'รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล' กูรูธุรกิจครอบครัวผู้ผสาน ‘ธุรกิจ X ครอบครัว’
20 Sep 2022

 

ธุรกิจครอบครัวมีจำนวนมากถึง 70% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย กล่าวได้ว่า ธุรกิจครอบครัวคือ ‘นักรบทางเศรษฐกิจ’ ที่สำคัญของประเทศไทยทีเดียว แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะพ่ายแพ้แก่คนรุ่นสามของตระกูล ไม่สามารถส่งต่อธุรกิจกันได้ แต่ PainPoint ของการบริหารธุรกิจครอบครัวเหล่านี้จะหมดไป หากศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว (FAMZ) ได้เข้าไปช่วยบริหารจัดการ ในฐานะที่รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว และผู้ก่อตั้ง Famz Co., Ltd. ได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางรับมือกับ Pain Point เพื่อให้ธุรกิจครอบครัว Move-on ต่อไปได้

 

จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว Concern ของเจ้าของธุรกิจครอบครัวคืออะไร

ต้องบอกว่า ปัญหาพื้นฐานของธุรกิจครอบครัวมักจะเกิดจาก ‘การยึดติด’ แต่จริงๆ แล้ว ปัญหานี้ก็มีวิธีแก้ได้ถ้าหากธุรกิจครอบครัวนั้นๆ สามารถสร้างระบบ สร้างโมเดลธุรกิจที่ถูกต้องได้ก็จะไม่ยึดติดและมีที่ยืนของตนเองด้วย แล้วก็จะรู้ด้วยว่า ตนเองจะสามารถควบคุมธุรกิจของตนเองได้อย่างไร

 

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของที่ปรึกษาธุรกิจ เราพบว่า สิ่งที่อยู่ในใจเจ้าของธุรกิจครอบครัวมี 3 เรื่อง คือ

1) การควบคุมธุรกิจต่างๆ ของตนเอง  เพราะคนที่เป็นเจ้าของจะอดไม่ได้ที่อยากจะควบคุมธุรกิจของตนเอง แล้วธุรกิจยิ่งใหญ่ ยิ่งควบคุมยาก แต่การควบคุมกิจการไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางนั้นจะต้องมีการออกแบบโครงสร้างธุรกิจใหม่ ในลักษณะของกลุ่มบริษัท โดยมีศูนย์กลาง หรือเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เมื่อธุรกิจครอบครัวมีโครงสร้างที่ดี ครอบครัวก็ส่งคณะกรรมการมาบริหารบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่และสามารถบอกทิศทาง นโยบายที่ครอบครัวต้องการผ่านทางบริษัทโฮลดิ้ง

2) การเติบโตของธุรกิจ ธุรกิจครอบครัวย่อมคาดหวังกับการเติบโตของธุรกิจ แต่การที่ธุรกิจจะเติบโตได้นั้นก็ต้องสอดคล้องกับโลกธุรกิจ และใช้จุดแข็งของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญ ชื่อเสียง เครดิตของเจ้าของ ฯลฯ เพื่อสร้างการเติบโต อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดกันตามหลักวิชาการ ธุรกิจครอบครัวมีการส่งต่อความเชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่นอยู่แล้ว ดังนั้น จึงทำให้สามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆ ได้ ที่สำคัญ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวก็ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่า ความเสียหายก็น้อยกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า ทำให้ได้เปรียบธุรกิจทั่วไป อีกทั้งสามารถสร้างนวัตกรรมต่อจากความเชี่ยวชาญที่มีได้ง่ายกว่า

ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวต่างจากธุรกิจทั่วไปตรงที่มีความต้องการของครอบครัวเพิ่มเติมเข้ามาด้วย ถ้าครอบครัวมีแรงส่งที่ดีก็จะทำให้ธุรกิจปรับตัวได้เร็ว แต่บางครั้งภายในครอบครัวก็ไม่อาจหาจุดร่วมกันได้ หรือการทำงานร่วมกันก็จะกลายเป็นจุดอ่อน แทนที่จะเป็นจุดแข็งทำให้ธุรกิจครอบครัวปรับตัวได้ช้า แต่ถ้าคนเหล่านี้ชัดเจนและคุยกันได้ก็จะเป็นแรงส่งให้ธุรกิจปรับตัวได้เร็วอยู่แล้ว ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวจึงขึ้นกับเจ้าของธุรกิจจริงๆ

3) สภาพคล่อง ถือเป็นความต้องการพื้นฐานของเจ้าของธุรกิจครอบครัว และเมื่อมองถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน บางคนก็มีสภาพคล่อง ขณะที่บางคนกลับไม่มี  ดังนั้น ไม่ว่าธุรกิจใหญ่น้อยสมาชิกครอบครัวต่างก็ต้องการความคล่องตัวจึงอดไม่ได้ที่สภาพคล่องจะมีประเด็นว่า ‘ภายใต้สภาพธุรกิจที่ดี ทำอย่างไรทุกคนจึงจะมีความเป็นอยู่ที่ดี’ และมี ‘สภาพคล่องตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น’ ทั้งนี้  วิธีการสร้างสภาพคล่องก็สามารถทำได้ ด้วยการดึงสิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรจะได้ออกมาตัวธุรกิจมาที่ตัวบุคคลหรือครอบครัวก่อน นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสภาพคล่องก็ยังเชื่อมโยงไปถึงประเด็นที่ว่า ทำไมผู้นำธุรกิจครอบครัวบางคนไม่ยอมวางมือ นั่นเพราะคนเหล่านี้บริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth) ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าวางมือแล้วก็เกรงว่า อาจจะไม่มีสภาพคล่องก็ได้

 

FAMZ มีเครื่องมือ หรือแนวทางอะไรที่จะช่วยธุรกิจครอบครัวให้ Move-on กันได้

ในส่วนของ FAMZ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของธุรกิจครอบครัว เราช่วยธุรกิจครอบครัวในด้านต่างๆ  อาทิ

การช่วยให้โครงสร้างและกลไกเพื่อที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีความยืดหยุ่นที่จะสร้างธุรกิจใหม่และทำธุรกิจเดิมได้ โดยที่ไม่ต้องกระจุกตัวรวมกัน และทำให้ความสนใจของสมาชิกในธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่หลากหลายนั้นกระจายตัวเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้ แต่ยังอยู่ในทิศทางธุรกิจเดียวกัน ซึ่งหลังจากที่เราช่วยลูกค้าทำโมเดลธุรกิจก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีว่า ทำให้คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในที่เดียวกันและแย่งของเล่นชิ้นเดียวกัน ทว่า กลับเปิดทางเลือกเชิงนโยบายที่ธุรกิจครอบครัวอยากจะไป ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตจาก Knowledge หรือ Know How ประสบการณ์ของธุรกิจครอบครัว หรือแม้แต่เทรนด์ใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจเดิมก็สามารถที่จะลองผิดลองถูกได้จากเงินกองกลาง  แล้วถ้าคนเหล่านี้สามารถออกแบบโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โครงสร้างองค์กรใหม่ / การบริหารงานใหม่ มีโอกาสใหม่ๆ จากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ก็จะทำให้สมาชิกครอบครัวสามารถเข้ามาต่อยอดธุรกิจได้ง่าย ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ หากล้มเหลวก็ได้เรียนรู้

 

การสืบทอดทายาทธุรกิจ เนื่องจากการสืบทอดธุรกิจ หรือการเตรียมความพร้อมให้กับทายาทเช่นนี้ ธุรกิจครอบครัวบางแห่งทำเองไม่ได้ เพราะอดไม่ได้ที่จะมีความคาดหวังของพ่อกับลูก หรือความคาดหวังของลูกกับพ่อ  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่อ่อนไหวมากๆ ฉะนั้น จึงต้องมีตัวกลางที่ทำหน้าที่ลดแรงกระทบกระทั่ง หรือ Buffer ด้วยการดึงคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการ เพื่อทำให้ขั้นตอนการพัฒนาทายาทสามารถพูดกันภายใต้หลักการ และมีความเป็นทางการในการพัฒนาคนและสามารถที่จะจัดการโยกย้ายให้ผู้นำธุรกิจเดิมไปอยู่ในที่ต่างๆ โดยที่ยังมีรายได้และมีคุณค่าอยู่

ยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่ามีทายาท 5-6 คน การที่จะพิจารณาว่า ใครที่เหมาะจะทำงานธุรกิจในธุรกิจครอบครัวก็เป็นเรื่องที่ต้องการฉันทามติ (Consensus) และเมื่อเด็กทราบว่า ตนเองมีโอกาสที่จะเป็นทายาทธุรกิจ และรู้ว่า ตนเองก็มีศักยภาพ และครอบครัวก็มีนโยบายด้วยว่า ใครถนัดทำอะไร เส้นทางการเติบโตอยู่ที่ไหน และการประเมินทายาท 5-6 คนว่า ใครคือคนที่ดีที่สุดที่เราควรจะต้องเลือก ซึ่งกระบวนการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเช่นนี้ต้องการคนและกระบวนการที่จะเข้ามาช่วยพิจารณา

นอกจากนี้ เราก็มีเครื่องมืออย่าง FAMZ Tech ซึ่งโปรแกรมเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) จากเงื่อนไขปัจจัยผันแปร รวมถึงค่านิยมของครอบครัว ฯลฯ ที่เรากำหนดเข้าไป เพื่อกำหนดคุณสมบัติทายาทธุรกิจที่ต้องการ จากนั้นโปรแกรมก็จะกลั่นกรอง ประมวลผล และให้คำแนะนำถึงสมาชิกแต่ละคนว่า จุดเด่นอย่างไร มีช่องว่างอะไรบ้างที่จะต้องเติมเต็ม ฯลฯ แต่ท้ายที่สุด คณะกรรมการในธุรกิจครอบครัวก็จะต้องตัดสินใจเอง เนื่องจากมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วย แต่เมื่อมีระบบหรือซอฟต์แวร์มาช่วยประเมินก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น มิฉะนั้น การคัดเลือกทายาทจะกลายเป็นความรู้สึก หรือเรื่องส่วนบุคคลเสียมากกว่า

 

ธรรมนูญครอบครัว เป็นส่วนที่ทาง FAMZ ใช้ระบบเข้ามาช่วย ซึ่งหลังจากที่พัฒนาระบบได้ 2-3 ปี เราพบว่า การทำธรรมนูญครอบครัวของเรามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมอย่างมาก เนื่องจากก่อนที่จะมีระบบนี้ เราก็ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็น (Discuss) ขณะที่ประเด็นก็มีความลึกและหลายแง่มุม อีกทั้งความต้องการ เป้าหมายส่วนบุคคลที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดก็แตกต่างกัน แต่ด้วยระยะเวลาอันจำกัดก็จะไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทุกมิติ เช่น คำถามว่า สมาชิกครอบครัวจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำงานกับกับธุรกิจครอบครัว แต่พูดแค่นี้คนก็จะมองถึงข้อดีข้อเสีย ไม่ออกหรือทางเลือกคืออะไร แค่คำถามเดียวก็ยังต้องใช้เวลามาก

อีกทั้งแต่ละคนมีคำตอบที่ต่างกัน ดังนั้น ถ้ามีโปรแกรมเข้ามาช่วยก็ทำให้ครอบครัวใช้เวลากับแต่ละคำถามที่สำคัญๆ ได้มากขึ้น จากนั้น โปรแกรมก็จะประมวลผลคำตอบรวมทั้งค่านิยมของผู้ตอบ ค่านิยมของครอบครัว จากนั้นก็จะดูกับประเด็นที่ถามว่าสอดคล้องกับส่วนกลางหรือไม่ และคนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไร จากนั้นก็จะออกมาเป็น ‘ธรรมนูญครอบครัวฉบับร่าง’ ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นฉันทามติแล้ว กับบางส่วนที่ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน เมื่อทำเวิร์คช็อปในส่วนที่เห็นร่วมกัน ก็ใส่ในธรรมนูญครอบครัว ส่วนที่ยัง ‘เสียงแตก’ ไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่คิดเห็นไม่ตรงกัน

เราก็ต้องยกมา Discuss กันอีกครั้ง เช่น ประเด็นทำงานกับธุรกิจครอบครัว ซึ่งอาจมีความเห็นต่างกัน เช่น ควรทำเต็มเวลา, ควรมาช่วยแต่ไม่ต้องทำเต็มเวลาก็ได้, แล้วแต่ความสมัครใจ, ไม่ควรเข้ามาทำงานแต่ควรใช้มืออาชีพ แล้วสมาชิกครอบครัวกำกับดูแลแทน เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้จะช่วยทำให้การอภิปรายของสมาชิกครอบครัวไม่ถูกคีย์แมนในธุรกิจครอบครัวครอบงำ หรือเกิดความเกรงใจคีย์แมนจนต้องคล้อยตามทั้งที่ไม่เห็นด้วย

 

นอกจากนี้ เนื่องจากลักษณะงานของ FAMZ มีความเฉพาะทางมากๆ จึงมีฟังก์ชั่นสำหรับงานเฉพาะทางด้วย อาทิ การวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจครอบครัวที่อาจมีภาระภาษีเป็นจำนวนมาก และอาจมีผลประโยชน์หลายประเภททั้งส่วนตัว ทั้งส่วนของธุรกิจ และผลประโยชน์จากกองกลางของธุรกิจ ซึ่งก็มีวิธีการบริหารผลประโยชน์เฉพาะตัวของแต่ละครอบครัว สำหรับธุรกิจครอบครัวที่เป็นมืออาชีพจะพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหาให้กับตัวบุคคล แล้วต้องการที่จะอยู่ในกรอบกฎหมาย ดังนั้น สมาชิกครอบครัวจึงต้องการคำแนะนำจากมืออาชีพว่า ตนเองจะมีทางเลือกใดบ้าง ซึ่งเราก็จะเสนอทางเลือกแบบ Tailor-Made ให้ นอกจากนี้ ก็มีฟังก์ชั่นดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายอื่นๆ ด้วย เช่น พินัยกรรม

 

 

หากมีลูกค้าธุรกิจครอบครัวที่อยากเข้าโครงการ FAMZ รับสเกลเล็กๆ หรือเปล่า

สเกลเล็กที่สุดของเราคือ ธุรกิจครอบครัวที่มีคีย์แมน 3 คน แต่ก็มีเด็กเล็กๆ ในครอบครัวด้วย แต่เคสนี้มองว่า ธุรกิจครอบครัวนี้ต้องการทำเพื่อคนเจเนเรชั่นต่อไปซึ่งยังเล็กอยู่ ซึ่งหากเด็กๆ มีความหมายกับธุรกิจครอบครัวมากก็นับว่าคุ้มค่าที่ผู้ใหญ่จะมาเข้าโปรเจค ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับการให้คุณค่ากับครอบครัวและบุตรหลานของตนเองมากแค่ไหน ถ้าหากให้คุณค่ากับเรื่องนี้มากก็จะจริงจังกับระบบเหล่านี้มาก ถ้าไม่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริง หรือเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นก่อน เพราะปัญหายังมาไม่ถึงตัว เพียงแต่ข้อสังเกตที่อยากจะบอก นั่นคือถ้าเมื่อใดที่ปัญหามาถึงแล้ว การทำระบบเหล่านี้ จะทำได้ยาก  หรืออาจทำไม่ได้แล้ว เพราะมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นแล้ว หรือเด็กๆ ได้ซึมซับอะไรบางอย่างไปแล้ว เช่น ความขัดแย้งของครอบครัว

เคสที่ทำได้ประสบความสำเร็จจึงเป็นเคสที่ผู้นำครอบครัวเห็นถึงคุณค่าของการวางระบบให้คนรุ่นต่อไปและธุรกิจของตนเอง ฉะนั้น จึงไม่ใช่แค่ต้องทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างเดียว แต่ต้องทำระบบให้ ‘ธุรกิจ’ และ ‘ครอบครัว’ อยู่ร่วมกันได้ในอนาคต

 

FAMZ มองว่า อะไรคือ Success Story จากการทำงานกับธุรกิจครอบครัว

เรามองความสำเร็จจากการทำงานกับธุรกิจครอบครัวจากสิ่งที่เราได้เห็นเมื่อตอนสิ้นสุดโปรเจคแล้ว เนื่องจากช่วงที่เข้ามาในโปรเจคความสัมพันธ์ของสมาชิกในธุรกิจครอบครัวอาจจะดีบ้าง - ไม่ดีบ้าง และมีหลายๆ เคสที่มาด้วยความไม่เข้าใจกัน แต่อย่างน้อยท้ายที่สุด คนเหล่านี้จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งลูกค้าเองก็มีความพึงพอใจจากการที่พวกเขาสามารถกลับมาอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้ และมีความสัมพันธ์ที่ยึดเหนี่ยวกันเป็นครอบครัวได้ อีกทั้งมีระบบ มีความเข้าใจกับวิธีการบริหารธุรกิจประเภทนี้

ทั้งนี้ จากการที่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวยอมรับว่า เราต้องใช้ความอดทนมากพอสมควร  บางครั้งต้องทำงานถึงครึ่งปี โดยที่งานไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากลูกค้าพูดถึงปัญหาและการทำงานที่เข้ากันไม่ได้ และโต้ตอบกันไปมา โดยที่เราก็ฟัง จนกว่าจะถึงจุดที่ต้องแสดงความเห็น และพยายามสอดแทรกเพื่อสร้างความเข้าใจกับประเด็นต่างๆ กับสมาชิกครอบครัว ช่วยดูว่า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้มีทางออกอะไรบ้าง และต้องไม่ทิ้งประเด็นที่ไม่เข้าใจกันแบบผ่านไป เพราะคนเหล่านี้จะกลับมารวมกันได้ยาก และจะไม่ศรัทธากับระบบของธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป ดังนั้น เราจึงแค่ทอดเวลาให้ทุกฝ่ายเย็นลงแล้วก็กลับมาเข้าประเด็นกันใหม่ ทำให้บางเคสกว่าจะเริ่มทำระบบ โครงสร้างธุรกิจ การสืบทอดทายาทธุรกิจ ธรรมนูญครอบครัวก็ใช้เวลาไปหลายเดือน

 

ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดโปรเจคแล้ว คนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น สามารถทำงานร่วมกันได้และเป็นครอบครัวกันได้ เราจึงถือเป็นความสำเร็จของเรา

[อ่าน 6,806]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved