องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ลงนามความร่วมมือกับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนากิจการโคนมแบบครบวงจรหวังยกระดับอุตสาหกรรมโคนมด้วยวทน. เดินหน้าวิจัย ‘นมผงพันธุ์ไทย-นมอัดเม็ดพรีเมี่ยม-ผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อผู้สูงวัย’ เฟสแรก 63-65 พร้อมลุยตลาดต่างประเทศ นำร่องบุกอาเซียนปี 64
นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคซึ่งจะส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้นโดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่า ปี 2562 นี้ ความต้องการด้านการบริโภคนมจะเพิ่มขึ้น จากการที่หลายภาคส่วนร่วมกันรณรงค์การบริโภคนมของประชาชนในประเทศ โดยในปี 2562 มีปริมาณการบริโภคประมาณ 1,332,180 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 8% จาก 1,233,483 ตัน ของปี 2561 ในขณะเดียวกัน การส่งออก-การนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดนมพาณิชย์มีการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการร่วมมือกันสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกนมสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า
"ในฐานะที่ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เป็นอาชีพแก่เกษตรกรไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมนมให้ครบวงจรและมีมูลค่าเพิ่ม การสร้างความรู้ด้านกิจการโคนม และอุตสาหกรรมนม และมุ่งบริหารจัดการองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะ (HPO) ด้วยหลักธรรมาภิบาล จากภารกิจดังกล่าว อ.ส.ค.จึงได้มีการดำเนินแนวทางแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมโดยการพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนม เพื่อให้ได้น้ำนมที่ดีมีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานพร้อมแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน ตลอดจนการพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมโคนม โดยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมทั้งระบบ เพื่อพัฒนาในการเลี้ยงโคนม ระบบฟาร์ม การคัดเลือกสายพันธุ์ การพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ ตลอดทั้งอุตสาหกรรมโคนมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
โดยปัจุบัน อ.ส.ค. มีการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง(Thai Denmark Smart Dairy Farm)ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 55.9 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิตเชิงธุรกิจประสิทธิภาพสูง หรือ “Smart Farm” มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้ง Hard ware และ Soft ware เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกร ประกอบกับปัจุบันนโยบายการตลาดในการทำการค้าเสรีตามข้อตกลง Free Trade Area in Milk production (FTA) ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโคนมของประเทศ ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนมผงพร่องมันเนยจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าสูงที่สุด อ.ส.ค.ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลบริหารจัดการ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆให้แก่ผู้บริโภคอยู่เสมอ
โดยความร่วมมือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ อ.ส.ค.ได้มีการดำเนินงาน และร่วมกันหารือเพื่อขยายผลงานวิจัย และพัฒนา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมโคนม และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดย สวทช.จะเข้ามาดำเนินการวิจัย พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมในกิจการโคนม พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นมด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่ อ.ส.ค.และ อ.ส.ค. จะดำเนินการขยายผลการวิจัยที่ได้นำมาพัฒนาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนากิจการโคนมแบบครบวงจรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลและการนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสอดรับกลยุทธ์การตลาดของ อ.ส.ค.ตามแผนรัฐวิสาหกิจระยะ 5 ปี (2560-2564)ในการขับเคลื่อนและผลักดันผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ก้าวสู่แบรนด์นมแห่งชาติและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโคนมในอาเซียน" ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ร่วมมือกับ สวทช. เพื่อร่วมส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทย ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้มาตรฐาน ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมนมไทยสู่ระดับนานาชาติได้ ซึ่ง อ.ส.ค. ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมโคนมเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นความสำคัญด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทนการขับเคลื่อนพันธกิจของ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่มีความสำคัญในการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น เนื่องจาก สวทช. มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมระดับชาติ โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำโดยการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และผู้ประกอบการกิจการโคนมสามารถควบคุมต้นทุนได้ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำนมดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมโคนมทั้งในและต่างประเทศได้ ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ และตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย