อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งเป้าลด 'คาร์บอนฟุตพรินท์'
10 May 2021

 

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลกรวมตัวกันทั้งห่วงโซ่อุปทานเดินหน้าจัดหนักกับยุทธศาสตร์รักษ์โลกเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งมีการปรับกระบวนการผลิต มาใช้พลังงานทดแทน จนถึงการปรับใช้เครื่องประดับ Reuse - Recycle เครื่องประดับเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินท์

 

 

มลพิษทางอากาศ - คาร์บอนฟุตพรินท์

แม้ปี 2020 อุตสาหกรรมทั่วโลกจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณราว 2.4 ล้านตัน ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยนับเป็นอัตราการลดลงมากที่สุด อันเนื่องจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 แต่ในปีนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Exeter และโครงการ Global Carbon จากมหาวิทยาลัย East Anglia ประมินว่า เทรนด์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ แม้จะมีการกระตุ้นจากภาครัฐ ให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และนโยบายการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม

 

 

ทั้งนี้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 73.2% มาจากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม, การคมนาคมขนส่ง, ภาคธุรกิจและอาคารที่อยู่อาศัย รองลงมา 18.4% มาจากภาคการเกษตร, ป่าไม้ และการใช้ที่ดิน ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทาน นับแต่แหล่งผลิตวัตถุดิบจนถึงการขนส่งสินค้าเครื่องประดับถึงมือผู้บริโภค

โดยวงจรการผลิตที่ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์สูงๆ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการทำเหมืองแร่อัญมณีและโลหะมีค่า โดยขั้นตอนการทำพื้นที่ให้โล่งและการทำเหมืองนั้นได้สร้างคาร์บอนฟุตพรินท์คิดเป็น 95% ของทั้งหมดส่วนกระบวนการผลิตเครื่องประดับเป็นชิ้นงานนั้นสร้างคาร์บอนฟุตพรินท์เพียง 5% เท่านั้น นอกจากนี้ จากตารางจะเห็นได้ว่า คาร์บอนฟุตพรินท์ของเครื่องประดับก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ โดยเงินเป็นโลหะมีค่าที่มีคาร์บอนฟุตพรินท์ต่ำที่สุด


 

 พลิกบท 'ลดคาร์บอน'

ปัจจุบันหลายบริษัทและองค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยการปรับกระบวนการผลิตและหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ อาทิเช่น Natural Diamond Council (NDC) ซึ่งได้ทำวิจัยเรื่อง 'ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองเพชรขนาดใหญ่' โดยศึกษาถึงประโยชน์และผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน, ท้องถิ่น, ลูกจ้าง และสภาพแวดล้อม อันเกิดจากการทำเหมืองแร่ของสมาชิก (ประกอบด้วย 7 บริษัทผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ALROSA, De Beers Group, Dominion Diamond Mines, Lucara Diamond Corp., Murowa Diamonds, Petra Diamonds และ Rio Tinto) ซึ่งมีปริมาณการผลิตเพชรรวมกันกว่า 75% ของการผลิตเพชรทั่วโลก และมีการจ้างงานกว่า 7.7 หมื่นคนทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ผลิตเพชรแต่ละราย ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน ออกสู่บรรยากาศจากการทำเหมืองเพชร โดยเริ่มจากการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้า, เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน และศึกษาโครงการวิจัยในการดักจับ และเก็บก๊าซคาร์บอน เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

ในทางปฏิบัติ กล่าวได้ว่า Cartier ผู้ผลิตเครื่องประดับชื่อดังรุดหน้ากว่าหลายบริษัท โดยได้ชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์มาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว นอกจากนี้ ก็มีบริษัทระดับโลกอื่นๆ ที่มุ่งเป้าตามไทม์ไลน์ที่แตกต่างกัน อาทิ Pandora ตั้งเป้าชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2025 โดยการนำเศษวัตถุดิบ เช่น เงิน, ทองคำ, แก้ว, ยาง และยิปซัมมารีไซเคิล,ใช้แต่พลังงานหมุนเวียน,ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแหล่งผลิตที่ใส่ใจความยั่งยืน, Tiffany & Co. ตั้งเป้าชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

โดยได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง15%ในปี 2020 แล้ว ขณะ ที่ Louis Vuitton, Bulgari, Celine, Fendi และอีก 24 แบรนด์ชั้นนำ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25% ในปี 2020, De Beers ตั้งเป้าชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในปี 2030 พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองระบุแหล่งที่มาของเพชรทุกเม็ด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำเหมืองอย่างยั่งยืน และลดคาร์บอนฟุตพรินท์ทางสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลเกือบทั้งหมด และสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมและพลังแสงอาทิตย์มาทดแทน พร้อมกับชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยโครงการ CarbonVault™ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติในการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากจากชั้นบรรยากาศของหินคิมเบอร์ไลต์

ซึ่งเป็นหินที่สามารถพบเพชรอยู่ภายในได้ เพื่อให้เกิดการทำเหมืองเพชรอย่างยั่งยืน กับร่วมมือกับ 9 บริษัทผู้ผลิตเพชร (D Navinchandra Gems, Dianco, Diamant Impex, Diarush, HVK International, Hari Darshan, H Dipak and Co, Yaelstar และ StarRays) เพื่อเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตในธุรกิจกลางน้ำให้เป็นห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและถูกต้อง โดยจะพัฒนาแผนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

 

รักษ์โลก ด้วย Recycle & Reuse

การลดคาร์บอนฟุตพรินท์ในฝั่งของผู้ขายและผู้บริโภคนั้น ทำได้ผ่านการลดปริมาณการซื้อเครื่องประดับที่ผลิตขึ้นใหม่ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคาร์บอนฟุตพรินท์ และการรีไซเคิลเครื่องประดับที่มีอยู่เดิม หรือการซื้อเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน และแพลทินัมที่ผ่านการรีไซเคิล หรืออัญมณีที่นำกลับมาใช้ใหม่ ก็ล้วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก  (ดูตารางที่ 2)

ทั้งนี้ การซื้อเครื่องประดับใช้แล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของกระแส Slow Fashionในกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเล็งเห็นคุณค่าของเครื่องประดับที่มีอยู่เดิมและหลีกเลี่ยงสินค้าแบบ Fast Fashion ซึ่งมักมีคุณภาพต่ำ อายุการใช้งานสั้น และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

จากกระแสโลกที่เน้นความยั่งยืนทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และมีจริยธรรมทางการค้าแล้ว ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของคนรุ่นใหม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญต่อกระแสรักษ์โลกดังกล่าว โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับกระบวนการผลิต และการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อันจะเป็นการสร้างกระบวนการดำเนินงานที่ยั่งยืน รวมทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาวอีกด้วย

 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

>>> https://infocenter.git.or.th <<<

[อ่าน 3,080]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทรูบิสิเนส คัดสรรเบอร์มงคล 7 กลุ่มธุรกิจ 5 สายอาชีพ
SSRG เปิดตัวโครงการอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ในกัมพูชา
AP-SCG พันธมิตรขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างสีเขียว
ICONCRAFT ชวนสัมผัสมนต์เสน่ห์งานคราฟต์ล้ำค่าจากช่างฝีมือไทย
AIS จับมือ Apple ให้บริการ AIS Care+ with AppleCare Services รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คปภ. ผนึกพลัง 4 สมาคม จัดเรตติ้งพฤติกรรม “ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย” พร้อมแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved