สมคิด จิรานันตรัตน์ สร้างเขี้ยวเล็บ ยุค Technology-Led
14 May 2022

 

สนามรบในปี 2022 ถือว่ามีปัจจัยที่เป็น Game Changer ของระบบเศรษฐกิจอยู่มาก โดยเฉพาะจากตัวแปรที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็น Disruptor ทำให้บทบาทของเทคโนโลยีจาก Enabler กลายมาเป็น Hero และ เป็นยุคที่ 'เทคโนโลยีนำเศรษฐกิจ' (Technology-Led Economy) แล้วเทรนด์เหล่านี้ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และเราต้องสร้างอะไรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

 

 

จาก Enabler สู่ Hero

สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย, ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน อีกทั้งเป็นผู้ร่วมพัฒนาแอป 'เป๋าตัง' ของธนาคารกรุงไทยและ K-Plus ของธนาคารกสิกรไทย ชี้ถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและเข้ามาเป็นหนึ่งใน Game Changer ของระบบเศรษฐกิจไทย[1]ว่า

"แนวโน้มเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปจากที่เคยเห็นกันค่อนข้างมาก จากเดิมที่การออกแบบเทคโนโลยีจะใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจ หรือเศรษฐกิจ แต่เทรนด์ที่เกิดขึ้นต่อไปจะกลายเป็น 'เทคโนโลยีนำเศรษฐกิจ' (Technology-Led Economy) ซึ่งเป็นความหมายของ 'เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่' ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะ Technology-Led ไม่ใช่แค่ช่วยด้านประสิทธิภาพ หากแต่ช่วยให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งธุรกิจ, พฤติกรรมผู้บริโภค, อุตสาหกรรม ฯลฯ หรือแม้กระทั่งแนวนโยบายบริหารประเทศที่เปลี่ยนไป ฉะนั้น บทบาทของเทคโนโลยีจึงถือเป็น 'ตัวเอก' ค่อนข้างมาก ที่สำคัญ ความสามารถที่เรามีในอดีต จะไม่ยั่งยืนในอนาคต แล้วความสามารถที่เสื่อมค่าลง ถ้าไม่มีการสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ จะทำให้เศรษฐกิจของเราเสื่อมค่าลงตามไปด้วย"

 

 


ความสามารถที่เรามีในอดีต จะไม่ยั่งยืนในอนาคต แล้วความสามารถที่เสื่อมค่าลงถ้าไม่มีการสร้างอะไรขึ้นมาใหม่จะทำให้เศรษฐกิจของเราเสื่อมค่าลงตามไปด้วย


 

5 เทรนด์เทคโนโลยี

ทั้งนี้ สมคิดได้ชี้ถึง 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ ภายใต้คอนเซปต์'แบบดี' BABDI (Boundless - Autonomous - Borderless - Disintermediation - Imagination) ดังนี้

            1) Boundless การก้าวข้ามข้อจำกัด เนื่องด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้ 'คนตัวใหญ่' สามารถสร้างขีดความสามารถของตนเองได้อย่างไร้ข้อจำกัดๆ อย่างเช่น 'คนตัวใหญ่' สร้างแพลตฟอร์มแบบหนึ่งก็จะสามารถขยายไปยังบริการอื่น อุตสาหกรรมอื่น หรือแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งจะทำให้แพลตฟอร์มเติบโตมากขึ้นๆ ทำให้เป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดในอดีตก็จะยิ่งมีข้อมูล (Data) ซึ่งจะเป็นทรัพย์สินที่สำคัญไปได้เรื่อยๆ

            2. Autonomous ความเป็นอัตโนมัติ   ด้วยข้อมูลที่มากขึ้น และความสามารถจาก Machine และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่เก่งมากขึ้นก็จะทำให้การออกแบบกลายเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น ขณะที่การออกแบบจะต้องใช้ลูกค้าและจะต้องออกแบบให้มีความอัตโนมัติมากขึ้น โดยอิงจากภาพอนาคตเป็นหลัก ไม่ใช่อิงกับภาพ ณ ปัจจุบัน โดยต้องดูที่ความสามารถที่เรามี เทคโนโลยีมาช่วยทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่น สบม.วอลเล็ท จากเดิมการออกพันธบัตรรัฐบาลจะใช้เวลามากถึง 15 วันกว่าจะถึงการครอบครองของผู้ซื้อ แต่เมื่อออกแบบให้เป็นระบบอัตโนมัติก็ทำให้ผู้ซื้อครอบครองได้ทันที

            3. Borderless ความไร้พรมแดน เนื่องจากเทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นใหม่ อย่างบล็อกเชน หรือสกุลเงินดิจิทัลนั้นถือได้ว่าเป็นการปลดแอกการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้กำกับของแต่ละประเทศ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้แพลตฟอร์มต่างประเทศสามารถเข้ามาให้บริการได้อย่างหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ดังนั้น ขีดความสามารถที่มีจึงต้องพัฒนาให้สามารถแข่งขันได้ในระดับเวิลด์คลาส เพราในอนาคตการแข่งขันจะไร้พรมแดน  

            4. Disintermediation การด้อยค่าลงของตัวกลาง เพราะเทคโนโลยีสามารถทำหน้าที่แทนตัวกลางได้ อย่างธุรกิจการเงินที่เดิมมีธนาคารเป็นตัวกลาง แต่นับจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีและวิธีการแบบใหม่ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีธนาคารเป็นตัวกลางอีกต่อไปแล้ว โดยสามารถจับสองฝ่ายมาเจอกันได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงมาก และด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ ก็หมายรวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่จะได้รับผลกระทบเช่นนี้และจะต้องทบทวนตนเองด้วยเช่นก้น

          5. Imagination จินตนาการ อย่างตอนนี้ที่มีการพูดถึง 'เมตาเวิร์ส' ที่เป็นโลกเสมือน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่โลกเสมือน แต่เป็นเมตาเวิร์ส  คือ 'โลกแห่งจินตนาการที่สร้างประสบการณ์ใหม่ที่ครอบคลุมได้อย่างครบวงจร' ทั้ง Functional และ Emotional นี่คือ 'การพลิกเกม' หากมีคนเข้าไปอยู่ในเมตาเวิร์สกันมากขึ้น มีการทำธุรกรรมในนั้นมากขึ้น อย่างการทำ Convertible NFT ที่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ในโลกเสมือนให้เป็นสินทรัพย์ในโลกความเป็นจริงได้

   

สร้าง 4 ความสามารถ

ในช่วงที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนผ่าน สมคิดยอมรับว่า ในช่วงแรกก็นึกภาพไม่ออกเช่นกันกับเมื่อครั้งที่ได้รับมอบหมายให้ก่อตั้ง KBTG ซึ่งเป็นยุคที่หลายอุตสาหกรรมถูกเทคโ นโลยี Disrupt ธนาคารเองก็ยังมองทิศทางข้างหน้าไม่ออก รู้แต่ว่า ต้องเปลี่ยน แต่สิ่งแรกที่ทำคือ การสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยี คือ หาคนเก่งเข้ามา และดูว่า จะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะนั้นก็มีเทคโนโลยี Blockchain, AI, Mobile, IoT

"เมื่อรีครูทคนเก่งๆ เข้ามาที่ประเทศไทย เพื่อช่วยกัน จากนั้นก็เกิดนวัตกรรม เกิดความคิด ความชัดขึ้นมาเอง และเมื่อเกิดเทคโนโลยีก็จะเห็นได้ว่า เกิด Digital Divide ที่ไม่ใช่คนเก่งหรือไม่เก่งเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็น Digital Divide ระหว่างประเทศด้วยระหว่างประเทศที่เก่งและไปได้ดี กับประเทศที่ไม่มีความสามารถที่จะรับมือด้วย ตรงนี้แตกต่างกันมาก ผมจึงเชื่อว่า การแข่งขันวันนี้ไม่ได้แข่งขันกันเฉพาะกลุ่มคนไทย หรือระดับ Local แต่เป็นการแข่งขันระดับโลก ดังนั้น เราก็ต้องสร้างความสามารถที่ทัดเทียมให้ได้ และหากจะถามว่า เราจะสามารถแข่งขันกันในระดับโลกได้หรือไม่ ผมว่า เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เราต้องสร้างความสามารถอะไร"

 

 

ทั้งนี้ 4 ความสามารถที่จะต้องสร้างในมุมมองของสมคิด ประกอบด้วย

1) การสร้างความสามารถของคน ซึ่งต้องโฟกัสที่คุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาเบื้องต้นในช่วง 9 ปีแรกที่มีความสำคัญมากๆ เพราะเราต้องเตรียมคน เพื่อให้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้ได้ใน 9 ปีแรก แต่เนื่องจากคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยมีมาตรฐานและคุณภาพที่แตกต่างกันมาก ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ว่า เราจะต้องสร้างคุณภาพทางการศึกษาอย่างไร เพื่อสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ ซึ่งการเตรียมตัวเพื่อให้คนเรียนรู้ใน 9 ปีแรกของการศึกษา ประกอบด้วย

  • การเรียนรู้ภาษาสากล ต้องให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษาสากลและเก่งจริง
  • การสร้างพื้นฐานในการคิดเองเป็นและแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ตั้งเป้าเพื่อเรียนรู้ให้ได้ปริญญาบัตร
  • การสร้างนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ รักที่จะคิดโจทย์และแก้ปัญหา
  • ความเท่าเทียมของคุณภาพการศึกษาที่ดีในช่วง 9 ปีแรกเหมือนกันหมด

2) การสร้างระบบขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งระบบขับเคลื่อนประเทศเป็นระบบราชการ ผมเชื่อว่า การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือ ทำให้ระบบถูกกำกับน้อยลงทำให้เป็นระบบอัตโนมัติให้มาก ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ใช้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจให้น้อยลง ถ้าทำอย่างนี้ได้ งานหลายๆ อย่างก็จะตัดสินใจกันด้วยอัลกอริทึมด้วย Rule-Base ที่ชัดเจน ทั้งนี้ ต้องทำให้กระบวนการต่างๆ มีความชัดเจน โปร่งใส เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ

3) การสร้างเครือข่ายระบบการเงินในแนวนอน (Horizental Network) เนื่องจากระบบการเงินที่ยังต้องอาศัยตัวกลางจะถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เพราะการเป็นตัวกลางกลับเป็น 'ภาระ' และส่วนหนึ่งเป็น 'ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ' ทั้งนี้ ความเคยชินของกรดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ทำให้ลดการเกิดบริการ / โปรดักท์ / ความคิดใหม่ๆ น้อยลง ซึ่งต้นทุนเหล่านี้กลับกระทบกับคนตัวเล็กๆ ยิ่งต้นทุนสูงคนตัวเล็กๆ ก็ยิ่งมีต้นทุนมากขึ้นไปอีก และได้รับโอกาสน้อยลงๆ

ฉะนั้น เมื่อมองที่ระบบเครือข่ายของการเงินซึ่งยังเป็นแบบ Silo Network หรือ 'เครือข่ายระหว่างธนาคาร' จึงควรที่ จะมีเครือข่ายใหม่ที่เป็น Horizental Network ที่เป็นเครือข่ายในแนวนอนที่มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเล่นได้ และเกิดการจับคู่ระหว่างผู้เล่นสองข้างได้ เช่น การจับคู่ระหว่างผู้ฝากเงินกับผู้ที่ปล่อยสินเชื่อ ตรงนี้ก็จะช่วยลดต้นทุนลงไปได้ และเกิดนวัตกรรม และให้บริการทางเงินได้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุ้นชินของผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาเป็นร้อยปีได้ง่ายๆ 

4) การสร้าง National Digital Platfom (ดิจิทัลแพลตฟอร์มระดับชาติ) แนวคิดนี้อาจจะทำให้หลายคนคิดว่า ไม่มีประเทศใดที่คิดจะทำกัน ซึ่งจะได้จากแต่ละประเทศที่ปล่อยให้มีแพลตฟอร์มใหญ่ๆ อย่าง Facebook, Google ฯลฯ เกิดขึ้นและเติบโต อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดแพลตฟอร์มขนาดใหญ่เช่นนี้ก็ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก สำหรับประเทศไทยก็มีความเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาจากแพลตฟอร์มที่มีขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ที่มีอยู่เดิม อย่างเช่น Mobile Banking ของแต่ละธนาคารที่มีฐานผู้ใช้งานประมาณ 15-16 ล้านคน หรือแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' ที่มีฐานผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ฯลฯ

 

ทั้งนี้ หากมีวิธีการที่ดี ประเทศไทยก็จะสามารถสร้างแพลตฟอร์มเหล่านี้ให้เป็น National Digital Platfom ขึ้นมาได้ และคำว่า National Digital Platfom ก็มิได้หมายความว่า จะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่รวมศูนย์กันอยู่ในที่เดียว แต่สามารถเป็น Logical Digital National Platfom เพื่อออกแบบและยกระดับให้เกิดฐานของผู้ใช้งานได้ นั่นคือ เราสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและเปิดกว้างให้คนอื่นๆ หรือคนตัวเล็กๆ เข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีสามารถสร้างแต้มต่อจากตรงนี้ได้ หรือสตาร์ทอัพก็สามารถมีสปริงบอร์ดกระโดดไปสูงๆ ได้ ประเทศไทยเรามีความแตกต่างจากประเทศอื่น อีกทั้งไม่ได้มีทรัพยากรมากเหมือนประเทศอื่น แต่ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ เราก็จะถูกแพลตฟอร์มขนาดใหญ่จากต่างชาติเข้ามากลืนกินระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยไปเรื่อยๆ ซึ่งโดยส่วนตัว ถือว่าน่าเป็นห่วง

 


Digital Divide วันนี้ไม่ใช่คนเก่ง/ไม่เก่งเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็น Digital Divide ระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น การแข่งขันวันนี้จึงเป็นการแข่งขันระดับโลก ซึ่งเราต้องสร้างความสามารถที่ทัดเทียมให้ได้ และหากจะถามว่า เราจะสามารถแข่งขันกันในระดับโลกได้หรือไม่ ผมว่า เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เราต้องสร้างความสามารถอะไร


 

สมคิด กล่าวถึงแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ซึ่งเขาได้วางระบบสถาปัตยกรรมไว้ และ เชื่อว่า แอป นี้จะสามารถขยับเป็น Logical Digital National Platfomได้ว่า[2]  

"ข้อดีของแอป เป๋าตัง คือ ไม่ใช่เป็นของเอกชนแบบ 100% จึงสามารถที่จะทำเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนตัวเล็กให้กับสังคมและสามารถขยายตัวได้อีกมากในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเพิ่มการบริการจากภาครัฐแล้ว ยังสามารถเพิ่มการบริการของเอกชน หรือการบริการของสตาร์ทอัพเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มได้ และหากวิธีคิดแบบนี้สามารถทำได้มากขึ้นในแพลตฟอร์มอื่นๆ และนึกถึงผลประโยชน์ของคนตัวเล็กเป็นหลักก็จะทำให้เป็นเหมือนแรงหนุนให้คนตัวเล็กมีโอกาสในการเข้าถึงประชาชนกลุ่มใหญ่ได้มากขึ้นด้วย"

 


[1] ที่มา: ทางรอด 2022, สัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2564 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์.

[2] ที่มา : http://www.pptvhd36.com

[อ่าน 2,489]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved