มองหาโอกาสจากกฎระเบียบใหม่ในธุรกิจ E-Commerce อินเดีย
19 Dec 2020

 

จากการที่ประเทศอินเดียได้ปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งส่งผลต่อกลไกการขับเคลื่อนแวดวงอีคอมเมิร์ซ ของอินเดีย และมีผลกระทบต่อรูปแบบโครงสร้างธุรกิจของกิจการรายใหญ่อย่าง Amazon และ Flipkart ที่มีส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดอินเดีย แต่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ขาย และผู้จัดหาสินค้าในธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมตลอดจนตลาดซื้อขายสินค้าเฉพาะทางออนไลน์แหล่งอื่นๆ

ฉะนั้นกิจการหรือผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ต้องการเจาะตลาดค้าปลีกของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์ หรือออฟไลน์ จึงควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าว และเข้าใจถึงผลสืบเนื่องในทางปฏิบัติต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจของตน

 

ตลาดเครื่องประดับออนไลน์อินเดีย

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินเดียเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอัตราขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 3-5 ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมดในประเทศโดยคาดว่าในปี 2022 มูลค่าการค้าออนไลน์จะเพิ่มขึ้นถึง 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2026 เนื่องจากผู้บริโภคชาวอินเดียเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการค้าปลีกเครื่องประดับออนไลน์ก็มีส่วนสำคัญในธุรกิจนี้

 

 

ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอินเดียมีผู้เล่นในตลาดค่อนข้างมาก โดยตลาดซื้อขายออนไลน์ 3 รายใหญ่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดค้าปลีกออนไลน์ในอินเดียก็คือ Amazon, Flipkart และ Paytm Mall ซึ่งต่างก็ขยายสินค้ามายังธุรกิจเครื่องประดับด้วย

นอกจากนี้ยังมีตลาดเฉพาะทางในแต่ละกลุ่มสินค้า อาทิ สินค้าแฟชั่นอย่างเช่น Myntra และ Snapdeal รวมถึงแบรนด์เครื่องประดับในอินเดียหลายรายก็ขยายธุรกิจเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ควบคู่กับการเปิดร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น BlueStone, CaratLane, PC Jewellers และ Gitanjali Jewellers เป็นต้น

ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2020 ตลาดเครื่องประดับออนไลน์ในอินเดียจะมีมูลค่าเติบโตกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีสัดส่วนราวร้อยละ 1-2 ของตลาดค้าปลีกเครื่องประดับอินเดีย

 

 

ผลกระทบต่อการค้าปลีกเครื่องประดับออนไลน์ & ออฟไลน์

จากการที่กรมนโยบาย และการส่งเสริมอุตสาหกรรมของอินเดีย ได้บังคับใช้กฎใหม่ ว่าด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซ จากต่างประเทศดำเนินกิจการในฐานะตลาดซื้อขายทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว และส่งเสริมการแข่งขันกันอย่างยุติธรรมระหว่างช่องทางการค้าปลีกต่างๆ ซึ่งกฎระเบียบที่รัดกุมยิ่งขึ้นช่วยขจัดปัญหาในประเด็นทั้งการจัดหาสินค้า การผูกขาดการจัดจำหน่ายสินค้า และนโยบายในการตั้งราคา

กฎระเบียบใหม่นี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในระยะสั้น โดยผลักดันให้กิจการเหล่านี้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และเป็นตลาดซื้อขายอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันสำหรับผู้ขายทุกราย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้จัดหา / ผู้ค้าที่ต้องการจัดจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ จะได้รับการสนับสนุนให้ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มทางออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม

ซึ่งช่วยลดการเผชิญหน้าในการแข่งขันอย่างรุนแรงจากแบรนด์ใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาด และสามารถควบคุมคลังสินค้าของผู้ดำเนินกิจการอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องประดับอินเดียที่ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซเอง หรือธุรกิจขนาดเล็กลงมา ซึ่งแต่เดิมไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะแข่งขันกับผู้ค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ก็จะได้รับประโยชน์จากกฎระเบียบใหม่นี้

นอกจากนี้ รัฐบาลจะช่วยผลักดันกิจการภายในประเทศให้แข่งขันกับกิจการต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว จะส่งผลให้สถานการณ์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินเดียปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังขยายตัว แต่ร้านค้าแบบดั้งเดิมก็ยังคงครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดค้าปลีกเครื่องประดับของอินเดีย ผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ให้เสียงตอบรับในทางที่ดีต่อนโยบายใหม่นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากกฎนี้จะช่วยลดความกดดันด้านการดำเนินงานและยอดขายอันเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจซื้อขายสินค้าทางออนไลน์

โดยเฉพาะเครื่องประดับที่มีราคาไม่สูงมากนักนั้น ได้รับผลกระทบจากการค้าออนไลน์เป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคมักเลือกดูสินค้าที่ร้านค้า แต่กลับถ่ายภาพสินค้าที่ชอบและไปสั่งซื้อทางออนไลน์แทน

เนื่องด้วยตลาดซื้อขายออนไลน์มีโปรโมชั่นลดราคา ขณะที่เครื่องประดับหรูราคาสูงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ผู้ซื้อส่วนมากยังคงต้องการเลือกซื้อที่ร้าน / แบรนด์ที่เชื่อถือได้ เพื่อที่จะได้รับประสบการณ์ในการซื้อ และการประกันคุณภาพสินค้า อีกทั้งร้านค้าขนาดใหญ่/แบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่ก็มีช่องทางออนไลน์เป็นของตนเองอยู่แล้ว ร้านค้าเครื่องประดับจึงหวังว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จะหันกลับมาหาผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิม

 

โอกาสของเครื่องประดับไทยในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอินเดีย

จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับและการปรับกฎระเบียบใหม่ของอินเดีย นับเป็นโอกาสของธุรกิจ SMEs ไทยที่ต้องการขายสินค้าแก่ผู้บริโภคอินเดียผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซแบบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเครื่องประดับแท้และเครื่องประดับแฟชั่นของไทยที่มีความพร้อมจะเข้าไปเริ่มทำธุรกิจในอินเดีย ควรต้องเริ่มศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค สำรวจ และประเมินตลาดซื้อขายออนไลน์รายต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อหาแพลตฟอร์มที่เหมาะสมที่สุด

สำหรับการจัดจำหน่ายสินค้าของตน และที่สำคัญอาจพิจารณาเข้าสู่ตลาดผ่านการร่วมมือกับผู้ดำเนินกิจการอีคอมเมิร์ซ ของอินเดียแทน ที่จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาติดขัดโดยไม่จำเป็น จากการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างของธุรกิจให้เป็นไปตามกฎระเบียบดังกล่าว อาทิเช่น ตลาดซื้อขายออนไลน์ AJIO.COM ที่เน้นสินค้าแฟชั่นเป็นหลัก และเพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมาโดยบริษัท Reliance ผู้ดำเนินกิจการค้าปลีกรายใหญ่สุดของอินเดียที่ก้าวเข้ามาทำธุรกิจนี้

 

 

เมื่อผู้ประกอบการสามารถเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมได้แล้ว ก่อนที่จะเข้ามาเป็นผู้ค้าสินค้าเครื่องประดับในตลาดซื้อขายออนไลน์นั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจดทะเบียนธุรกิจในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกิจการคนเดียว ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัท ยกตัวอย่างเช่น การจดทะเบียนเป็นกิจการคนเดียว ผู้ประกอบการต่างชาติต้องมีวีซ่าแบบธุรกิจ และเข้ามาพำนักในอินเดียไม่น้อยกว่า 182 วัน ก่อนที่จะนำที่อยู่ไปรับรองและยื่นเอกสารเพื่อขอเลขผู้เสียภาษี (Permanent Account Number: PAN) ซึ่งจะนำไปใช้ประกอบการเปิดบัญชี และนำเลขบัญชีไปจดทะเบียนธุรกิจและขอหมายเลขผู้เสียภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Service Tax: GST) จากนั้นจึงนำหลักฐานต่างๆ ข้างต้นมาสมัครเป็นผู้ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์

 

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางปี 2019 เป็นต้นมา รัฐบาลอินเดียได้ปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการแข่งขันของกิจการระดับ SMEs มากขึ้น อีกทั้งผู้ให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ค้าออนไลน์ต้องระบุแหล่งที่มาของสินค้า (Country of Origin) บนแพลตฟอร์มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2020 และแสดงข้อมูลสินค้านั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นต้นไป โดยมีแผนที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อสร้างความโปร่งใสและความสะดวกในการชำระเงินด้วย

จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการเครื่องประดับไทย หากสามารถศึกษาค่านิยม และปรับสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในตลาดนี้ได้ ก็มีโอกาสที่จะขยายตลาดเข้าสู่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินเดียได้อย่างประสบผลสำเร็จ ส่วนผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ที่มีศักยภาพ ซึ่งกำลังพิจารณารุกตลาดค้าปลีกของอินเดียควรประเมินอย่างรอบคอบว่าการเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์จะส่งผลอย่างไรต่อแผนการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดอินเดีย แม้ว่าช่องทางออนไลน์จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ร้านค้าดั้งเดิมจะยังคงเป็นช่องทางการขายที่สำคัญ

จึงเป็นการดี หากกิจการเลือกใช้แนวทางแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างยอดขายสูงสุดในธุรกิจค้าปลีกของอินเดียที่กำลังเติบโต โดยติดตามพัฒนาการภายในตลาด และวางกลยุทธ์การเจาะตลาดตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถขยายตลาดเครื่องประดับไทยในอินเดียได้อย่างยั่งยืน

 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

[อ่าน 6,928]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มงต้องลงแล้ว Miss AI เวทีประกวดนางงามจาก AI ครั้งแรกของโลก!
‘Digital Art Toy’ ภาคต่อที่เพิ่มมูลค่าให้กับ ‘ของเล่นศิลปะ’
พบความเชื่อมโยง แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก
กับเหตุสังหารหมู่โลมา เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น
ทำไม 'รถยนต์​ไฟฟ้า' ของ Apple ถึงไปไม่ถึง 'ฝัน'
ทำความเข้าใจการขึ้นราคากระเป๋า Chanel ล่าสุดปี 2024 และตลาดขายต่อ
"ยูนิลีเวอร์" วางแผนแยกธุรกิจไอศกรีม ส่งผลให้พนักงาน 7,500 ราย ถูกเลิกจ้าง
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved