โลกหลังโควิด-19 และ New Normal ของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
09 Oct 2020

 

นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปี 2020 โลกได้เผชิญกับเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เข้ามาสั่นคลอนความเป็นไปในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สงครามการค้า ความตึงเครียดทางการเมืองและอีกสิ่งหนึ่ง ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงไปยังนานาประเทศทั่วโลกนั่นคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ที่ขยายวงกว้างไปทุกทวีปทั่วโลก ความสูญเสียครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างใหญ่หลวง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อสุขอนามัยและวิถีชีวิตเท่านั้น ยังส่งต่อไปถึงภาคเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมด้วย กระทั่งเป็นที่มาของคำว่า ความปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งใช้อธิบายการปรับหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับความพยายามรักษาและฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจ มีการปรับแนวคิด วิสัยทัศน์ วิธีการจัดการ ตลอดจนพฤติกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน ปรับเปลี่ยนออกจากความคุ้นเคยเดิม

 

เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก World Bank พบว่า อัตราการเติบโตของนานาประเทศทั่วโลกหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2009 มีเพียงปี 2010 ที่ GDP ทั่วโลกกลับมาเติบโตได้สูงถึง 4.30% แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 2011-2019 GDP ทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.83% ต่อปีโดยปี 2019 ที่ผ่านมาเติบโต 2.48% ซึ่งสาเหตุในครั้งนี้ เนื่องจากการพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ทำให้หลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตในอัตราสูงเช่นเดิมได้อีก กลายเป็นการเติบโตในอัตราใหม่ หรือ New Normal นั่นเอง

 

 

ความเสี่ยงจากโควิด-19 ในช่วง 18 เดือนข้างหน้า

World Economic Forum ได้มีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ในช่วง18 เดือนข้างหน้า (ถึงสิ้นปี 2021) ผ่านการสัมภาษณ์นักวิเคราะห์ทั่วโลกกว่า 347 คน โดยสามารถแบ่งประเภทความเสี่ยงได้ 5 ประเภท ดังนี้

1. ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ มีประเด็นที่น่ากังวลใจที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะยาวนานกว่าที่คาด ธุรกิจจะมีการล้มละลายรวมทั้งการควบรวมกิจการที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ บางกลุ่มจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว คิดเป็นสัดส่วน 68.6%, 56.8%, 55.9% และ 49.3% ตามลำดับ

2. ความเสี่ยงทางสังคม มีประเด็นที่น่ากังวลใจที่สุด คือ อาจมีโรคติดต่อใหม่ๆ เกิดขึ้น การใช้อำนาจของภาครัฐกระทบสิทธิเสรีภาพ มีปัญหาสุขภาพจิตจากความเครียดและความวิตกกังวล และการแบ่งแยก และความไม่เท่าเทียมทางสังคม คิดเป็นสัดส่วน 30.8%, 23.3%, 21.9% และ 21.3% ตามลำดับ

3. ความเสี่ยงทางปัญหาภูมิศาสตร์ มีประเด็นที่น่ากังวลใจที่สุด คือ ความเข้มงวดในการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศ การหาประโยชน์ทางภูมิศาสตร์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความมีมนุษยธรรมที่ลดลงจากการลดความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และการแปลงกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 48.7%, 24.2%,  19.6% และ 17% ตามลำดับ

4. ความเสี่ยงทางเทคโนโลยี มีประเด็นที่น่ากังวลใจที่สุด คือ การโจมตีทางไซเบอร์ และข้อมูลหลอกลวง  อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจากการนำเครื่องจักรมาใช้ การปรับมาใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่พร้อมเร็วเกินไป คิดเป็นสัดส่วน 37.8%, 24.8% และ 13.8% ตามลำดับ

5. ความเสี่ยงทางสภาพแวดล้อม มีประเด็นที่น่ากังวลใจที่สุด คือ ความล้มเหลวในการลงทุนเพื่อรักษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ คิดเป็นสัดส่วน 18.2% แม้ความกังวลใจดังกล่าวอาจเห็นแต่ปัจจัยลบที่มีความมืดมนต่อการหาทางออก นักวิเคราะห์หลายคนก็ให้ความเห็นว่า แนวทางการฟื้นฟูในครั้งนี้อาจเป็นโอกาสครั้งสำคัญต่อการเริ่มต้นใหม่ของระบบทั่วโลก

 

 

ผลกระทบต่อสินค้าฟุ่มเฟือย

เมื่อตลาดทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ สิ่งที่แบรนด์หรูต่างๆ ควรให้ความสำคัญ คือ สื่อดิจิทัล สุขอนามัย การสร้างประสบการณ์ที่ดี และความยั่งยืน ถือเป็น 4 ปัจจัยหลักที่จะมีส่วนผลักดันให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ โดยสามารถใช้ปัจจัย 4 อย่างนี้ มาประยุกต์ส่งต่อให้ลูกค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้

1. สื่อดิจิทัล ในปี 2020 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 4 พันล้านคนทั่วโลก และกว่า 51%ใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน แบรนด์ต่างๆ ควรต้องหันมามองนวัตกรรมในสื่อดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับผู้บริโภค ในช่วงเวลาที่มีข้อจำกัดในการซื้อขายหน้าร้านแบบนี้ Virtual Networking คือ หนึ่งความสำเร็จที่ถูกนำมาใช้ด้วยการสื่อสารกับลูกค้าผ่านสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Instagram Facebook หรือ YouTube ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์กระแสหลักที่นิยมใช้งานทั่วโลก

 

2. สุขอนามัย ความสะอาดและความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องสำคัญที่คนทั่วไปเกิดความตระหนักมากขึ้น ดังนั้น การนำเสนอวิธีทำความสะอาดเครื่องประดับผ่านสื่อออนไลน์ การเลือกสวมใส่เครื่องประดับที่ง่ายต่อการดูแลรักษา แม้แต่การรักษาความสะอาดหน้าร้านอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างคุณค่าและการจดจำต่อแบรนด์ในช่วงเวลาวิกฤตได้ด้วย นอกจากนี้ เหล่าแบรนด์ชั้นนำระดับโลกยังใช้ประเด็นสุขอนามัยมาทำกลยุทธ์ CSR เพื่อสร้างคุณค่าให้แบรนด์ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัท LVMH ที่เปลี่ยนแบรนด์ในเครือมาผลิตเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และร่วมบริจาคเงินให้บุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่แบรนด์ดังฝั่งอิตาลีอย่าง BVLGARI หรือแบรนด์ดังแห่งสหราชอาณาจักร Burberry ก็ใช้แนวทางในลักษณะเดียวกัน

 

3. การสร้างประสบการณ์ที่ดี มีตัวอย่างจาก Objetd’Emotion แพลตฟอร์มเครื่องประดับชั้นสูง ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้วยการส่งแคตาล็อกออนไลน์ที่ผ่านการคัดสรร โดยทีมงานส่งตรงถึงลูกค้าที่มีศักยภาพ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้จะรู้สึกถึงความมีคุณค่า และความสำคัญที่แบรนด์มอบให้ นอกจากนี้ การขยายเวลาให้บริการที่มีความยืดหยุ่น การส่งสินค้าโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมก็มีส่วนช่วยให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ซึ่งเป็นวิธีการรักษาสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างต่อเนื่องแม้สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติในอนาคต

 

4. ความยั่งยืน ในปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมักมองหาเครื่องประดับที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลายแบรนด์จึงนำเสนอความรักษ์โลกสอดแทรกเข้าไปในสินค้าเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นแบรนด์ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม หรือการขายเครื่องประดับที่มีการรับรองมาตรฐานจาก Responsible Jewelry Council (RJC) องค์กรที่กำหนดมาตรฐานสำหรับเครื่องประดับที่มีความใส่ใจตลอดห่วงโซ่อุปทาน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความมั่นใจกับผู้บริโภคได้

 

 

จากแนวทางดังกล่าวไม่ว่าโลกจะสามารถกลับไปสู่จุดเดิมได้ช้าหรือเร็ว หรือไม่สามารถเติบโตได้ในรูปแบบเดิมอีก คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากเท่ากับว่า เราจะผ่านห้วงเวลานี้ไปได้อย่างไร สารพัดนิยาม และคำแนะนำที่เราเห็นจนชินตาแต่ต้องไม่ชาชินทั้ง New Normal, Disruption, Transformation, Social Distancing และอื่นๆ จะไม่ใช่เพียงศัพท์บัญญัติที่เกิดขึ้นเพื่อใช้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากแต่มีคุณค่ามากกว่านั้น หากสร้างความตื่นตัวให้แต่ละภาคส่วนนำไปต่อยอดพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม และแนวทางสร้างสรรค์ที่จะเป็นประตูสู่โอกาสใหม่ต่อยอดไปในอนาคต

 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

[อ่าน 3,579]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศุภาลัย ผนึก ทีโอเอ ปั้นนวัตกรรมที่อยู่อาศัยสีเขียว ผุดโปรเจกต์ยักษ์ ‘ฝ้ายิปซัม & สีรักษ์โลก’
KFC Thailand ครบรอบ 40 ปี เปิดตัว “แบมแบม กันต์พิมุกต์” 
Friend of KFC คนแรกของประเทศไทย
CMG ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ส่งแบรนด์ FitFlop ลุยตลาดเวียดนาม ปลื้มได้สิทธิ์ผู้แทนจำหน่ายเพียงรายเดียว
‘วิถี 8’ กุญแจสำคัญสร้าง ‘ผู้นำที่ใช่’ พิชิตความท้าทายในโลกธุรกิจยุคใหม่
ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน
ไอคอนสยาม จับมือมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดแสดงผลงานนักศึกษา Prismatic
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved