'ทางเลือก ทางรอดประเทศไทย' ในมุม Exponential Winner 'จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา' ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Bitkub
01 Feb 2022

 

ทิศทางของระบบเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ควรจะต้องเป็นอย่างไร นับจากนี้ 'อะไรคือทางเลือก อะไรคือทางรอด' สำหรับประเทศไทย 'ท็อป' จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ Bitkub ได้เปิดมุมมองของตนเอง กับ สัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2564 จัดโดย สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ 'ทางรอด 2022 Survival Guide'  

  

คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในมุมมองของจิรายุส ปัญหาที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับความยากจน และการเข้าถึง เข้าใจเทคโนโลยีของผู้คนต่างหากที่จะทำให้ช่องว่างในระบบเศรษฐกิจ ถูกถ่างออกไปอย่างต่อเนื่อง และถูกถ่างออกไปในอัตรายกกำลังด้วย

 

"โลกเราน่าอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสองคำที่ต้องแยกแยะ ระหว่าง Absolute Poverty[1] (ความยากจนสัมบูรณ์) กับ Relative Poverty[2] (ความยากจนเชิงสัมพัทธ์) สำหรับ Absolute Poverty นั้นเนื่องจากมนุษย์เราสามารถสร้างสิ่งต่างๆ มาเสริมสิ่งที่ขาดแคลนให้ลดลงไปเรื่อยๆ นี่จึงทำให้ปัญหาในส่วนนี้ลดลงไป เช่น เมื่อมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารก็มีการผลิตอาหารเพิ่มขึ้น หรือเมื่อประเมินกันว่า น้ำจะขาดแคลน ปัจจุบันมนุษย์ก็สามารถสกัดน้ำจากอากาศได้แล้ว หรือกรณีของการเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ มนุษย์ก็สร้างระบบการเตือนภัยขึ้นมา หรือแม้แต่การพัฒนาทางการแพทย์ เช่น สเต็มเซลล์ การเปลี่ยนอวัยวะ ฯลฯ ที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น หรือแม้แต่การมี BioBank เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ฯลฯ

 

ทว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมากและหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ คือ Relative Poverty

ขณะที่จะมีกลุ่มคนที่เข้าถึง เข้าใจเทคโนโลยีจะเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Exponential Winner  

ส่วนคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ได้ก็จะเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Exponential Looser

 

นั่นหมายถึงว่า คนที่ดีก็จะดีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนที่ไม่ดีก็จะไม่ดีอย่างมาก กลายเป็นช่องว่างที่ทิ้งห่างกัน และถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ยกตัวอย่างเช่น คนสูงอายุที่ไม่มี AQ[3] (ความฉลาดในการแก้ปัญหา) มีความสามารถที่จะ Unlearn สิ่งเก่าและ Relearn สิ่งใหม่ คนกลุ่มนี้ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เราจะต้องโฟกัสอีกก็คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่หายไป ตลอดจนช่องว่างต่างๆ ที่หายไปนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเติมเต็มช่องว่าง หรือก้าวข้ามช่องว่างเหล่านี้ไปให้ได้"  

 

ไทย 'มีดี' ที่ไม่รู้ว่า 'มี'

สำหรับประเทศไทย 'มีดี' อย่างที่คนในประเทศเองก็ไม่รู้ว่าเรา 'มี' ซึ่งประเด็นนี้ จิรายุสมองว่า น่าจะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็น Destination Hub ของคนกลุ่มใหม่ว่า

"ประเทศไทยเรามี Hidden Gem แต่เราไม่รู้ว่าเรามี ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ประเทศใดที่น่าอยู่สำหรับการทำงาน โดยพิจารณาจากตัวแปร อาทิ การวิเคราะห์ระยะเวลาของแสงแดดต่อวัน, คุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ต WiFi ฯลฯ ปรากฏว่า เมืองที่น่าอยู่สำหรับการทำงานไม่ใช่ปารีส หรือลอนดอน แต่เป็นกรุงเทพฯ

ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นเทรนด์แล้วว่า เป็นอินเทอร์เน็ตจากท้องฟ้า (Internet from The Sky) การทำงานก็เป็นแบบ Cloud Base Application ทำให้ธุรกิจต่างๆ ไม่ต้องลงทุนหนักก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาสได้ อย่างเช่น เราแค่สมัครสมาชิกแบบรายเดือนก็สามารถเข้าถึง Netflix ได้ และช่วยให้เราสามารถทำงานอย่างชาญฉลาดมากขึ้นด้วย  ซึ่งหมายความว่า ต่อไปพนักงานในองค์กร จะสามารถเปลี่ยนตนเองเป็น Nano-Entrepreneur ได้

 

ตัวอย่างของ Nano-Entrepreneur เช่น ถ้าพนักงานหนึ่งคนสามารถให้บริการลูกค้าได้ 500 บริษัทในเวลาเดียวกัน เช่น ออกแบบแบนเนอร์ให้ลูกค้า 5 ดอลลาร์ที่อเมริกาภายใน 10  นาที แล้วทำให้ลูกค้าอีกที่ที่อินเดีย แล้วชาร์จแค่รายละ 5 ดอลลาร์เหมือนกัน ซึ่งเราเรียกว่า เป็นการทำงานแบบ Nano Contract ขณะที่แต่ก่อนเรื่องแบบนี้ เราทำไม่ได้ เพราะการโอนเงินข้ามประเทศเพียง 5 ดอลลาร์นั้นจะมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินสูง แต่เมื่อมีจนกระทั่งมีสกุลเงินดิจิทัล (Digital Curency) ก็ทำให้คนสามารถโอนเงิน Micro Payment มูลค่าน้อยๆ ทำนองนี้ข้ามประเทศได้

 

เมื่อมีการทำธุรกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้ ก็จะมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย ซึ่งนี่คือเทรนด์ Nano-Entrepreneur ที่ประเทศไทยควรจะเจาะโอกาสสำหรับการสร้างความมั่งคั่งใหม่ๆ หรือ New Weath เพราะในอนาคต New Weath ไม่ใช่ตลาดทางการเงิน แต่เป็นโอกาสของ Nano-Entrepreneur ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาสเช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ที่มีได้ ผมมองว่า จากการที่เรายังมี Hidden Gem อื่นๆ อีก เราจึงควรที่จะเปลี่ยนประเทศไทยเป็น Nano-Entrepreneur Hub บวกกับการให้คนวัยเกษียณมาใช้ชีวิตในประเทศไทยได้ เนื่องจากประเทศไทยมีจุดเด่นที่ใครก็อยากมาอยู่ที่นี่ ดังนั้นเมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามา 8,800 ล้านไอเดียจะไม่ได้เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่จะเกิดขึ้นในประทศไทยมากที่สุด"

 

 

'เงินเฟ้อ' ดีกว่า 'เงินฝืด'

"ในส่วนของ Inflation (เงินเฟ้อ) ที่ควรจะต้องให้ความสำคัญนั้น ผมมองว่า การที่ Relative Poverty ขยับตัวในอัตรายกกำลัง (Exponential) อีกทั้ง Digital Divide[4](การแบ่งแยกทางดิจิทัล)ที่มากขึ้นทุกทีๆ นั่นแปลว่า คนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็สามารถที่จะคิดค้น อะไรก็ตาม ที่มีผลิตภาพ (Productivity) ที่ก้าวกระโดด

เพราะโลกเราพัฒนาในอัตรายกกำลัง ไม่ใช่แบบเส้นตรง (Linear)

แต่ถ้าเลยจุด Inflection Point (จุดเปลี่ยนความเว้า)

หลังโควิด-19 มันก็จะหักหัวขึ้นเลยในอัตรายกกำลัง

เพราะ1 input = 10,  2 input = 100

นั่นคือถ้ามี Productivity จำนวนมากๆ แม้เงินเฟ้อจะสูงก็ยังไม่เป็นไร

ถ้า Productivity จำนวนมากๆ แต่เงินออกมาไม่พอนั่นละที่จะเป็น Deflation (เงินฝืด) ด้วยซ้ำ

แต่ผมกลับไม่ได้มองว่า นี่คือปัญหาขนาดนั้นด้วยซ้ำ เพราะเราอยู่ในยุคของ Productivity เราสามารถผลิตสิ่งของได้มาก แต่ใช้ Input ที่น้อยลง เพราะเทคโนโลยียุคใหม่มันเป็น Hack และเป็นความมหัศจรรย์ของทุกยุคทุกสมัย เหมือนการจัดเสวนาบนออนไลน์คนฟัง 500 คนกับคนฟัง 5 ล้านคน ต้นทุนก็ไม่ต่างกัน แต่หากจัดให้คนเข้ามาฟังในสถานที่จริงก็ต้องขายบัตร ขยายห้อง ต้นทุนก็จะแตกต่างกัน"

 

กฎของเกมเปลี่ยนทุกสิบปี

"นับจากนี้ Physical Economy จะเล็กลงเรื่อยๆ แต่ Digital Economy จะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และไร้พรมแดน (Borderless) ประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือ Internet Nation เพราะทุกคนใช้ชีวิตบนออนไลน์และบนโลกเสมือนกันแล้ว ทุกสิบปีก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาที่จะเข้ามาเปลี่ยนกฎของเกมให้สิ่งที่ไม่เคยทำได้ให้สามารถทำได้

ทั้งโลกธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยีที่ออกมาใหม่ นั่นคือ Productivity Hack ที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ โดยที่ไม่มี Input แล้วก็จะมีโมเดลทางธุรกิจ (Business Model) ใหม่ๆ ออกมา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเราจะแชร์รถกับคนแปลกหน้า หรือแชร์บ้านกับคนแปลกหน้า คนก็บอกว่านี่เป็นไอเดียบ้าๆ แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็น Grab, Uber, AirBnB ฉะนั้น ในอีกสิบปีข้างหน้าเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะมาพร้อมกันหมดทั้ง AR, VR, Blockchain, Internet from The Sky, Internet of Things (IoT), 3D Printing ฯลฯ

นี่คือการที่โลกของเราเดินมาถึงจุดที่กำลังหักหัวขึ้นสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

นี่จะทำให้ Digital Divide มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่จะใช้เทคโนโลยีได้ก็สามารถที่จะมาทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

แล้วก็จะมี Business Model ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนโลกธุรกิจ

 

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญจึงไม่ใช่ IQ หรือ EQ แต่เป็น AQ มีความสามารถที่จะ Unlearn สิ่งเก่าและ Relearn สิ่งใหม่ เพราะถ้าเราอยากจะชนะเกม เราต้องเปิดใจศึกษากฎแต่ละข้อของเกมใหม่ จากนั้นก็ Relearn ทักษะชุดใหม่, Restrategy เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ เพราะในอีกสิบปีข้างหน้า โลกจะก้าวกระโดดพอดี ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากและเปลี่ยนสมมติฐาน (Assumption) ที่เยอะมาก ถ้าประเทศไทยมีนโยบายที่ถูกต้อง เราอาจจะสามารถแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเมื่อ 50 ปีก่อนให้ถูกต้องเลยก็ได้ (Correct the Mistakes)"

 

5-Layer ของธุรกิจ

จิรายุส กล่าวถึง พัฒนาการของการดำเนินธุรกิจในยุคต่างๆ ทั้งระบบเศรษฐกิจ เก่า - ใหม่ ที่มีด้วยกัน  5-Layer นั่นคือ

1) Content Business ประเทศไทยผ่าน Layer นี้มาแล้ว เป็นยุคของคอนเทนต์ที่มีความสำคัญ และพิสูจน์ได้จากความฮอตของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ในสมัยก่อนที่ผู้มีเงินก็ซื้อโฆษณาหน้า 1 ไทยรัฐไม่ได้ แต่เมื่อมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาก็เปลี่ยนกฎของเกม

"ทุกครั้งที่เทคโนโลยีมา จะเปลี่ยนกฎของเกม ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น (Marginal Cost) เป็นศูนย์ นี่เท่ากับเป็นการแข่งขันโดยสมบูรณ์ เราจึงไม่ควรทำธุรกิจใน Layer ที่หนึ่งแล้ว" จิรายุส กล่าว

 

2) Product & Services ใน Layer นี้นี่เองที่เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยติดอยู่กับกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สังเกตได้จากบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยล้วนอยู่ในกลุ่มนี้ ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ในอเมริกาเมื่อ 10-20 ปีก่อนไม่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้แล้ว

 

3) Platform Business บริษัทแพลตฟอร์มสื่อที่ใหญ่ที่สุดคือ Facebook โดยที่แพลตฟอร์มไม่ต้องมีบรรณาธิการและคอนเทนต์เป็นของตนเอง หรือ Uber, Grab เป็นอู่รถแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องมีรถแท็กซี่เป็นของตนเอง หรือ AirBnB เป็นบริษัทอสังหาฯที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งที่ไม่มีโรงแรมเป็นของตนเอง

 

นั่นแปลว่า ต่อไปสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ สถาบันการเงินที่ไม่ต้องมีเงินเป็นของตนเอง แล้วสิ่งที่มีพลานุภาพมากกว่า 2 กลุ่มคือ Network Effect หมายถึง คนที่ตัวใหญ่ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กับการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale)

 

ยกตัวอย่างเช่น Amazon บริษัทเดียวมีขนาดใหญ่กว่าบริษัทอีคอมเมิร์ซหลายแห่งที่เหลือในอเมริการวมกัน หรือ Alibaba ซึ่งเป็น Monopoly Winner ของจีน ขนาด Amazon ยังต้องถอยทัพ หรือ Lazada ทำไมต้องอัดเงินปีละ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี นั่นเพราะเรายังไม่รู้ว่า ใครจะเป็นผู้ชนะ

เพราะนี่คือ  Winners Take All Market (ผู้ชนะจึงจะได้ยึดครองตลาด) และถึงจะมีเงินเป็นหมื่นล้านก็ไม่สามารถสร้าง Facebook ที่สองได้

จิรายุส กล่าวว่า "เราต้องสร้าง New Economy ขึ้นไป ไม่ใช่ Old Economy อย่าทำธุรกิจในกลุ่มที่ 1-2 เพราะสุดท้ายคนก็ผลิตสินค้า / บริการขายได้ ฉะนั้น เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เราเป็นผู้กำหนด Profit Margin มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ต้องทำแค่คนเดียว และโฟกัสกับการสร้าง Network Effect พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา"

 

4) Make-up Platform หรือ Ecosystem Business เป็น Layer ที่ยิ่งมีพลานุภาพมากกว่า Layer ที่ 3

ตัวอย่างที่ดี คือ WeChat ที่มีอู่รถแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยที่ไม่มีรถสักคัน เป็นสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในจีน โดยไม่มีเงินเป็นของตนเอง สั่งอาหารก็ได้ โอนเงินก็ได้ ลงทุนก็ได้ ฯลฯ เรียกว่าเป็น Multiple Log-in Network หรือเครือข่ายของการล็อกอินจากหลายๆ ที่ในที่เดียวกัน และนี่คือ Monopoly Power (พลานุภาพของการผูกขาด) ดังจะเห็นได้จากจำนวนประชากรครึ่งโลก 3,300 ล้านคนบน Facebook หรือประชากรไทยครึ่งประเทศ 47 ล้านคนบน LINE ที่เราไม่สามารถย้ายคนในคราวเดียวได้ง่ายๆ

 

5) Operating System เดิมการทำธุรกรรมจะเป็นธุรกรรมใหญ่ มูลค่าเงินเป็นจำนวนมาก และนานๆ จะเกิดสักครั้ง แต่เมื่อโลกขยับเดินไปข้างหน้า ธุรกรรมที่เกิดขึ้นก็จะถี่มากขึ้น มูลค่าของธุรกรรมก็เป็นจำนวนเงินก้อนเล็กลง แล้วก็จะเห็น คนเข้ามาทำ Operating System มาทำหน้าที่ 'จัดระเบียบโลก' และควบคุมทุกอย่าง

 

 

เดินหน้าสร้างเศรษฐกิจใหม่ 

ถ้าเราเข้าใจว่า Layer ที่ 3-5 คือ 'อนาคต' และเป็น 'New Economy'

เราควรจะต้องสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเหล่านี้

  • ประการที่ 1 'นโยบาย' ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้คนไทยถือปืน แล้วต่างชาติถือมีด สุดท้ายโลกมันเปลี่ยน กฎของเกมมันก็เปลี่ยน ความจริงคนไทยเก่ง เราสามารถคิดที่จะเป็น Grab ได้ก่อน หรือคิดที่จะเป็น LINE ได้ก่อน แต่ถ้าทำก็จะถูกจับ เพราะผิดกฎหมาย แต่สำหรับสกุลเงินดิจิทัลก็ไม่แตกต่างกัน เราเองก็ถูกผู้กำกับดูแลเรียกตัว ไม่ว่าจะเป็น กลต., ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ แต่ก็ต้องมีคนที่บ้าพอจึงจะมี National Champion เกิดขึ้นได้

 

  • ประการที่ 2 ‘ทุนมนุษย์ (Human Capital) ยกตัวอย่าง จีนเปิดประเทศทำให้ iPhone เข้ามาเปลี่ยนประเทศและทำให้เกิด Spillover Effect[5] ซึ่งปัจจุบัน จีนสามารถผลิต Huawei, Xiaomi เป็นหมดแล้ว โดย Spillover มาจาก iPhone นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกประการที่ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนสิ่งที่เกี่ยวข้อง (Relevance) กับสิ่งที่แรงงานต้องการจริงๆ

 

  • ประการที่ 3  การแก้ไขนโยบายที่เกี่ยวข้องการจ้างแรงงานต่างชาติ เนื่องจากการที่เราจะเรียนรู้ได้เร็วที่สุด คือ การเอาคนที่เก่งจากต่างประเทศเข้ามา แต่ในทางปฏิบัติ ภาครัฐควรแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ระบุว่า 'บริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อคนต่างชาติหนึ่งคน' และการแก้ไขสัดส่วนพนักงาน 4:1 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานพนักงานเก่งๆ จากต่างประเทศเข้ามา เพื่อสร้าง Spillover Effect

 

  • ประการที่ 4 การก่อตั้ง Temasek Fund of Thailand ประเทศไทยควรก่อตั้งกองทุนแบบ Temasek ของสิงคโปร์ขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพและนำไปสู่การก่อตั้งธุรกิจที่มีโอกาสในอนาคต

 

จริงๆ แล้วประเทศไทยมีคนเก่งๆ เยอะ แต่โอกาสไม่ได้มีทุกคน ณ ขณะที่ผมมีแค่กระดาษใบเดียว แต่ผมได้โอกาสพราะมีคนเชื่อมั่นและยอมมาลงทุน แต่ในทางปฏิบัติ ในประเทศไทยหากเป็นกระดาษใบเดียวจะไม่มีใครเข้ามาลงทุน ยกเว้นแต่จะเวิร์กและเข้า Series A แล้วก็จะแย่งกันมาจีบ มาลงทุน ต่างกับสิงคโปร์ ซึ่งหากมีเด็กคนหนึ่งเอาแค่กระดาษใบเดียวเดินมาที่กองทุน Temasek ก็สามารถเอาไอเดียไปเปลี่ยนเป็นงานต้นแบบ (Prototype) แล้วก็สามารถระดมทุนได้ ฉะนั้น ถ้าประเทศไทย ตั้งกองทุนแบบ Temasek ขึ้นมาก็จะเป็นการให้โอกาสกับคนต่างๆ ได้

 

  • ประการที่ 5 นำภาษีมาลดปัญหา Digital Devide ที่มากขึ้น จากปัญหา Digital Devide ที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งมีช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้คนที่ปรับตัวไม่ได้ให้สามารถอยู่รอดได้ทั้งคนสูงวัยและคนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

 

"ยกตัวอย่างบริษัทผมที่เป็น Exponential Winner ภาษีจะเยอะมาก เพราะมาร์จิ้นเยอะมากถึง 80% ฉะนั้น ก็ควรที่จะเอาภาษีจากส่วนนี้มาเป็น Universal Basic Income (UBI : รายได้พื้นฐานทั่วหน้า)ให้กับคนเหล่านี้ที่ไม่มี AQ ให้สามารถอยู่รอดได้

มีใครที่เกิดมาแล้วขี่จักรยานเป็น ก่อนที่จะขี่เป็นต้องล้มกันก่อน

แต่สำหรับบางคนล้มแล้วตายเลย

ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้มี 'สนับเข่า' ให้กับทุกคนได้

การมี UBIจะทำให้คนที่ไม่ได้เป็น Lucky Sperm Club[6] กล้าที่จะออกมาแล้วล้มลุกๆ อยู่อย่างนั้น

สุดท้าย ทุกคนขี่จักรยานเป็นกันหมดแต่แค่อย่าให้คนกลุ่มนี้ล้มแล้วตาย เราต้องสร้างสนับเข่าให้คนเหล่านี้

ดังนั้น จึงควรเก็บภาษี Exponential Winner มากๆ

เพราะอย่างไรก็เกิด Digital Devide อยู่แล้ว ดังนั้น จึงควรเอาเงินมาสนับสนุนให้คนที่ขี่จักรยานเป็นกล้าที่จะออกมาล้มลุกๆ"

 

จิรายุส กล่าวต่อไปว่า

"ที่ผ่านมา เราพูดถึง Globalization (โลกาภิวัตน์), Digitization มาโดยตลอด แต่เมื่อมองที่นิยามของสองคำนี้ จะเห็นได้ว่า

Globalization = Free-Flow of People  

Digitization = Free-Flow of Information  

ที่สำคัญ ตอนนี้กำลังจะเกิด Free-Flow of Capital

เมื่อทั้ง People - Information - Capital รวมกันและสามารถไหลไปมาได้อย่างเสรีก็จะทำให้เศรษฐดิจิทัลใหญ่ขึ้นมากๆ นี่คือโอกาสถัดไป และถ้าเรามีนโยบายที่ถูกต้อง เราก็จะสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด การที่เราจะเอาเงินเข้าประเทศไทยได้ เราต้องทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่เป็น เพื่อที่จะขึ้นราคา อัปผลกำไรให้สูงขึ้น แล้วเอาสิ่งที่คนอื่นทำไม่เป็นไปขาย ประเทศไทยก็จะสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดแซงหน้าประเทศอื่นๆ ได้เลย"

 


 

บทความจากนิตยสาร MarketPlus Issue 142


[1] ความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) หรือความยากจนข้นแค้น (destitution) หมายถึง บุคคลที่ขาดความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่ น้ำจืดและอาหารที่สะอาด โภชนาการ สาธารณสุข การศึกษา เครื่องนุ่งห่มและที่พักอาศัย (ที่มา : วิกิพีเดีย)

[2] ความยากจนเชิงสัมพัทธ์ (relative poverty) เป็นการวัดความยากจนโดยใช้การเปรียบเทียบ มาตรฐานการดำรงชีวิตของครัวเรือนกับ มาตรฐานคุณภาพชีวิตของสังคมโดยเฉลี่ย (ที่มา : NSTDA)

[3] AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา คือ มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี และพยายาม เอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง (ที่มา : rtna.ac.th)

[4] การแบ่งแยกทางดิจิทัล หมายถึง ช่องว่างระหว่างกลุ่มประชากรและภูมิภาคที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย​​และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่คำนี้ครอบคลุมความสามารถด้านเทคนิคและการเงินในการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่—ควบคู่ไปกับการเข้าถึงหรือขาดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต—ช่องว่างที่อ้างถึงนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี  (ที่มา: www.thaifrx.com)

[5] ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง หากแต่อยู่ในโครงข่ายที่ยังคงเชื่อมโยงกันอยู่ (ที่มา : TDRI)

[6] กลุ่มคนที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีความมั่งคั่ง พ่อแม่ไม่ต้องการเงินจากเรา

[อ่าน 6,296]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved