ถอดบทเรียนความสำเร็จของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย
11 Jun 2021

 

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นหนึ่งในสามอุตสาหกรรมหลัก ที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศอินเดียอย่างมหาศาล โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 (รองจากแร่เชื้อเพลิงและสารสกัดจากปิโตรเลียม) หรือมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศโดยรวม และคิดเป็นร้อยละ 6-7 ของ GDP มีผู้ประกอบการกว่า 500,000 ราย และมีการจ้างงานทั่วประเทศราว 5 ล้านคน

ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินดีย ทำสถิติสูงสุดในปี 2554 ด้วยมูลค่าส่งออก 50,194.90 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2563 อินเดียเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับที่ 6 ของโลก

 

https://timesofindia.indiatimes.com

 

อุตสาหกรรมการเจียระไนเพชรและพลอยสี

อินเดียมีความชำนาญสูงในการเจียระไนเพชรขนาดเล็ก และพลอยสี ระดับราคาปานกลาง ลงมาจนถึงต่ำ ทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการเจียระไน และการค้าเพชรขนาดเล็ก และพลอยสีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยศูนย์กลางการเจียระไนเพชรอยู่ที่เมืองสุรัต (Surat) ซึ่งเป็นแหล่งเจียระไนเพชรราวร้อยละ 80 ของเพชรที่เจียระไนทั้งหมดในประเทศ ส่วนเมืองอื่นๆ ที่มีการเจียระไนเพชร ได้แก่ เมืองบาฟนาการ์ (Bhavnagar) และเมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad)ในรัฐคุชราต (Gujarat) สำหรับการเจียระไนพลอยสีส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองจัยปูร์ (Jaipur) รัฐราชสถาน (Rajasthan) ถือเป็นศูนย์กลางการเจียระไนพลอยสีของประเทศทั้งนี้ในปี2563 อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกเพชรสำคัญในอันดับที่ 1 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกพลอยสีในอันดับที่ 5 ของโลกพร้อมตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้เจียระไนเพชรขนาดใหญ่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลกด้วย

 

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับแท้

อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก ด้วยประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 5,000 ปี โดยการผลิตเครื่องประดับแท้ (เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเพชร) เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนซึ่งอาศัยการผลิตแบบดั้งเดิมและใช้แรงงานฝีมือเป็นหลัก

ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบศิลปะอินเดีย ซึ่งจะเป็นเครื่องประดับชิ้นใหญ่ น้ำหนักมาก เน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ต่อมาอินเดียได้พัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิต และเครื่องจักรทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ได้เครื่องประดับที่มีรูปแบบทันสมัย น้ำหนักเบา และสามารถผลิตได้ปริมาณมากขึ้น

อินเดียจึงสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกได้ จนกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน ในปี 2563 อินเดียเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นอันดับ 1 ของโลกและส่งออกเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 4 ของโลก

ทั้งนี้ แหล่งผลิตเครื่องประดับเงินสำคัญจะอยู่ในกรุงนิวเดลี (New Delhi) เมืองสุรัต (Surat) โกลกาตา (Kolkata) มุมไบ (Mumbai) และจัยปูร์ (Jaipur) ส่วนแหล่งผลิตเครื่องประดับทองสำคัญจะอยู่ในเมืองโกลกาตา ตฤศศูร (Thrissur) และมุมไบ

 

https://www.business-standard.com

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการอินเดียได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัย พัฒนาการออกแบบ และฝีมือแรงงาน ในขณะที่ภาครัฐก็ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่เพิ่มขีดความสามารถในการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ Gem and Jewellery Export Promotion Council (GJEPC)  ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม Gem & Jewellery Skill Council of India (GJSCI) ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะแรงงานทั่วประเทศ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพัฒนาทักษะและผู้ประกอบการ เป็นต้น รวมถึงยังได้ให้การสนับสนุนในหลายด้านแก่อุตสาหกรรมฯ ดังนี้

 

ด้านภาษี

  • ลดภาษีนำเข้าโลหะทองคำและเงินจากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 7.5 ส่วนแพลทินัม และพาลาเดียม ลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 12.5 เหลือร้อยละ 10 เพิ่มภาษีนำเข้าเพชร Cubic Zirconia และอัญมณีสังเคราะห์จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 (เพื่อป้องกันการเข้าไปแข่งขันของสินค้าจากจีน) ส่วนภาษีนำเข้าเพชรแท้และเพชรเทียม (Lab-Grown Diamonds) ยังคงมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 7.5
  • ลดภาษีสินค้าและบริการ (GST) สำหรับเพชรก้อนและเพชรเจียระไนและงานบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพชรเจียระไนจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1.5 พลอยสีที่ผ่านการตัดหรือเจียระไน ลดลงจากร้อยละ 3 เหลือเพียงร้อยละ 0.25
  • ลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 22 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าและผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ
  • ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติขอคืนภาษีสินค้าและบริการจากการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในอินเดียได้ ซึ่งมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0.25 – 3

 

ด้านการค้าและการลงทุน

  • ผ่อนปรนกฎระเบียบโดยอนุญาตให้นักธุรกิจกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับสามารถนำสินค้าติดตัวออกไปร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติหรือเพื่อเดินทางไปทำกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิมอนุญาตให้ไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งสำหรับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะกระจายอยู่ในหลายเมืองสำคัญ อาทิ เมืองมุมไบ ไฮเดอราบัด (Hyderabad) และ จัยปูร์ เป็นต้น เพื่อจูงใจบริษัทของทั้งชาวอินเดียและต่างชาติให้เข้าไปประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับในเขตพิเศษ โดยมอบสิทธิพิเศษทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี
  • ให้สิทธิชาวต่างชาติถือหุ้นในกิจการอัญมณีและเครื่องประดับได้ร้อยละ 100 โดยดำเนินการผ่านช่องทางอัตโนมัติ ซึ่งทำให้การขออนุญาตทำได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  • กำหนดนโยบาย E-Commerce ที่สนับสนุนการค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ GJEPC ร่วมร่างนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐอันได้แก่ Department for Promotion of Industry and Internal Trade (DPIIT) Ministry of Commerce & Industry (MoC&I) เป็นต้น
  • ธนาคารพาณิชย์อินเดียให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่องปีละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียน ลดการขาดสภาพคล่อง

 

ด้านความตกลงระหว่างประเทศ

  • GJEPC ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อขยายการค้าและการลงทุนอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน อาทิ รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
  • GJEPC ได้ลงนาม MOU กับ eBay เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการอินเดียสามารถวางขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านแพลตฟอร์มของ eBay ได้อย่างสะดวก เพื่อเพิ่มยอดขายในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของอินเดีย

 

 

https://www.kushals.com

       

นอกจากนี้ นโยบาย Make In India ที่รัฐบาลประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จะช่วยยกระดับคลัสเตอร์เครื่องประดับอินเดียสู่มาตรฐานการส่งออกระดับสากล ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกได้มากขึ้น โดยอินเดียตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเป็น 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมอีก 2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2565

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดีย อันเนื่องมาจากปัจจัยที่หลากหลายจากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเองของผู้ประกอบการอินเดีย ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ การทำความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และการออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจนกระทั่งปัจจุบัน

 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

>>> https://infocenter.git.or.th <<<

[อ่าน 6,741]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แว่นท็อปเจริญ ย้ำจุดยืนผู้นำธุรกิจการให้บริการด้านสายตา ผ่านภาพยนตร์โฆษณา “มองเห็นถึงทุกด้านของชีวิต”
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี จับมือ เคทีซี เปิดตัวแคมเปญ “Korea Everything”
ศุภาลัย ผนึก ทีโอเอ ปั้นนวัตกรรมที่อยู่อาศัยสีเขียว ผุดโปรเจกต์ยักษ์ ‘ฝ้ายิปซัม & สีรักษ์โลก’
KFC Thailand ครบรอบ 40 ปี เปิดตัว “แบมแบม กันต์พิมุกต์” 
Friend of KFC คนแรกของประเทศไทย
CMG ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ส่งแบรนด์ FitFlop ลุยตลาดเวียดนาม ปลื้มได้สิทธิ์ผู้แทนจำหน่ายเพียงรายเดียว
‘วิถี 8’ กุญแจสำคัญสร้าง ‘ผู้นำที่ใช่’ พิชิตความท้าทายในโลกธุรกิจยุคใหม่
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved