP ขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับแนวคิดใหม่ “Cyber Resilience” ที่ไม่ได้มุ่งแค่ป้องกัน แต่เน้นการ “ฟื้นตัวได้ไว และเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง”
เทคโนโลยีที่ซับซ้อน คือช่องโหว่ที่อาจมองข้าม
ในยุคที่ทุกองค์กรต่างเร่งทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิทัล ระบบ IT มีความกระจายตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Multi-cloud, SaaS, API Integration หรือการทำงานแบบ Hybrid ที่เปิดให้พนักงานเข้าถึงระบบจากอุปกรณ์และสถานที่หลากหลายขึ้น
แม้ความยืดหยุ่นนี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่ม “พื้นที่เสี่ยง” ให้กับการโจมตีไซเบอร์ ช่องโหว่จากการตั้งค่าที่ผิดพลาด หรือจากการเชื่อมต่อระบบกับบุคคลที่สาม อาจกลายเป็น “ประตูที่ถูกเปิดทิ้งไว้” โดยไม่รู้ตัว และน่าเศร้าที่ช่องโหว่เหล่านี้มักถูกมองข้ามจนเกิดเหตุไม่คาดคิด
การป้องกันอย่างเดียวไม่พอ ต้องพร้อมฟื้นตัวให้เร็ว
ที่ผ่านมา องค์กรต่างลงทุนกับระบบความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ทั้ง Firewall, Endpoint Protection หรือระบบตรวจจับภัยคุกคามแบบ Signature-based แต่รายงาน Cost of a Data Breach Report 2024 โดย IBM กลับเผยข้อมูลชวนตกใจว่า
องค์กรที่ถูกเจาะระบบ ใช้เวลาเฉลี่ย 178 วันกว่าจะรู้ตัว และอีก 50 วันในการควบคุมเหตุการณ์ได้ ช่องว่างเวลาเกือบ 7 เดือนนี้ เป็นช่วงที่แฮกเกอร์สามารถขโมยข้อมูล ลบหลักฐาน หรือวางช่องทางลับไว้กลับมาโจมตีซ้ำได้อีก โดยที่องค์กรอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น
Cyber Resilience: เปลี่ยนจาก “ป้องกัน” เป็น “ฟื้นฟูได้ไว”
แนวคิด Cyber Resilience กำลังเป็นหัวใจขององค์กรระดับโลก ไม่ใช่เพราะยอมรับความพ่ายแพ้ แต่เพราะยอมรับความจริงว่า “ไม่มีระบบใดปลอดภัย 100%”
Cyber Resilience หมายถึงการมีระบบที่สามารถ “ตรวจจับได้ไว – ตอบสนองได้เร็ว – ฟื้นตัวได้ไว” ไม่ว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉินใดก็ตาม องค์กรที่มีแผนรับมือที่ชัดเจน ฝึกซ้อมสถานการณ์จริงอย่างสม่ำเสมอ และมีกลยุทธ์รองรับหลังเหตุการณ์ จะสามารถลดความเสียหายและเดินหน้าต่อได้โดยไม่สะดุด
ภัยไซเบอร์ไม่ใช่แค่เรื่องของ IT แต่คือเรื่องของ “กลยุทธ์องค์กร”
ภัยไซเบอร์ในวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของฝ่าย IT เพียงลำพัง หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “คน” “กระบวนการ” และ “แผนกลยุทธ์” ของทั้งองค์กร การสร้างความมั่นคงในโลกไซเบอร์จึงต้องครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน ไปจนถึงการตอบสนองและการฟื้นฟู องค์กรที่มีมุมมองแบบ Cyber Resilience จะไม่เพียงแค่เอาตัวรอดจากภัยคุกคาม แต่ยังพร้อมฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลอย่างมั่นใจ