ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ยุทธศาสตร์สู่ ‘นมแห่งชาติ’
04 Nov 2016

          ‘นมวัวแดง’ แบรนด์ผลิตภัณฑ์นมของ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ก่อตั้งมากว่า 5 ทศวรรษ โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเดนมาร์ค ในครั้งนั้น ในยุคของ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. คนที่ 21 ที่เป็นลูกหม้อ อ.ส.ค. มาแต่เดิมและเป็นผู้อำนวยการคนแรกที่มาจากระบบคัดสรรแบบสัญญาจ้าง และมีการประเมินประสิทธิภาพการทำงานกันอย่างเข้มข้นทุก 6 เดือน จากเดิมที่ตำแหน่งนี้จะมาจากระบบการแต่งตั้ง

          ทั้งนี้ อ.ส.ค. กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ด้วยว่า กำลังเข้าสู่แผนรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ (ปี 2017- ปี 2020) ซึ่งจะต้องดำเนินควบคู่กันไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมขับเคลื่อนตนเองสู่การเป็น  ‘นมแห่งชาติ’ ภายในปี 2020 ด้วยยอดขาย 1 หมื่นล้านบาท และต้องเป็น  Top of Mind ในอุตสาหกรรมนม รวมทั้งศูนย์กลางข้อมูลและความรู้เรื่องนมอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับประสิทธิภาพขององค์กรจากเดิมที่อยู่ระดับ C ให้เป็นรัฐวิสาหกิจระดับ BB 

          อ.ส.ค. ภายใต้การนำของ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ จึงเป็นยุคที่น่าจับตามองถึงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การขับเคลื่อน

 


ดูแลต้นน้ำ : เกษตรกร 

          “เราเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ได้มุ่งทำกำไรอย่างภาคธุรกิจทั่วไป แต่เราต้องดูแลเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวถึงเกษตรกรจาก สหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ที่มี 16 แห่ง จำนวนกว่า 4,000 ราย และมีกำลังผลิตโดยเฉลี่ยจากเกษตรกรเหล่านี้ราว 600 ตัน/วัน ซึ่งเป็นสัดส่วน 20%ของจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งระบบด้วยกำลังผลิตทั้งระบบ 3,000 ตัน/วัน

          ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า “เป้าหมายทางการตลาดของ อ.ส.ค. นั้นเราไม่ได้ตั้งเอง แต่เป็นเป้าหมายที่ขึ้นกับอุตสาหกรรมนม/ผลิตภัณฑ์นมที่ขึ้นกับการขยายตัวของน้ำนมดิบจากเกษตรกร โดยแม้อัตราการเติบโตของนมยูเอชทีทั้งระบบจะอยู่ที่ 4% ต่อปี แต่ อ.ส.ค. ก็ต้องผลิตนมยูเอชทีให้เติบโตปีละ 10% เนื่องจากเราต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบที่รับมาจากเกษตรกร” 

          ทั้งนี้ อ.ส.ค.เองก็ต้องวางกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำนมดิบจากเกษตรกรด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของอุปสงค์-อุปทาน 

          “ผลผลิตน้ำนมดิบนั้นก็มีฤดูกาล เนื่องจากแม่โคจะคลอดลูกในช่วงอากาศเย็นสบาย ซึ่งเป็นช่วงปลายฝน-ต้นหนาวและจะทำให้ได้น้ำนมดีขึ้น ขณะที่ช่วงฤดูฝนแม่วัวจะรู้สึกไม่ค่อยสบายนัก เนื่องจากเป็นวัวสายพันธุ์ตะวันตก ขณะเดียวกัน อ.ส.ค.ก็มีโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการที่ทำรายได้ให้กับ อ.ส.ค. 10% ของทั้งหมดก็มีช่วงระยะเวลาเปิดเทอม – ปิดเทอมด้วย โดยในช่วงเปิดเทอมก็ต้องผลิตมาก ดังนั้น การบริหารจัดการกับปริมาณน้ำนมดิบจึงต้องมีการวางแผนที่ดี อีกทั้งต้องส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านผสมเทียม บริการด้านสัตวแพทย์ การเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกร การบริหารจัดการฟาร์ม ฯลฯ”

          สำหรับการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานนั้น แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ดร.ณรงค์ฤทธิ์เลือกที่จะพยายามปิดช่องว่างระหว่าง อ.ส.ค.และเกษตรกรให้มากที่สุด โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ตัวแทนเกษตรกรจากชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัดให้เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการบริหาร อ.ส.ค.เป็นครั้งแรก จากเดิมที่เกษตรกรไม่เคยได้เข้ามามีส่วนร่วมมาก่อน

          “ก่อนหน้านี้เกษตรกรไม่เข้าใจว่า ทำไม อ.ส.ค. ประกาศผลกำไร แต่เหตุใดเกษตรกรจึงไม่ได้รับผลประโยชน์กลับคืนบ้าง ซึ่งในประเด็นนี้ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ อ.ส.ค.มีหน้าที่ต้องส่งรายได้ 30% กลับไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป ดังนั้น เมื่อเกษตรกรได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมก็จะได้รับรู้ทิศทาง/นโยบายก็จะได้เข้าใจได้ถึงการให้ความสำคัญกับเกษตรกรและดูแลเกษตรกรอย่างดีของ อ.ส.ค. โดยที่ไม่ได้มองแต่ผลกำไรที่เกิดขึ้นเท่านั้น”

          อย่างไรก็ตาม อ.ส.ค.ยุคใหม่นี้ก็กำลังพิจารณาถึงการนำเงินจำนวนหนึ่งจากผลกำไร 30% ที่ต้องส่งกระทรวงการคลัง เพื่อนำกลับมาพัฒนาเกษตรกรต่อไป  


นมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า นมวัวแดงมีจุดขายที่แข็งแกร่งจากเมสเสจ ‘นมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง’ และเป็นส่วนสำคัญที่ส่งให้นมวัวแดงของ อ.ส.ค. ขึ้นเป็นผู้นำของผลิตภัณฑ์นม เซกเมนต์  General Milk อีกทั้งเป็นจุดขายที่ปัจจุบันแบรนด์อื่นๆ ก็พยายามส่งเมสเสจนมโคสดแท้ 100% ทั้งที่ผสมนมผง แต่จากความพยายามสร้างการรับรู้และการตระหนักของ อ.ส.ค. เพื่อทำให้ผู้บริโภคทราบว่า นมไทย-เดนมาร์คเป็น ‘นมโคสด 100%ไม่ผสมนมผง’ ที่มาจากเกษตรกรล้วนๆ ไม่มีนมผงผสมนั้นเป็นการรับรู้โดยอัตโนมัติของตลาดอย่างไม่มีข้อกังขา

          ด้วยเป้าหมาย ‘นมแห่งชาติ’ ในปี 2020 ที่ อ.ส.ค.ต้องการทะยานให้ถึง ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า

          “ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เราต้องไปถึงตรงนี้ให้ได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเราอยากบริโภคนมจะต้องนึกถึงตราสัญลักษณ์ ‘ไทย-เดนมาร์ค’ แล้วเราก็ต้องการให้ทราบว่า การดื่มนมไทย-เดนมาร์คก็เท่ากับได้ช่วยให้อาชีพพระราชทานนี้มีความยั่งยืนและช่วยเศรษฐกิจของชาติได้”

          ยุทธศาสตร์ของอ.ส.ค.สู่เป้าหมายดังกล่าวในแง่ของผลิตภัณฑ์ แน่นอนว่า การออกสินค้าใหม่หรือไลน์สินค้าใหม่ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อสร้างความหลากหลาย ขณะเดียวกัน การเพิ่มศักยภาพในส่วนของหลังบ้านก็เป็นสิ่งจำเป็น
      
          ทั้งนี้ อ.ส.ค. มีผลิตภัณฑ์นมของตนเองอยู่หลายเซกเมนต์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนมยูเอชที นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (ยูเอชที) นมแช่เย็น (นมพาสเจอร์ไรซ์) ที่มีหลายขนาด หลายรสชาติและที่เพิ่งเปิดตัวเร็วๆ นี้เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือ ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ออร์แกนิค ตราไทย-เดนมาร์ค ‘มอร์แกนิค’ ผลิตภัณฑ์ใหม่ระดับพรีเมียมที่อ.ส.ค. ส่งเข้าตลาดเพื่อชิงแนวรบในตลาดบนและตลาดคนรักษ์สุขภาพ

          ขณะเดียวกัน ในส่วนของการผลิต ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า 

          “ในแง่ของการผลิต เรามีความได้เปรียบไม่แพ้ใคร เนื่องจากเรามีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสระบุรี, อ.ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์, ขอนแก่น, สุโขทัยและเชียงใหม่ โดยขณะนี้เราได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตนมแช่เย็นที่สระบุรีและเชียงใหม่

          นอกจากนี้ เรายังทำฟาร์มโคนมอินทรีย์ เพื่อให้ได้น้ำนมดิบชั้นเลิศปราศจากการปนเปื้อน เพื่อส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ตามมาตรฐานสุขอนามัยของฟาร์มและแม่โคนมที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เนื่องจากการวิจัยของต่างประเทศบ่งชี้ชัดเจนว่ามูลค่าน้ำนมอินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้นราว 30% นั้นจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ จากการทุ่มเทเพื่อใช้น้ำนมดิบชั้นเลิศ อ.ส.ค. จึงเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ทำฟาร์มโคนมอินทรีย์และได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่า อ.ส.ค.เป็นผู้ผลิตนมอินทรีย์และเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งเราเองก็จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสร้างเป็นเครือข่ายโคนมอินทรีย์อย่างต่อเนื่องต่อไป”


ว่าด้วยตลาด

          ความแข็งแกร่งอีกประการของ อ.ส.ค. ในตลาดคือช่องทางจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิม (Traditional Trade :TT) ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า 

          “ความแข็งแกร่งในตลาด TT ของอ.ส.ค.นี้ แม้แต่แบรนด์นมค่ายยักษ์ใหญ่ก็พยายามเข้ามาเจาะเหมือนกัน แต่ก็ยังเจาะได้ไม่เท่ากับเรา สำหรับช่องทาง TT นั้นต้องบอกว่านี่คือช่องทางตั้งต้น ซึ่งปัจจุบันเราก็ทำตลาดในส่วนของโมเดิร์นเทรดด้วย และในช่องทางหลังนี้แน่นอนว่ามีปริมาณมากกว่า TT มากนัก 

          นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังจะเน้นขยายตลาดต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มเอเย่นต์ในตลาดเดิมและเปิดตลาดใหม่ในประเทศเวียดนาม เมียนมา และจีนเป็นต้น โดยเราคาดว่าตลาดนมพาณิชย์ยูเอชทีในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ AEC จะเติบโตถึง 28.57% ขณะที่เซกเมนต์นี้เติบโต 10.67% ของตลาดในประเทศไทย

          ขณะเดียวกัน เราก็จะเน้นขยายศูนย์กระจายสินค้าให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ รวมทั้งเน้นบูรณาการบริหารจัดการระหว่างทุกโรงงานนมของ อ.ส.ค. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เช่น ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรการผลิต เพื่อให้ อ.ส.ค. มีความแข็งแกร่งสามารถเพิ่มยอดขายและแข่งขันกับภาคเอกชนได้”
 

   

 

การบริหารจัดการภายใน
    
          การขับเคลื่อนสู่ยอดขาย 1 หมื่นล้านบาทในปี 2020 นั้นจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรในองค์กร ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวถึงตนเองว่า จากการที่เป็นลูกหม้อของอ.ส.ค.มาก่อน ทำให้ทราบว่าใครทำอะไรได้ อีกทั้งบุคลากรส่วนใหญ่ก็จบมาจากมหาวิทยาลัยทำให้องค์กรมีวัฒนธรรมแบบพี่น้อง แต่ด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนผ่านให้สำเร็จ ดังนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องรับบุคลากรนอกสายการเกษตรให้เข้ามาร่วมงาน เพื่อสร้างพลังผนึกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายงานวิศวะ สายงานไอที สายงานประชาสัมพันธ์ หรืออื่นๆ นอกจากนี้ ก็ปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในให้เป็นระบบออโตเมชั่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบเอกสาร ระบบบัญชี ระบบโลจิสติกส์ ฯลฯ 

          “เราจำเป็นต้องรับพนักงานแบบ Fast Track เพื่อให้เข้ามาช่วยกันทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ ขณะเดียวกัน ก็เร่งดําเนินการพัฒนาบุคลากรในทุก ๆ ด้าน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตขององค์กร นอกจากนี้ เราก็ยังต้องใช้กลยุทธ์ควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมและก่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สำหรับระบบออโตเมชั่นขององค์กรนั้น เราก็เร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ERP) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทั้งระบบขององค์กรมาใช้ เพื่อให้มีความทันสมัยและรวดเร็วทันเหตุการณ์อีกด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าว
 

ความท้าทาย 

          “สิ่งที่ผมกำหนดเป็นเป้าหมายนั้น ผมเชื่อว่า เราทำได้ เพียงแต่เราต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ได้ เพราะที่ผ่านมาต้องบอกว่า เรารู้จักเกษตรกร รู้ว่าเกษตรกรต้องการความมั่นคง ต้องการผลตอบแทนที่ดีจากภาครัฐ ฉะนั้น ก็ต้องถามว่า เราทำให้เกษตรกรได้หรือยังและส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคง ยั่งยืนหรือยัง

          ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกษตรกรทราบว่า อ.ส.ค.เป็นองค์กรทำงานเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่องค์กรเพื่อทำกำไร

          ในส่วนของพนักงาน การสร้างวัฒนธรรมในองค์กรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างลุล่วงนั้นต้องใช้เวลา ฉะนั้น สิ่งที่เราทำกันในตอนนั้นคือ การทำความเข้าใจกับพนักงานในองค์กรว่า ช่วงนี้องค์กรต้องการการเปลี่ยนผ่าน การบริหารจัดการแบบเดิมๆ ที่ไม่มีแผนนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งตอนนี้เราก็ใช้ทีมที่ปรึกษาเข้ามาให้ความรู้กับคนในองค์กรและช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างถูกต้องและมีทิศทางมากขึ้น เพื่อการก้าวสู่วิสัยทัศน์ ‘นมแห่งชาติ’ ในปี 2020 ด้วยกัน”

 

[อ่าน 2,094]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved