ยุคน้ำมันขาขึ้น 'ไม่ไหว' บอก 'ไหว' (อ่ะป่ะ) !?!
26 Apr 2022

 

'สงครามรัสเซีย - ยูเครน' ส่งผลกระทบโดยตรงกับตลาดพลังงานของโลก เนื่องจากรัสเซียถือเป็นประเทศที่ส่งออกทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติระดับ TOP3 ของโลก โดยก่อนเกิดสงครามยูเครน รัสเซียส่งออกน้ำมันประมาณ 7.5% ของโลก โดยมีประเทศนำเข้าหลักๆ คือ สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย รวมถึงญี่ปุ่น ขณะที่สหภาพยุโรปเป็นผู้ซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียรายใหญ่ที่สุด และเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้อุปทานพลังงานทั้งสองส่วนนี้หายไปจากตลาดโลก และลดลงอย่างฮวบฮาบหลังบุกยูเครน

 

 

เมษานี้วิกฤติราคาน้ำมัน 'ของจริง'

ทั้งนี้ จากมาตรการคว่ำบาตรส่งผลให้ตลาดน้ำมันตึงตัวยิ่งขึ้น เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ดังนั้น แน่นอนว่า เมษายนที่จะถึงนี้จะเป็นวิกฤติราคาน้ำมัน 'ของจริง' เนื่องจากมีการประเมินจาก องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่า การส่งออกน้ำมันของรัสเซียจะลดลง 3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย.นี้ และกล่าวได้ว่า นี่คือวิกฤติพลังงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี และเทรดเดอร์บางรายประเมินว่า น้ำมันรัสเซียจะหายไป 2 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ ประมาณ 1 ใน 4 ของการผลิตน้ำมันในรัสเซีย

 

 

เนื่องจากธรรมชาติของตลาดน้ำมันแต่เดิมเคลื่อนไหวตามอุปสงค์-อุปทานจากสถานการณ์ชั่วคราว แต่เมื่อรัสเซียบุกยูเครน และได้รับการตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่จากสหรัฐฯและชาติตะวันตกก็ส่งผลให้ตลาดน้ำมันจะกลับไปสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้ง เพียงแต่ความต่างในยุคนี้เป็นอุปสงค์ หรือความต้องการใช้พลังงานที่ต่างจากยุคนี้อย่างมากๆ และผลจากมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวก็ทำให้ขณะนี้ผู้ค้าน้ำมัน สถาบันการเงินและเรือขนส่งน้ำมันต่างยกเลิกการสั่งซื้อและขนส่งน้ำมันจากรัสเซียผ่านทะเลดำ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งน้ำมันใหญ่แห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกต่างยกเลิกการทำธุรกิจในรัสเซียแล้ว ส่วนรัสเซียหลังถูกคว่ำบาตรด้วยมาตรการทางการเงิน จนไม่สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้กับเงินทุกสกุลก็ออกประกาศให้ประเทศหรือบริษัทที่สั่งซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียชำระค่าสินค้าด้วยสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น ทว่า กลุ่มจี-7 (ประกอบด้วยอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา) ก็ปัดข้อเสนอดังกล่าวแล้วบอกว่า ทำไม่ได้ เพราะนี่ข้อเสนอของรัสเซียเป็นการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว และเท่ากับเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร อีกอย่างสัญญาการซื้อขายน้ำมันก็ระบุถึงสกุลเงินของการซื้อขายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

 

 

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ทำท่าจะยืดเยื้อ จนหาจุดจบยังไม่สิ้นก็ย่อมจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงมากที่จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่ง ณ วันที่ 29 มีนาคมนี้ น้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ 120.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่อยู่ในความคาดหมายของโหรเศรษฐกิจทั้งหลายอยู่แล้ว ทั้งนี้ สังเกตได้จากการจำลองสถานการณ์เพื่อทำการวิเคราะห์นั้นก็มีการคำนวณราคาน้ำมันดิบต่อบาร์เรลด้วยฐานที่แตกต่างกัน อาทิ

กรณีศูนย์วิจัยกสิกรไทย คำนวณราคาน้ำมันดิบที่ 80 และ100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยแบ่งการวิเคราะห์เป็นกรณีฐาน (Base Case) ซึ่งการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่และยังไม่ขยายวงกว้าง มีความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างสองชาติ และเมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อราคาน้ำมันดิบดูไบครึ่งปีหลังจะมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 103 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลและ GDP ขยายตัวที่  2.5%

กรณีดี (Best Case) ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาส 3/2565 อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงมาเร็วในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ราคาน้ำมันลดลงมาอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐ และทำให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันทั้งปีนี้อยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ GDP อยู่ที่ 2.9% ขณะที่อีกสำนักวิเคราะห์​จากฐานราคา 100, 125 และ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ตามตาราง)  


 

น้ำมันยุคขาขึ้น เลือดไหลออกจากกองทุนน้ำมันฯ

 

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งทะยานตั้งแต่กว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลขึ้นไปนั้นก็กล่าวได้ว่า นี่คือภูเขาบนอกของผู้ประกอบการและผู้คนทั่วโลก เพราะนี่คือผลกระทบต่อต้นทุนโดยตรงต่อภาคการผลิต อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจภาคการผลิต ธุรกิจโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ หรือแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า ในมุมของภาคธุรกิจก็ต้องพยายามบริหารจัดการต้นทุนของตนเอง ซึ่งหากมีการวางแผนมาก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือกับต้นทุนพลังงานฟอสซิลที่จะมีราคาแพงขึ้น ด้วยการใช้พลังงานทางเลือก หรือพลังงานสะอาด หรือเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนพลังงานก็คงไม่มีปัญหา

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางธุรกิจ ต้นทุนพลังงานถือเป็นสัดส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ อาทิ ธุรกิจเคมีคัลของเอสซีจี (อ่าน Executive Talk รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หน้า 36) ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากตัวแปรของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้จะไม่ใช่ตัวแปรที่คาดไว้ก่อน แต่เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่ที่มีการบริการจัดการความเสี่ยงในแผนงานธุรกิจอยู่แล้ว ผลกระทบที่ได้รับจึงเปรียบเสมือนเป็นการทำข้อสอบใหญ่อีกครั้งที่ยังไม่ลืม เพราะเพิ่งอ่านหนังสือสอบมาเมื่อคราวการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทว่า ความจริงก็คือ การเตรียมพร้อมเพื่อรับกับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งได้เช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะมีภูมิต้านทานเท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือประชาชนทั่วไป ดังนั้น ในยุคของน้ำมันขาขึ้นจึงเป็นยุคที่ลำบากกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวในส่วนของประเทศไทยเอง ภาครัฐก็พยายามที่จะบรรเทาสถานการณ์ เพื่อลดทอนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยสปอร์ตไลท์ก็ได้จับจ้องไปที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต และปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันแกว่งตัวหรือผันผวนนั้น กองทุนน้ำมันฯ ก็จะมีอาการเลือดไหลออกทุกครั้ง ดังนั้น สำหรับครั้งนี้ก็ย่อมจะไม่แตกต่างกันในขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศได้ทยอยปรับราคาสูงขึ้น  ‘ยกเว้น’ น้ำมันดีเซลที่รัฐบาลให้การอุดหนุนผ่านทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยยังคงตรึงราคาไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ท่ามกลางความกังวลถึงสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ที่ค่อยๆ ลดลงไปตามการปรับขึ้นราคาของน้ำมันดิบ

 

 

แม้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา วิศักดิ์ วัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะกล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และได้รายงานความคืบหน้าในการขอกู้เงินเพื่อใช้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันฯว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจรับรองงบการเงินของกองทุนเรียบร้อยแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินเตรียมนำเรื่องการรับรองงบดุลเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคาร เนื่องจากประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ติดลบที่ 21,838 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับฐานะกองทุน ณ วันที่ 30 มกราคม 2565 หรือเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา กองทุนติดลบเพิ่มขึ้น 7,758 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น บัญชีก๊าซแอลพีจีติดลบ 26,826 ล้านบาท ขณะที่บัญชีน้ำมันยังคงเป็นบวกอยู่ที่ 4,988 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลต้องการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซแอลพีจี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและประชาชน จึงทำให้ต้องมีการเติมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกรมสรรพสามิตก็ได้ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท โดยในโครงสร้างของเม็ดเงิน 3 บาทนี้ โดยเงิน 2 บาทเป็นการลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและ 1 บาทหักเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งก็ส่งผลให้รัฐบาลสูญรายได้ประมาณ 17,100 ล้านบาท หรือราว 5,700 ล้านบาท/เดือน

จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เกิน 100 เหรียญ/บาร์เรล อันเป็นราคาที่สูงกว่าราคาสมมติฐานเดิมที่กองทุนน้ำมันฯ ใช้ดูแลราคาน้ำมันและคำนวณจากฐาน 85 เหรียญ/บาร์เรล และประเมินแต่เดิมว่า กองทุนจะต้องใช้จ่ายเพื่อตรึงราคาไว้ประมาณ 7,300 ล้านบาทนั้นไม่เพียงพอ และคงจะลากยาวไปได้สัก 2 - 3 เดือน เนื่องจากกรมสรรพสามิตยอมลดภาษีที่เรียกเก็บจากน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท จากที่เก็บ 5.99 บาท/ลิตร ซึ่งช่วยลดการชดเชยของกองทุนลงได้เหลือประมาณ 5,000 - 6,000 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไปอีกก็จะต้องมาคำนวณราคากันใหม่        

สำหรับการหาแหล่งเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ และมีอันต้องล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิม ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นั้น สกนช.จะใช้แหล่งเงินสำรองอื่นๆ อาทิ การขอใช้งบฯเงินกู้จากงบฯกลางฉุกเฉิน 5 แสนล้านบาท หรือการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีก ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีความคืบหน้าล่าสุดที่ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน มีมติปรับลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลงเหลือ 9.77 บาท/ลิตร จากเดิมที่ชดเชยอยู่ลิตรละ 10.16 บาท เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลงเล็กน้อย และเมื่อพิจารณาค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้อ้างอิงค่าการตลาดดีเซล ณ วันที่ 28 มี.ค. 65 ไว้ที่ 1.61 บาท/ลิตร แต่ค่าการตลาดจริงที่ผู้ค้าดีเซลได้รับอยู่ที่ 1.79 บาท/ลิตร ซึ่งปรับสูงขึ้นจากวันที่ 25 มี.ค. 2565 ที่อยู่ระดับต่ำเพียง 0.33 บาท/ลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ 1.5-2 บาท/ลิตร)

ทว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ณ วันที่ 29 มีนาคมยังคงทะยานต่อ ฉะนั้น ความคาดหวังที่ กบน.บอกว่า หากราคาน้ำมันดิบก็อาจจะปรับลดราคาลงได้จึงยังเลือนรางอยู่มาก

ขณะเดียวกัน สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2565 ก็ยังคงมีปัญหาเงินไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยติดลบรวม 32,831 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 4,028 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 28,803 ล้านบาท และในวันต่อมา กบน.ได้มีมติขยายกรอบวงเงินที่จะใช้ชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีรวมไว้ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 2.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแม้แอลพีจีถังขนาด 15 กิโลกรัมจะปรับขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท หรือเพิ่มจากราคา 318 บาทเป็น 333 บาทต่อ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 นี้ แต่ราคาแอลพีจีโลกยังทรงตัวสูงระดับ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือราคาแท้จริงอยู่ที่กว่า 600 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ดังนั้น กองทุนฯ ยังต้องพยุงส่วนต่างราคาดังกล่าวต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 จากนั้นต้องรอนโยบายภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลใหม่ ภายหลังจากที่ครม.มีมติลดภาษีเป็นการชั่วคราวจนถึง 20 พ.ค.2565

 

           

 

เล็งเลิกอุ้ม ดีเซลพรีเมียม

เพื่อพิจารณาแนวทางแยกการอุดหนุนน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม (เอ็กซ์ตร้า) สำหรับกลุ่มผู้ใช้รถราคาแพง ออกจากการอุดหนุนราคาดีเซล B5 เป็นน้ำมันพื้นฐานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ส่งผ่านไปยังต้นทุนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเป็นภาระค่าครองชีพประชาชน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ระหว่างหารือกับ กรมธุรกิจพลังงาน กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งการแยกเกรดน้ำมันดีเซลครั้งนี้จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต้องเอาเงินไปอุดหนุนกลุ่มเจ้าของรถหรูเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเติมน้ำมันดีเซลพรีเมียม และหากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาเพื่อออกประกาศต่อไป เพราะต้องตรวจสอบกฎหมายและแก้ไขระเบียบต่างๆ ว่า จะสามารถแยกการอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันดีเซลแต่ละเกรดได้หรือไม่ และรูปแบบจะเป็นอย่างไร

           

กองทุนน้ำมันกู้ 2 หมื่นลบ.

ไม่รู้ว่า ที่ผู้บริหารกองทุนน้ำมันฯ บอกว่า สภาพคล่องของกองทุนยังพอได้นั้นจะเป็นไปตามสูตร 'ไม่ไหว' บอก 'ไหว' ตามคำพูดคนรุ่นใหม่กันหรือเปล่า เพราะจากสภาพที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเอาเนื้อหนูปะเนื้อช้างนั้นแวว 'อ่วม' มาเต็มๆ ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ซึ่งเป็นช่วงที่การเสนอขอกู้เงินยังไม่ผ่านยังไม่มีการเซ็นรับรองงบ) เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการตรึงราคาก๊าซแอลพีจีและน้ำมันดีเซล

ในเมื่อยังต้องอุดหนุนราคาน้ำมันอยู่และโมเดลการหาแหล่งเงินทุนของรัฐบาลนี้ คือ การมองหาแหล่งเงินกู้ จนเป็นที่กังวลของนักเศรษฐศาสตร์ถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยตอนนี้

สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในเมื่อ ​The show must go on ยังต้องอุดหนุนราคาน้ำมันก็ดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาแหล่งเงินกู้ ทั้งนี้ วิศักดิ์ เปิดเผยว่า ทางกองทุนน้ำมันได้เชิญธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมายื่นข้อเสนอ ภายในเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายน โดยระยะเวลาที่เหลืออยู่ทางกองทุนน้ำมันฯ มั่นใจว่า ยังมีกระแสเงินสด  เหลือถึง 1.9 หมื่นล้านบาท ที่สามารถใช้ไปได้ถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้

 

หลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อสรรหาแหล่งเงินกู้ ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสรุป คือ

  • วงเงินที่ขอกู้ 2 หมื่นล้านบาท กรอบระยะเวลาชำระคืนภายใน 3 ปี
  • อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2.75 - 3% เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด พิจารณาจากผู้ที่เสนอ  ดอกเบี้ยต่ำที่สุด ส่วนระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวกว่าจะไม่ถือเป็นเงื่อนไขในการนำมาตัดสิน เพราะมีกรอบชำระคืนภายใน 3 ปี ถ้าเสนออัตราดอกเบี้ยเท่ากันจะเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป
  • การปล่อยกู้วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ธนาคารพาณิชย์สามารถเสนอรวมกันมากกว่า 1 แห่งได้

 

 

มาตรการลดค่าครองชีพ

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี ได้มติเห็นชอบอนุมัติ 10 มาตรการในการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพจากปัญหาราคาพลังงานให้กับประชาชนในเบื้องต้น เพื่อช่วยพยุงราคาก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเพื่อช่วยวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวี และลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 โดย 8 ใน 10 ข้อเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยตรง ประกอบด้วย ตัวอย่างงบประมาณที่ใช้กับมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพจากปัญหาราคาพลังงาน

 

 

  •  การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินเป็น 100 บาทต่อเดือน จากเดิม 45 บาท ซึ่งมาตรการนี้จะต้องใช้งบประมาณต่อเดือน 360 ล้านบาท
  • ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาทสำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน ซึ่งมาตรการนี้จะต้องใช้งบประมาณต่อเดือน 5.5 แสนบาท
  • ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม ซึ่งมาตรการนี้จะต้องใช้งบประมาณต่อเดือน 39.25 ล้านบาท
  • คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
  • ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันสามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม
  • ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า FTลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือน พ.ค.– ส.ค.2565
  • ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง
  • กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
  • ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
  • ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ก็ทำให้ได้เห็นถึงความพยายามที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนทั่วไป แม้จะมีกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างที่ออกมาให้ความเห็นว่า งบช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่รัฐช่วยสมทบ 250 บาทต่อเดือนนั้นไม่เพียงพอ แต่เมื่อมองในภาพรวมก็จะเห็นว่า งบสนับสนุนจากมาตรการเหล่านี้ก็ใช้เม็ดเงินไม่น้อยเช่นกัน เฉพาะสามมาตรการแรกที่เกี่ยวกับก๊าซหุงต้มและแก๊สโซฮอล์ก็ใช้งบไปทั้งสิ้น 399.8 ล้านบาทต่อเดือน ถ้าช่วยเหลือสองเดือนก็อยู่ในราว 799.6 ล้านบาท  ไม่นับมาตรการอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินอุดหนุนอีกมหาศาล ซึ่งหากไม่ช่วยหรืออุดหนุนเศรษฐกิจก็ยังเดินหน้าต่อได้ลำบากเหมือนกัน

 

งานนี้ 'ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก'

'ไม่ไหว' บอก 'ไหว' หรือเปล่า!?!

 


บทความจาก COVER STORY MarketPlus Magazine Issue 144 April 2022


 

 

[อ่าน 2,805]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้ก - เป๊ปซี่ - เอส ร่วมวงสาดแคมเปญหน้าร้อน เปิดศึกชิงตลาดน้ำอัดลม 66,000 ล้าน
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved