ปรากฏการณ์ ‘แลนด์สไลด์ชัชชาติ’ กับมิติการสื่อสารการเมืองใหม่ที่น่าจับตามอง
14 Jun 2022

 

นับได้ว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาทำให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 ได้กลายเป็นว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เกิดเป็นปรากฏการณ์  แลนด์สไลด์ ชัชชาติ เพราะเป็นการชนะการเลือกตั้งแบบ ถล่มทลาย แม้ว่าจะตรงกับผลโพลล์จากหลายสำนัก ที่ได้ชี้นำเสนอผลการสำรวจคะแนนนิยมของชัชชาติ ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะชนะการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่ไม่ได้นำเสนอก็คือผลการเลือกตั้งที่ชนะได้ครบทุกเขตทั้ง 50 เขต ด้วยคะแนนที่ขาดลอย นั่นคือได้คะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 50 ชัชชาติได้คะแนน 1,386,215 คะแนนของจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2,673,696 คน คิดเป็น 51.84% ท่ามกลางผู้สมัครที่มากเป็นประวัติการณ์ 31 คน ทิ้งห่างจากอันดับรองลงไปหลายช่วงตัว ถือเป็นการเลือกตั้งที่ได้รับเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด (absolute majority) จากประชาชน  ดังนั้นการศึกษาถึงที่มา ที่ไป เหตุผล และรูปแบบในการสื่อสารแบบ ‘ชัชชาติ’  ที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ต่างเทใจ ลงคะแนนให้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ติดตามอยู่ไม่น้อย

 

เจาะกลุ่มเป้าหมาย ฐานคะแนนเสียงของ ‘ชัชชาติ’ 

กรุงเทพฯ มีจำนวนประชากร 5,515,045 คนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,402,941 คน(ข้อมูล ณ 30 เม.ย. 65) ต้องยอมรับว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการมายาวนาน เพราะระยะเวลาเลือกตั้งที่ควรจะต้องมีทุก 4 ปีครั้ง ได้ยืดเวลากลายเป็น 9 ปี  (2556-2565) ช่วงเวลาดังกล่าว ได้ทำให้ความรู้สึกของประชาชนในกรุงเทพฯ บางส่วนเห็นว่าพวกเขาขาดผู้แทนที่เป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง  ซึ่งได้ก่อตัวเป็นความรู้สึกของการขาดช่วงที่ต้องการตัวแทนไปดูแลอย่างจริงจัง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ไม่ใช่การมาจากการแต่งตั้ง  ดังนั้น ‘แลนด์สไลด์ ชัชชาติ’  จึงได้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนใน กรุงเทพฯ มีความต้องการที่ชัดเจน สำหรับการตอบความต้องการของตนเอง อย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้คะแนนนิยมของ ‘ชัชชาติ’ ที่ได้มาจากหลายกลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่ม ก็มีแนวทาง หรือรูปแบบที่แตกต่างกันไป

 

กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ ‘นิวโหวตเตอร์’ เป็นผู้มีสิทธิ์ การเลือกตั้งครั้งแรก แม้ว่าฐานเสียงคนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ พรรคก้าวไกล แต่กลับพบว่า คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่ง กลับไม่ได้ลงคะแนนให้กับ 'วิโรจน์ ลักขณาอดิสรณ์' ผู้สมัคร  เบอร์ 1 จากพรรคก้าวไกล เสียทั้งหมด เพราะบทบาทและเนื้อหาของวิโรจน์ ให้น้ำหนักไปที่ภาพใหญ่ในระดับประเทศ มากกว่าที่จะ Focus  เพียงกรุงเทพฯ ผนวกกับแนวทางทางการเมืองของพรรค ที่มีจุดยืนหลายประเด็นทำให้เป็นประเด็นที่เป็นจุดอ่อน ต่อการเชื่อมโยงในการพัฒนาของกรุงเทพฯ ให้เป็นรูปธรรม เมื่อแนวทางดังกล่าว ถูกนำมาเทียบกับ ‘ชัชชาติ’ และพวกเขาต้องใช้เพียงหนึ่งสิทธ์ ที่มีอยู่ จึงทำให้การเลือก ‘ชัชชาติ’ ต้องเป็นทางเลือกที่นำมาใช้ แม้ว่า ในใจอาจจะเชียร์พรรคก้าวไกล ก็ตาม แต่อาจไม่ใช่ในช่วงเวลานี้

 

กลุ่มชนชั้นกลางที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นวัยทำงาน จนถึงสูงวัย ทำงานองค์กรภาครัฐ และเอกชน เป็นกลุ่มที่เบื่อความซ้ำซากจำเจ อยากเห็นแนวทางใหม่ ที่ออกไปจากระบบราชการ หรือระบบเก่าที่เคร่งครัด ความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นธรรม แสวงหาตัวเลือกใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม มองปัญหาเรื่องปากท้อง และแนวทางการจัดการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เชื่อถือในบทบาทของการแสดงความรู้ วิสัยทัศน์ มุมมอง การแสดงออก ภาพลักษณ์ และการเข้าถึงง่าย

 

 

กลุ่มที่ชอบแนวทางแบบอิสระกลุ่มนี้มักจะมีทัศนคติด้านลบกับแนวทางการเมืองที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะในรูปแบบพรรคการเมือง ที่มีแต่การโจมตี สาดโคลนเข้าหากัน ความขัดแย้งกันทางการเมืองมาแบบเดิมๆ คือเรื่องน่าเบื่อมาโดยตลอด ในขณะที่การชุมนุมของทุกกลุ่ม ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา หรืออาจเป็นการเพิ่มปัญหาที่มาจากจากพรรคการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเลือกผู้สมัครที่เป็นอิสระ ไม่ติดกับการเมืองกลุ่มใด ย่อมมีความน่าสนใจ แม้ว่า ‘ชัชชาติ’ ยังมีภาพความเชื่อมโยงกับสังกัดพรรคการเมืองเดิมที่เคยสังกัดอยู่ แต่เจ้าตัว ก็ได้ออกมาปฏิเสธความสัมพันธ์ และมุ่งความเป็นอิสระ ที่เป็นจุดแข็งในการผสานกับหลายๆ ที่ แบบไม่มีข้อจำกัด

 

กลุ่มผู้ใหญ่และอนุรักษ์นิยม ต้องยอมรับกลุ่มเหล่านี้ เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยครองพื้นที่การเลือกตั้งในกรุงเทพฯ มาหลายสมัย แต่ระยะหลังกลับต้องเผชิญกับภาพลักษณ์ ข่าวคราว ที่อาจไม่โดนใจนัก ส่วนผู้สมัครจากพรรคดังกล่าว ยังมีประสบการณ์ทางการเมืองที่ไม่แข็งแรงพอ ขณะเดียวกันบางส่วนก็เคยชื่นชอบแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ และแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เริ่มคลายมนต์ขลัง จึงแสวงหาทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม

 

กลุ่มฐานเสียงทางการเมือง แม้ว่า ‘ชัชชาติ’ จะลงในนามอิสระ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับฐานคะแนนเสียงจากพรรคเพื่อไทย ที่พอมีมวลชนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ส่ง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามของพรรค แต่ก็มี ผู้สมัคร ส.ก. จากพรรคเพื่อไทย ที่ลงหาเสียงในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าน้ำหนักของมวลชน ต่างเทใจให้กับ ‘ชัชชาติ’ อย่างแน่นอน

 

จับตากลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน เข้าถึง เกาะติด ต่อเนื่อง และยาวนาน

นอกจากด้วยความเป็นอิสระของ ‘ชัชชาติ’ ทำให้ได้รับการเลือกตั้งจากหลายกลุ่มหลายช่วงวัย และหลากหลายแนวคิดจากกลุ่มขั้วการเมือง นับเป็นความแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ที่จะมีฐานเสียงสนับสนุนเพียงแค่กลุ่มก้อนที่จำกัดแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนำพิจารณา ก็คือ ประเด็นที่ชัดเจน และสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

 

ภาพลักษณ์ส่วนตัวที่น่าสนใจ 

เรื่องราว ความเป็น ‘ชัชชาติ’ มีความน่าสนใจทั้งครอบครัว การศึกษา ประสบการณ์ที่หลากหลาย และการไลฟ์สด ในสไตล์รูปแบบที่เป็นตัวของตัวเอง นับเป็นอีกประเด็น ที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนที่เป็นฐานเสียงสนใจ  ‘ชัชชาติ’ มาจากครอบครัวพื้นฐานดี มีความพร้อม มีประวัติการศึกษาที่น่าสนใจ ผ่านการเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง MIT และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกมีประสบการณ์ทำงานทั้งในองค์การภาครัฐ และเอกชน ในฐานะวิศวกรของบริษัทเอกชน เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐในระดับรองศาสตราจารย์ทำงานบริหารเป็น CEO เครือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เคยเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง การเข้าสู่เส้นทางการเมืองในระดับรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ การผ่านงานที่ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ รอบด้าน ทั้งภาคธุรกิจ ราชการ วิชาการ และสังคม

การวางตัวด้วยบุคลิกที่เป็นมิตร และประนีประนอมความมีท่าทีที่นุ่มนวล ทั้งในการปราศรัยหาเสียง การดีเบตการตอบคำถามเวลาสัมภาษณ์สื่อ หรือการเผชิญกับกลุ่มความเห็นต่าง ‘ชัชชาติ’ จะแสดงตัวและพูดอย่างระมัดระวัง ไม่โจมตี ไม่พาดพิง แม้จะถูกโจมตีหรือเหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจ เขาจะพยายามไม่ตอบโต้ ใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง สงวนท่าที การมีอารมณ์ขันที่เหมาะสม การแสดงออกและปฏิบัติตัวที่ไม่มีพิธีรีตอง หรือขั้นตอนแบบราชการที่ยุ่งยาก และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ นับเป็นคุณสมบัติที่หาได้ไม่ง่ายนักใน บทบาทของนักการเมืองอาชีพ

 

 

ไลฟ์สไตล์ชัดเจน น่าสนใจ เข้าถึงง่าย กับวิถีคนเมือง 

ด้านส่วนตัว และครอบครัว แม้ว่าจะมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลูกชายเพียงคนเดียวของเขาที่พบว่า มีความพิการทางการได้ยินตั้งแต่ยังเล็กทำให้เขาสนใจต่อวิธีการแก้ปัญหาและเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จในชีวิตที่ดีได้ ขณะเดียวกันก็ทุ่มเทกับการดูแลสุขภาพ การออกกำลัง ให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมที่จะดูแลลูกได้

 

ภาพของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นภาพติดตาของคนทั่วไป ‘ชัชชาติ’ ออกวิ่งเป็นประจำในยามเช้า ทั้งในสวนสาธารณะ ในชุมชนเมือง และการใส่บาตรพระ การเดินตลาด เยี่ยมเยียนในชุมชนต่างๆ ก่อนไปทำงานเป็นภาพที่คุ้นชินตา

 

บ่อยครั้งที่ภาพของการใช้บริการรถโดยสาร รถสาธารณะรถสองแถว รถสามล้อเครื่องหรือการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อการสัญจรหรือกิจวัตรการใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลางในเมืองเป็นภาพคุ้นตาสำหรับแบรนด์ ‘ชัชชาติ’ ที่เห็นอยู่เป็นประจำจนไม่รู้สึกแปลกตา แม้แต่ในวันเลือกตั้งเขาก็ยังปรากฏตัวด้วยการปั่นจักรยานแบบพับได้ไปใช้สิทธิ แม้เป็นเรื่องราวที่อาจเรียบง่าย แต่เป็นเรื่องราวที่ทำให้หลายคนมีความซาบซึ้ง ประทับใจ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราวที่รับรู้ และเข้าถึงได้อย่างไม่ยาก

 

นโยบาย วิสัยทัศน์ ที่มาจากการทำการบ้าน

เมื่อเจาะลึกถึงนโยบายของ ‘ชัชชาติ’ ที่มีถึง 216 ข้อ แม้จะโดนค่อนขอดว่ามากเกินไปหรือไม่ แต่เขากลับยืนยันว่านโนบายต่างๆ นี้มาจากการกลั่นกรองจากปัญหาจริงของชาวกรุงเทพฯ ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ ใช้ข้อมูลสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ คิดสร้างสรรค์ร่วมกับนักวิชาการชั้นแนวหน้าจากหลายสถาบันการศึกษา และสามารถที่จะลงมือดำเนินการได้ทันทีแบ่งไว้ เป็นหมวดหมู่ชัดเจน อาทิ ปลอดภัยดี(34)สร้างสรรค์ดี(20)สิ่งแวดล้อมดี(34)เศรษฐกิจดี(30)เดินทางดี(42)สุขภาพดี (34)โครงสร้างดี(35)เรียนดี(29)บริหารจัดการดี(32)

เป็นการรวบรวมแนวทางสำหรับแก้ปัญหา และพัฒนา ตั้งแต่ ปัญหาเล็กน้อยใกล้ตัว ของระดับรากหญ้า ที่พบเจอในชีวิตประจำวันแบบเข้าอกเข้าใจ การสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ ในการพัฒนาระบบการขนส่ง การแก้ไขปัญหาสาธารณะ

ถือเป็นนโยบายที่มาจากการสำรวจ และวางแผนการจัดการที่น่าสนใจ และสามารถนำไปขยายผลได้ แม้จะต้องใช้ความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย แต่การที่มีเยอะและหลากหลาย ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นว่า ปัญหาของพวกเขามีแนวทางที่จะแก้ไข และมีทางออก

 

 

การใช้สื่อที่สร้างสรรค์ และเข้าถึง

การใช้สื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อรูปแบบเดิม สื่อออนไลน์ และสื่อใหม่ ดูจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ของทีมงาน ที่พยายามสร้าง Brand Awareness ให้เกิดขึ้นกับ ‘ชัชชาติ’  นอกจากความเคลื่อนไหว ใน Twitter, Facebook และ การไลฟ์สด ที่มียอดตามหลักล้าน  การใช้มีม (meme) ที่เกิดขึ้นอย่าต่อเนื่อง ที่สร้างจดจำและสนุกสนานโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งในเด็กที่ยังไม่มีมีสิทธิเลือกตั้งแต่สามารถจดจำภาพ ‘ชัชชาติ’  เดินเท้าเปล่าถือถุงข้าว  การเล่นคำ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ถูกเอาไปเล่นต่อ เช่นอู้งาน, ไม่ทำงาน, โดดงาน, แก้งาน,  หรือ คนที่จอมพลัง ไปเหยียบดวงอาทิตย์ การใช้รูปแบบเกม เพื่อนำเสนอปัญหาของกรุงเทพฯ ที่ต้องแก้ไขด่วน การใช้ Animation ที่นำเสนอฝันในอนาคต การใช้ Rapperปล่อยเพลงแร็ป 200 นโยบาย ภายใน 2 นาที เป็นอารมณ์สนุกสนาน ที่ฟังไม่ทัน แต่ก็พอจับใจความได้บ้าง ไม่ได้บ้าง การสร้าง Keyward “…. โลกขาดเราได้ อย่าคิดว่าตัวเองสำคัญมาก….”  ที่มาจากคำตอบสัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองหากไม่ได้รับการเลือกตั้ง ได้ถูกแชร์ต่อเป็นจำนวนมากบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว นับว่าสามารถเรียกคะแนนความเห็นใจ จาก FC ได้ไม่น้อย

 

ต้องยอมรับว่า ‘ชัชชาติ’  ได้สื่อสารความแตกต่าง เช่น เลือกที่จะไม่ใช้เวทีปราศรัยใหญ่ แบบที่นักการเมืองแบบเดิมทำ แต่เลือกใช้การพูดและนำเสนอ บนลังไม้ที่เรียบง่าย แต่กระจายไปยังหลายจุดในชุมชนทั่วกรุงเทพฯ การใช้รถแห่หาเสียงเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แล้วปล่อยให้มีการนำไปขยายผลผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน และโลกออนไลน์ควบคู่กัน 

 

การจัดทำป้ายหาเสียงขนาดเล็ก แผ่นพับกระดาษใบปลิวแบบหนังสือพิมพ์ที่สามารถรีไซเคิลนำไปใช้ต่อได้การผลิตป้ายไวนิลหาเสียงที่เมื่อเลิกใช้ สามารถตัดเย็บเป็นทำกระเป๋า ที่กลายเป็นประเด็นให้ร้องเรียน แม้จะไม่ใช่สิ่งใหม่เลย แต่เมื่อมีการนำเสนอ ที่สอดคล้องกับความเป็นตัวตนของเขา นับเป็นการสร้างประเด็นViral ที่เข้าถึง โดดเด่น เป็นที่น่าสนใจ ได้อย่างดีและรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงก้าวแรกของ ‘ชัชชาติ’ ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังมีงานอีกมากมายที่เขาต้องทำและไม่เพียงต้องสื่อสารกับประชากร 5 ล้านคนในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เขายังได้รับความสนใจและติดตามจากประชาชนคนไทย กว่า 66 ล้านคน ทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายเลย

 

[อ่าน 3,799]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved