'SCB ' ตั้ง SCBX เป็น 'ยานแม่' มุ่งสู่ Regional FinTech Group
25 Oct 2021

 

การประกาศวิสัยทัศน์องค์กรล่าสุด ของ กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) เพื่อ Re-Positioning ตนเองใหม่ รับบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Disruption เกิดขึ้นในวงการการเงิน ด้วยการสลัดบทบาทของการทำหน้าที่จากสถาบันทางการเงิน เพื่อมุ่งสู่การเป็น 'กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค' หรือเป็น Regional FinTech Group ด้วยการจัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ 'SCBX' (เอสซีบี เอกซ์) ด้วยฉายาที่เข้าใจกันง่ายๆ ว่า 'ยานแม่' (Mothership) และยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

การมาของ DeFi

ก่อนที่ SCB จะ 'เล่นใหญ่' ใส่ 'ยานแม่' อย่างครั้งล่าสุดนี้ SCB ก็เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความตื่นตัวกับบริบททางธุรกิจของตนเอง อีกทั้งตระหนักดีถึงกับคลื่น Disruption ในวงการการเงินเหล่านี้มาตลอด แม้จะเป็นองค์กร

ที่มีอายุกว่าศตวรรษก็ตาม โดยก่อนหน้านี้ SCB ได้ตั้ง SCB 10X เป็น Holding Company ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์  และเป็นบริษัทรายแรกในประเทศไทยที่มุ่งเน้นเรื่องของ Decentralized Finance หรือ DeFi แต่ด้วยกลไกบางอย่าง อาจทำให้ SCB ยังขาดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และการบุกสู่น่านน้ำใหม่ๆ และการมาของ DeFi Technology ก็ทำให้ธนาคารถูกลดบทบาทลง

ทั้งนี้ Decentralized Finance หรือ DeFi เป็นแนวคิดทางการเงินแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรมแทนตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ธนาคาร หรือศูนย์รับแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งจุดแข็งของ DeFi คือ การบันทึกและดำเนินธุรกรรมอัตโนมัติ สามารถบันทึกได้ทันทีที่มีการตกลงและมีความเสี่ยงต่อการโดนโจมตีและบิดเบือนข้อมูลในระบบที่ต่ำกว่า

 

 

Re-Think ก่อน Move-on

บริบทที่เปลี่ยนไปทำให้ SCB GROUP มองและต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปี 2568 ที่จะถึง ทั้งนี้  อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการมาถึงของ DeFi Technology ตลอดจนจะเป็นปีที่มีการขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (Post-Covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ในแบบ Intermediaries  หรือ 'การเป็นตัวกลาง' เก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะต้องถูกลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ และความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลง อีกทั้งจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แนวโน้มของการถูก Disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อ 6 ปีก่อนและชัดเจนมากในอีก 3 ปีข้างหน้า

สำหรับความคาดหวังของ SCB  ในปี 2568  ก็คือ การสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก  ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน  การขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (Technology Platform) ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และหลังจาก 3 ปีนี้ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและ Technology Platform ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นทดแทนธุรกิจธนาคารที่อาจจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตที่เข้มข้นที่สุดว่า ในช่วงเวลา 3 ปีนับจากนี้ SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้ SCB จึงจะไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นๆ ที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการ Technology Platform  ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้

 

 

เชื่อมสู่จุดยุทธศาสตร์ใหม่

เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว SCB จึงมิได้เป็นธนาคารในความหมายเดิมๆ อย่างที่เราคุ้นชินอีกต่อไป หากแต่เป็นการแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้

 

ทั้งนี้ การเชื่อมต่อ และยุทธศาสตร์ต่างๆ ของ SCB เพื่อที่จะก้าวต่อเป็น SCBX  ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนและการขยายฐานธุรกิจ ดังนี้

  • ธุรกิจธนาคาร SCB โฟกัสกับการมุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง  พร้อมทั้งเน้นสร้างความพึงพอใจสูงสุดกับลูกค้า
  • ธุรกิจการเงินส่วนบุคคล การขยายเข้าธุรกิจกลุ่มนี้ SCB จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มให้สามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Technology Platform) ได้หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ​SCB ก็นำร่องด้วย 'โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี่' มาแล้วเป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้ง บริษัท SCB Tech X และ บริษัท Data X ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ Scale Platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น 
  • ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Business) เป็นส่วนธุรกิจที่ SCB ต้องการขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในระดับโลก เพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ Digital Asset ต่างๆ ใน Business Model ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

 

ไทม​ไลน์ของ SCB >SCB X

 

 

ขั้นตอนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่ม SCB และการนำหุ้นของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBx) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

  • 15 พฤศจิกายน 2564 ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่ออนุมัติการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจ โดยอนุมัติให้แลกหุ้นจาก SCB เป็น SCBx และนำหุ้น SCBx เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
  • มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ถือหุ้นทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท SCBx  (1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBx )โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90%*
  • มีนาคม 2565 นำหุ้น SCBx เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และเพิกถอนหุ้น SCB ในวันเดียวกัน
  • มิถุนายน 2565 SCB จ่ายเงินปันผลให้ SCBx จำนวน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการดังต่อไปนี้
  • นำไปซื้อกิจการบางส่วนจากธนาคารตามแผนปรับโครงสร้างของกลุ่ม
  • นำไปลงทุนในกิจการใหม่ๆ ตามแผนงานของกลุ่ม
  • นำไปใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของ SCBx
  • นำไปจ่ายเงินปันผลตามผลประกอบการและนโยบายของกลุ่ม

 

หมายเหตุ*   

ในกรณีที่มีผู้ตอบรับคำเสนอซื้อ Tender Offer มากกว่า 90% ผู้ที่ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อจะยังคงถือหุ้นของ SCB ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเสียสิทธิที่พึงได้จากการเป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

บริษัทที่อยู่ภายใต้ SCBX

  • เอไอเอสซีบี (AISCB) : บริษัทร่วมทุนระหว่าง เอไอเอส X ธ.ไทยพาณิชย์ เพื่อร่วมกันให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) บนแพลตฟอร์ม ด้วยฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านคน ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
  • บริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการกองทุนในกองทุน Venture Capital  (SCB – CP Group JV) บริษัทที่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ X กลุ่มธ.ไทยพาณิชย์ ถือหุ้น 50:50 ฝ่ายละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อตั้งกองทุน Venture Capital โดย SCB 10X เป็น Fund General Partner และร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital ขนาด 600 – 800 ล้านเหรียญสหรัฐ  และร่วมลงทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรองจำนวน 400 – 600 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งมุ่งลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน, สินทรัพย์ดิจิทัล, ฟินเทค และเทคโนโลยีอื่นๆ  ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก
  • เอสซีบี เทคเอกซ์ (SCB TechX) บริษัทร่วมทุน ระหว่าง ธ.ไทยพาณิชย์และ ผู้ให้บริการโซลูชั่นทางดิจิทัลเทคโนโลยีระดับโลก โดยตั้งเป้าเป็นบริษัทชั้นนำด้านฟินเทคแพลตฟอร์มในอาเซียน มุ่งขยายขีดความสามารถด้าน Technology Development เพื่อให้บริการในหลากหลายอุตสาหกรรม
  • เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล (Disruptive Digital Innovation) และการลงทุนในกองทุน (Venture Capital) โดยลงทุนในกองทุนระดับโลก (VC) กว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ  กับ 6 ยูนิคอร์น และกลุ่มที่ได้รับผลตอบแทนสูง, บล็อกเชนระดับโลก และสินทรัพย์ดิจิทัล/ ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (DeFi Network)
  • โทเคน เอกซ์ (Token X) บริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร ครอบคลุมบริการที่ปรึกษาและวางแผนธุรกิจเกี่ยวกับ Tokenization (การทำให้สินทรัพย์ต่างๆ อยู่ในรูปแบบโทเคน) รวมถึงวางแผนพัฒนาด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งเป้าเป็นองค์กรชั้นนำด้าน Digital Asset Tokenization ระดับเอเชียอาคเนย์ภายในปี 2568
  • ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) ผู้นำด้านการพัฒนาโซลูชั่นแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และมีลูกค้ากว่า 1.5 หมื่นองค์กรเข้าร่วมในซัพพลายเชนแพลตฟอร์มภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี
  • มันนิกซ์ (MONIX) บริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพร่วมทุนระหว่างประเทศ ระหว่าง ธ.ไทยพาณิชย์ X Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากจีน มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 4 ล้านครั้ง พร้อมปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 1.5 ปี
  • อัลฟ่า เอกซ์ (Alpha X) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธ.ไทยพาณิชย์ X มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจคำปลีกยานยนต์ชั้นนำในไทย ประกอบธุรกิจเช่าซื้อลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับพาหนะระดับหรู
  • ออโต้ เอกซ์ (Auto X) บริษัทใหม่ที่จะบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เตรียมเปิดให้บริการ Q1/2565
  • ดาต้า เอ็กซ์ (Data X) บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการ Integrate Data ของทั้ง SCBX Group และภาพรวมทั้งหมด เพื่อสร้างขีดความสามารถในการทำงานควบคู่กับบริษัทที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรง (Blue Ocean)
  • เพอร์เพิล เวนเจอร์ส (Purple Ventures) ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์มเป็น Super App ในระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพในการระดมทุน ปัจจุบันได้พัฒนา 'โรบินฮู้ด' แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่มีฐานผู้ใช้บริการกว่า 2 ล้านคน
  • เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS) ผู้ให้บริการแอป สินเชื่อออนไลน์ ระดมทุนผ่านซีรีส์ A ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาทและยอด 5 ล้านดาวน์โหลด พร้อมตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ด้านรายได้และสินเชื่อด้วยเป้าเติบโต10 เท่า
  • คาร์ด เอกซ์ (Card X) บริษัทที่แยกตัวออกมาจากธนาคาร ทำธุรกิจด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านบัตรเครดิต และสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ด้วยฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านราย, สินเชื่อ 1.20 แสนล้านบาท และตั้งเป้า IPO ในปี 2567
  • บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCB Securities) ผู้นำด้าน Digital Securities,  Brokerage Services และเป็นธุรกิจแรกที่เข้ามาในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งเป้าเป็นผู้นำในเรื่องการลงทุนและบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคอาเซียน
  • SCB Digital Banking หน่วยงานภายใต้ธ.ไทยพาณิชย์ มุ่งพัฒนาขีดความสามารถทาง Digital Banking อย่างเต็มรูปแบบ มีลูกค้าที่ใช้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มกว่า 12.5 ล้านคน ด้วยธุรกรรมทางการเงินกว่า 356 ล้านธุรกรรม/เดือน

 

[อ่าน 3,371]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved