ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ผู้นำ 'มทร.ธัญบุรี' ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
17 Jul 2021

 

เส้นทางของ 'มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี' (มทร.ธัญบุรี) ที่จะเดินหน้าสู่การเป็น 'มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ' ชัดเจนขึ้นทุกขณะ และคาดว่า การปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยฯ จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ จากกระบวนการล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เสนอเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ และบทบาทของ มทร. ธัญบุรี ในยุคเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะเป็นอย่างไร ภายใต้การนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวในมิติต่างๆ ตลอดจนแผนการแสวงหารายได้อื่นๆ นอกเหนือจากรายได้ค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา

 

เมื่อเป็น 'มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ' เต็มตัวจะมีการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยใหม่หรือไม่         

เรายังใช้ชื่อสถาบันตามเดิม เนื่องจากชื่อมหาวิทยาลัยฯ เป็นนามพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯยังได้อัญเชิญดวงตราพระราชลัญจกร, เครื่องหมายประจำองค์พระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 9 และ พระมหาพิชัยมงกุฎในตราประจำมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

คาดว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็น 'มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ' จะเสร็จสิ้นเมื่อใด

ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) ได้เสนอแล้วเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะนำ มทร.ธัญบุรี ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หลังจากใช้เวลาถึงจุดนี้เกือบ 2 ปี สำหรับขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นการส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งคงใช้ระยะเวลาประมาณสองเดือน จากนั้นก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาตามลำดับ จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นประมาณปี 2565    

 

การออกนอกระบบมีผลดี/ผลเสียอย่างไรหรือไม่กับมหาวิทยาลัยเอง บุคลากรและนักศึกษา

การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กลับจะทำให้เราสามารถบริหารงานในด้านต่างๆ ได้อย่างอิสระ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อีกทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเรื่องการพัฒนาบุคลากรการบริหารภายใน เช่น การจัดตั้งหน่วยงาน คณะ วิทยาลัย ส่วนการบริหารงานบุคคลร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ก็ให้อำนาจมหาวิทยาลัยในการกำหนดอัตราตำแหน่ง ค่าตอบแทน และวิธีการพัฒนาบุคลากรได้อิสระ ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการ ทั้งเงินบุคลากร และงานได้เอง ก็จะทำให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีข้อจำกัดของการเป็นส่วนราชการ ที่อาจจะไม่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่จะรองรับนโยบายของประเทศได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีสถานะเป็นหน่วยงานราชการอยู่มหาวิทยาลัยฯ ยังมีอิสระในการบริหารงบประมาณการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ยังคงได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุน โดยที่มหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้บริหารจัดการให้ตอบโจทย์ที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่งบประมาณอย่างอื่นๆที่ใช้จ่ายนั้นจะต้องได้มาจากองค์ความรู้เชิงวิชาการของเราเพื่อสร้างรายได้สะสมกลับเข้ามาที่มหาวิทยาลัย นอกเหนือจากรายได้จากค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้เฉพาะกับการบริหารจัดการสำหรับการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ไม่มีรายได้สะสมเข้ามหาวิทยาลัยฯ เลย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

 

จะมีผลทำให้ค่าเทอมของนักศึกษาแพงขึ้นด้วยหรือไม่

ไม่มีผลกระทบส่วนนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงสามปีนี้ เราจะไม่แตะในส่วนค่าเทอม เราตั้งเป้าว่า แหล่งรายได้จะต้องมาจาก แหล่งทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย จากเดิมที่เราจะต้องใช้ทุนทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยของเราเอง แต่เมื่อเราหาแหล่งทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกได้ มหาวิทยาลัยก็ประหยัดงบ และสามารถทำวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ว่าจ้าง และสามารถใช้งานได้จริง อีกทั้ง สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติได้

 

เราได้ข้อคิด หรือได้ประสบการณ์ทางลัดอะไรที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 'รุ่นพี่' บ้างหรือไม่

การที่เราออกนอกระบบช้ากว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆไปบ้างนั้นก็กลับทำให้ได้รับประโยชน์จาก Lesson Learned ของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบก่อนหน้าเราโดยเราได้ศึกษาโดยแบ่งเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก พร้อมทั้งศึกษาถึงข้อดีและข้อจำกัด ปัญหาต่างๆ โดยส่วนที่ดีเราก็นำมาใช้เป็นตัวอย่างให้กับเราและนำมาปรับใน 'พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี' ขณะเดียวกันก็ศึกษาว่า มีปัญหาใดบ้างที่มหาวิทยาลัยฯ จะต้องเตรียมตัวรับมือ หรือแก้ไข ซึ่งเราก็ได้รับความร่วมมือและคำแนะนำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับข้อจำกัด หรือปัญหาที่คาดว่าจะเกิดเป็นอย่างดี

 

มทร.ธัญบุรี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับ 'กลุ่มราชมงคล' ด้วยกันหรือไม่ เพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ      

ไม่ถึงขนาดเป็นพี่เลี้ยง แต่ มทร.ธัญบุรี เป็นตัวอย่างให้กับราชมงคลอื่นๆ ที่มีแผนจะออกนอกระบบ เนื่องจากเรามีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างอธิการบดี กลุ่มราชมงคลที่มี 9 แห่งเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งกลุ่มราชมงคลที่มีแผนจะออกนอกระบบ อาทิ มทร.อีสาน, มทร.พระนคร

 

โครงสร้างรายได้ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยอย่างไร          

โครงสร้างรายได้ของมหาวิทยาลัยฯ ในปัจจุบันแบ่งเป็น รายได้ส่วนที่ได้รับจากค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 1,200 ล้านบาทต่อปี รวมเป็น 2,000 ล้านบาทต่อปี

แต่ในส่วนของค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาประมาณ800 ล้านบาทต่อปีนั้น เป็นส่วนที่มหาวิทยาลัยฯ ใช้สำหรับการบริหารจัดการทางด้านการเรียนการสอนของนักศึกษาเท่านั้น และเป็นรายได้ที่ใช้หมด ไม่มีรายได้สะสม ซึ่งมหาวิทยาลัยยังโชคดีที่ได้รับเงินสนับสนุน

 

เมื่อออกนอกระบบแล้ว มหาวิทยาลัยมีแผนหารายได้ อย่างไร

ต้องพูดถึงเป้าหมายของการหารายได้ เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐก่อนว่า เราก็ตั้งเป้าหมายที่จะต้องสร้างรายได้เพิ่มจากทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประกอบด้วย สิทธิบัตร และทุนวิจัยจากแหล่งทุนของหน่วยงานภายนอกเป็นเป้าหมายสำคัญ ตลอดจนรายได้จากโมเดลธุรกิจ (Business Model)ใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้สะสม และสำรองไว้กรณีหากรัฐบาลไม่สามารถจ่ายงบสนับสนุนให้เท่าเดิมที่เคยได้ในปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งในกรณีนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้วางแผนการสร้างรายได้ในแต่ละปีไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับการหารายได้ในภาพรวมนั้น เราเริ่มทำมาได้สักระยะแล้ว โดยได้ทำแผนธุรกิจเพื่อหารายได้ ทั้งจากที่ได้รับการเสนอแนะมาจากท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภาวิชาการฯ รวมทั้งกรรมการในชุดต่างๆ ที่เราตั้งมา พร้อมทั้ง ตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนต่างๆ และได้มอบหมายให้รองอธิการบดีที่รับผิดชอบในแต่ละด้านให้รับผิดชอบต่อไป เพียงแต่เป้าหมาย ที่ต้องการสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะนี้ยังน้อยมาก แต่ก็เชื่อว่ายอดรายได้น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป แต่เดิมเราได้ทุนวิจัยน้อยมากอยู่ในหลักสิบล้านบาทเท่านั้น ทว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามีรายได้จากส่วนของทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก 140 ล้านบาท สำหรับปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เราก็ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 140 ล้านบาท ซึ่งถึงตอนนี้ก็คาดว่าน่าจะเกินแล้ว ซึ่งเป็นรายได้หนึ่งที่ควบคู่ไปกับการขายสิทธิบัตร ซึ่งปัจจุบันยังสร้างรายได้ไม่ถึงสิบล้านบาท

สำหรับแนวทางการหารายได้สะสมนั้น เราเน้นแสวงหารายได้จากหน่วยงานภายนอกและดำเนินการในหลายรูปแบบ ทั้งในลักษณะของการใช้องค์ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อรับโครงการวิจัยต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราได้รับแหล่งทุนจากภายนอก เช่น การรับจ้างวิจัย การเป็นผู้เชี่ยวชาญ และการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งจากการที่มทร.ธัญบุรี ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence : COE) มาก่อนหน้านี้หลายปี จนถึงปัจจุบัน เราได้จัดตั้งศูนย์ COE จำนวน 20 ศูนย์แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษานำความรู้ทางวิชาการ เพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และมีรายได้กลับมาเป็นการรับงานจากหน่วยงานภายนอกมา เพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาได้มีโอกาสทำงานจริงๆ อีกทั้งคนทำงานก็มีรายได้ตอบแทนและมหาวิทยาลัยก็รายได้สะสมด้วย

 

 

ขณะเดียวกันก็มุ่งบริหารจัดการในรูปแบบโมเดลทางธุรกิจ (Business Model) อื่นๆ เพื่อเน้นการสร้างรายได้ใหม่ๆให้กับมหาวิทยาลัย อาทิ การสร้างรายได้จากการเป็นสถานที่จัดการฝึกอบรมของโครงการต่างๆ ซึ่งมีผู้สนใจใช้บริการนี้กับมหาวิทยาลัยฯ เป็นจำนวนมาก, การเป็นศูนย์ทดสอบต่างๆ เช่น ศูนย์ทดสอบทางด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อทดสอบคุณสมบัติทางด้านวัสดุของภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้ผลของการทดสอบเหล่านี้มาใช้อ้างอิงประกอบการส่งออกของผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งศูนย์ทดสอบปัจจุบันก็มีหลายแห่ง ดังนั้นเราจึงได้จัดตั้ง'ศูนย์เครื่องมือ'ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อรวบรวมเครื่องมือต่างๆ ที่เรามี เพื่อจัดทำอัตราการทดสอบ อัตราการจ้างเจ้าหน้าที่เพื่อบริหาร อัตราการจ้างเจ้าหน้าที่เพื่อทำประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

ด้วยยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป็น 'มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม' (Innovative University) ดังนั้น การเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตบัณฑิต และงานวิจัยของอาจารย์จึงเป็นการสร้างบัณฑิตที่เป็นนวัตกร และมุ่งสร้างงานนวัตกรรม ด้วยการปลูกฝังการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่า และมีประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน เพื่อให้สามารถนำงานวิจัยต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริงและมีคุณภาพ เมื่อมหาวิทยาลัยฯ มีงานวิจัยจากนวัตกรรมเหล่านี้ เราก็สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มทำแล้ว โดยส่วนหนึ่งก็เป็นการขายในเชิงสิทธิบัตรด้วย หรือการร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่าย  

นอกจากนี้การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยังเอื้อให้เราสามารถจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี (Holding Company)ได้ ฉะนั้น เราก็สามารถร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งเราก็ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้วจากการทำโครงการสหกิจศึกษา โดยมีบริษัทที่เป็นพันธมิตร และให้นักศึกษาทำสหกิจศึกษากว่า 1,500 บริษัท  ฉะนั้นงานวิจัยที่บริษัทต่างๆ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นงานที่เราคุ้นเคยมากๆ และทำมานาน ขณะเดียวกัน เราก็ยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหอการค้าจังหวัดปทุมธานี และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  อีกทั้ง มีทำเลอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ดังนั้น จึงอยู่ท่ามกลางแหล่งงานที่มีโรงงานอุตสาหกรรมล้อมรอบมากกว่า 3,000 แห่ง 

 

การออกนอกระบบทำให้ต้องหารายได้ด้วย มทร.ธัญบุรี จะยังคงเน้นบทบาทกับชุมชนเหมือนเช่นเคยหรือไม่

การพัฒนาเพื่อยกระดับชุมชนให้มีความกินดีอยู่ดี และมีความเข็มแข็งในทางเศรษฐกิจ ถือเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยฯ มาช้านาน จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา เรามีโครงการช่วยเหลือชุมชนหลายโครงการ อย่างเช่น ครงการ โครงการ U2T (University 2 Tumbon) ซึ่งเป็นโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ และได้รับงบสนับสนุนจากกระทรวงฯ เพื่อพัฒนา 80 ตำบล ใน 6 จังหวัด  เพื่อนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยไปพัฒนา และแก้ปัญหาให้กับชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงานและทำให้เกิดผลผลิตที่ดี เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการยกระดับรายได้ทั้งของชุมชนและมหาวิทยาลัย

โดยมีอาจารย์เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับนักศึกษา บัณฑิต และคนในชุมชน เฉลี่ยโครงการละ 20 คน ประกอบด้วย บัณฑิตจบใหม่ทั้งจากสถาบันของเรา หรืออาจจะมีบัณฑิตจบใหม่จากสถาบันอื่นมาร่วมทำงานด้วยกันจำนวน 10 คน ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บัณฑิตที่ยังไม่มีงานทำก็สามารถเข้ามาทำงานในโครงการนี้ได้ โดยทางมหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนการจ้างงานในรูปแบบเงินเดือนจากกระทรวงอว. นอกจากนี้ ก็มีนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการอีก 5 คนเพื่อทำงานร่วมกับอาจารย์และทำงานร่วมกับคนในชุมชนอีก 5 คน

ทั้งนี้ จากการทำงานร่วมกันในโครงการระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับชุมชน เราก็จะดูความต้องการของชุมชนด้วย เนื่องจากแต่ละชุมชนที่เข้าร่วมโครงการก็จะมีทรัพยากรของตนเองอยู่แล้ว ต้องการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับสินค้าในชุมชนของตนเอง อาทิ สินค้า OTOP ของชุมชนบางแห่งที่ยังไม่สามารถยกระดับตนเองขึ้นไปสู่ระดับ 5 ดาว เราก็เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร นับแต่การพัฒนาวัตถุดิบ การให้ความรู้ทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ จนถึงการให้ความรู้ทางด้านการขายออนไลน์ โดยร่วมมือกับชุมชนอย่างใกล้ชิด

        

     

มีข้อคิดอะไรหรือไม่สำหรับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย

ในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของภาครัฐ ต้องทำความเข้าใจกับคณาจารย์และบุคลากรทุกท่านว่า เราจะเดินหน้ากันอย่างไรเพื่อที่จะร่วมทางเดินไปด้วยกัน ซึ่งเราได้ทำโครงการความร่วมมือ กับสภาคณาจารย์และข้าราชการ โดยผมจะเข้ารับฟังประชาพิจารณ์เอง จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ ได้ส่งแบบสอบถามให้บุคลากรทุกท่านว่า มีคำถาม ข้อสงสัยอะไรบ้าง การจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทุกคนจะต้องร่วมแรงร่วมใจ เพราะนี่คือโอกาสอันดีที่ มทร.ธัญบุรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ​(Middle Income Trap) ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

[อ่าน 8,526]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved