“ย่านวังกรด” ชุมชนตลาดเก่า เสน่ห์วันวาน ตำนานแห่งความประทับใจ
14 Jun 2018

          จากย่านพาณิชยกรรมอันเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งใหญ่ที่เคยมีความเจริญทางเศรษฐกิจของ จังหวัดพิจิตร ในอดีต เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองแค่เพียง 6 กม. และตั้งอยู่ในจุดตัดทางการคมนาคมทั้งทางบกที่มีรถไฟเข้าถึง และทางน้ำติดกับแม่น้ำน่านที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักในสมัยก่อน แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการคมนาคมและระบบซื้อขายแบบสมัยใหม่ ทำให้เศรษฐกิจซบเซาไปตามกาลเวลา แต่ด้วยเสน่ห์ทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนไม้เก่าแก่ลักษณะเหมือนห้องแถว 2 ชั้นที่ทอดตัวยาวไปตลอดทั้งซอย และวิถีชีวิตที่ยังคงความสงบเรียบง่ายของผู้คน ปัจจุบัน “ชุมชนตลาดเก่าวังกรด” จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่โดดเด่นด้วยมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมและความเรียบง่าย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่อยู่ในขณะนี้

 


          เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับย่านเก่าแก่แห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น จังหวัดพิจิตร นำโดย วีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร จึงจัดทริปพาสื่อมวลชนนั่งรถไฟเที่ยววังกรด พาลัดเลาะท่องชุมชนโบราณ พร้อมเล่าความหลังที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนฟังมากมายตลอดการเดินทางครั้งนี้

 


          พื้นที่บริเวณชุมชนวังกรดเดิมมีชื่อว่า “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า” ขึ้นกับตำบลในเมืองหรือตำบลท่าหลวงในปัจจุบัน ก่อนจะกลายมาเป็น “ชุมชนวังกลม” ตามชื่อของห้วงน้ำที่หมุนเป็นวงกลมใกล้บริเวณวัดวงกลม เมื่อมีการสร้างสถานีรถไฟวังกลม ในปีพ.ศ.2540 แต่ชื่อสถานีกลับเป็นชื่อเดียวกันกับสถานีรถไฟในภาคอีสาน จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีรถไฟวังกรด และเปลี่ยนชื่อชุมชนตามชื่อสถานีรถไฟเป็นชุมชนวังกรดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 


          ก่อนตลาดชุมชนวังกรดจะเกิดขึ้นนั้น สันนิษฐานว่าบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนอาจเป็นแบบกระจายตัวอยู่บนพื้นที่คล้ายกับหมู่บ้านชาวนาในลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายและทำเกษตรกรรม เมื่อ “หลวงประเทืองคดี” คหบดีในชุมชนที่มีอาชีพรับราชการอัยกา ได้ริเริ่มและสนับสนุนให้คนในชุมชนสร้างตลาดขึ้น ลักษณะของที่อยู่อาศัยจึงเปลี่ยนเป็นแบบเรือนแถวไม้ แรกเริ่มเดิมทีนั้นตลาดของที่นี่เป็นเรือนไม้เรียงต่อกันตามแนวตะวันออกไปจนถึงตะวันตก จากสถานีรถไฟลงไปยังแม่แม่น้ำน่าน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “ซอยกลาง” หลังจากนั้นมีการสร้างต่อเติมตามพื้นที่ว่าง ทำให้บริเวณนี้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เต็มไปด้วยเรือนแถวไม้ ส่วนตลาดแผงลอยเป็นแบบแผงลอยไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปั้นหยา แต่เมื่อถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ความที่ชุมชนตลาดวังกรดเป็นพื้นที่สำคัญมีสถานีรถไฟและถนนผ่าน ทำให้ถูกโจมตีบ่อยครั้ง จึงต้องมีการสร้างหลุมหลบภัยไว้ในตลาด เมื่อสงครามเสร็จสิ้นการรถไฟไทยได้รื้อบ้านและตลาดแผงลอยบริเวณหน้าสถานีออกทั้งหมด และสร้างเรือนแถวไม้สองชั้น ซึ่งชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “แถวเหนือ-แถวใต้” มาจนถึงปัจจุบัน

 


          ความที่บรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวบ้านวังกรดส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน “ศาลเจ้าพ่อ วังกลม” จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของที่นี่ จึงเป็นอีกหนึ่งที่ที่ไม่ควรพลาดแวะมาขอพร และชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมจีนเมื่อมีโอกาสแวะมาเยือนชุมชนเก่าแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านจะจัดงานฉลองเจ้าพ่อวังกลม หรืองานงิ้ว เพื่อสืบสานประเพณีและเชื่อมสายสัมพันธ์ของลูกหลานย่านวังกรดเป็นประจำทุกปี

 


          ภาพของร้านรวงภายในชุมตลาดเก่าวังกรดในวันวานที่มีทั้งร้านอาหาร ก๋วยเตี๋ยวโบราณ หอยทอด ขนมจีบรสชาติดั้งเดิม ร้านค้าขายของชำ ร้านยาสมุนไพรต่างๆ ยังคงเปิดบริการคอยท่าผู้มาเยือนเหมือนอย่างเคย

 


          เมื่อลัดเลาะเดินชมบรรยากาศและชิมอาหารอร่อยภายในชุมชนตลาดเก่าวังกรดไปเรื่อยๆ จนเดินข้ามผ่านหอนาฬิกา จะเจอตลาดดั้งเดิมอีกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้นเรียกว่า “ตลาดเหนือ” นอกจากความน่ารักและเป็นกันเองของชาวบ้านพ่อค้าแม่ขายที่พร้อมจะส่งยิ้มให้กับผู้มาเยือนด้วยความยินดีจะเป็นเสน่ห์ที่น่าติดใจของที่นี่แล้ว ความงดงามแบบเรียบง่ายของสถาปัตยกรรมโบราณของร้านรวงเก่าแก่ อย่างร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าเล้าไถ่ชัว หรือโรงสีและบ้านเถ้าแก่จั่น บ้านไม้ 2 ชั้น ที่นอกจากจะประกอบกิจการโรงสีแล้ว ยังเป็นสถานที่ขายน้ำมันแห่งแรกของที่นี่อีกด้วย

 


          หากมาถึงชุมชนเก่าวังกรด “บ้านหลวงประเทืองคดี” คือสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งที่ไม่ควรพลาด แม้บ้านของผู้ริเริ่มตลาดวังกรดจะร้างไร้ผู้คน แต่ความงดงามของสถาปัตยกรรม และความร่มรื่นด้วยเงาของร่มไม้ใหญ่ล้อมรอบอาคารยังคงอยู่ ซึ่งบ้านหลังนี้นับเป็นอาคารปูนที่สร้างขึ้นเป็นหลังแรกของชุมชน และได้รับการบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาประวัติความเป็นมาในปัจจุบัน

 


          แม้จะไม่ใช่เมืองหลวงแต่ที่อดีตวังกรดเคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร ที่นี่จึงมีโรงหนังขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หลุมเก็บทรัพย์โรงหนังมิตรบันเทิง” ซึ่งเปิดกิจการตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริการความบันเทิงฉายหนังด้วยฟิล์ม 16 มม. จนถึงแก่กาลอันสมควรที่ต้องปิดตัวลง แต่สถานที่แห่งนี้ยังคงมอบความทรงจำที่ดีมอบคุณค่าทางใจให้แก่คนที่นี่และผู้มาเยือนได้ไม่ต่างจากวันวาน เช่นเดียวกับชุมชนแห่งนี้ แม้เวลาจะผ่านไปแต่เสน่ห์ความงดงามของตึกรามบ้านช่อง บรรยากาศดั้งเดิม และอัธยาศัยไมตรีจะยังคงอยู่คู่กับ “ชาววังกรด” สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนอยู่เสมอ

 


          ก่อนกลับ อีกหนึ่งความสวยงามที่พ่อเมืองพิจิตรอยากชวนให้ทุกคนอิ่มเอมใจกับนิทรรศการกลางแจ้งที่สามารถชมความงดงามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งชาวจังหวัดพิจิตรร่วมกันนำภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยฝีมือการวาดของศิลปินรุ่นใหม่กว่า 150 คน จำนวน 84 ภาพมาจัดแสดงไว้บนกำแพงที่ถูกเรียกว่า “กำแพงแห่งความภักดี” ที่บอกเล่าเรื่องราวหลากหลายแง่มุมให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจอันมากมายที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ จัดแสดงเรียงรายบนกำแพงยาวกว่า 150 เมตรตลอดแนวถนนด้านหลังศาลากลางจังหวัดพิจิตรหลังเก่า ภายในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร นับเป็นกำแพงแห่งความภาคภูมิใจอีกหนึ่งแห่ง ที่ชาวพิจิตรอยากให้ทุกคนได้มาร่วมชมกัน

 

[อ่าน 1,458]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เซ็นทารา เปิดตัว “โคซี่ เวียงจันทน์ น้ำพุ” ใจกลางเมือง พร้อมอิสระแห่งการเดินทาง
บ้านส้มตำ กรุ๊ป ทุ่มทุน 40 ล้านบาท ปักธงสาขาใหม่ใจกลางทำเลทองอย่าง “รังสิต” ประตูสู่ภาคเหนือและภาคอีสาน
คลายร้อนรับซัมเมอร์ กับเมนูอร่อยเติมความเฟรชให้ร่างกาย จากร้านดังที่ไอคอนสยาม และ ไอซีเอส
“EAT OUT” เฉลิมฉลองเทศกาลอาหารตลอด 90 วัน
ฉลองเทศกาลอีสเตอร์ ที่โรงแรมอนันตรา กรุงเทพฯ
ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ จับมือ 2 พันธมิตรรถเช่ารายใหญ่ มุ่งสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวเหนือระดับ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved