ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเร่งการเปลี่ยนแปลงขึ้นแก่ชีวิตประจำวัน ของทุกคน ทั้งการใช้ชีวิต แบบ New Normal หรือการเร่งเข้าสู่ Digital Age เร็วขึ้น นอกจากนี้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอ โรคระบาด หรือ ปัญหาขยะ และมลพิษ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเชื่อมโยง และส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมโลก และระบบเศรษฐกิจ แนวคิดการปรับสมดุลเพื่อสร้างความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
แต่เดิมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการตอบสนองการบริโภคนั้น มีการใช้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือ การนำทรัพยากรมาใช้ให้ได้มากที่สุดเพื่อผลิตสินค้าและบริการให้ได้สูงสุด หรือการผลิต ใช้ แล้วทิ้ง (Make Use Dispose) ทำให้ของเหลือใช้และสินค้าที่ไม่ใช้แล้วถูกทิ้งเป็นขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้จึงนำมาสู่การสร้างสมดุลด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดอัตราการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม ซึ่งแนวคิดนี้กลายเป็นวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ไว้ 17 เป้าหมาย และกลายเป็นแนวทางร่วมกันของเกือบทุกประเทศทั่วโลกในการใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ
SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ได้แก่ ขจัดความยากจน (SDG1) ขจัดความหิวโหย (SDG2) สุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี (SDG3) คุณภาพทางการศึกษา (SDG4) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG5) น้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี (SDG6) พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน (SDG7) การงานที่เหมาะสมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (SDG8) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (SDG9) ลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG11) การผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (SDG12) รับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (SDG13) การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล (SDG14) การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ระบบนิเวศทางบก (SDG15) ส่งเสริมสันติภาพ ความยุติธรรม (SDG16) และความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (SDG17)
ที่มา : https://www.npc-se.co.th
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ภาพวัฏจักรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ จาก https://www.levinsources.com
ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้น มีการนำรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ตั้งแต่การออกแบบที่เป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต เพราะการออกแบบที่มีความยั่งยืน (Sustainable Design) นั้น เป็นการออกแบบที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าด้วยการลดการใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไปให้น้อยที่สุด คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้เพชรพลอยจากแหล่งที่มีจริยธรรม มีกระบวนการผลิตที่เน้นควบคุมการสูญเสียทั้งด้านพลังงานและการเกิดของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ให้น้อยที่สุด บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุเป็นมิตรกับธรรมชาติ และสินค้าขั้นสุดท้ายที่สามารถนำกลับมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบใหม่ได้ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเครื่องประดับแบรนด์ดังระดับโลกหลายรายที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางนี้
แบรนด์เครื่องประดับคริสตัลชั้นนำของโลกจากออสเตรียรายนี้ เน้นการทำธุรกิจที่เป็นธรรมไม่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กระทั่งเป็นหลัก 4P คือ
แบรนด์เครื่องประดับชั้นนำระดับโลกจากเดนมาร์กที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก มีการกำหนดแนวนโยบายการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ มีแนวทางใน 6 ประเด็น คือ
นอกจากแบรนด์ดังระดับโลกดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว แม้แต่เว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Etsy ก็เป็นอีกแหล่งใหญ่ที่วางขายเครื่องประดับที่ใช้วัสดุรีไซเคิล หรือเครื่องประดับที่ใช้แนวทางความยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์แห่งแรกที่ใช้มาตรการ Carbon Offset (การนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ไปหักลบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในธุรกิจ เพื่อทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นให้เป็น 0) สำหรับการขนส่งสินค้าทุกชิ้นที่จำหน่ายในเว็บไซต์ โดยมีข้อมูลว่ากว่า 60% ผู้ซื้อค้นหาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใน Etsy
ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ Etsy
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งการจะทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนการบริโภคอย่างฟุ้งเฟ้อไปสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน เพราะหากทรัพยากรในโลกหมดลง เราคงไม่สามารถหาโลกใบที่สองมาใช้แทนได้
ดังที่อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) บัน คี มูน เคยกล่าวเพื่อสร้างความตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรไว้ว่า “We don’t have plan B because there is no planet B”
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความจาก MarketPlus Magazine On December 2021 Issue 141