OVERNIGHT HAPPENING... // cover story marketplus magazine issue 116
12 Aug 2019

 

การเป็น ‘ใครสักคน’ หรือ Someone ในยุคนี้หรือจะสร้าง Story อะไรสักเรื่องให้สามารถ ‘แจ้งเกิด’ ได้และได้รับความสนใจจนได้รับการแชร์ต่อๆ กันในโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกิดขึ้นไม่ได้

            เพียงแต่ระดับการเสพคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องราวหรือเรื่องของบุคคลที่เกิดขึ้นแล้วผ่านเลย

            หรือเกิดขึ้นแล้วเป็นที่จดจำได้

            หรือเกิดขึ้นแล้วเป็นที่จดจำ แถมสร้างอิมแพค (Impact) ในใจผู้คนได้

            อย่างที่เรียกได้ว่าเป็น HAPPENING นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

            ที่สำคัญ เรื่องราวหรือเรื่องของบุคคลที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียอย่างหลากหลายเป็นหลักหลายล้านคอนเทนต์นั้น ทำอย่างไรจึงจะโดดเด่น เป็นที่จดจำได้ และทำอย่างไรจึงจะจดจำได้ในระยะเวลาอันสั้น นั่นก็เป็นอีกโจทย์หนึ่ง

            ปกติคอนเทนต์บนโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีอยู่อย่างหลากหลายนั้นจะต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร เหมือนการหยอดเมล็ดพันธุ์ (Seeding) เพื่อสร้างการจดจำ หรือเพื่อบ่มเพาะและสร้างชุมชนของตนเองขึ้นมาสำหรับการติดตามคอนเทนต์นั้นๆ

            แล้วก็จะมีกรณียกเว้นเพียงไม่มากนักที่จะเกิดปรากฏการณ์ให้สามารถแจ้งเกิดได้บนโลกโซเชียลมีเดียเพียงชั่วข้ามคืน อย่างที่เรียกได้ว่า OVERNIGHT HAPPENING อีกทั้งมีอิมแพคกับสาธารณะอย่างแน่นแฟ้น จนกลายเป็นพันธะทางจิตใจ (Bonding) และบางกรณีสามารถที่จะขยายผลขึ้นเป็นเรื่องระดับชาติได้

สำหรับกรณี OVERNIGHT HAPPENING ของประเทศไทยในขณะนี้กล่าวได้ว่าก็มีหลายกรณี

            แต่ที่เราเลือกนำเสนอในครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ HAPPENING ที่คนไทยและชุมชนบนโลกโซเชียลมีเดียรู้จักกันอย่างดีมาขยายผลและนำเสนอเพื่อต่อยอดถึงคอนเทนท์ที่มีนัย ‘ระหว่างบรรทัด’ (Between The Line) ในเชิงสังคมและการตลาดให้ได้รู้จักกันมากขึ้น โดยเฉพาะเหลี่ยมมุมที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ไลฟ์สไตล์ วิถีชาวบ้าน จนถึงปัญหาสังคมซึ่งพัฒนาต่อเป็นประเด็นระดับชาติ

OVERNIGHT HAPPENING 

            HAPPENING แรก คือ FACETOOK อ่านออกเสียงว่า ‘เฟซทุกข์’ นั่นละไม่ผิดเลย ผลงานของ บริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด ภายใต้โครงการ ‘ความสุขประเทศไทย’ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และ ธนาคารจิตอาสา องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งให้ผู้คนในสังคมปันเวลาแชร์ความสุขผ่านการฝากเวลาว่า อยากจะทำงานจิตอาสาอะไรบ้าง

           

             FACETOOK ที่แจ้งเกิดขึ้นมานั้น เนื่องจากเล็งเห็นว่า ผู้คนที่ไปชุมนุมใน FACEBOOK ดูโลกสวยงาม ดูชีวิตดี๊ดีของชุมชนตรงนี้แล้วรู้สึกกดดัน มองชีวิตตนเองติดลบและเกิดการเปรียบเทียบจนเป็นทุกข์ ดังนั้น FACETOOK จึงจุติขึ้นมาเพื่ออยู่เคียงข้างคนที่มีความทุกข์ มองโลกอยางหม่นหมอง อยากหาไหล่ใครสักคนมาซบให้น้ำตาดราม่าออกมาได้แบบไม่ต้องอายใคร โดยมีเพื่อนทุกข์อยู่ในชุมชนแห่งนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อมีทุกข์แล้วจะต้องจมทุกข์กันต่อไป เพราะก็มีแนวทางสู่ความสุข 8 ประการให้ค้นหา เพื่อเยียวยาตนเอง

            แล้วเมื่อมีความสุข มีภูมิต้านทานที่ดีในชีวิตแล้ว อยากจะสปริงบอร์ดกลับไปลัลลากับคนอื่นๆ บน FACEBOOK ก็ไปได้อย่างสบายใจ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

            HAPPENING ต่อมา PUTI BABY BIKER สลัดภาพโทนสีขาวดำจากเรื่องแรกมาสู่ความน่ารักสดใสของทารกน้อยวัยหกเดือนที่ชื่อ ‘น้องภูติ’(อ่าน ภู - ติ)หรือภูติภัทร มานะศรี ที่สร้างปรากฏการณ์ดูโอคู่กับ คุณพ่อ ภานุวัฒน์ มานะศรี หรือ บอล พนักงาน Grab Food ที่ทำหน้าที่ส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ โดยต้องกะเตงเจ้าหนูตัวน้อยใส่เป้เป็น เดลิเวอรี่ พ่อลูกอ่อน ไปทุกที่ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว

            กรณี PUTI BABY BIKER ที่โด่งดังนั้น นอกจากตัวแปรเรื่องความน่ารัก หน้าเป็นของน้องภูติแล้ว เมื่อผสมผสานกับคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอคลิปแบบ On-the-Go ขณะขับจักรยานยนต์กันสองพ่อลูกแล้ว ก็ยังมีวิดีโอ LIVE สด หรือวิดีโอที่ถูกตัดต่อ เพื่อให้กระชับและน่าสนใจมากขึ้น โดยคุณพ่อบอลที่ทำหน้าที่เป็น ผู้สร้างเนื้อหา (Content Creator)  

            นี่จึงเป็นแรงส่งที่ทำให้ น้องภูติ ดังเป็นพลุแตกและช่องยูทูบของคุณพ่อ BALL 1993 มียอดคนเข้าชมคลิปมากกว่า 5 ล้านครั้ง และมีโอกาสสร้างรายได้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ ทั้งการรีวิว การถ่ายแบบกับแบรนด์สินค้า การออกรายการเกมโชว์ ทอล์คโชว์ ฯลฯ 

 

HAPPENING ที่สามและสี่ เป็น HAPPENING ของสัตว์สองชนิดที่มีอิมแพคในทางสังคมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

           

            HAPPENING ที่สาม ELEPHANT THAILAND ของวทัญญู และ วรัญญู เหมือนรัตน์ พี่น้องฝาแฝด "เสือ กับ สิงห์" บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่จบครู ออกมาเลี้ยงช้างเป็นอาชีพอิสระที่ ศูนย์คชอาณาจักร จ.สุรินทร์ สองฝาแฝดนี้นำเสนอคลิปช้างต่างๆ หลายเชือกแบบเรียลลิตี้ อาทิ คุณตาทองใบ คุณตาของลูกช้างน้อย บัวบาน พลายดาวมงคลที่มีผู้คนหลงรักจำนวนไม่น้อย

            เรื่องราวที่นำเสนอแบบเรียลลิตี้ ไม่ได้ปรุงแต่ง ตัดต่ออะไรมากนัก ทำให้ผู้ดู ผู้ติดตามก็รู้สึกใกล้ชิดกับช้างต่างๆ โดยนำเสนอสอดแทรกกับความเชื่อ ความรู้ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง พร้อมกันนี้ ELEPHANT THAILAND ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหางช้างที่ผ่านพิธีปลุกเสกจากผู้รู้ตามพิธีการที่ถูกต้อง ด้วยข้อความที่ติดแฮชแท็กว่า #แหวนหางช้าง #ตะกรุดพลายทองใบ #ตะกรุดพลายดาวมงคล เนื่องจากเชื่อกันว่าหางช้างเป็นเครือรางของขลัง เสริมสิริมคล เรียกทรัพย์ให้กับผู้สวมใส่

            HAPPENING ที่นี่จึงมีมิติของชีวิตสัตว์ และความเชื่อทางสังคม อีกทั้งสร้างความรู้สึกรักช้างให้กับผู้คนทั่วไปอีกด้วย

           

            HAPPENING ที่สี่ การปรากฏตัวของพะยูนน้อย มาเรียม อายุประมาณ 7 เดือนที่พลัดหลงจากแม่พะยูนที่จังหวัดกระบี่ และกลายเป็นขวัญใจของชาวโซเชียลเน็ตเวิร์คขณะนี้ อีกทั้งสร้างกระแสรักษ์พะยูนในวงกว้างระดับประเทศไทยได้นั้น

            จากที่มาของมาเรียมที่พลัดหลงจากแม่และอยู่ภายใต้การอนุบาลของทีมจิตอาสาและการอำนวยการของ สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บวกกับความพยายามที่จะส่งมาเรียมกลับกลับสู่อ้อมอกแม่ของมันหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น ภารกิจการอนุบาล มาเรียม พะยูนในวัยยังไม่หย่านมจึงต้องดำเนินการกันต่อ ทว่า ด้วยประสบการณ์เดิมที่เคยช่วยเหลือและอนุบาลพะยูนพลัดหลงฝูงในบ่ออนุบาล เมื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้วมักไม่รอดชีวิต ดังนั้น มาเรียมจึงเป็นพะยูนตัวแรกที่ถูกอนุบาลในทะเลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้นมและป้อนหญ้าทะเล

            จากกระแสแชร์คลิปมาเรียม ทำให้เกิดมาเรียมฟีเวอร์มี Brand Relevance กันหลายแบรนด์ อาทิ ทีโอที ที่เข้ามาทดสอบโครงข่ายและทดสอบสัญญาณอินเทอร์เน็ตก่อนขนอุปกรณ์กล้อง CCTV ที่เกาะลิบง เพื่อ LIVE สด แบบ 24 ชม., การทำ Sticker LINE ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ Creator แบบโหนกระแส อีกทั้งมีขยายผลเป็น แผนพะยูนแห่งชาติ เพี่ออนุรักษ์ปลาพะยูนระดับชาติ

           

Influencer

            OVERNIGHT HAPPENING ยังจะเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง การนำเสนอครั้งนี้เป็นเพียงแค่การจับโมเมนต์ทางสังคมในช่วงเวลาไม่กี่เดือนนี้เท่านั้น ทว่า ลักษณะร่วมของ HAPPENING ทั้งสี่นี้มาจากเทรนด์ของคอนเทนต์ในยุคของโซเชียลมีเดียที่ใครๆ ต่างก็ทำหน้าที่เป็น ผู้สร้างเนื้อหา หรือ Content Creator ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์, วิดีโอบล็อกเกอร์, ยูทูบเบอร์ (YouTuber), นักรีวิวหรือที่เรียกว่า รีวิวเวอร์ (Reviewer) และเฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fanpage)

            ที่สำคัญ เนื้อหาที่นำเสนอก็เลือกนำเสนอได้ตามสไตล์ ตามรสนิยมและความสนใจส่วนตัว ฯลฯ ตามที่ตนเองต้องการอีกด้วย ดังนั้น ในยุคนี้จึงมีคอนเทนต์แปลกๆ เป็นล้านๆ คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียและหลากหลายแนวมากๆ แต่การที่จะเป็น Content Creator ที่ดีนั้นจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์คอนเทนต์สำหรับผู้ติดตามให้เข้าใจได้ง่าย มีการลำดับเรื่องราวต่างๆ ผ่านมุมมองของตนเอง โดยมุ่งเน้นไปยังการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติหรือพฤติกรรม ซึ่งวิธีจะดูว่า Content Creator รายใดทรงพลังในการเข้าถึงหรือพลังในการโน้มน้าวมากกว่ากันก็ดูได้จากจำนวนผู้ติดตาม โดยจุดแบ่งอยู่ที่ 500-10,000 คน, 1 หมื่น-1ล้านคน และระดับ 1 ล้านคน ขึ้นไป ซึ่งจะกลายเป็นผู้มีพลังในการเข้าถึงมาก แต่พลังในการโน้มน้าวน้อย เนื่องจากอัลกอริทึมของโซเชียลที่ทำให้ค่า Reach และ Engagement มีเปอร์เซ็นต์ตกลง เพื่อบีบให้จ่ายเงินทางอ้อมมากขึ้น

            ทว่า คอนเทนต์ต่างๆ เหล่านี้กว่าที่จะมีผู้ติดตามเนื้อหาจนขยายตัวเป็น ‘ชุมชน’ ได้นั้นต้องใช้เวลา

            หายากมากๆ ที่จะคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียไหนที่จะสามารถแจ้งเกิดในชั่วข้ามคืน!!

            เหตุผลที่จะคิดกันได้อย่างง่ายๆ เร็วๆ ไม่ซับซ้อนก็ต้องบอกว่า

            ยุคนี้เป็นยุคที่คอนเทนต์เกิดขึ้นอย่างถล่มทลาย และมากมาย จนไม่สามารถที่จะเสพเนื้อหาต่างๆ นับล้านๆ ได้หมด นอกจากเลือกเสพคอนเทนต์ตามที่ตนเองต้องการ แต่สูตรสำเร็จที่จะทำให้คอนเทนต์ต่างๆ เข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมากกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลอีกกลุ่มคือ Social Connector หรือ ผู้เชื่อมโยงสังคม ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงสังคมที่มีลักษณะหลากหลายซับซ้อนกันได้ดีก็มักจะเป็น  ‘บุคคลสาธารณะ’ นั่นแหละ อาทิ เซเลบ ดารา นักร้อง นักดนตรี ศิลปินหรือพวกไอดอลในสาขาต่างๆ  เนื่องจากคนกลุ่มนี้เน้นการใช้ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ คาแรกเตอร์และผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก เพื่อโน้มน้าวในเชิงวัฒนธรรม เช่น แฟชั่น เพลง ไลฟ์สไตล์ ความสวยความงามต่างๆ

            สำหรับการเกิดปรากฏการณ์ระดับ OVERNIGHT HAPPENING นั้น ถ้ามองจากสี่กรณีดังกล่าวข้างต้นก็จะเห็นองค์ประกอบจากการเป็น Content Creator ที่เจ้าของคอนเทนต์ผลิตขึ้นอย่าง Elephant Thailand ที่  วทัญญู - วรัญญู เหมือนรัตน์ พี่น้องฝาแฝด  ‘เสือ กับ สิงห์’" จาก ศูนย์คชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ สองฝาแฝดนี้นำเสนอคลิปช้างต่างๆ หลายเชือกแบบเรียลลิตี้ อาทิ ช้างพลายงาม คุณตาของลูกช้างน้อย บัวบาน ที่มีผู้คนหลงรักจำนวนไม่น้อย

            หรืออีกกรณีอย่าง PUTI BABY BIKER ที่คุณพ่อบอลทำคลิปส่งอาหารกระเตงลูกอ่อนวัยหกเดือน ขายความน่ารัก ความไร้เดียงสา จนสามารถสร้าง Personal Branding และพัฒนาต่อจนกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์และทำรีวิวแบรนด์สินค้า นอกจากนี้ กรณีของน้องภูติยังมีโอกาสที่ได้พัฒนาต่อโดยมีคอนเนทนต์ที่เกี่ยวข้องกับ Social Connector ดาราที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง กาย-ฮารุ แฟมิลี่’

            หรืออีกกรณี พะยูนน้อยมาเรียม ที่จริงคอนเทนต์ที่ได้ขายความน่ารักล้วนๆ ทำให้ผู้คนพร้อมใจกันแชร์ สื่อพร้อมใจกันนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหว ทำให้ Content Creator ของพะยูนน้อยมีมากมายและนำเสนอในแนวทางต่างๆ กัน โดยมี Creator ที่เป็นองค์กรและบุคคลธรรมดา

            สำหรับกรณีของพะยูนน้อยนี้มีปัจจัยความสำเร็จเข้ามาเพิ่มเติม คือ ในส่วนของ Social Connector ที่ได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้การสนับสนุนผ่านโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย และจากกลุ่มคนที่มีอิทธิพลอีกกลุ่มที่เรียกว่า Opinion Former หรือ ผู้นำทางความคิด ทั้งนี้ ในส่วนของพะยูนน้อยคือ บรรดานักวิชาการ สัตวแพทย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและได้กลายเป็นเน็ตไอดอลไปในที่สุด รวมทั้งขยายผลต่อเป็นวารแห่งชาติที่มีเจ้ากระทรวงเข้ามาทำแผนพะยูนแห่งชาติ

            ตามหลักการของ Opinion Former หรือ ผู้นำทางความคิด คือ อะไร

            Opinion Former คือหนึ่งใน Influencer ที่สำคัญ คนที่อยู่ในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มของนักวิเคราะห์ ผู้นำองค์กรต่างๆ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดีไซเนอร์ชั้นนำ ฯลฯ บุคคลเหล่านี้แม้จะผู้ติดตามไม่เยอะ แต่พลังการโน้มน้าวความคิดเห็นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีค่อนข้างมาก เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้และได้รับการยอมรับในเรื่องเฉพาะด้าน

            แน่นอนว่า ส่วนนี้ของพะยูนมาเรียมมีมากและเกี่ยวข้องกับ Opinion Former หลายด้าน

            ขณะที่อีกกลุ่มคือ Advocator หรือ ผู้สนับสนุน คนกลุ่มนี้ปัจจุบันมีอิทธิพลและบทบาทอย่างมากในยุคที่ผู้คนยุคนี้ไม่เชื่อโฆษณา แต่เชื่อเพื่อน เชื่อคนที่มีประสบการณ์ใช้สินค้าหรือแบรนด์นั้นจริงๆ เชื่อคนข้างบ้าน เชื่อคนในชุมชนของตนเอง หรือแม้แต่เชื่อคนในเครือข่ายสังคมออนไลน์

            เส้นทางของการสื่อสารจาก Message ที่กว่าจะทำให้เกิด Action หรือการตัดสินใจ หรือการกระทำอะไรสักอย่าง ตลอดจนสร้าง HAPPENING ได้นั้นอีกประการมาจาก Influencer ที่สำคัญ อย่าง Media Elite หรือ สื่อชั้นนำ อย่างรายการทอล์คโชว์ รายการเกมโชว์ สื่อออนไลน์ รายการทีวี คอมเมนเตเตอร์ (Commentator) ผู้จัดรายการทอล์คโชว์ อย่างกรณีของน้องภูติ, มาเรียมหรือแม้แต่ Facetook ที่ Associate  กับ Facebook โซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อดังที่มีสถานะเป็นสาธารณรัฐของโลกใบนี้ แม้ ณ วันนี้จะมีการประเมินแนวทางโซเชียลเน็ตเวิร์คในอนาคตและทำให้ Facebook ต้องพยายามปรับตัวให้กลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คในวงแคบ อีกทั้งพยายามปรับตัวให้เป็นเหมือน Instagram และ Snapchat มากขึ้น รวมทั้งเริ่มแสดงคอมเมนต์บนโพสต์เฉพาะที่มาจากเพื่อนเท่านั้น

_______________________________________________________

คอนเทนต์ //Facctook // Puti Baby Biker // มาเรียม // Elephant Thailand 
ติดตามเร็วๆ นี้ 

[อ่าน 1,717]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved