ผลรางวัล “VOGUE Who’s on Next, The Vogue Fashion Fund 2019”
15 Oct 2019

ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับโครงการ “VOGUE Who's on Next, The Vogue Fashion Fund 2019” (โว้ก ฮูส์ ออนเน็กซ์, เดอะ โว้ก แฟชั่น ฟันด์ 2019) โดยนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย (VOGUE THAILAND) สื่อที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อแฟชั่นทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งของโลก จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ที่มีผลงานการออกแบบและแผนการตลาดที่โดดเด่น ซึ่งถือเป็นปีที่ 6 แล้ว

โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายนผ่านมา ได้ประกาศผลสุดเซอร์ไพรส์ 4 ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ แบรนด์ Nichp (นิช-พี) สร้างสรรค์โดย ณิชา ประสานเกลียว และธนพล ทองระอา, แบรนด์ Torboon (ทอบุญ) โดย บุญทวี เจริญพูนสิริ, Ferratiti โดย ชวัฎวิทย์ อัครโยธากรณ์ และ Jirawat (จิรวัฒน์) โดย จิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล คว้ารางวัลร่วมกันมูลค่ารวมกว่า 1,200,000 บาท และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจตลอด 1 ปี

ภายในงานได้รับเกียรติจาก กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้ก ประเทศไทย ,ปาริสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, วริศรา ไพรสานฑ์กุล ผู้จัดการทั่วไป-ธุรกิจเพรสทีส บริษัท ชิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด, ภิญญาพัชญ์ อาจวงษ์ ผู้จัดการแบรนด์จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด

พร้อมด้วยเหล่าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่คอยให้คำปรึกษาทั้งในด้านการออกแบบและการวางแผนธุรกิจตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการเข้าร่วมโครงการ อาทิ วรัตดา ภัทโรดม, โสภาวดี เพชรชาติ, ฮัสซัน บาซาร์, มลลิกา เรืองกฤตยา, ศุภจักร ไตรรัตโนภาส, สธน ตันตราภรณ์, จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล และจงกล พลาฤทธิ์ มาร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน

กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้ก ประเทศไทย กล่าวว่า “ปีนี้ถือเป็นปีที่ตัดสินหาผู้ชนะเลิศยากมาก เนื่องจากต้องยอมรับว่า ดีไซเนอร์ชาวไทยแม้มีทักษะด้านการออกแบบที่ดี แต่ยังขาดแนวคิดในการทำธุรกิจที่ออกแบบอย่างไรให้เสื้อผ้าขายได้ การเป็นดีไซเนอร์ที่ดีได้นั้น ต้องมีความเข้าใจ ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งผู้ชนะเลิศทั้ง 4 แบรนด์ยังไม่มีใครโดดเด่นทั้ง 2 ด้านออกมา

การตัดสินปีนี้จึงค่อนข้างลำบากและค่อนข้างเซอร์ไพร์สทั้งคนเชียร์และคณะกรรมการพอสมควร นอกจากนี้หัวใจของโครงการไม่ได้อยู่ที่การมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเท่านั้น แต่เป็นการส่งเสริมดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดให้ได้รับความรู้อย่างที่หาที่ไหนไม่ได้” 

จากจำนวนผู้เข้ามาสมัครมากกว่า 50 แบรนด์ ถูกคัดกรองจนเหลือผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายที่ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการ ซึ่งแต่ละแบรนด์ได้สร้างสรรค์คอลเลคชั่นเพื่อเผยโฉมอย่างเต็มรูปแบบในรอบชิงชนะเลิศ ได้แก่ 

แบรนด์เสื้อผ้าสตรี 6 แบรนด์ คือ Coralist (คอรัลลิสต์) ของธันยพร จิรธรรมโอภาส, Tutti (ตู๋ตี๋) โดยนันธนุช วงศ์พัวพันธ์, Ferratiti (เฟอร์ราติติ) โดยชวัฎวิทย์ อัครโยธากรณ์, Jirawat (จิรวัฒน์) โดยจิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล, Youth Tonic (ยู๊ธ โธนิค) โดยทิพปภา เดชรักษาวัฒนา และพัทธิชา เทพวงค์, Nichp (นิช-พี) โดยณิชา ประสานเกลียว และธนพล ทองระอา

และแบรนด์เครื่องประดับ 4 แบรนด์ ได้แก่ Jiira (จิระ) โดยจิรัชญา ชัยยาศักดิ์, Torboon (ทอบุญ) โดยบุญทวี เจริญพูนสิริ , T.Twinkle (ที.ทวิงเกิล) โดยวนิชยา กิตติไพศาลศิลป์ และ Kear Store (เกียร์ สโตร์) โดยปาณิศา สีดาสมุทร์ 

หลังการประกาศผล 4 แบรนด์ผู้ชนะเลิศได้เปิดใจ ถึงความรู้สึกและหนทางกว่าจะคว้าชัยชนะครั้งนี้ เริ่มที่แบรนด์เสื้อผ้าชุดราตรี “Nichp” (นิช-พี) โดย ณิชา ประสานเกลียว และธนพล ทองระอา อดีตแอร์โฮสเตสอย่างณิชา เริ่มต้นทำแบรนด์เมื่อปี 2014 และลาออกจากงานประจำมาสวมบทบาทนักออกแบบเต็มตัว หลังทำแบรนด์ได้เพียง 3 ปี เพราะได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก โดยมีแฟนหนุ่มธนพล อดีตสจ๊วตทำหน้าที่บัญชีและฝ่ายการตลาด

แม้ณิชาศึกษาจบคณะนิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ใช้ความรักในแฟชั่นของตนเองผลักดันแบรนด์ เริ่มออกแบบชุดราตรีที่ใส่ได้จริงและสามารถมิกซ์แอนด์แมทช์ใส่ในชีวิตประจำวันได้หลากหลาย ส่วนธนพลศึกษาจบคณะบัญชี มหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยทั้งคู่บอกว่าเริ่มสร้างแบรนด์จากไม่มีอะไรเลย

“เราเริ่มสร้างแบรนด์ด้วยเงินเพียง 5 หมื่นบาท ก้าวแรกออกบูท มีแฟนไปอยู่ประจำบูทและดูด้านการตลาดให้ แต่เราก็ยังทำงานประจำกันอยู่ เมื่อเสียงตอบรับดี ต้องมีคนหนึ่งที่ออกมาทำอย่างจริงจังคือณิชา แต่ตอนนี้เราออกจากงานทั้งคู่เพื่อมาสร้างแบรนด์ด้วยกัน เพราะแบรนด์ค่อนข้างก้าวกระโดดในช่วงแรกๆ เราเน้นขายแล้วใส่ได้จริง คือณิชารู้ว่าผู้หญิงชอบใส่อะไร ใส่อะไรแล้วดูผอม ใส่ได้จริงนี่คือจุดแข็งของเรา ทำให้เราขายได้

สำหรับการประกวดรายการโว้ก ฮูส์ ออนเน็กซ์ ,เดอะ โว้ก แฟชั่น ฟันด์ 2019 ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะติดท็อป 4 เพราะแบรนด์เราไม่ได้ออกแนวหวือหวา แต่เรารู้สึกว่าเราอยู่ตรงกลางระหว่างธุรกิจกับแฟชั่นจริงๆ ด้วยเราไม่ใช่ศิลปิน เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าอะไรขายได้ เอกลักษณ์ของแบรนด์คือ มินิมัล ลักซ์ชัวรี่ แฟมินิน เรียบหรู มีความเป็นผู้หญิง แต่เรียบ ๆ และใส่ได้ไม่จำกัดกาลเวลา” ณิชากับธนพล ช่วยกันเล่า

กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแบรนด์ Nichp ต้องผ่านอะไรมามากมาย เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่คนในแวดวงแฟชั่นตั้งแต่เริ่มแรก แต่พอมาเข้าร่วมโครงการ ผู้เชี่ยวชาญสอนพวกเขาว่า ต้องหาตัวตนของแบรนด์ให้เจอ แม้พวกเขาจะเรียบง่าย แต่นั่นคือตัวตนของพวกเขา ทำให้แบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้น และสร้างมูลค่าให้แบรนด์มากขึ้น การได้ติดท็อป 4 ในครั้งนี้ถือเป็นกำไรและเป็นการต่อยอดแบรนด์ได้อย่างสวยงาม

ด้านแบรนด์กระเป๋าผ้าทอไทย “Torboon” (ทอบุญ) ของดีไซเนอร์ บุญทวี เจริญพูนสิริ ด้วยวัย 49 ปี ศึกษาจบด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แต่ไปทำงานเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์นานถึง 10 ปี แล้วอยากเปลี่ยนแนว เธอจึงไปเรียนต่อแฟชั่น แอนด์ แอสเซสเซอรี่ ดีไซน์ คอร์ส 1 ปีที่มิลาน อิตาลี

จากนั้นไปเรียนต่อด้านทำกระเป๋าหนังที่ฟลอเรนซ์ อิตาลี เมื่อกลับเมืองไทยเธอจึงเปลี่ยนบทบาทมาออกแบบกระเป๋าโดยใช้ผ้าทอพื้นเมืองเชียงใหม่มาเป็นส่วนประกอบของกระเป๋า เมื่อต้องเข้าแข่งขันกับนักออกแบบรุ่นน้อง ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุญทวีจะฝ่าฟันและก้าวมาสู่จุดนี้ เพราะเธอเห็นว่าน้องๆ เก่งกันทุกคน อะไรคือพลังที่ผลักดันให้ “พี่บุญ” ของน้องๆ ก้าวผ่านข้อจำกัดแห่งวัยไปได้

“เคล็ดลับการประสบความสำเร็จไม่มีอะไรมาก แค่ทำตามกระบวนการทำงานของเราที่พัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกปี พอเข้ามาทำงานกับน้องๆ แรก ๆ พยายามมองว่ารุ่นน้องๆ ทำอะไรกัน พอลงมือทำงานจริงๆ ต้องโฟกัสว่าเราจะทำอะไร ดิฉันสนใจผ้าทอพื้นเมืองของเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ ผ้าทอมีเสน่ห์ เพราะการเรียนด้านแฟชั่นสอนให้เรานำวัสดุที่ใกล้ตัวเรา หรือในพื้นถิ่นมาสร้างสรรค์และต่อยอด

พอเรียนจบจากอิตาลีตอนอายุ 39 ดิฉันย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เจอวิกฤตผ้าทอที่กำลังซบเซามาก ดิฉันจึงอยากปลุกผ้าทอให้ฟื้นขึ้นมา จึงนำผ้าทอมาเป็นส่วนประกอบของกระเป๋าหนัง เสน่ห์ของผ้าทอไทยมีเรื่องราวและมีรากเหง้าที่น่าสนใจ เป็นมรดกที่มีคุณค่ามากๆ ดิฉันอยากนำผ้าทอไทยที่คนใช้ประดับตามฝาบ้าน หรือเก็บอยู่ในตู้เก็บผ้า นำมาปรับผ้าทอไทยให้มีอีกหนึ่งบุคลิกขึ้นมา ตอนนี้คนเริ่มเปิดรับกับผ้าทอไทยแล้ว ”

การเข้าร่วมโครงการนี้ บุญทวีได้พบผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟชั่นที่แนะนำถึงวิธีบริหารธุรกิจด้านแฟชั่น และให้เธอลงมือสร้างสรรค์ธุรกิจแนวใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ทำให้เธอค้นพบสัจธรรมว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

“สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้คือ เรื่องสไตลิ่งและวิธีบริหารการตลาด เราจะออกแบบเพื่อทำขายอย่างเดียวไม่ได้ จะทำสินค้าให้ขายได้จริงๆ คุณต้องสร้างงานให้เหมาะกับตลาด ตอนทำงานในโครงการดิฉันไม่ได้แข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำงานตัวเองให้ออกมาดีที่สุดในแบบของเรา” บุญทวี กล่าว

ด้านแบรนด์ “Ferratiti” ชุดวิวาห์ ออกแบบโดย ชวัฎวิทย์ อัครโยธากรณ์ วัย 31 เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝันด้านแฟชั่นที่อยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย ทุกๆ ต้นเดือนต้องซื้อแมกกาซีนแฟชั่นมาอ่าน เขารู้จักดีไซเนอร์ไทยเกือบทั้งหมด

โดยมีต้นแบบคือ ใหม่-พลัฏฐ์ พลาฎิ แบรนด์เมช มิวเซียม (Mesh Museum) เพราะออกแบบชุดแต่งงานได้เหมาะเจาะสวยงามมาก และมีรุ่นพี่ด้านออกแบบแฟชั่นอีกหลาย ๆ คนที่เป็นต้นแบบที่ทำให้เขาคิดว่า วันหนึ่งจะเป็นดีไซเนอร์ให้ได้

กว่า 10 ปีที่อยู่ในถนนของแฟชั่น หลังจากไปเป็นลูกมือให้ห้องเสื้อต่าง ๆ เป็นแม้กระทั่งพนักงานขายเสื้อผ้าแบรนด์นำเข้าที่โด่งดังมากอย่างคลับ 21 เขายังทำแบรนด์ของตัวเองมาตลอด โดยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำชุดมาหลากหลายแนว แต่มาตกผลึกที่ชุดแต่งงาน ความโด่งดังของชุดแต่งงานแบรนด์ของชวัฏวิทย์ ที่เขาบอกว่าน่าจะอยู่ในท็อปไฟว์ของชุดเจ้าสาว

“ตอนทำงานแฟชั่นรู้สึกเหนื่อยเพราะต้องวิ่งไปกับเทรนด์เรื่อยๆ แต่พอมาทำชุดแต่งงาน รู้สึกถึงความสุขที่ผมได้ทำในชุดที่เราชอบ มีเวลาโฟกัสกับมัน มีคนที่เต็มไปด้วยความหวังว่าอยากจะสวยในวันที่พิเศษมาหาผมมากมาย ทำชุดแต่งงานทำให้ผมมีแรงบันดาลใจมาทำงานทุกวัน

การทำแบรนด์ตอนนั้นภายใต้แบรนด์ชวัฎวิทย์ ส่วนแบรนด์เฟอร์ราติติ ผมเพิ่งมาเปลี่ยนตอนร่วมโครงการกับโว้ก ตอนนี้ผมมีลูกน้อง 15 คน ผมอยากผลักดันแบรนด์ไทยก้าวขึ้นสู่ระดับสากลให้ได้จริงๆ ด้วยสองมือสร้างของผม ”

อะไรทำให้ ชวัฏวิทย์ ชนะในวันนี้ เขาบอกว่า เขาอยากให้ทุกคนเห็นถึงทุกครั้งที่เขาได้รับภารกิจเขาใส่ใจทำเกินร้อย เขาพยายามตีโจทย์ให้แตก และเข้าใจโจทย์จริงๆ คิดให้เยอะแล้วค่อย ๆ ทอนเอาน้ำออกให้เหลือแต่แก่น พยายามทำให้ผู้เสพเสพชุดและแบรนด์ได้ง่าย นี่คือเคล็ดลับทำให้เขาสำเร็จติดท็อป 4 ได้

“ทุกวันนี้ผมไม่รู้ว่าผมประสบความสำเร็จรึยัง แต่ผมรู้สึกว่าถ้ามีความฝันอย่าท้อ ถ้าเจออุปสรรค ล้มบ้าง ไม่ต้องเครียด มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนเจอ ถ้าเรามุ่งมั่นสักวันหนึ่งมันจะได้”

ปิดท้ายที่ แบรนด์เสื้อผ้า “Jirawat” (จิรวัฒน์) โดย จิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล วัย 26 ปี การทำแบรนด์จิรวัฒน์ ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากตัวเองหมด เขาเริ่มทำแบรนด์ขณะศึกษาอยู่คณะคณะศิลปศาสตร์ เอกออกแบบแฟชั่นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาต่อยอดการสร้างแบรนด์ด้วยการเข้าประกวดออกแบบแฟชั่น และเก็บสะสมเงินรางวัลที่ได้ มาทำแบรนด์บวกกับการเป็นดีไซเนอร์ให้แบรนด์เสื้อผ้า Drycleanonly ซึ่งปัจจุบันยังทำประจำอยู่ ควบคู่กับการทำแบรนด์ของตัวเอง

หัวใจหลักของแบรนด์จิรวัฒน์ โดดเด่นตรงใช้ผ้าทอที่ได้มาจากการชอบเดินตลาดนัดตามต่างจังหวัดเขาได้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คน และค้นพบเสน่ห์ของผ้าค้างสต็อก รวมทั้งผ้าทอหนา ๆ ที่ชาวบ้านใช้ประดับตามฝาผนังหรือทำเป็นผ้าม่าน มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าด้วยการออกแบบให้เสื้อผ้าดูน่าสนใจ เป็นการเพิ่มมูลค่าเข้าไป

“ผมทำเสื้อผ้าตั้งแต่เรียนไม่จบ เพราะเป็นสิ่งที่รักและถนัดที่สุด แบรนด์จิรวัฒน์มีความโดดเด่นของเสื้อผ้าคือ ความเป็นยูนิเซ็กส์ วัสดุที่ใช้ทำเสื้อผ้าไม่ได้หาได้ง่าย ๆ ตามท้องตลาดทั่วไป ผมชอบผ้าครอสติส วินเทจ และผ้าพรมประดับฝาผนัง วินเทจมาก

ผมชอบจึงอยากต่อยอดจากสิ่งที่ผมชอบคือของวินเทจ เป็นการผสมผสาน กับเสื้อผ้าโครงสตรีทแวร์ สำหรับคอลเลคชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคาวบอย ผมอยากถ่ายทอด เล่าเรื่องโดยใช้ผ้าครอสติสที่ผมสะสมไว้มาเล่าเรื่อง นำเสนอออกมาในโครงเสื้อผ้าปัจจุบัน ดูทันสมัย

รางวัลนี้ยิ่งใหญ่มาก ผมจึงตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ยอมอดหลับอดนอนเพื่อสร้างสรรค์งานเสื้อผ้าสวย ๆ ออกมา ผมมีความสุข เพราะเป็นสิ่งที่ผมรัก สิ่งที่ทำให้ผมชนะติดท็อป 4 น่าจะเป็นความขยันและความตั้งใจมาก สำหรับน้องๆ ที่อยากเข้ามาประกวดขอให้มี 2 คำคือขยันและอดทน มีสองคำนี้ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ” จิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ 3 ภารกิจรางวัลพิเศษ อาทิ ผู้ชนะโปรเจคต์แรก คว้ารางวัล The winner of design mission by Shiseido ได้แก่ แบรนด์ Jirawat (จิรวัฒน์), T.Twinkle (ที.ทวิงเกิล) และ Ferratiti (เฟอร์ราติติ) โปรเจคต์ที่ 2 ผู้คว้ารางวัล The winner of design mission by Doikham ได้แก่ Ferratiti (เฟอร์ราติติ) และ Jiira (จิระ) โปรเจคต์ที่ 3 ผู้ชนะคว้ารางวัล The winner of design mission by Johnnie Walker style ได้แก่ T.Twinkle (ที.ทวิงเกิล)

ร่วมติดตามผลงานและบรรยากาศของการประกาศผลผู้ชนะเลิศ “VOGUE Who’s on Next, The Vogue Fashion Fund 2019 ผ่านทาง www.Vogue.co.th หรือ IG : voguethailand และ #VogueWhosOnNext2019

[อ่าน 1,292]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอสซีจี ขนกองทัพนวัตกรรมจาก 10 แบรนด์ชั้นนำ ร่วมงานสถาปนิก 67
“โยเกิร์ต - ณัฐฐชาช์ บุญประชม” อวดแฟชั่นจากแบรนด์ MISTY MYNX คอลเลกชั่นล่าสุด
เอไอเอ ประเทศไทย มอบรางวัลเกียรติยศแก่สุดยอดตัวแทน “ที่สุดแห่งปี” AIA Annual Agency Awards Presentation 2023
Coach เปิดตัว The Coach Tabby Shop ลาน PARC PARAGON
พานาโซนิค บิวตี้ ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ “Panasonic nanocare EH-NA0J” เจาะตลาดไฮเอ็นด์
SCG แถลงผลประกอบการไตรมาสแรก มุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด รุกธุรกิจที่เติบโตสูง
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved