"เอสซีจี" ส่งต่อแรงบันดาลใจจากฝายชะลอน้ำสู่ความยั่งยืน
04 Jul 2017

          ใครจะเชื่อว่าพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตแห่งผืนป่าคู่ชุมชนแห่งนี้ ครั้งหนึ่งจะเคยเป็นพื้นที่ภูเขาหัวโล้นอันแห้งแล้งมาก่อน แต่หลังจากการน้อมนำแนวพระราชดำริ ผสานกับพลังชุมชนที่ช่วยกันฟื้นฟู ความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนจึงเกิดขึ้น


          "ผมรู้สึกสงสัยจริงๆ ว่า เราทำโรงงาน แล้วจะไปยุ่งกับป่าไม้ทำไม ทำไมเราไม่คิดว่า จะทำกำไรให้บริษัทได้อย่างไร" บวร วรรณศรี ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ให้สัมภาษณ์ในกิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่โรงงานปูนซิเมนต์ จังหวัดลำปาง ที่ย้อนกลับไปกว่า 23 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่ เสาเอกอาคารหลังแรกของโรงงานตั้งขึ้น พนักงานในยุคบุกเบิกที่มีเพียง 7 ชีวิต ต้องทำงานสำรวจ ผลิต วางแผนการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนประเทศในยุคนั้น คู่ไปกับการพลิกฟื้นพื้นที่ภูเขาหัวโล้น แห้งแล้ง และกันดาร ซึ่งได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้ โดยมีพันธสัญญาว่า จะต้องดูแล อนุรักษ์ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่นี้ให้ได้

 


          “ในเมื่อภูเขามันไม่มีต้นไม้ เราก็ปลูก ปลูกไปเรื่อยๆ เป็นร้อย เป็นพันไร่ จากวันแรกที่เราเห็นมีต้นไม้แค่ต้นเดียว มันก็ค่อยๆ โต แต่พอถึงหน้าแล้ง ไฟป่ามาครั้งหนึ่ง ก็เผากันไปหมด ปลูกเท่าไหร่ก็โดนเผา" บวรกล่าว และบอกว่า พนักงานของโรงงานปูนซิเมนต์ ลำปาง รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่ากว่า 8,500 ไร่ที่นี่ ต่างก็เคยรู้สึกท้อใจกับการพยายามคืนพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดลำปาง แนวทางการฟื้นฟูป่าที่ปฏิบัติกันมายาวนาน ไม่ต่างจากการวิ่งไล่แก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้เกิดจากการศึกษา และมองหาต้นกำเนิดแห่งปัญหาที่แท้จริง


          “พอมาถึงปี พ.ศ.2546 ที่พวกเรามีโอกาสได้เข้าไปศึกษางานฝายชะลอน้ำ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากกระราชดำริ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เราก็ลองมาปรับใช้กับแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ และได้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป 3-4 ปี ฝายที่ทำมาเยอะๆ เริ่มทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นดินในบริเวณป่าที่เราพยายามปลูกกันมาหลายสิบปี วันนี้ เราเห็นความชุ่มชื้นในผืนดิน ฝายที่สร้างมาแล้ว เป็นเครื่องมือธรรมชาติ ที่ใช้ในการกักเก็บความชื้น ชะลอการไหลบ่าของน้ำในฤดูน้ำหลาก ในดินมีน้ำมากขึ้น แล้วสีเขียวของต้นไม้มันก็เพิ่มขึ้น เป็นไปตามความมุ่งหวัง และแนวทางที่เรายึดปฏิบัติและทำกันมานาน" 

 


          “ปัญหาของชาวบ้าน ก็คงหนีไม่พ้น เรื่องน้ำแล้ง น้ำเกิน เราไม่รู้จะจัดการแก้ไขอย่างไร ก็ใช้วิธีขุดบ่อเก็บน้ำไว้ แต่ถ้าฝนไม่ตก ก็ไม่มีน้ำจะเก็บ หน้าแล้งก็ทำนา ปลูกพืชกันไม่ได้ หมู่บ้านที่ประสบปัญหาก็พยายามไปของบประมาณจากภาครัฐมาลง ปีละหลายร้อยล้านบาทมันก็ไม่ไหว สุดท้ายแล้ว เราเดินทางไปที่ห้วยฮ่องไคร้ กับ เอสซีจี เพื่อไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการทำฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยในช่วงแรกๆ หลายคนในชุมชนก็ยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งมีกลุ่มเด็กๆ ในโรงเรียน อยากจะทำฝายเล็กๆ ของพวกเขา เริ่มจากในโรงเรียน 20 ฝาย ไปช่วยกันทำหลังเลิกเรียน เรียกว่า เราเริ่มขับเคลื่อนจากกลุ่มเด็ก ให้ผู้ใหญ่ได้เห็นภาพ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่ค่อยๆ มีน้ำ มีต้นไม้ มีป่า"  ร.ต.ชัย วงศ์ตระกูล ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง และเลขาเครือข่ายลุ่มน้ำจาง เล่าเรื่องราวที่นำไปสู่ความสำเร็จของชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากการน้อมนำแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ชุมชน

 


          เรื่องราวความสำเร็จของการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณโรงงานปูนซิเมนต์ จังหวัดลำปาง ได้กลายเป็นกรณีศึกษาตั้งต้นของการน้อมนำแนวพระราชดำริ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ โดยผ่านการลองผิดลองถูก จนถึงวันนี้ที่เรื่องราวได้ถูกบอกต่อ ขยายผล สู่ชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานจังหวัดลำปาง ได้ทดลองนำไปปรับใช้ เพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่ของชุมชน ที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชน และความมั่นคงทางสังคมของชาวบ้านอีกหลายร้อยครัวเรือน


          “เป้าหมายของโครงการอนุรักษ์น้ำ และการปลูกป่าของเอสซีจีประการหนึ่ง คือการที่เราต้องวางตัวเพื่อเป็นพี่เลี้ยงของชุมชน เราเป็นคนริเริ่ม เราทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์เห็นผลแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง และให้ชุมชนลงมือทำ ขับเคลื่อนผ่านกลุ่มผู้นำชุมชน”  บวร ในฐานะผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติของเอสซีจี กล่าวทิ้งท้าย

 


          สำหรับโครงการ “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรก ได้นำแกนนำจากชุมชนและตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่ารอบโรงงานปูนซิเมนต์ ลำปาง และป่าของชุมชนโดยรอบโรงงาน อันเป็นผลมาจากการสร้างฝายชะลอน้ำ พร้อมทั้งได้ลงมือสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อนำประสบการณ์จริงและความรู้ที่ได้รับกลับไปใช้แก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในชุมชนของตนเอง และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สมาชิกในชุมชนของตนเองได้

 


          นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปศึกษาต้นกำเนิดของฝายชะลอน้ำ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ให้เกียรติร่วมบรรยายเรื่องราวเส้นทางทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดแนวพระราชดำริ และพระราชปณิธานจากพ่อของแผ่นดิน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำกลับไปสานต่อในพื้นที่ของตนเองในระยะที่ 2 ต่อไป

 


          ภายใต้พันธสัญญา โรงงานอยู่ที่ไหน ป่าไม้เขียวที่นั่น เป็นการสานต่อแนวทางพระราชดำริ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อรักษาและต่อลมหายใจให้กับพื้นที่ป่าของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

[อ่าน 1,838]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยูโอบี จับมือ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล เดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไทย-อาเซียน
NetApp แต่งตั้ง แอนเจลีน ลิม ผู้นำคนใหม่ประจำภูมิภาคอาเซียน ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ก้าวต่อไปในความสำเร็จ
“จระเข้” คว้า Asia Responsible Enterprise Awards 2025 ตอกย้ำผู้นำก่อสร้างสีเขียว
ฮอนด้ายกทัพรถ xEV จัดโปรแรงทั่วประเทศ รับ FAST Auto Show 2025 ยาวถึง ส.ค. นี้
เปิดฉาก “FAST AUTO SHOW 2025” ดันยอดขายรถใหม่-มือสอง คึกคักกลางปี ที่ไบเทค 2-6 ก.ค.2568
อีซูซุ ยกทัพ “ดีแมคซ์” จัดโปรแรงในงาน FAST AUTO SHOW 2025 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Trusted Buddy”
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved