STAGFLATION? RUSSIA - UKRAINE EFFECT
24 Apr 2022

 

Stagflation มาจากคำว่า Stagnation (สภาวะหยุดนิ่ง) และ Inflation (สภาวะเงินเฟ้อ) เมื่อรวมเข้าด้วยกันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่ง ของแพงขึ้น แต่สภาวะเศรษฐกิจกลับโตไม่ทันกัน และมีอัตราว่างงานสูง


 

ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย -ยูเครน ที่รุนแรงจนนำไปสู่สงครามนั้นในความรู้สึกของคนไทยทั่วไปอาจมองว่า นี่คือเรื่องไกลตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรามากนัก แต่เมื่อมองในมิติทางด้านเศรษฐกิจก็จะพบว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลอย่างมากต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ อัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบโดยตรงทั้งในระดับครัวเรือน ถึงระดับประเทศ และระดับโลก

ที่สำคัญ ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลทำให้คำว่า Stagflation ถูกกลับมาพูดกันอย่างอีกครั้ง จากเดิมที่มีการพูดถึงกันในช่วงมกราคมที่ผ่านมาจากการคาดคะเนถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะ Stagflation หรือไม่ จากเดิมที่แม้แต่ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ประเมินว่า ไม่น่าจะเกิด

แต่เมื่อมีความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย -ยูเครน เกิดขึ้นแล้ว

ความเห็นที่มีต่อคำๆ นี้กลับเปลี่ยนไป และถูกกล่าวถึงในแง่ที่ว่า

นี่คือจุดเริ่มต้นของ Stagflation!

 

 

Stagflation หรือ 'ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเงินเฟ้อสูง' มาจากการวมคำสองคำเข้าด้วยกัน นั่นคือ 

Stagnant เศรษฐกิจชะงักงัน 

Inflation เงินเฟ้อ หรือแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้น

 

 

เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกันจึงกลายเป็นการอธิบายถึงภาวะเศรษฐกิจที่จะมีทั้ง 'ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน' และ 'ภาวะเงินเฟ้อ' ที่เกิดขึ้นด้วยกัน และโดยทั่วไป จะเกิดในยุคข้าวยากหมากแพง เช่น ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ ซึ่งส่งผลเสียหายต่อภาคการผลิต ทำให้ราคาพืชผลการเกษตรมีราคาแพงขึ้น

 

ทั้งนี้ จากอรรถาธิบายของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวถึงคำๆ นี้ในช่วงมกราคม  2565 ที่ผ่านมาว่า ภาวะเช่นนี้จะต้องเป็นภาวะที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อสูง แต่ของประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อแม้จะขยับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในกรอบประมาณการและยังไม่หลุดกรอบ 1-3% และก็ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะหลุดกรอบในกรณีเศรษฐกิจไม่โต จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวโดยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 3.4% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่ได้เลวร้ายอะไร และณ ขณะที่กล่าวนั้น ผู้ว่า ธปท. ยังมองว่า ประมาณการเงินเฟ้อปีนี้คงอยู่ที่ 1.7% และปีหน้าคงจะลดลงมาที่ 1.4%

แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน Stagflation ถูกพูดขึ้นอีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้ และถูกมองว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด Stagflation

 

จากมุมมองของ ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ที่ระบุว่า สภาวการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ามีความใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับ Stagflation ถือเป็น 'จุดเสี่ยงเริ่มต้น' แต่ยังไม่ใช่ Stagflation 100% แม้จะไม่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากความเสียหายจากภาคผลิต แต่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นหรือแพงขึ้นเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาด้านการขาดแคลนพลังงาน แต่ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต จนทำให้แบกรับต้นทุนไม่ได้ หรืออาจต้องหยุดการผลิต ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ให้ราคาสินค้าแพงขึ้น กำลังซื้อของผู้คนลดลง และทำให้เกิดการชะลอหรือหยุดการใช้จ่ายส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภคและต่อเนื่องถึงการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจมหภาค ที่สำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะวนเวียนเป็นวัฏจักรจนแก้ไขได้ยาก

 

อย่างไรก็ตาม ดร.พชรพจน์มองว่า สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดในประเทศไทยระหว่างไตรมาส 1-3 ของปีนี้น่าจะเกิน 3% แต่จะลงต่ำกว่า 3%ในช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่ 3%จึงถือว่ามากแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่า คงไม่ถึง 6-8% อย่างสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรที่สำคัญอีกประการคือ ราคาน้ำมันหากสูงกว่า 100-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปเรื่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์นี้ยังไม่มีความแน่นอนว่า จะจบเมื่อไร ดังนั้น ภาคการผลิตของไทยก็น่าจะต้องมีการทบทวนแผนการดำเนินงานกันใหม่

 

ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยว่า หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ทันไตรมาส 2/2565 นี้ ประเทศไทยก็จะเข้าสู่สภาวะ Stagflation แน่นอน

 

สอดคล้องกับความเห็นของ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย และทีมงานที่มองว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยง Stagflation ซึ่งหมายถึง โลกกำลังเผชิญกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดทางด้านอุปทาน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่สำคัญ เศรษฐกิจโลกกำลังถอยหลังจากกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น จากมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งจะทำให้สินค้าขาดแคลนจากตลาดโลกไปอีก และธนาคารกลางอาจจะใช้วิธีก็ปัญหาเงินเฟ้อตามตำราที่แม้อาจจะบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อไปได้ แต่กลับจะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

"ภาวะสงครามในยุโรปและการคว่ำบาตรจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย เพราะ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงนี้มาจากยุโรป ที่สำคัญ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเมื่อรวมกับภาวะการท่องเที่ยวที่ไม่สู้ดีนักจะกดดันดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยด้วย"

            Stagflation จะน่ากลัว น่ากังวลแค่ไหน?

            ผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่แม้ผลกระทบทางตรงจะดูไม่มาก

แต่ผลกระทบทางอ้อมที่จ่อถึงตัวทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทะลุทะลวงไปยังระบบเศรษฐกิจมหภาคของทุกประเทศทั่วโลกนั้นบอกได้เลยว่า ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อรัสเซียเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก และทั้งรัสเซีย ยูเครน คือ ผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมของเบเกอรี่ อาหารสัตว์ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ราคาอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ สองประเทศนี้ยังเป็นผู้ผลิตพาลาเดียม (Palladium) และแร่นีออนรายใหญ่ของโลก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งใช้ในรถยนต์ สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ จึงเท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาการผลิตในโซ่อุปทานที่เดิมก็ขาดแคลนอยู่แล้วจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ยืดเยื้อและลากยาวต่อไปอีก  

 

 

Stagflation ที่กำลังจะเกิดหรืออาจจะเกิดขึ้นครั้งนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องมีการเตรียมการเพื่อรับมือ หากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อ โดยเฉพาะตัวแปรจากปัจจัยต้นทุนพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบก็ขยับจาก 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็น 100 - 120 เหรียญสหรัฐ และคาดว่าอาจผันผวนถึง 150 เหรียญสหรัฐด้วยซ้ำ ถึงตอนนั้นก็ไม่อยากจะนึกภาพ เพราะขนาดราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวขึ้นก่อนหน้านี้ เราก็เจอม็อบสิบล้อมาข่มขู่รัฐบาลกันแล้ว และหากราคาน้ำมันต้องปรับตัวขึ้นจากประเด็นรัสเซีย -ยูเครน รัฐบาลไทยก็คงหมดทางที่จะพยุงราคาน้ำมันแล้ว เพราะสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2565 ก็ติดลบ 32,831 ล้านบาทแล้ว แม้จะบอกว่ายังมีสภาพคล่องอยู่ แต่ล่าสุดก็แง้มๆ กันมาแล้วว่าจะกู้เงิน 2 หมื่นล้าน โดยก้อนแรกจะเข้าเมษายนนี้

นี่แค่ปัญหาจากต้นทุนพลังงานอย่างเดียว ยังไม่นับตัวแปรจากวัตถุดิบอื่นๆ  จากปัญหาโลจิสติกส์ และที่สำคัญ ภาวะเงินเฟ้อและ Stagflation ที่อาจจะเกิดขึ้น

หนี้สาธารณะที่เกิดจากการกู้ของภาครัฐจะเบ่งบานแค่ไหน

เราจะรับมือกันอย่างไร

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ต้องการ 'โซลูชั่น'

 


 

เรื่องจากปก MarketPlus Magazine issue 144 April 2022

[อ่าน 2,689]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved