'รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส' SCG จัดทัพรับความท้าทายใหม่
07 Apr 2022

 

2022 กลับเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะปัจจัยลบที่มาแรง อย่างสงครามรัสเซีย และยูเครน ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก พร้อมทั้งส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อ ในฐานะที่ 'เอสซีจี' คือ องค์กรชั้นนำของประเทศไทยที่ขยายฐานธุรกิจในระดับภูมิภาคจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ และจะต้องปรับตัวอย่างไร

 

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ในฐานะเบอร์ 1 ขององค์กรชั้นนำของประเทศและระดับภูมิภาคได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจถึงการรับมือกับความท้าทายครั้งใหม่ที่ถาโถมมานับแต่ต้นปีนี้

 

@_ความท้าทายครั้งใหม่ที่เกิดตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน 'เอสซีจี' รับมืออย่างไร

 

ตอนนี้สถานการณ์ที่เราเผชิญกันประกอบด้วย สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นสองปีก็ยังไม่จบดีเลย เราก็ต้องมาเจอกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ, ปัญหาภาวะโลกร้อน และกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยว่าจะปรับตัวขึ้นหรือไม่ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกัน

 

สำหรับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นแบ่งได้เป็น 4 เรื่องนั่นคือ 1) สถานการณ์จริงๆ ในยูเครน 2) มาตรการคว่ำบาตร (Sanction) ทั้งในส่วนของสินค้าและตัวบุคคลหลายๆ ส่วนของรัสเซีย จากประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ 3) ต้นทุนพลังงาน ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน 1 ใน 4 ของดีมานด์น้ำมันที่มีอยู่ในสหภาพยุโรป อีกทั้งเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติถึง 1 ใน 3 ดังนั้น สงครามที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงมีผลกระทบกับโลกค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือ เงินเฟ้อ 4) ภาวะเศรษฐกิจ ทั้งด้านความต้องการที่เกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย

ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามดังกล่าวจึงทำให้เกิดทั้งปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาพลังงาน ที่สำคัญ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามรัสเซีย - ยูเครน นั้นไม่ใช่เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการสินค้า/บริการที่เพิ่มขึ้น หากแต่เป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศที่ต้องใช้พลังงานมากและมีการพึ่งพาพลังงานมากก็ต้องมีการนำเข้าก็จะได้รับผลกระทบที่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก ซึ่งบางธุรกิจใช้ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ หรือบางธุรกิจที่ใช้ถ่านหินด้วยก็จะได้รับผลกระทบมากทีเดียว อย่างราคาน้ำมัน Brent ที่ตอนนี้ปรับขึ้นไปเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ราคาของถ่านหินก็เช่นเดียวกันราคาขึ้นไปมากกว่า 2 เท่า

นี่คือความท้าทายที่ธุรกิจต่างๆ จะต้องผ่านไปให้ได้ ซึ่งอาจจะหนักใจกว่าภาวะปกติ เพราะยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ก็มาเจอสถานการณ์นี้เข้าไปอีก ทำให้ธุรกิจต่างๆ อาจจะควบคุมอะไรไม่ได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้

           

@_จากสถานการณ์ที่ใกล้ตัวมากขนาดนี้ เรากังวลกับเรื่องอะไรหรือไม่

'ความกังวล' ที่มีก็จะแบ่งเป็นผลกระทบสองเรื่อง นั่นคือ 'รุนแรงแค่ไหน' และ 'อยู่นานขนาดไหน'  

ในส่วนของความรุนแรง: เฉพาะบ้านเราโควิด-19 ยังอยู่ในใจเรากันอยู่เลย ตอนเกิดโควิด ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนประมาณ 15% ของ GDP ในบ้านเรากระทบทันที โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวขาเข้า ในส่วนของราคาน้ำมันเฉลี่ยของปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 60 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น 5% ของ GDP ในบ้านเราสมมติว่า ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 100 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรลก็เท่ากับเกือบ 2 เท่าของปีก่อนหน้า

แล้วหากตั้งสมมติฐานว่า ถ้าราคานี้คงอยู่ก็จะทำให้สัดส่วนของพลังงานน้ำมัน หรือราว 10% ของ GDP ในประเทศไทย แล้วเมื่อรวมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 15% ของ GDP ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออกมีการใช้น้ำมันในส่วนของการผลิต และส่งออก ซึ่งก็จะหักลบในส่วนตรงนี้ทำให้เกิดผลกระทบไม่ถึง 10% หรือแค่ครึ่งเดียว ดังนั้น ถ้าประเมินก็คิดว่า ผลกระทบคงไม่น่าจะรุนแรงเหมือนกรณีโควิด-19

ในส่วนของเงื่อนเวลา:เมื่อเทียบผลกระทบของสงครามกับโควิด-19 สถานการณ์สงครามอย่างไรก็คงต้องจบด้วยความพยายามที่จะให้จบจากหลายๆ ฝ่าย เพราะหลายชาติก็พยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้น  ดังนั้น เรื่องความรุนแรงคงไม่เท่ากับโควิด-19 เมื่อสองปีที่แล้วที่บางรายยังไม่พื้นตัวเลย เมื่อมีปัญหาอื่นๆ ข้างต้นเพิ่มขึ้นมาจึงทำให้ดูมีความนรุนแรงมากขึ้น

สำหรับ 'เงื่อนเวลา' ถ้าดูในส่วนของการลงทุนที่มีการจำลองสถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละสถานการณ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ใช้เป็นตัวแปรและมีราคาแตกต่างกันมากตั้งแต่ 100 - 200 เหรียญ/บาร์เรล ผมก็คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่แตกต่างกันมาก ซึ่งตรงนี้ คือ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

แม้จะมีความท้าทายเช่นนี้ บางคนถามผมว่า ทำไมยังยิ้มได้อยู่ก็ต้องบอกว่า ในด้านหนึ่งเราก็ผ่านวิกฤติกันมา และยังไม่แข็งแรงมากนัก ทว่า ในอีกด้านหนึ่งนั้น เราก็รู้แล้วละว่า เราจะต้องรับมือวิกฤติที่เราไม่เคยเจอมาก่อนแบบนี้ ในชีวิตผมก็ไม่เคยเจอทั้งโควิด-19 หรือสถานการณ์อย่างรัสเซีย - ยูเครนมาก่อน แต่เรารู้ว่า เราต้องรับมือกับการบริหารความเสี่ยง

'ความเสี่ยง' ที่พูดถึง ตรงนี้ก็คือ เราจะทำอย่างไรจึงจะมีความมั่นใจว่า จะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ถึงแม้จะเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงาน การดูแลโซ่อุปทาน ทำอย่างไรให้มีของที่ต้องใช้ในการผลิต เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 หรือ 3 ของโลก เพราะฉะนั้น บางธุรกิจที่ยังต้องใช้ถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงเป็นพลังงานอยู่ก็ต้องดูให้มั่นใจว่า มีวัตถุดิบในการผลิตสินค้าด้วยต้นทุนราคาที่เหมาะสม

 

สำหรับเอสซีจี ธุรกิจหลักของเรา คือ เคมีภัณฑ์ ที่มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายรวมในพอร์ต น้ำมันที่เราใช้ 'นาฟต้า ซึ่งเป็นน้ำมันประเภทหนึ่ง และมีราคาเชื่อมโยงกับตลาดโลก ธุรกิจเคมีภัณฑ์มีนาฟต้าเป็นวัตถุดิบหลักในเมื่อต้นทุนราคาน้ำมันจาก 70 เหรียญ/บาร์เรลเป็นกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล ขึ้นเกือบเท่าตัวก็ย่อมมีผลกระทบอย่างรุนแรงมาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนพูดว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนทั้งที่ดูเหมือนจะอยู่ไกล ยอดขายที่ส่งออกไปสองประเทศนี้ก็มีสัดส่วนแค่ 1-2% แต่ว่าผลกระทบของเรื่องนี้มาจากต้นทุนราคาน้ำมันและต้นทุนราคาวัตถุดิบ ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงตามมาคือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งมีต้นทุนพลังงานเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวม ขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนต้นทุนพลังงานราว 5%

 

กลยุทธ์พิชิตความท้าทายของเอสซีจี

ระยะสั้น เน้นปิดทุกความเสี่ยง, ยืดหยุ่นปรับตัวตามสถานการณ์ 

ระยะยาว เร่งแนวทาง ESG 4 Plusปรับแผนโครงการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์  

 

@_เอสซีจี มีแนวทางรับมือกับความท้าทายตรงนี้อย่างไร และคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการเพื่อให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้

จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า คือ

1) กระแสเงินสด หนี้ ต้นทุนการเงิน ธุรกิจจะอยู่ได้ด้วยการเงิน เรื่องของกระแสเงินสดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอ มีหนี้ไม่มากไปจนเราจัดการไม่ได้ และดูต้นทุนทางการเงิน ต้องดูแลในเรื่องดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม

2) ทำตัวให้เบา ต้องปรับตัวได้ตลอดเวลาจึงจะสามารถผ่านความท้าทายตรงนี้ไปได้  แม้ความท้าทายเช่นนี้จะหนักหน่วง แต่วิธีที่เราทำเสมอๆ คือ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ง่าย หรือ Flexibility กับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสินค้า ต้นทุน พลังงาน ราคาสินค้าที่จะต้องปรับตามราคาตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับราคาสินค้าตามต้นทุนราคาน้ำมัน ที่สำคัญ ต้องยืดหยุ่นในลักษณะของการเตรียมพร้อม เป็นการดูสถานการณ์อยู่ตลอด ตรงนี้อาจจะโชคดีที่เราใกล้ชิดกับทางการตลาดมาก ทำให้เราได้เห็นสภาวะตลาดและต้นทุนจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร และโชคดีที่สถานการณ์โควิดเบาลงก็ทำให้เราสามารถดูตรงนี้ได้ ซึ่งในระยะสั้นเราก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว

 

ส่วนในระยะยาว สำหรับงบการลงทุน 8 หมื่นล้านบาทนั้น โดยสรุปคือ 1) โครงการที่ Commit ไปแล้วก็เดินหน้าต่อให้จบ อย่างโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ในเวียดนามที่เป็นงบการลงทุนกว่าครึ่ง และแล้วเสร็จไปกว่า 90%ก็ต้องทำให้จบ 2) โฟกัสกับ  ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ) โดยเฉพาะในส่วนของพลังงาน อย่างการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ Energy Transition ถือเป็นกลุ่ม Priority สูงต้องให้เดินต่อ หรือต้องเร่งให้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น ใช้พลังงานทางเลือก หรือพลังงาน Low Carbon ให้มากขึ้น เพื่อมุ่ง Net Zero 2050  เพราะจากสถานการณ์รัสเซีย - ยูเครนยิ่งจะทำให้ทุกคนพยายามที่จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ยั่งยืนให้มากขึ้นกว่าเดิม 3) การซื้อกิจการก็ยังคงเดินหน้าต่อ แต่ต้องทบทวน 4) โครงการลงทุนใหม่ต้องทบทวนเช่นกันว่า จะอยู่ได้หรือไม่ ความต้องการเป็นอย่างไร ฯลฯ

 

 

@_เป้าปีนี้ที่จะเติบโต 10% จะยังคงเป็นเช่นเดิมหรือไม่

เราก็ไม่อยากจะปรับ แต่เนื่องจากมีผลกระทบสองด้าน นั่นคือ 1) ราคา เพราะยอดขายก็คือราคา 2) ปริมาณการขาย เช่น กะว่าจะขาย1,000 เหรียญ/ตันแล้วขายจริงๆ ได้เท่าไร แล้วสองเรื่องนี้มีความไม่แน่นอนสูง และเราก็ยังมองไม่ออกว่า สองอาทิตย์ที่เกิดสงครามนั้นจะมีทิศทางอย่างไร และมองไม่ออกว่า ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาจะมีผลกับราคาสินค้าเท่าไร และตอนนี้ในแง่ความต้องการยังบอกได้ว่ายังมีอยู่ แต่ลักษณะเงินเฟ้อหรือต้นทุนที่สูงขึ้น ความต้องการในระยะถัดไปจะมีผลกระทบอย่างไร ดังนั้น ก็หวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในช่วงที่ไม่ไกลเกินไปนัก

             

@_จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะชะลอการปรับราคาสินค้าขึ้นได้ถึงเมื่อไร

ต้องบอกว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตทั้งหมดก็พยายามที่จะชะลอการปรับราคาให้ได้เต็มที่ ต้องเรียกว่า 'ฝืนเต็มที่' แต่หากเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นก็คงไม่ง่ายที่จะคงราคาไว้ คิดว่าไม่น่าจะสามารถยืนราคาได้นาน เพราะเราก็ไม่ได้เก็บวัตถุดิบไว้นาน แต่สำหรับต้นทุนพลังงานเราก็จะพยายามดีลให้นานที่สุด พยายามที่จะกระทบกับลูกค้าหรือผู้บริโภคให้น้อยที่สุด เพราะไม่ใช่แต่เอสซีจี ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศก็เช่นเดียวกันที่ต่างก็เพิ่งจะผ่านโควิดมาด้วยกัน เราก็พยายามจะต้องไปกันให้ได้ เราก็ต้องพยายามรักษาต้นทุน ประหยัดหรือลดต้นทุนให้ได้ ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด   

 

@_เอสซีจี มีแนวทางดูแลโซ่อุปทานของตนเอง เพื่อให้ก้าวข้ามไปด้วยกันอย่างไร

การดูแล ร่วมมือและช่วยกันเพื่อทำให้โซ่อุปทานไปรอดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราไม่ดูแลโซ่อุปทานให้ดีเมื่อพ้นจากวิกฤติ เราจะผลิตของ/ขายของอย่างไร ดังนั้น เมื่อเรารอด ธุรกิจไปได้ โซ่อุปทานของเราก็ต้องรอดด้วย ชุมชนก็เช่นกัน เอสซีจีคิดว่า เราอยู่ได้ด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรเหล่านี้ เราก็จะต้องทำตรงนี้และต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย รวมทั้งการใช้นวัตกรรม และการลดต้นทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรทำและได้ผล ทั้งในเชิงธุรกิจ เศรษฐกิจ และปรับปรุงความสามารถของคนที่อยูในโซ่อุปทาน ส่วนชุมชนก็เช่นกันที่จะต้องไปด้วยกันได้ เช่น การมีทักษะ การมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น Re-Skill, Training ฯลฯ หรือการทำให้ชุมชนเหล่านี้มีรายได้มากขึ้น และส่วนใหญ่จะเห็นว่า เรื่องที่ทำตรงนี้จะเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์ของชุมชน ตำบล ซึ่งผมคิดว่า ความต้องการเหล่านี้ยังมีอยู่ และยังไปได้อยู่

 

 


บทความจากนิตยสาร คอลัมน์ Extcutive'S Talk ฉบับ 144 April 2022


 

[อ่าน 2,772]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมพร้อมรับงานใหญ่ THAIFEX – ANUGA ASIA 2024
โค้ก - เป๊ปซี่ - เอส ร่วมวงสาดแคมเปญหน้าร้อน เปิดศึกชิงตลาดน้ำอัดลม 66,000 ล้าน
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved