เหลือเวลาอีกสองปีเศษที่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม แบรนด์ ‘ไทย-เดนมาร์ค’ จะต้องเดินหน้ากันในอัตราเร่งสู่ ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติ (National Milk Strategy) ที่ปักหมุดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ไว้ในปี 2564
ทั้งนี้ เป้าหมายหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ การทำรายได้ให้ได้ 1 หมื่นล้านบาทนั้น อ.ส.ค.ภายใต้การนำของ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สามารถทำได้เร็วกว่าที่กำหนดในแผนฯ 1 ปี ทั้งที่อุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงแต่ด้วยการตอกย้ำถึงจุดแข็ง ‘นมโคสดแท้100%ไม่ผสมนมผง’ เป็นแบรนด์แรกของตลาด ทำให้ผู้บริโภคให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อแบรนด์ ‘ไทย-เดนมาร์ค’ ที่มีสัญลักษณ์ ‘วัวแดง’ เป็นอย่างมาก
เส้นทางสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติของ อ.ส.ค. จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่องค์กรแห่งนี้จะต้องเกี่ยวข้องทั้งหมดตลอดทั้งโซ่อุปทานตั้งแต่การดูแลส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมซึ่งเป็น ‘ต้นน้ำ’ และเป็นอาชีพพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนถึง ‘กลางน้ำ’ ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์นม ตลอดจน ‘ปลายน้ำ’ ซึ่งเป็นการนำส่งผลิตภัณฑ์นมสู่ช่องทางจัดจำหน่ายและผู้บริโภค
Align with Nation Strategy
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึงเส้นทางขององค์กรนับจากนี้ว่า
"ปีงบประมาณ 2563 อ.ส.ค.ได้ทบทวนและกำหนดแผนวิสาหกิจ อ.ส.ค.ปี 2560 - ปี 2564ให้มีความชัดเจน และสอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน และในอนาคตให้มากขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อให้การดำเนินงานของ อ.ส.ค. เป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น พร้อมทั้งทบทวนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร โดยยึดแนวทางตามที่มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่1/2560 ที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจและแนวทางที่ใช้ในการทำงาน ประกอบด้วย การน้อมนำแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการสำคัญตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12, เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs),ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0, แผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy)"
ทั้งนี้ ในส่วนของ แผนวิสาหกิจ อ.ส.ค. ปี 2560 - ปี 2564 ปีงบประมาณ 2563 เราได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์หลักคือ
2021 National Milk
ในห้วงเวลาปัจจุบันที่ อ.ส.ค. เดินตามแผนวิสาหกิจของ อ.ส.ค.ปี 2560 - 2563 นั้น ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า
"สำหรับปีงบประมาณ 2562 และ 2563 ที่จะถึงนั้นเป็นปีที่อ.ส.ค.ทั้งคณะผู้บริหารและทีมงานทุกคนต้องเร่งก้าวไปสู่การเป็น ‘นมแห่งชาติ’ ในปี 2564 ให้ได้ตามแผนงาน เนื่องจากพันธกิจของ อ.ส.ค.นั้นเกี่ยวข้องกับ 4 งานหลัก ได้แก่ การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เป็นอาชีพแก่เกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืน, การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมนมให้ครบวงจรและมีมูลค่าเพิ่ม,การสร้างแหล่งความรู้ด้านกิจการโคนม, การมุ่งบริหารจัดการองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง ด้วยหลักธรรมาภิบาล
เมื่อพิจารณาจากกรอบพันธกิจเหล่านี้ยิ่งชี้ชัดว่าอ.ส.ค.จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนมทั้งระบบ นั่นคือ จากการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรจนถึงการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมนม ฉะนั้นในการทำงานจึงต้องดำเนินการคู่ขนานกันไปทั้งหมด โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอาทิ การทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้เรื่องโคนมของประเทศไทย โดยให้ความรู้ตั้งแต่การเลี้ยงโคนม การดูแล การบริหารจัดการฟาร์มโคนม เพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับมาตรฐานของน้ำนมดิบและฟาร์ม การลดต้นทุน การใช้ประโยชน์สูงสุดจากการทำปศุสัตว์โคนม และล่าสุด อ.ส.ค.มีแผนที่จะจัดตั้ง สถาบันโคนม หรือ Diary Academy เพื่อพัฒนาสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโคนมทั้งโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ อ.ส.ค.ยังมีที่จะดำเนินงานให้บรรลุ 4 เป้าประสงค์ นั่นคือ การทำเป้าขายในปี 2562 ให้ได้ 1 หมื่นล้านบาท ,การเป็น Top of Mind ของอุตสาหกรรมนม, การเป็นศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับโคนมของประเทศไทยและ การยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีขีดความสามารถ พร้อมทั้งมีภารกิจอื่นๆ ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการองค์กรที่จะต้องดำเนินงานตามเกณฑ์ประเมินที่เรียกว่า KPI ที่กำหนดโดย บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด สถาบันจัดอันดับเครดิต ซึ่งครอบคลุมทั้งนโยบาย ผลประกอบการที่เป็นเม็ดเงินและไม่ใช่เม็ดเงิน ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรซึ่ง KPI เหล่านี้เป็นแนวทางที่ทำให้เราได้ใช้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงตนเองให้สามารถเข้าสู่การเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง พร้อมทั้งเตรียมการทางด้านกระบวนการจัดการภายในองค์กร การบริหารทรัพยากรบุคคล ไอที รวมทั้งการควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบการทำงานที่มีความโปร่งใส ใช้เทคโนโลยี ตรวจสอบได้ ตลอดจนมีนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนและยกระดับการบริหารงานภายในองค์กร"
จากความทุ่มเทของทั้งองค์กร เพื่อเดินทางสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติ ผลลัพธ์ที่เห็นได้มาจากรางวัลหลากหลายที่ อ.ส.ค. โดยเฉพาะรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Awards) ที่ อ.ส.ค. ได้รับมา 3 ปีซ้อนนับจากปี 2559 - ปี 2561 นอกจากนี้ ในแง่ของการทำตลาดและการสร้างแบรนด์ ‘ไทย-เดนมาร์ค’ ก็มีอีกหลายรางวัลเช่นกัน โดยรางวัลล่าสุดที่เพิ่งได้รับเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือ รางวัล Brand Footprint Award ซึ่งจัดโดย บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด อีกครั้งเป็นปีที่สอง โดยรางวัลล่าสุดของปีนี้คือรางวัล Top Rising Brands ขณะที่ปีก่อนหน้าเราได้รางวัล Up And Comers ในปี 2561 ในฐานะที่เป็นแบรนด์ที่มีการเติบโตสูงสุดในผู้บริโภคกลุ่มครอบครัว
นี่จึงชี้ชัดว่า ภารกิจพิชิตการเป็น Top of Mind Brand ของนมไทย-เดนมาร์คที่เป็นรูปธรรมและไฮไลท์ต่อไปยังเส้นทางสู่ยุทธศาสตร์ ‘นมแห่งชาติ’ ของ อ.ส.ค.นั้นใกล้เข้ามาทุกทีๆ หรืออาจจะเดินทางสู่เป้าหมายได้ก่อนแผนจริงด้วยซ้ำ หากทั้งองค์กรยังเดินในอัตราเร่งคู่ขนานกันไปทุกภาคส่วน
Expansion
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึงการขยายฐานที่ต้องคู่ขนานกันไปทั้งการผลิตและไลน์ผลิตภัณฑ์ เพื่อเดินหน้าในเชิงพาณิชย์และเดินหน้าขยายฐานตลาดว่า
"เนื่องจาก อ.ส.ค.จะต้องทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการโคนมของเกษตรกร ตามชื่อขององค์กร ปัจจุบัน อ.ส.ค.รับซื้อน้ำนมดิบจาก สหกรณ์ในเครือข่ายของ อ.ส.ค. รวมกว่า 44 แห่ง เฉลี่ย 800 ตัน/วัน ดังนั้น เพื่อให้แผนการดำเนินงานสอดคล้องกันกับภาคการรับซื้อ อ.ส.ค.ก็ต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อนำน้ำนมดิบที่รับซื้อและนำเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน อ.ส.ค.ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่), ภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัย), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น), ภาคใต้ (ประจวบคีรีขันธ์) และภาคกลาง (สระบุรี)
แต่เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบที่ได้นั้นจะผันผวนจากตัวแปรหลายประการ อาทิ ภูมิอากาศ หรืออาการเจ็บป่วยจากเต้านมอักเสบของแม่โคฯลฯ ดังนั้น ปริมาณน้ำนมดิบที่เข้ามาในระบบก็จะต่างกันมากระหว่างปริมาณสูงสุดถึงต่ำสุด ซึ่งในทางปฏิบัติ เราต้องมีกำลังการผลิตรองรับได้ในกรณีที่มีปริมาณน้ำนมดิบเข้ามาสูงสุดด้วยและผลิตสินค้าไว้ในสต็อกเพื่อรองรับช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำนมดิบเข้ามาในระบบน้อย เนื่องจาก อ.ส.ค.ใช้นมโคสดแท้ 100% ในการผลิตทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้ดูดซับกำลังผลิตน้ำนมดิบจากเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้ อ.ส.ค.ได้ลงทุนกว่า 40 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงงานระบบการผลิต เครื่องจักรและขยายกำลังความสามารถโรงงานนม อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนบน ต.ห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากทางภาคเหนือได้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบภาคเหนือมีปริมาณมากกว่ากำลังผลิตเดิมที่เคยผลิตได้ 15 ตัน/วันเป็น 30 ตัน/วัน ดังนั้น การขยายกำลังผลิตดังกล่าวก็ทำให้ อ.ส.ค.สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรได้มากขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อกำลังผลิตนมพาสเจอร์ไรส์สูงขึ้นก็ทำให้ช่วยเพิ่มศักยภาพการตลาดเชิงรุกกับตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คให้สามารถกระจายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นให้เข้าถึงทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ"
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย ล่าสุด อ.ส.ค.ก็เร่งขยายช่องทางการจำหน่ายของตนเอง เพื่อสร้างแบรนด์ ไทย-เดนมาร์ค
"ก่อนหน้า เรามีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมของเราเอง ในนาม ‘ไทย-เดนมาร์ค มิลค์ แลนด์’ ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องดื่มนมและกาแฟสไตล์โมเดิร์นที่ทำจากนมสดไทย-เดนมาร์ค ที่ อ.ส.ค.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และในศูนย์การค้าไอคอนสยาม โซนสุขสยาม ชั้น UG และเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บางใหญ่ ชั้น 3 ตรงข้ามศูนย์อาหาร เพื่อให้ อ.ส.ค.เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัวได้มากขึ้น เนื่องจากอยู่ในโลเกชั่นระดับไพรม์ของกรุงเทพฯ และเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ อ.ส.ค.เป็น Top of Mind ในใจผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้คนไทยบริโภคนมมากขึ้น เนื่องจากคนไทยบริโภคนมน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เฉลี่ยเพียง 18 ลิตร/คน/ปีเท่านั้น
ทั้งนี้ อ.ส.ค.มีแผนที่จะเปิด “ไทย-เดนมาร์ค มิลค์แลนด์” ในเมืองต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ขณะเดียวกัน เราก็ยังมีโมเดลธุรกิจของร้าน ‘ไทย-เดนมาร์ค มิลค์ช็อป’ ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่เปิดในสถาบันการศึกษาทั้งระดับโรงเรียน – มหาวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างเต็มที่
การเปิดช่องทางการทำตลาดผ่าน ไทย-เดนมาร์ค มิลค์แลนด์ โมเดลธุรกิจ มิลค์ คาเฟ่ และ ‘ไทย-เดนมาร์ค มิลค์ช็อป’ ที่จะเข้าถึงลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์โดยตรงในวงกว้างนั้นถือเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาใกล้ชิดกับแบรนด์ของเรามากขึ้นและเป็นโอกาสที่จะสร้าง Brand Lover เพิ่มเติมในอนาคตและต่อยอดเป็น Lifetime Customers ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ในแง่ของผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์นมให้ครบไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนมเปรี้ยว โยเกิร์ต นมและโยเกิร์ตที่ผลิตจากนมออร์แกนิค ภายใต้ชื่อ ไทย ไทย-เดนมาร์ค มอร์กานิค (Morganic) ไอศกรีม ล่าสุด จากการออกนม ไทย-เดนมาร์ค แลคโตส ฟรี (Thai-Denmark Lactose Free) ผลิตภัณฑ์ล่าสุดของแบรนด์นมไทย-เดนมาร์ค และต้องการให้เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่จะเป็น Top of Mind ในใจผู้บริโภค ภายใต้ Key Message ‘นมดีไม่แพ้ ของแท้ไม่ผสม’ นมปราศจากน้ำตาลแลคโตส เพื่อเจาะกลุ่มผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตส หรือผู้บริโภคที่ไม่คุ้นเคยกับการดื่มนม หรือไม่ได้ดื่มนมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์นมปราศจากน้ำตาลที่ผลิตจากนมโคสดแท้ 100% ที่นำมาผ่านกระบวนการผลิตพิเศษที่ย่อยแลคโตสให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลที่เล็กลง ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น ดื่มง่าย สบายท้อง แต่ยังคงความหวานจากน้ำตาลธรรมชาติในนมและมีรสชาติความอร่อยเหมือนนมโคทั่วไปแต่ยังคงความหวานจากน้ำตาลธรรมชาติในนม ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ แลคโตส ที่ออกมาขณะนี้เป็นรสจืด มีทั้งแบบยูเอชที ขนาด 200 มล. และแบบพาสเจอร์ไรส์ ขนาด180 มล. นอกจากนี้ อ.ส.ค.ยังมีแผนที่จะขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มนมเย็นไปยังกลุ่มธุรกิจคาเทอริ่ง (Catering) โรงแรม ฟู้ดคอร์ท ร้านอาหาร ฯลฯ อีกด้วย เพื่อให้ อ.ส.ค.สามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายนมแห่งชาติได้อย่างมั่นคง"
"ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ตั้งเป้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย1หมื่นล้านบาทในปี 2563 แต่การทำรายได้ของ อ.ส.ค.ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย เราจึงได้ขยับเป้ารายได้ 1หมื่นล้านบาทให้เร็วขึ้นเป็นปี 2562 ซึ่งเพิ่มจากปีงบประมาณ 2561 ที่ทำรายได้ 9,560 ล้านบาทและเรามั่นใจว่า เราจะสามารถบรรลุเป้ารายได้นี้อย่างแน่นอน แม้ว่าสภาพการแข่งขันในตลาดจะเข้มข้นทั้งจากผลิตภัณฑ์นมแบรนด์ใหม่ๆ และประเภทใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาดหลายประเภททั้งจากผู้เล่นหน้าเก่าและผู้เล่นหน้าใหม่จะมีอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม
ทั้งนี้ เป้ารายได้ 1 หมื่นล้านบาทและการก้าวสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาตินั้น เราได้เตรียมการรองรับทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายกำลังผลิตนมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นที่โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนบน ตลอดจนการโฟกัสกับการทำงานวิจัย ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ซึ่งในการดำเนินงานของ อ.ส.ค. เราทำตลอดทั้งโซ่อุปทานอยู่แล้ว เช่น ในระดับอุตสาหกรรมนมก็มีการผลิตนมแลคโตสฟรี, โยเกิร์ต ฯลฯ ในส่วนของงานส่งเสริมก็มีงานวิจัย เรื่องการทำพืชอาหารสัตว์, การหมัก, การเก็บถนอมอาหาร ฯลฯ และปัจจุบันเราก็มีการวิจัยหลายเรื่องที่กำลังศึกษากันอยู่และนำไปสู่การปฏิบัติแล้ว อย่างเรื่องอาหารสัตว์ที่นำไปทดลองใช้กับเกษตรกร"
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึงเป้าหมายรายได้เพิ่มเติมว่า "จากเป้าหมายรายได้ 1หมื่นล้านบาทที่เราขยับเข้ามาในปี 2563 แต่กลับเดินหน้าได้ใกล้เคียงเป้าหมายมากในปี 2562 ล่าสุด เราได้ปรับแผนวิสาหกิจของ อ.ส.ค.ปี 2560 - 2563 ปีงบประมาณ 2563 ใหม่เป็น1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง อ.ส.ค. เชื่อว่า ด้วยศักยภาพของทีมงานในองค์กร ความร่วมแรงร่วมใจ ภายใต้ยุทธศาสตร์องค์กรที่วางไว้ เป้าหมายที่ปักหมุดนี้ย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน"