AIS เปิดผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย พร้อมเปิดตัว Digital Health Check
27 Aug 2024

 

ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทั้งสร้างความสะดวกสบาย การติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางที่เหล่ามิจฉาชีพใช้เข้ามาเพื่อสร้างความเสียหายได้เช่นกัน จนกลายเป็นภัยไซเบอร์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม

ซึ่งภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลและระบบสารสนเทศ

ข้อมูลจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี 1 เปิดเผยว่า ปี 2566 ไทยเป็นประเทศที่มีอาชญกรรมออนไลน์เป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดย Top 5 ของสถิติการถูกหลอกในโลกออนไลน์ อันดับ 1 คือ หลอกซื้อของแต่ไม่ได้ของคิดเป็น 44.08%, อันดับ 2 หลอกให้ทำกิจกรรม 13.46%, อันดับ 3 หลอกกู้เงิน 10.47%, อันดับ 4 หลอกให้ลงทุน 7.50%, อันดับ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ 6.95% และอื่นๆ อีก 17.54%

ในขณะที่ยอดคดีออนไลน์สะสมตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 612,603 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 69,186,829,589 บาท เฉลี่ยความเสียหาย 78 ล้านบาท/วัน โดยผู้หญิงตกเป็นเหยื่อถึง 64% และผู้ชาย 36% และช่วงอายุระหว่าง 30-44 ปี ตกเป็นเหยื่อมากที่สุดถึง 41.45% ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการรับมือกันอย่างจริงจัง

 

 

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า

AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจึงมุ่ง สร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืน หรือ Cyber Wellness โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม เพื่อให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ตอบโจทย์ความท้าทายของยุคดิจิทัล และส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรดิจิทัลอย่างยั่งยืนในระยะยาว ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER เพื่อสร้างทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัล คัดสรรโซลูชัน และเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา AIS ยกระดับการสร้างความตระหนักรู้ไปอีกขั้น ด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนักวิชาการทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดประเมินผล เพื่อสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยในชื่อ “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)

Thailand Cyber Wellness Index เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัลที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทยใน 7 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Use)
2. ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)
3. ด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
4. ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)
5. ด้านความเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
6. ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
7. ด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) ซึ่งวัดผลใน 3 มิติ คือ ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ โดยเกณฑ์คะแนนจะอยู่ระหว่าง 0-1

 

โดยระดับของดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ

  • “Improvement” ระดับที่ต้องพัฒนา หมายถึงผู้ที่มีความรู้ยังไม่เพียงพอในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับพื้นฐานได้
  • “Basic” ระดับพื้นฐาน มีความรู้และสามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  • “Advanced” ระดับสูง สามารถใช้งานและส่งเสริมให้ผู้อื่นใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี สามารถแนะนำคนรอบข้างได้

 

 

จากปีที่ผ่านมา AIS ได้สานต่อโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดออกมาเปิด “ผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยประจำปี 2567” หรือ Thailand Cyber Wellness Index 2024 ซึ่งถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับการวัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยประจำปี 2567 นั้น มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยทุกช่วงอายุ ทุกเพศ ทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวม 50,965 ตัวอย่างจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผลที่ได้พบว่าระดับสุขภาวะทางดิจิทัลของคนไทยเฉลี่ยยังอยู่ในระดับพื้นฐาน ที่ 0.68 แบ่งเป็นกลุ่ม Improvement 18.5%, Basic 46%, Advanced 35.5% ส่วนช่วงวัยที่อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุ 10-12 ปี, เยาวชน อายุ 13-15 ปี และวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป

โดยผลสุขภาวะทางดิจิทัลของคนไทยแยกตามทักษะใน 7 ด้าน พบว่า ทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อยู่ที่ 0.61%, ทักษะการใช้ดิจิทัล 0.66%, ทักษะการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล 0.67%, ทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล 0.70%, ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล 0.73%, ทักษะการเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล 0.77% และทักษะการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ 0.87%

 

สำหรับปีนี้ผลการศึกษายังสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยเกินครึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ (Ransomware), การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้ วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่านซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคดีออนไลน์และมูลค่าความเสียหายจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี ที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

AIS จึงประกาศให้ปี 2567-2568 เป็นปีแห่งการยกระดับการสร้างทักษะดิจิทัลของคนไทยในแกนความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเสริมทักษะและเพิ่มวัคซีนทางดิจิทัล เพื่อให้คนไทยอยู่รอดปลอดภัยในโลกไซเบอร์

    

 

เพื่อเป็นการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทย AIS จึงมีการทำงานควบคู่ทั้งการส่งเสริมทักษะความรู้ และพัฒนาเครื่องมือปกป้องการใช้งาน โดยในแกนของ Wisdom ทาง AIS ได้มีการพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ทางดิจิทัลให้กับคนไทย ไม่เพียงเท่านั้นล่าสุดยังได้เปิดตัว “Digital Health Check” เครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์แบบรายบุคคลเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง

 


“เหมือนเราไปตรวจสุขภาพ ซึ่ง AIS สร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ มีฟีเจอร์ให้เราทำแบบทดสอบ เหมือนเจาะเลือด เสร็จแล้วฟังผล ซึ่งเครื่องมือนี้จะประมวลผลออกมาว่าสุขภาวะทางดิจิทัลทั้ง 7 ด้านของเราเป็นอย่างไร ทักษะไหนอ่อน หลังจากนั้นระบบจะนำไปสู่การเพิ่มทักษะในด้านนั้นๆ ซึ่งคำแนะนำมีหลายรูปแบบทั้งในรูปแบบของละครคุณธรรม หรือแม้กระทั่งการ์ตูนที่ย่อยง่าย เข้าใจง่าย ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยเพิ่มทักษะทางดิจิทัลได้”

 

ในแกนของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยไซเบอร์และมิจฉาชีพนั้น AIS มีบริการสายด่วนแจ้งเบาะแสมิจฉาชีพ 1185 ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการโจมตีจากมิจฉาชีพอย่างหนักหน่วง โดยในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการโทรมาแจ้งเบาะแสรวมถึง 2 ล้านสาย

 

 

นอกจากนั้นยังมีบริการ AIS Secure Net ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและบล็อกเว็ปไซต์อันตรายรวมถึงแอปหลอกดูดเงิน ล่าสุดเพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายจากภัยไซเบอร์ AIS จึงได้จับมือกับบริษัทประกันภัยอย่าง MSIG เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วยบริการ Secure Net+ Protected by MSIG ชูจุดเด่นปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส มัลแวร์ เว็บไซต์ปลอมหลอกลวง พร้อมแถมประกันภัยเพอร์ซัลนัลไซเบอร์ จาก MSIG ที่มอบความคุ้มครอง อาทิ การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และโจรกรรมเงิน หรือการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานออนไลน์ในโลกไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจ

 

โดยหลังจากนี้ AIS จะส่งต่อ “ผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย” (Thailand Cyber Wellness Index 2024) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่สามารถนำผลการศึกษาไปต่อยอดเพื่อสร้างความรู้ ทักษะ รวมถึงเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังเต้าเป้าให้มีการนำ Digital Health Check ไปใช้ในวงกว้างทั้งระดับบุคคล ในโรงเรียนและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มเยาวชนอายุ 10-15 ปี และกลุ่มวัยเกษียณ เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัลให้กับคนไทยต่อไป

[อ่าน 2,733]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
AIS - Red Bull เปิดสังเวียนตีป้อมใหญ่สุดในไทย “AIS 5G eSports U Series Thailand Championship 2024 by Red Bull”
ไทยเบฟ เปิดตัว PRAKAAN (ปราการ) ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียมแบรนด์แรกของไทย 

ออริจิ้น ผนึก พันธมิตร เดินหน้าโครงการ ORIGIN GIVE ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15
“ตั้ง วง เล่า” เรื่องเล่าจาก CEO - MD ส่งพลังบวกแก่นิสิตนักศึกษา

ห้างเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล จับมือ ไป่เหลียน - 8 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจรับ Golden Week
การเคหะฯ Final Call! “โปรตามใจ เลือกตามชอบ” สิ้นสุด 30 ก.ย.นี้ เริ่มเพียง 250,000 บาท
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved