พล อมรพล & แอ๋ม ธมลวรรณ ผู้ปั้นผ้าส่วนเกินให้เป็น moreloop
28 Nov 2021

 

เชื่อว่า วงการสิ่งทอล้วนต้องเจ็บหนักกับสต็อกผ้าปลายไม้ หรือสต็อกผ้าส่วนเกินที่อาจใช้อะไรไม่ได้ จนกลายเป็นเศษวัสดุที่น่าช้ำใจมาก แต่สำหรับสตาร์ทอัพอย่าง moreloop

ที่ก่อตั้งโดย 'พล' อมรพล หุวะนันทน์ และ 'แอ๋ม' ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ นั้นกลับมองเห็นคุณค่าของสต็อกผ้าเหล่านี้ แล้วหาทางเพิ่มมูลค่า เพื่อให้ผ้าเหล่านี้มีชีวิตมาอีกครั้งตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สมกับชื่อ moreloop ของตนเอง

คำตอบของหนุ่มสาวผู้ก่อตั้งทั้งสองที่อยู่กับกองผ้าเหล่านี้ล้วนบอกนัยของการมอง Pain Point ของธุรกิจที่มีแล้วหาทางก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ เราจะเห็นโอกาสจากวิกฤติ หรือโอกาสจากปัญหาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะโอกาสที่มาจากสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล หรือ ESG

 

 

Inspirationของ moreloop ได้มาอย่างไร หรือเห็นธุรกิจลักษณะเดียวกันในต่างประเทศมาก่อน

[[พล]] Inspiration ของผมเองมาจากการนำกลไกทางการตลาดมาพลิกมุมมองมากกว่า และทำให้เรามองสิ่งที่ใครคิดว่าเป็น 'ขยะ' เป็น 'ทรัพยากร' มันไม่ใช่ Trash แต่เป็น Treasure เพราะเราสามารถนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้ใหม่ได้ หรือทำให้มันเกิดใหม่ได้ ด้วยการนำของเหลือหรือวัสดุในอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปทำตลาดบนออนไลน์ เพื่อให้คนที่มีวัสดุเหลือและคนที่มีความต้องการมาเจอกัน  ทำให้เกิดเป็นการหมุนเวียนของเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ ลดการผลิตใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่การที่ตลาดผ้าส่วนเกินก่อน นั่นเพราะคุณแอ๋มมี Pain Point ของผ้าส่วนเกิน (Dead Stock) ที่ติดค้างในโรงงานของตัวเอง

[[แอ๋ม]] ในมุมของแอ๋ม Inspiration มาจากการที่เราเสียดายวัตถุดิบ เนื่องจากมันได้มายากและมีราคา ดังนั้น จึงไม่ควรถูกลดคุณค่า หรือถูกทำให้ด้อยคุณค่าเร็วขนาดนี้ นี่จึงเป็น Pain Point ของเราที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมจริงๆ ที่สำคัญ สต็อกผ้าเหล่านี้ไม่ใช่ขยะ ผ้าส่วนใหญ่ยังอยู่ในลักษณะที่สมบูรณ์มาก ดังนั้น วัตถุดิบเหล่านี้จึงควรถูกใช้งานในรูปแบบที่มันควรจะเป็นให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะถูกนำไปแปรรูป (Recycled) หรือถูกทิ้ง หรือถูกทำลาย

สำหรับธุรกิจในลักษณะเดียวกับเรานี้ เราเพิ่งมาทราบภายหลังจากดำเนินกิจการ moreloop ได้ปีกว่าๆ ว่าในต่างประเทศก็มีแนวคิดในการทำแพลตฟอร์ม เพื่อซื้อขายผ้าส่วนเกิน (Dead Stock) เช่นกัน แต่ก็ไม่เหมือนกับลักษณะการทำกิจกรรมแบบ moreloop เสียทีเดียว เนื่องจากเมืองนอกจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือ

            1) ขายผ้าให้รายย่อยเป็นวัตถุดิบ

            2) นำผ้ามาทำเป็นแบรนด์ เพื่อขายแบบB2C ของตัวเอง

แต่ moreloop นอกจากโมเดลนี้แล้ว เรายังมีโมเดลในการช่วยองค์กรต่างๆ เพื่อผลิตสินค้าจากผ้า พร้อมทั้งจับคู่ความต้องการกับผ้าบนระบบและการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปให้กับองค์กรนั้นๆ เลย เป็นการเพิ่มการบริการในการผลิตแบบ B2B ซึ่งเท่าที่ศึกษาจะมีแค่ moreloop ราเดียวที่สามารถทำได้ ณ ปัจจุบัน และเรามีผ้าจากหลากหลายโรงงานมากกว่า เนื่องจากประเทศเราเป็นประเทศผู้ผลิต

 

 

คิดว่า การเป็นสตาร์ทอัพแค่มองปัญหาจากตัวเองก็พอหรือเปล่า ไม่ต้องยิ่งใหญ่ขนาดแก้ปัญหาให้สังคมหรือแก้โลกร้อน

[[แอ๋ม]] ใช่ จุดเริ่มต้นมาจาก Pain Point ส่วนตัว ของโรงงานตัวเอง ความเสียดายและยังเห็นคุณค่าของวัตถุดิบดีๆ เหล่านี้ ณ ตอนเริ่มต้น เราไม่ได้มองอะไรยิ่งใหญ่ถึงขนาดจะเป็นการแก้ปัญหาของโลกใบนี้ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ ได้พูดคุยกับโรงงานอื่นๆ ก็พบว่าต่างก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ส่วนตัวจึงคิดว่า นี่เราไม่ได้ติดกับดักของ Pain Point ของตัวเราเอง เพราะเราไม่ได้มอง Pain Point แค่ของตัวเองแล้ว แต่เรามองในมุมของอุตสาหกรรม ยิ่งเห็นผลกระทบเยอะ พวกเรายิ่งต้องคิดเยอะ

[[พล]] ปัจจุบัน moreloop มีโรงงานกว่า 70 แห่งทั่วประเทศไทยที่ส่ง Database ของผ้าส่วนเกินมาฝากขึ้นระบบ เราก็จะต้องมองภาพรวม เพื่อให้ต้องตอบโจทย์ในแง่การบริหารจัดการ และการหารายได้ รวมทั้งการหาจุดที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมๆ กัน โดยเรามีทีมงานเข้าใจอุตสาหกรรมนี้ และยังได้รับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมากมาย

[[แอ๋ม]] เราตั้งใจทำให้วิธีการทำงานของ moreloop มีความกลมกล่อม ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งเพื่อแก้ปัญหา แต่เราตั้งใจทำ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกันได้แบบอุตสาหกรรมในภาพรวมได้จริงๆ

[[พล]]อีกปัญหาที่เราอยากแก้ด้วย คือ ปัญหาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่าการมองทรัพยากรเป็นขยะอย่างรวดเร็ว ทำให้มีทั้งการผลิตที่เยอะมากเกินไปและทิ้งมากเกินไป

สิ่งที่ moreloop เปลี่ยนมุมมองของอุตสาหกรรม คือ 'ขยะ (สามารถ) เป็นทรัพยากร' ได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างเป็นธุรกิจที่ขยายตัวและเติบโตได้จริงๆ อีกด้วย แล้ว Co-founder ของเรามี Pain Point ที่มาจากคนละมุมทั้งที่เป็น 'ภาพเล็ก' ของปัญหา คือ ในมุมของ 'ผ้าเหลือ' และมุมที่เป็น 'ภาพใหญ่' ของปัญหา คือ ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม หากว่าไม่มีการบริหารจัดการกับสต็อกผ้าเหล่านี้อย่างไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม

เรามองว่า บริษัทหนึ่งสามารถแก้หลายๆ ปัญหาได้พร้อมกัน Pain Point ที่มี อาจมีทั้งแบบภาพเล็ก ภาพใหญ่ ตลอดจนความพยายามที่จะทดลองแก้ปัญหาหลายๆ แนวทาง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและต้องยอมรับให้ได้นั่นคือหากแนวทางอะไรก็ตามที่ทดลองแล้วทำไม่ได้ก็ลองหาแนวทางอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้สามารตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจและตอบโจทย์ความต้องการทางสังคมที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น'

 

           

ระหว่าง moreloop กับพันธมิตรต่างๆ เรามองปลายทางของความร่วมมือที่อะไร

[[แอ๋ม]]  เราคิดว่า ความร่วมมือกันนั้นสามารถมองได้หลากหลายมิติมาก แต่แนวทางที่ควรจะเป็น คือ ใครถนัดส่วนไหน หรือเชื่อมโยงจุดไหนได้ก็ทำ เช่น กลุ่มองค์กรที่อาจจะไม่ได้ดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ตระหนักรู้แล้วก็สามารถมาเป็นลูกค้าของพวกเราได้มาร่วมกัน ใช้ผ้าส่วนเกินแทนการผลิตผ้าใหม่ทุกๆสินค้าที่พวกเราทำออกไปก็เท่ากับว่า ได้ร่วมกันขับเคลื่อน และสื่อสารเรื่อง 'เศรษฐกิจหมุนเวียน' แล้ว

ส่วนองค์กรภาครัฐหรือหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วก็สนับสนุนกันในแง่การสื่อสาร,การช่วยกันหาทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือการสนับสนุนทุนการวิจัยต่างๆ ฯลฯ

เราไม่อยากขีดวงหรือจำกัดขอบเขตของ 'ความร่วมมือ' เพราะเราเองก็มีศักยภาพตามกำลัง แต่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าร่วมมือกันก็ล้วนแต่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างมากกว่าอย่างแน่นอน และเราต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ในทุกๆ มิติที่เราสารถทำได้ด้วย

 

คิดว่า ปลายทางของ moreloop จะจบที่การขายผ้าเหลือจากโรงงานเท่านั้น หรือต่อยอดไปสู่ของเสียประเภทอื่นๆ มา Upcycling เพิ่มเติม ฯลฯ

[[พล]] ผมมองว่า โอกาสของ moreloop นั้นกว้างมากๆ ผ้าเป็นเพียงวัตถุดิบหนึ่งเท่านั้นที่เราศึกษา และคิดว่าสามารถทดลองทำได้ แน่นอนว่า เรายังมองวัตถุดิบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่อาจจะเริ่มจากวัตถุดิบอื่นๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอก่อน เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและขยายจากฐานลูกค้าเดิมได้ เช่น Accessories, เส้นด้าย, หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ฯลฯ  แต่ในอนาคตวัตถุดิบอื่นๆ นอกอุตสาหกรรมนี้ก็น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งพวกเรายังต้องศึกษาแนวทางกันต่อไป แน่นอนว่า เราไม่ปิดโอกาสในการหมุนเวียนขยะจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างแน่นอน

 

 

งานอะไรที่ moreloop ทำแล้วรู้สึกภูมิใจที่สุดว่า เราได้ร่วมสร้าง Sustainable Economyให้กับโลกใบนี้

[[แอ๋ม]] จริงๆ ก็ทุกงานที่ทำให้เรามีความภาคภูมิใจ สุขใจ เพราะลูกค้าเองก็ยอมใช้เวลากับเราและยอมปรับอะไรๆ หลายอย่างให้แต่ละงานออกมาสำเร็จได้ แต่ถ้าที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คงเป็นงานเสื้อยูนิฟอร์มหลายพันตัวที่ทำร่วมกับ 'อลิอันซ์ อยุธยา' เพราะปกติแล้วเสื้อยูนิฟอร์มจะมีกรอบคิดที่ว่า ทุกคนต้องใส่เหมือนกันมาครอบไว้ เป็น Mindset ที่เปลี่ยนแปลงยาก แต่งานนี้ลูกค้ายอมให้ใช้ผ้าหลากสีหลายเฉด ลักษณะการทอผ้าหรือเส้นใยอยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกัน ทำให้เราสามารถรวบรวมจำนวนผ้าส่วนเกินมาจากหลากหลายโรงงานได้เลย และกำลังจะมีออร์เดอร์ซ้ำ (Repeat Order) เพราะผลการตอบรับดี พนักงานในองค์กรเข้าใจ

ที่สำคัญ ในการทำงานครั้งนี้เสมือนพวกเราได้สื่อสารถึงคนหลายพันคนในคราวเดียวด้วย จึงประทับใจที่ลูกค้ายอมปรับแนวคิดการทำสินค้าในรูปแบบเก่าๆ มาสร้างสรรค์ไปพร้อมกันกับ moreloop

เราเลยมี hashtag ให้งานนี้ว่า #TheMostUnniformedUniform ซึ่งเราเองก็มักจะได้รับคำถามจากคนอื่นที่รู้เรื่องราวว่า องค์กรของลูกค้ายอมด้วยหรือ อะไรทำนองนี้ ดังนั้น งานนี้จึงเป็นงานที่พวกเรามองว่า  มันเจ๋งมากๆ"

[[พล]] ผมชอบเวลาเห็นลูกค้าผ้าของเราส่งผลงานมาให้เราดูว่า เขานำผ้าเราไปผลิตเป็นสินค้าอะไรบ้าง เวลาเห็นแล้วทึ่งมากๆ บางทีเราก็อุดหนุนลูกค้าเราเองนี่แหละ เพราะของเขาสวยจริงๆ

 

คิดว่า การมุ่งสู่ เศรษฐกิจแห่งความยั่งยืน อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของ moreloop และของสังคมไทย

[[แอ๋ม]] ในมุมของผู้บริโภค เรื่องเหล่านี้ก็ยังรับรู้ในวงจำกัด ความเข้าใจความต่างของ Linear Economy (เศรษฐกิจเส้นตรง) กับ Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) นับว่ายังน้อยและค่อนมาทางทฤษฎี ซึ่งบางทีทำให้ดูเข้าใจยากหรือทำได้ยาก แต่ปัจจุบันก็มีหลายผู้ประกอบการรุ่นใหม่นำแนวคิดมาพัฒนาธุรกิจแล้ว คิดว่าน่าจะดีขึ้น

การสนับสนุนแบบรูปธรรมของภาครัฐก็เป็นอีกอย่างที่จะขับเคลื่อนขนาดใหญ่ได้ อย่างประเทศในยุโรปหรือประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆประเทศที่จะมีข้อกำหนดเลยว่า องค์กรจะต้องมีสัดส่วนของความยั่งยืน (Sustainable) เท่าไร อย่างไร อีกทั้งสามารถวัดผลได้ มีการ Commit ในการดำเนินการด้วย ไม่ได้ทำแต่ CSR เพียงอย่างเดียว

 

จากการดำเนินงานทั้งหมดของ moreloop พอจะชี้วัดได้หรือไม่ว่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปเท่าไร และเรามีเป้าหมายอะไรหรือไม่ 

[[พล]]  ปัจจุบัน moreloop ได้หมุนเวียนทรัพยากรผ้าเหล่านี้ไปกว่า 28 ตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 420,000 กิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่าระยะทางขับรถกว่า 100 รอบโลก อันเนื่องมาจากการไม่ผลิตผ้าใหม่ ซึ่งตลาดของเรามีผ้ากว่า 3,500 ชนิด ซึ่งรวบรวบและคัดแยกผ้าส่วนเกินเหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนระบบมากกว่า 850,000 หลา

ส่วนเป้าหมายของเรา คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,000,000 กิโลกรัม

[[แอ๋ม]]  เราอยากฝากให้ผู้คนมากดไลค์ กดแชร์ สนับสนุนพวกเรา บอกต่อเรื่องราวของพวกเรา เพราะในเวทีระดับโลก เราก็ได้รับรางวัล Seed Awards - Low Carbon Winner 2021 ซึ่งแข่งกันทั่วโลกเลย ต่างชาติก็ให้ความสนใจกับโมเดลธุรกิจของเรา และสิ่งที่พวกเราทำพอสมควร เราก็อยากให้คนไทยสนับสนุนไอเดียธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ของพวกเราด้วย

[อ่าน 4,200]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved