“สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งตลอดคือ น้ำคือชีวิต การจะแก้ปัญหาน้ำได้ ต้องทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ของสังคม ของกิจกรรมต่างๆ จุดอ่อนของประเทศไทยคือ เราสร้าง แต่ขาดการวางระบบ ดังนั้น สิ่งที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำของชุมชนสำเร็จได้ คือการต่อเชื่อมกัน” คือข้อคิดจาก ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งกล่าวในปาฐกถาพิเศษ “สถานการณ์น้ำและการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ” ในกิจกรรม “รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานที” ที่จัดขึ้นโดยเอสซีจี
ไม่ว่าชุมชนไหนก็เชื่อมกันด้วยสายน้ำ ดังจะเห็นได้จากการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางที่เป็นป่าไม้ ระหว่างทางที่เป็นเกษตรกรรมและปลายทางที่เป็นประมง เพื่อสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนแม้เริ่มต้นเมื่อกว่า10 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังสามารถทำให้เกิดผลได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการส่งต่อองค์ความรู้ และแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ล้วนแต่ช่วยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นยังประโยชน์ให้ชุมชนเข้มแข็งยืนหยัดด้วยตัวเอง
“18 ล้านบาท” คือรายได้รวมในชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง ในปี 2560 ที่ได้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรมาเป็นการเกษตรประณีต โดยหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น มะระ เพื่อขายเมล็ดพันธุ์ส่งออกต่างประเทศ จนกลายเป็นเกษตรกรมือหนึ่งด้านการทำเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการร่วมแรงร่วมใจกันขุดสระพวง เพื่อเป็นแหล่งน้ำในหมู่บ้าน โดยคนต้นน้ำ พ่อหลวงคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ หมู่ 3 จ.ลำปาง เล่าว่า แต่เดิมบ้านสาแพะเป็นหมู่บ้านสันเขาที่ประสบปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง รวมทั้งไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อวิกฤติหนัก ตนจึงชักชวนชาวบ้านมาทำฝายประชะลอน้ำ จนท้ายสุดเกิดความร่วมแรงร่วมใจ จนนำไปสู่ การสร้างสระพวงในพื้นที่เชิงเขา ซึ่งได้ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร โดยขุดสระเพื่อกระจายน้ำไปสู่พื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สระแม่ขนาดใหญ่ จัดระบบส่งน้ำไปสู่สระลูก และสระหลาน ตามระดับความสูงของพื้นที่ ทำให้มีน้ำใช้ทำเกษตรกรรมได้ตลอดปี จนปัจจุบันมีสระพวง 7 สระที่เชื่อมกันเป็นระบบ
“เมื่อชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ จึงเกิดความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในการเสียสละที่ทำกินบางส่วน ยอมแบ่งที่ดินของตนเองมาใช้เป็นพื้นที่ขุดสระพวงเพื่อใช้น้ำร่วมกัน ทำให้ชุมชนเราสามารถยืนหยัดได้ในทุกวันนี้ และยังคงร่วมมือร่วมใจใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า” พ่อหลวงคงบุญโชติ กล่าว
ด้านคนกลางน้ำ พิชาญ ทิพย์วงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ขอนแก่น เล่าถึงการบริหารจัดการน้ำที่ชุมชนบ้านป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่นว่า “วันนี้เราใช้ความรู้ใหม่ๆ มาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ มีการเก็บข้อมูลเรื่องน้ำ มีเท่าไร ได้มาเท่าไร ปรับวิถีเกษตร เรียนรู้เทคโนโลยี เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ ชุมชนที่นี่เคยแล้งมาก ตอนนี้มีน้ำเพียงพอที่จะข้ามแล้ง 4 ปีได้แล้ว เป็นผลจากการที่เราเชื่องโยงเครือข่ายน้ำ โดยเราต้องทำเป็นต้นแบบก่อน ชุมชนอื่นจึงนำไปปรับใช้ได้”
ส่วนของเรื่องราวจากคนปลายน้ำ สำออย รัตนวิจิตร ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลเนินฆ้อ จ.ระยอง เล่าว่า หลายปีมานี้ ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมลงจนทำให้สัตว์ทะเลในหลายพื้นที่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงพื้นบ้านจนภาครัฐและเอสซีจี ได้ร่วมคิดค้นพัฒนา “นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100” ทำให้สามารถเพิ่มแหล่งทำประมงใกล้ชายฝั่ง สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น“บ้านปลาช่วยให้เรามีจิตอนุรักษ์หวนแหนทรัพยากร ชุมชนต่างร่วมมือกันช่วยปกป้องอนุรักษ์ ไม่จับสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์ เพื่อช่วยส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกหลานต่อไป”
จากคนต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ จากการเชื่อมต่อของคนในชุมชนสู่ชุมชนรักษ์น้ำ จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ว่าจะอยู่ต้นน้ำหรือปลายน้ำ ที่จะร่วมทำหน้าที่ของตัวเองให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แม้ในรูปแบบที่ต่างกัน ก็พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจเหล่านี้ไปสู่สังคมวงกว้าง เพื่อให้มีน้ำจากป่าไม้ต้นน้ำ ที่จะสร้างความชุ่มฉ่ำ นำมาซึ่งรายได้ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนทุกชุมชน สู่ปลายน้ำอย่างยั่งยืน
“รักษ์น้ำจากภูผา สู่มหานที” จึงเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของโครงการ “รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” ของเอสซีจี ที่สร้างแรงบันดาลใจและร่วมเชื่อมพลังชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จากฝายชะลอน้ำ สระพวง แก้มลิง สู่บ้านปลา โดยตั้งเป้าขยายการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และจะสร้างให้ครบ 100,000 ฝาย ภายในปี 2020 รวมทั้งจะสร้างสระพวงเพื่อกักเก็บน้ำร่วมกับชุมชนที่มีพื้นที่เหมาะสม ส่วนในพื้นที่กลางน้ำ จะขยายพื้นที่การบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นราบด้วยระบบแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน และขยายการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศด้วยนวัตกรรมบ้านปลาในพื้นที่ปลายน้ำ ให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และขยายการดำเนินงานไปสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ชุมชนพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ประเทศต่อไป